ในปี 2466 หรือเมื่อ 91 ปีที่แล้วนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียง John Maynard Keynes ได้กล่าวถึงความสำคัญของเวลาไว้ในบทที่ 3 ของหนังสือ A Tract on Monetary Reform ไว้ว่า
“In the long run we are all dead”
“ในระยะยาวพวกเราก็ตายกันหมดแล้ว”
วลีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงจุดยืนของ Keynes ที่สนับสนุนบทบาทของรัฐบาลในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมากกว่าการปล่อยให้ ‘กลไกตลาด’ หรือ ‘มือที่มองไม่เห็น’ ทำหน้าที่ปรับสมดุลของเศรษฐกิจในระยะยาวแต่เพียงอย่างเดียว
ยกตัวอย่างเช่น ในสถานการณ์ราคายางพาราตกต่ำดังที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน หากจะใช้แนวคิดเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิมมาแก้ไขปัญหาก็สามารถทำได้โดยง่าย คือยกหน้าที่ให้กลไกตลาดเป็นผู้จัดการโดยปล่อยให้ราคายางตกไปเรื่อยๆ เมื่อราคายางตกไปถึงจุดหนึ่งแล้วก็จะไม่มีใครอยากปลูกเพิ่ม ส่วนผู้ที่ปลูกไว้แล้วก็คงไม่มีใครอยากกรีด ผู้ที่ทำอาชีพสวนยางก็คงเปลี่ยนอาชีพกันเป็นจำนวนมาก และเมื่อปริมาณยางออกสู่ตลาดลดลง ในที่สุดราคายางก็จะปรับสูงขึ้นเอง รัฐบาลไม่ควรเข้ามาแทรกแซงเพื่อทำให้ราคาสูงขึ้น
แต่หากจะใช้แนวคิดของ Keynes แล้วการปล่อยให้ราคายางปรับลดลงไปตาม ‘กลไกตลาด’ ในระยะยาวนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สมควรให้เกิดเพราะต้นทุนของการปรับตัวตามกลไกตลาดสูงเกินไป ลองจินตนาการว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าใดกว่าที่ชาวสวนยางจะลดกำลังการผลิตของตนลงจนเพียงพอที่จะทำให้ราคาปรับสูงขึ้น และในช่วงเวลาดังกล่าวจะต้องมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากขนาดไหนที่จะได้รับผลกระทบ และจะมีปัญหาสังคมอีกมากมายเพียงใดที่จะเกิดขึ้นตามมา ยิ่งไปกว่านั้น หากในอนาคตประเทศอื่นสามารถปลูกยางพาราได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่าไทยและสามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการของตลาดโลก ถ้าเราไม่สามารถลดต้นทุนจนสามารถแข่งขันได้ ชาวสวนยางทั้งหมดก็คงต้องหันไปทำอย่างอื่น (ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร) แทนการปลูกสวนยาง ตัวอย่างของต้นทุนทางเศรษฐกิจและต้นทุนทางสังคมที่เกิดขึ้นของการ ‘รอ’ ให้กลไกตลาดแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้นสะท้อนถึงวลีอมตะของ Keynes ที่ว่า (กว่าจะรอให้กลไกลตลาดทำงาน) ในระยะยาวพวกเราก็ตายกันหมดแล้ว
สิ่งที่ Keynes กล่าวไว้ในหนังสือของเขาเมื่อกว่า 90 ปีมาแล้วนั้น ยังคงสามารถนำมาเปรียบเทียบกับนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลในยุคปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ ทั้งนี้เพราะรัฐบาลในยุคปฏิรูปขณะนี้ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างมากกว่าการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่กำลังเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำไม่ว่าจะเป็นราคาข้าวหรือราคายางพารานั้น รัฐบาลมักจะใช้มาตรการระยะสั้นด้วยความระมัดระวังไม่ให้เกิดการบิดเบือนกลไกราคา โดยไม่เน้นการแทรกแซงตลาดดังเช่นนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลชุดที่แล้ว แต่รัฐบาลจะมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาวมากกว่า เช่น การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องสำหรับผลิตภัณฑ์ยางและการลดต้นทุนด้านปัจจัยการผลิตของเกษตรกร นอกจากตัวอย่างของนโยบายด้านราคาสินค้าเกษตรแล้วนโยบายด้านพลังงานที่มุ่งลดการบิดเบือนราคาระหว่างก๊าซกับน้ำมันก็เป็นอีกตัวอย่าง ซึ่งสะท้อนจุดยืนในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่ไม่เน้นการแทรกแซงกลไกตลาดได้อย่างชัดเจน
การเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันคงเป็นผลมาจากความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลของนโยบายประชานิยมหลากหลายนโยบายที่ดำเนินการโดยรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งชัดเจนว่าเป็นการจงใจบิดเบือนกลไกตลาดอย่างรุนแรงไม่ว่าจะเป็นนโยบายจำนำข้าวทุกเม็ด หรือก็คือการเข้าไปแย่งซื้อข้าวในราคาที่สูงกว่าตลาด หรือการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไรที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดของนโยบายประชานิยมในอดีตและหันมาใช้นโยบายเศรษฐกิจที่มีลักษณะเด่น 2 ประการ คือ
-การให้ความสำคัญกับกลไกตลาดในการจัดสรรทรัพยากร
-การให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง
"บางครั้งผู้กำหนดนโยบายต้อง ‘กล้า’ ที่จะดำเนิน
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วนและไม่ ‘กลัว’ กับคำว่า
‘การแทรกแซงตลาด’ ‘ประชานิยม’ หรือ ‘นโยบายหาเสียง’ มากจนเกินไป"
ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะปกติคุณลักษณะเด่นทั้ง 2 ประการดังกล่าวย่อมเป็นที่พึงประสงค์ของนักเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปอย่างแน่นอน เพราะในระยะยาวแล้ว นโยบายเศรษฐกิจที่รัฐบาลมีหน้าที่หลักเพียงการวางโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นและปล่อยให้ภาคเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปตามกลไกตลาดย่อมจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบเศรษฐกิจและเป็นผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวอย่างมิต้องสงสัย ทว่า สิ่งที่ควรจะต้องขบคิดกันในเวลานี้ก็คือ แล้วสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันอยู่ในภาวะปกติที่เราจะสามารถอยู่เฉยๆ เพื่อรอรับผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวได้หรือไม่?
การคาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้และปีหน้าคงจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดว่า เศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันอยู่ในภาวะที่ปกติหรือไม่ ซึ่งเท่าที่ติดตามการคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษาต่างก็มีความเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้คงจะขยายตัวได้เพียงประมาณร้อยละ 1 ในขณะที่การส่งออกหากไม่ลดลงก็คงมีการเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนักเช่นเดียวกัน ส่วนการคาดการณ์เศรษฐกิจในปีหน้าที่คาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 3.5-4 นั้น แม้จะอยู่ในระดับที่สูงกว่าปีนี้ ทว่าก็ยังถือได้ว่าเป็นการขยายตัวที่ต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริงของประเทศและต่ำกว่าการขยายตัวในอดีตค่อนข้างมาก โดยปัจจัยหลักที่ยังคงเป็นปัญหาต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งในปีนี้และปีหน้า ได้แก่
-รายได้ของเกษตรกรที่ปรับลดลงอย่างมากจากราคาสินค้าเกษตรหลัก เช่น ข้าว ยางพารา ตกต่ำ
-หนี้ครัวเรือนสูง
-โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐต้องใช้เวลานานในการศึกษาและอนุมัติโครงการ
-เศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความผันผวนสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักของไทย ได้แก่ จีนและญี่ปุ่น
-แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกาที่จะปรับขึ้นในปีหน้า อันอาจส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยและการเคลื่อนย้ายเงินทุนของประเทศไทย
ปัจจัยทั้ง 5 ประการที่กล่าวมาข้างต้นย่อมจะส่งผลกระทบต่อการบริโภค การลงทุน และการส่งออก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญทั้งสิ้น และภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจเติบโตได้ในอัตราที่ค่อนข้างต่ำเช่นนี้กลุ่มเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยย่อมจะตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบากอย่างแน่นอน ผู้ประกอบการค้าขายในปัจจุบันต่างก็ทราบกันดีถึงกำลังซื้อในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังซื้อของกลุ่มเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยในต่างจังหวัด
ดังนั้น ปัญหาที่รัฐบาลจะต้องเผชิญต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ ก็คือความคาดหวังของประชาชนที่จะมีมากขึ้นต่อการแก้ไขปัญหาปากท้องเฉพาะหน้า แม้จะไม่มีนักเศรษฐศาสตร์คนใดปฏิเสธว่า นโยบายหลักด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขนส่งระบบราง นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ตลอดจนการปฏิรูปอุตสาหกรรม จะส่งผลดีต่อประเทศในระยะยาวอย่างแน่นอน ทว่า สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจคงไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (ซึ่งอีกกี่ปีก็ยังไม่แน่นอน) แต่คงเป็นเรื่องปากท้องของตนเอง ซึ่งกำลังเกิดขึ้นจริงในเวลานี้มากกว่า
แต่หากจะกล่าวว่ารัฐบาลนี้ไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก็คงจะไม่เป็นธรรมเท่าใดนักกับรัฐบาล เพราะรัฐบาลเองก็มีมาตรการออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะสั้นอยู่หลายมาตรการ ยกตัวอย่างเช่น โครงการให้เงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท โครงการให้เงินช่วยเหลือภัยแล้ง 1 ชุมชน 1 ล้าน หรือโครงการขอความร่วมมือภาคเอกชนลดราคาสินค้าเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้บริโภค เพียงแต่ว่าผลของมาตรการเหล่านี้อาจจะยังไม่มากพอที่จะก่อให้เกิดความมั่นใจต่อเศรษฐกิจไทยได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งความมั่นใจต่อเศรษฐกิจนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก หากผู้บริโภคขาดความมั่นใจ การบริโภคก็ไม่อาจเพิ่มขึ้นได้มาก หากนักลงทุนยังไม่มั่นใจกับทิศทางของเศรษฐกิจก็อาจตัดสินใจชะลอการลงทุน และหากธนาคารยังคงกังวลกับทิศทางเศรษฐกิจการปล่อยสินเชื่อก็ย่อมไม่อาจเพิ่มขึ้นได้มากนัก
"จะมีประโยชน์อันใดเล่า หากในฤดูมรสุม
นักเศรษฐศาสตร์สามารถบอกต่อผู้คนได้เพียงว่า
เมื่อพายุผ่านพ้น ท้องทะเลก็จะกลับมาราบเรียบอีกครั้งหนึ่ง"
แล้วรัฐบาลจะต้องทำอย่างไรเพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้ในระยะสั้น? ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลชุดปัจจุบันถือว่ามีความพร้อมในการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้มากกว่ารัฐบาลในอดีตหลายรัฐบาลที่ผ่านมา โดย ‘ความพร้อม’ ที่ว่านี้ ได้แก่
-ราคาพลังงานในตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างมากทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อต่ำ
-สภาพคล่องในระบบการเงินที่มีเป็นจำนวนมาก
-ฐานะทางการคลังของรัฐบาลที่แข็งแกร่ง หนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับต่ำ
-ทุนสำรองระหว่างประเทศสูง
-ความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล
-ความมีเสถียรภาพของรัฐบาล
ดังนั้น รัฐบาลในยุคปัจจุบันจึงอยู่ในสถานะที่สามารถดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นใจในเศรษฐกิจไทยให้กลับมาได้อย่างรวดเร็ว เพียงแต่ว่าในบางครั้งผู้กำหนดนโยบายต้อง ‘กล้า’ ที่จะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วนและไม่ ‘กลัว’ กับคำว่า ‘การแทรกแซงตลาด’ ‘ประชานิยม’ หรือ ‘นโยบายหาเสียง’ มากจนเกินไปนัก ยกตัวอย่างเช่น
-หากต้องการแก้ไขปัญหารายได้เกษตรกรตกต่ำ โครงการประกันรายได้เกษตรกรทั้งชาวนาและชาวสวนยางแบบกำหนดวงเงินสูงสุดอย่างที่ในอดีตเคยถูกนำมาใช้ก็น่าจะเกิดผลดีกับเกษตรกรได้อย่างรวดเร็วทันเวลาและไม่น่าจะเป็นปัญหากับฐานะทางการคลังของรัฐบาลเท่าใดนัก
-หากต้องการสนับสนุนการส่งออก การลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อส่งสัญญาณให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวก็น่าจะทำได้ทั้งนี้เพราะระดับอัตราเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่ต่ำคงไม่เป็นปัจจัยกดดันสำหรับการดำเนินนโยบายการเงิน นอกจากนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยยังจะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศได้อีกด้วย
-หากต้องการลดภาระหนี้สินของประชาชน การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารของรัฐให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยทั้งกลุ่มลูกหนี้เก่าและลูกหนี้ใหม่ก็น่าจะสามารถทำได้โดยรัฐบาลเป็นผู้ชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยให้กับธนาคาร
อยากฝากไปถึงรัฐบาลให้มีความ ‘กล้า’ ที่จะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่เข้มแข็งและจริงจังมากกว่าที่ดำเนินการอยู่ โดยไม่ต้องไปกลัวว่าจะเป็นการหาเสียงหรือเป็นนโยบายที่อาจไปซ้ำกับนโยบายของพรรคการเมืองในอดีตที่เคยเข้ามาบริหารประเทศ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่รอดจากปัญหาเศรษฐกิจในระยะสั้นและสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในระยะยาวจากการปฏิรูปได้ดังที่รัฐบาลหวังไว้
สุดท้ายนี้ขอฝากข้อความฉบับเต็มของ Keynes ในเรื่องความสำคัญของเวลาไว้ดังนี้
“But this long run is a misleading guide to current affairs. In the long run we are all dead. Economists set themselves too easy, too useless a task, if in tempestuous seasons they can only tell us, that when the storm is long past, the ocean is flat again”
“ทว่า คำว่าระยะยาวนี้คงจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องสำหรับสถานการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน ในระยะยาวพวกเราก็ตายกันหมดแล้ว นักเศรษฐศาสตร์ล้วนทำหน้าที่ของตนง่ายดายเกินไปเพราะจะมีประโยชน์อันใดเล่าหากในฤดูมรสุม นักเศรษฐศาสตร์สามารถบอกต่อผู้คนได้เพียงว่า เมื่อพายุผ่านพ้น ท้องทะเลก็จะกลับมาราบเรียบอีกครั้งหนึ่ง”
John Maynard Keynes
1st Baron Keynes of Tilton
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ