เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2557 เว็บไซด์ www. voicelabour.org รายงานว่า สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.)ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง การปรับเงินเดือนลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจ และลูกจ้างเอกชน โดย มีเนื้อหาระบุว่า ภายหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้าทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อันเนื่องมาจากการบริหารประเทศล้มเหลว มีการทุจริตในโครงการต่าง ๆ และการไม่เคารพต่อหลักนิติธรรม หลักนิติรัฐ จากการเข้ามาทำหน้าที่ของ คสช. ได้รับการตอบรับและความคาดหวังเป็นอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงและการนำประเทศคืนกลับสู่ความสงบสุขเช่นในอดีตที่ผ่านมา
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เป็นองค์กรหนึ่งที่ประกาศจุดยืนในการเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับมวลมหาประชาชนเพื่อต้องการเห็นบ้านเมืองมีความสงบสุข ปราศจากการทุจริต ซึ่งถือว่าการทุจริตเกือบทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และในช่วงเวลาที่ผ่านมาพนักงาน ลูกจ้าง ในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งต้องทำงานหนักเพื่อสนองนโยบายรัฐบาลและอีกด้านหนึ่งก็ต้องปกป้องผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจไม่ให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร ในขณะที่ สหภาพแรงงานก็ต้องทำหน้าที่อย่างหนัก ทั้งเคลื่อนไหว เปิดโปง ต่อต้านการทุจริต และปกป้องผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ และประชาชน
แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คสช. และปลัดกระทรวงการคลัง นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรีได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงการปรับเงินเดือนให้แก่ข้าราชการทั้งระบบทุกคนในอัตราร้อยละ 7 – 8 ซึ่งจะใช้วงเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท และจะปรับค่าครองชีพ จากเดิม 1,500 บาทเป็น 2,000 บาทรวมถึงการปรับเบี้ยเลี้ยงในการทำงานให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจด้วย
ซึ่งกระทรวงการคลังและ คสช. กลับมิได้พูดถึงการปรับเงินเดือนให้แก่ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งการปรับอัตราค่าจ้างในภาคเอกชน แต่อย่างใด ซึ่งหากลูกจ้าง และพนักงานรัฐวิสาหกิจ และลูกจ้างภาคเอกชนไม่มีการปรับก็จะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำอีกระลอก ซึ่งจะสวนทางกับนโยบายของ คสช. ที่แถลงไว้ก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม แทบทุกครั้งในการปรับเงินเดือนข้าราชการไม่ได้มีการกล่าวถึงการปรับเงินเดือนของลูกจ้างและพนักงานรัฐวิสาหกิจทั้ง ๆ ที่เป็นลูกจ้างของรัฐเช่นเดียวกับข้าราชการ ทำให้ ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจต้องออกแรงเคลื่อนไหวผลักดันทุกครั้ง อย่างกรณีการปรับเงินเดือนข้าราชการทุกตำแหน่งในอัตราร้อยละ 5 ตามมติ ครม. เมื่อ 23 ธันวาคม 2553 ในขณะที่ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจเรียกร้องให้มีการปรับที่เท่าเทียมกัน แต่ที่สุดแล้ว ครม. เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2554 ก็มีมติให้ปรับได้ไม่เกินร้อยละ 5 และคนที่เงินเดือนเกินกว่า 50,000 บาทไม่ได้รับการปรับโดยรัฐบาลในขณะนั้นอ้างว่าการปรับเงินเดือนในครั้งนั้นเพื่อคนที่มีรายได้น้อย แต่ข้าราชการทำไมระดับ อธิบดี ปลัดกระทรวงต่างก็ได้รับการปรับเงินเดือนกันถ้วนหน้าทุกคน จนทำให้สมาชิก สรส. เกือบหนึ่งพันคนเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เลือกปฏิบัติ จึงใช้สิทธิฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งศาลจะนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีในวันที่ 7 สิงหาคม 2557 นี้ รวมทั้งกรณี ที่ สรส.ร้องผ่านคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครส.) ตามกระบวนการของ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์2543 ให้มีการปรับโครงสร้างเงินเดือนลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจเสียใหม่เนื่องจากโครงสร้างเดิมใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น
ในปี 2545 จนถึงปัจจุบันนี้ กว่า 3 ปี สภาวะเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากคนรัฐวิสาหกิจก็ยังไม่ได้รับการปรับเงินเดือนแต่อย่างใดและแนวโน้มในครั้งนี้ประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอยเดิม ซึ่งแน่นอนว่า สรส. คงไม่ยอมนิ่งเฉยอีกต่อไปรวมทั้งประเด็นต่าง ๆนอกเหนือจากการปรับเงินเดือน คือ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้รัฐวิสาหกิจเป็นเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูประเทศชาติให้เกิดความสงบประชาชนอยู่อย่างมีความสุขเข้าถึงการให้บริการของรัฐวิสาหกิจอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และยุติธรรม เพื่อให้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการ “ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม”
ดังนั้น สรส. จะประสานงานกับ คสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันข้อเสนอต่าง ๆ ที่ได้เตรียมไว้แล้ว รวมทั้งการปรับเงินเดือนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจและลูกจ้างภาคเอกชนต่อไป จึงขอให้องค์กรสมาชิกติดตามความเคลื่อนไหวและข่าวสารจาก สรส. อย่างใกล้ชิดและเตรียมพร้อม เมื่อ สรส. กำหนดกิจกรรมในการขับเคลื่อนต่อไป จึงแถลงให้องค์กรมสมาชิก พี่น้องผู้ใช้แรงงานและพี่น้องสื่อมวลชนทราบโดยทั่วกัน
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
http://www.facebook.com/tcijthai
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ