แพทย์ไร้พรมแดน, แขกของรัฐบาล กับความหวังของชาวโรฮิงยา

Annie Gowen 8 ส.ค. 2557


เด็กหญิงตัวน้อยเทินกระสอบข้าวสารที่ได้รับบริจาคสำหรับสมาชิกในครอบครัวทั้ง 8 คนไว้บนศีรษะ ในขณะที่เด็กคนอื่นๆ กำลังเล่นน้ำในบ่อที่ส่งกลิ่นเน่าเหม็นและเต็มไปด้วยขยะ ที่ห้องเรียนศาสนาในมัสยิดที่สร้างจากไม้ไผ่ เด็กหนึ่งในสามในห้องเรียนยังไม่ได้กินอะไรเลยทั้งวันหรือตั้งแต่เมื่อวาน

องค์การสหประชาชาติระบุว่า ชาวมุสลิมโรฮิงยากว่า 135,000 คนยังคงติดอยู่ในค่ายพักพิงที่ตั้งอยู่บนจังหวัดชายฝั่งทางตะวันตกของพม่า 2 ปีหลังจากรัฐบาลได้กวาดล้างพวกเขาในขณะที่เกิดเหตุความรุนแรงทางศาสนา ส่งผลให้หมู่บ้านหลายแห่งถูกไฟไหม้ ทำให้มีผู้ไร้บ้านจำนวนหลายพันคน และเสียชีวิตไปมากกว่า 200 คน

ชาวโรฮิงยา ชนกลุ่มน้อยที่ถูกข่มเหงมาช้านาน ถูกบีบให้ใช้ชีวิตอยู่ในกระท่อมที่สร้างขึ้นชั่วคราวไม่ต่างจากห้องขัง อาศัยข้าวและถั่วลูกไก่ที่ได้รับบริจาคและปลาที่พอจะหามาได้จากทะเลประทังชีวิต สถานการณ์ย่ำแย่มากจนทำให้มีคนหนีออกจากที่นี่ทางเรือไปแล้วกว่า 86,000 คน ด้านองค์กร Human Rights Watch ได้กล่าวหาการกระทำของารัฐบาลว่าเป็นการ ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ขณะที่นางยังฮี ลี (Yanghee Lee) ทูตด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติต่อพม่า กล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น “น่าสังเวช” และการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเดินทางส่งผลกระทบต่อการหางานทำ การเข้าถึงน้ำและสุขาภิบาล การบริการด้านสุขภาพและการศึกษา

“ชุมชนชาวมุสลิมยังคงต้องเผชิญกับการแบ่งแยกแยกอย่างเป็นระบบ ซึ่งรวมไปถึงการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเดินทาง การจำกัดการเข้าถึงที่ดิน อาหาร น้ำ การศึกษาและการบริการด้านสุขภาพ รวมถึงการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแต่งงานและการแจ้งเกิด” นางยังฮี ลี กล่าว

วิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมเริ่มเลวร้ายลงมาตั้งแต่ช่วงหน้าหนาว หลังจากรัฐบาลพม่าสั่งระงับการปฏิบัติงานขององค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders) ที่ช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว ส่งผลให้ประชาชนกว่า 7 แสนคนไม่ได้รับการรักษาโรคที่เหมาะสม ขณะที่รัฐบาลพม่าเพิ่งอนุญาตให้องค์กรแพทย์ไร้พรมแดนกลับไปดำเนินงานต่อได้เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นได้บีบให้องค์กรที่ช่วยเหลือหลายองค์กรต้องออกจากพื้นที่ และประสบปัญหาไม่สามารถเพิ่มความช่วยเหลือได้

ตอนนี้เด็กๆ กำลังอดอยาก เจ้าหน้าที่ที่ให้การช่วยเหลือกล่าวว่า พวกเขาเห็นสัญญาญของการขาดสารอาหารในเด็กที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กีเดือนที่ผ่านมา เพราะถูกกลุ่มตรงข้ามขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงแม่และหญิงตั้งครรภ์ และขัดขวางไม่ให้ขนส่งน้ำ อาหาร และอุปกรณ์เพื่อสุขาภิบาล

“สิ่งที่เราสังเกตเห็นตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงเดือนมิถุนายน คือการขาดสารอาหารเฉียบพลันขั้นรุนแรงได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เราเห็นตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า” Bertrand Bainvel ผู้แทนจากยูนิเซฟในพม่า กล่าว “เรายังคงห่วงเป็นมากกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น”

การโดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจ

ค่ายพักพิงของชาวโรฮิงยากระจายตัวอยู่ทางตะวันตกของรัฐยะไข่ยาวหลายไมล์ บางแห่งอยู่ห่างไกลและเข้าถึงได้โดยทางเรือเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า ชีวิตของผู้ที่อาศัยอยู่ในนั้นก็เริ่มมีจังหวะชีวิตเป็นของตัวเอง ในค่ายบางแห่ง มีตลาดเล็กๆ เกิดขึ้นหลายแห่ง สินค้ามาจากพ่อค้าชาวยะไข่นอกค่าย ซึ่งเป็นชนชาติเดียวที่มีความขัดแย้งกับชาวโรฮิงยามาช้านาน

ปลาจากทะเลใกล้ถูกตากแห้งบนเสาสูง บางคนปลูกผักไว้ใกล้ๆ กระท่อม โดยได้รับบริจาคเมล็ดพันธุ์มาเพื่อเป็นอาหารในยามขาดแคลน พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปข้างนอก แม้ว่าคนที่อาศัยอยู่ใกล้เมืองซิตต่วยจะสามารถเดินทางไปกับรถบรรทุกที่ได้รับการคุ้มกันเพื่อไปยังชุมชนมุสลิมอีกแห่งหนึ่งที่ยังหลงเหลืออยู่

โรฮิงยาเป็นชนกลุ่มน้อยในพม่า ประเทศแห่งอุษาคเนย์ที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ความตึงเครียดระหว่างชาวโรฮิงยากับชาวพุทธยะไข่เกิดขึ้นมาช้านานก่อนที่เหตุรุนแรงจะเกิดขึ้น

กว่า 5 ทศวรรษภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารที่โหดเหี้ยม ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนระบุว่า พวกเขาถูกข่มเหงจากรัฐบาล ถูกบังชับใช้แรงงานทาส ถูกขับไล่ที่ ถูกข่มขืนและทรมานร่างกาย แม้ว่าชาวโรฮิงยาจะอาศัยอยู่ในพม่ามาหลายชั่วอายุคนมาแล้วก็ตาม แต่กฎหมายความเป็นพลเมือง 1982 ที่เข้มงวดได้ส่งผลให้พวกเขากลายเป็นคนไร้รัฐ ขณะที่รัฐบาลยังคงระบุว่าพวกเขาเป็นผู้ลี้ภัยจากบังกลาเทศ ในปีนี้ การสำรวจสัมโนประชากรได้ปฏิเสธไม่นับคนที่เรียกตัวเองว่าโรฮิงยา

เยทุต โฆษกของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ได้แสดงความไม่พอใจเมื่อมีการใช้คำว่า ‘โรฮิงยา’ ในการสัมภาษณ์

“ผมอยากชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลพม่าและประชาชนพม่าไม่ยอมรับคำว่า โรฮิงยา” นายเยทุตกล่าว “เรายอมรับว่ามีชาวเบงกาลีที่นับถือศาสนาอิสลามในประเทศของเรา” แต่เขาก็กล่าวว่า “เรายอมรับว่ามีความตึงเครียดและความท้าทายหลายอย่างในประเทศของเรา โดยเฉพาะเหตุรุนแรงระหว่งคนกลุ่มชน”

Phil Robertson รองผู้อำนวยการองค์กร Human Rights Watch ในเอเชีย กล่าวว่า รัฐบาลได้ใช้นโยบาย “โดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจและสังคมต่อชาวโรฮิงยา” มานานหลายปี โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายน 2012 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการกล่าวหาชายมุสลิมจำนวน 3 คนว่ากระทำการข่นขืนสตรีชาวพุทธ

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เขากล่าวว่า “มันเป็นช่วงที่ตกต่ำอย่างฉุดไม่อยู่ของการเข้าถึงและการรับผิดชอบในเชิงมนุษยธรรม สถานการณ์กำลังดิ่งลงเหว คุณมีคน 140,000 คนอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายใน และอีก 4 หมื่นคนถูกขังอยู่ในหมู่บ้าน ไม่มีอาหารและการรักษาพยาบาลที่พอเพียง”

ในขณะที่นายเยทุต กล่าวว่า ชาวโรฮิงยาถูกจำกัดอยู่ในค่ายพักพิงก็เพื่อเป็นการป้องกันตัวเอง

วิกฤตดังกล่าวได้ทำให้ทั่วโลกตกตะลึงและมีคำถามว่า สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ผ่อนคลายการคว่ำบาตรต่อพม่า หลังรัฐบาลพม่าได้ดำเนินการตามขั้นตอนการปฏิรูปไปสู่ประชาธิปไตยเมื่อปี 2011 นั้น ได้วาดภาพประชาธิปไตยที่กำลังผลิใบไว้สวยหรูเกินควร

“ไม่มีใครทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ความจริงแล้ว เรากำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยยกให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ” Derek J. Mitchell เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำพม่า กล่าว “สิ่งที่เรากำลังทำกันอยู่ตอนนี้คือความคาดหวังว่าจะมีการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเราจำเป็นต้องอดทน ในขณะที่พม่ากำลังจัดการกับปัญหาหลายอย่างที่ประเดประดังซึ่งเป็นประเด็นที่ยากขึ้น”

องค์กรแพทย์ไร้พรมแดนระบุในแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า พวกเขา “มองสถานการณ์ในแง่ดีอย่างระมัดระวัง” หลังรัฐบาลได้สร้างความประหลาดใจด้วยการออกมาประกาศให้แพทย์ไร้พรมแดนกลับเข้าไปทำงานต่อได้ หลังจาถูกขับไล่ออกจากพื้นที่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เนื่องจากได้รักษาเหยื่อที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม ซึ่งมีชาวโรฮิงยาเสียชีวิตมากกว่า 40 คน ขัดแย้งกับที่รัฐบาลได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งบางส่วนก็เห็นว่าข่าวการอนุญาตให้แพทย์ไร้พรมแดนกลับเข้าไปทำงานต่อมีความน่าสงสัย โดยระบุว่าอาจเป็นแผนการประชาสัมพันธ์สร้างภาพก่อนที่ John F. Kerry รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างสหรัฐอเมริกาจะเดินทางมาเยือนพม่าในเดือนสิงหาคมนี้

องค์กรแพทย์ไร้พรมแดนเป็นหน่วยงานหลักในการช่วยเหลือรักษาพยาบาลประชาชนในรัฐยะไข่มากกว่า 7 แสนคน การขับไล่เจ้าหน้าที่กว่า 600 คนและการปิดคลินิกหลายแห่ง รวมถึงทีมแพทย์เคลื่อนที่ได้ก่อให้เกิดช่องว่างขนาดใหญ่ ซึ่งรัฐบาลได้เข้ามาชดเชยด้วยทีมแพทย์เคลื่อนที่กลุ่มเล็กๆ ที่มีเจ้าหน้าที่เพียงราว 100 คน

การระงับการช่วยเหลือนั้นสร้างผลกระทบอย่างมาก ในวันที่อากาศชื้นวันหนึ่ง หลังห้องยาที่สร้างจากไม้ไผ่ในค่ายพักพิงแห่งหนึ่งนอกเมืองซิตต่วย ชาวโรฮิงยาหลายสิบคนกำลังเข้าแถวรอรับยาบริจาค ขณะที่ Ommar Khulsom หญิงวัย 30 ปี อุ้มหลานสาวเกิดใหม่ที่ไข้ขึ้นมารอรับยา แม่ของเด็กมีอาการบวมน้ำระหว่างที่ท้องและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ไร้พรมแดน เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่ทำงานกับองค์กรกล่าวว่า เมื่อพวกเขาถูกบังคับให้ออกจากพื้นที่ พวกเขาต้องหยุดรักษาเธอ และในวันคลอด ผู้หญิงคนนั้นก็ตกเลือดจนเสียชีวิต

เฝ้ารอความหวัง

หม่องละติ่น ช่างไม้วัย 33 ปี หัวหน้าค่ายพักพิง กล่าวว่า ในพื้นที่ของเขามีคนเสียชีวิตไปแล้วกว่า 50 คน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในจำนวนนั้นเป็นเด็กทารกสิบกว่าคน พื้นที่ของเขาไม่มีอาหารมา 15 วันเมื่อเดือนเมษายน องค์อรเอ็นจีโอได้หยุดส่งสบู่ น้ำสะอาด และอุปกรณ์สุขาภิบาลอื่นๆ ทำให้เกิดการระบาดของโรคท้องร่วงและโรคอื่นๆ

“เราไม่มีความหวัง” เขากล่าว

การตัดสินใจของรัฐบาลที่อนุญาตให้แพทย์ไร้พรมแดนกลับเข้ามาช่วยเหลือในค่ายพักพิงอีกครั้งอย่างไม่คาดคิดมาก่อนนั้นเกิดขึ้นหลังมีการประชุมเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้นำในท้องถิ่น เจ้าหน้าที่จากองค์กรสหประชาชาติ นักเคลื่อนไหว และอื่นๆ ได้ร่วมกันวางแผนการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ในขณะที่สิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นก้าวหนึ่งที่เป็นไปในทางบวก แต่บางส่วนก็ยังเห็นว่าปัญหาที่ใหญ่กว่านี้เรื่องชะตากรรมของชาวโรฮิงยายังไม่ได้รับการกล่าวถึง

“ในระยะยาว จะต้องมีการแก้ปัญหา” สำหรับผู้พลัดถิ่นเหล่านี้และอีกหลานพันคนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่ขาดการติดต่อ Pierre Peron โฆษกจากสำนักงานประสานงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในย่างกุ้ง กล่าว

ชาวโรฮิงยาจำนวนมากกล่าวว่า พวกเขากลัวว่าจะไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิมได้อีก

“พวกเราลำบากมากที่นี่ เราอยากกลับบ้านของเรา” ติ่นหม่องวัย 44 ปี กล่าว เขาเคยมีกิจการค้าเล็กๆ ก่อนที่เหตุรุนแรงจะเกิดขึ้นและทำให้ครอบครัวของเขาต้องพลัดถิ่น “หนึ่งวันก็เหมือนกับหนึ่งปี”

แปลจาก Malnutrition, disease rising in camps of Burma’s Rohingya Muslims

Washington Post 29 กรกฎาคม 2557

ที่มา: salweennews.org

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: