สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ช่วงนี้เราคงได้ยินหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนตลอดจนนักเศรษฐศาสตร์ต่างออกมาพยากรณ์กันว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้และปีหน้าจะโตกันได้ซักกี่เปอร์เซ็นต์ ผมขอถือโอกาสนี้มาเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจไทยกันซักนิดนะครับ เวลาพูดถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่งนักเศรษฐศาสตร์มักจะหมายถึงอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือที่นิยมเรียกชื่อย่อภาษาอังกฤษกันว่า GDP (Gross Domestic Product) นั่นเองครับ
หากจะอธิบายความหมายง่ายๆ ของ GDP ก็คือผลรวมของมูลค่าสินค้าและบริการทั้งหมดที่ผลิตได้ในประเทศ นักเศรษฐศาสตร์มีวิธีวัด GDP ได้หลายวิธีแต่วิธีที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือการวัด GDP ด้านรายจ่าย ซึ่งแบ่ง GDP ออกเป็นสี่องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่
1.การใช้จ่ายของครัวเรือน (Consumption: C) หมายถึงการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าและบริการของประชาชน เช่น การซื้อเสื้อผ้า อาหาร ยา ตลอดจน การทานข้าว และดูภาพยนตร์
2.การลงทุนของภาคธุรกิจ (Investment: I) หมายถึงรายจ่ายลงทุนของภาคธุรกิจ เช่น การซื้อเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิต
3.การใช้จ่ายของรัฐบาล (Government Expenditure: G) หมายถึงการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการของรัฐบาล เช่น เงินเดือนข้าราชการ การสร้างถนนหนทาง
4.การส่งออกสินค้าและบริการสุทธิ (Net Export of Good and Services: X-M) หมายถึงส่วนต่างระหว่างยอดการส่งออกและนำเข้าสินค้าและบริการของประเทศ โดยหากตัวเลขส่วนนี้ออกมาเป็นบวกหมายความว่าประเทศมีการส่งออกสินค้าและบริการได้มากกว่าที่ต้องนำเข้า และในทางกลับกันหากมีค่าเป็นลบก็หมายความว่าประเทศมีการนำเข้าสินค้าและบริการมากกว่าที่ส่งออกได้
เมื่อนำทั้ง 4 องค์ประกอบข้างต้นมารวมกันก็จะได้ GDP หรือก็คือมูลค่าของสินค้าและบริการทั้งหมดที่ผลิตได้ของประเทศ หากจะมองอีกมุมหนึ่ง GDP สามารถสะท้อนถึงขนาดของเศรษฐกิจของแต่ละประเทศได้เป็นอย่างดี เวลาที่นักเศรษฐศาสตร์จัดอันดับทางเศรษฐกิจของประเทศในแต่ละปี ว่าประเทศใดมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ขนาดไหนก็วัดจาก GDP ตัวนี้ล่ะครับ เมื่อเร็วๆ นี้เราคงได้ทราบข่าวมาแล้วว่า ขนาดของเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศญี่ปุ่นตกจากอันดับ 2 มาเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยถูกประเทศจีนแซงขึ้นไปเป็นอันดับ 2 แทน
เศรษฐกิจของแต่ละประเทศนั้นไม่ได้แตกต่างกันแค่ขนาดของ GDP ว่าเล็กหรือใหญ่เท่านั้น แต่ยังแตกต่างกันที่องค์ประกอบของ GDP ด้วย นั่นคือองค์ประกอบไหนเป็นองค์ประกอบใหญ่สุดของ GDP แต่ละประเทศ เช่น เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะมีการบริโภค (C) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด ในขณะที่เศรษฐกิจจีนจะมีการลงทุน (I) เป็นองค์ประกอบที่ใหญ่ที่สุด คำถามที่อยากจะถามท่านผู้อ่านคือ แล้วเศรษฐกิจไทยล่ะครับองค์ประกอบไหนน่าจะสำคัญที่สุด?
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การแข่งขันของพรรคการเมืองผ่านชุดนโยบายสาธารณะต่างๆ อาจจะทำให้หลายคนเข้าใจว่าการใช้จ่ายของรัฐบาลไทย (G) น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่สุดใน GDP ของประเทศ ทว่า ในความเป็นจริงแล้วการใช้จ่ายของรัฐบาล (G) กลับเป็นองค์ประกอบที่เล็กที่สุด ในขณะที่องค์ประกอบที่ใหญ่ที่สุดกลับ ได้แก่ การส่งออกสินค้าและบริการของประเทศ (X)
ตารางที่ 1: GDP ของประเทศไทย พ.ศ.2555- 2556
|
2555 (ล้านบาท) |
สัดส่วนต่อ GDP |
2556 (ล้านบาท) |
สัดส่วนต่อ GDP |
การใช้จ่ายของครัวเรือน |
6,293,508 |
55% |
6,461,996 |
54% |
การลงทุนของภาคธุรกิจ |
3,383,131 |
30% |
3,480,175 |
29% |
การใช้จ่ายของรัฐบาล |
1,544,330 |
14% |
1,642,643 |
14% |
การส่งออกสินค้าและบริการ |
8,529,212 |
75% |
8,752,453 |
74% |
การนำเข้าสินค้าและบริการ |
-8,400,223 |
-74% |
-8,362,505 |
-70% |
ค่าสถิติคาดเคลื่อน |
25,391 |
|
-77,313 |
|
GDP |
11,375,349 |
|
11,897,449 |
|
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
หากไล่ขนาดองค์ประกอบของ GDP ประเทศไทยจากใหญ่ไปถึงเล็กที่สุดแล้วก็จะไล่ได้ตามลำดับ ดังนี้ การส่งออกและการนำเข้า (รวมเรียกว่าภาคต่างประเทศ) การใช้จ่ายของครัวเรือน การลงทุนภาคธุรกิจ และการใช้จ่ายของรัฐบาล มาถึงตรงนี้แล้วท่านผู้อ่านก็คงจะได้รับคำตอบแล้วนะครับว่า ทำไมผู้บริหารประเทศตลอดจนนักเศรษฐศาสตร์จึงสนใจกับตัวเลขการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์กันมากเหลือเกิน
แล้วพวกเราคนไทยต้องมากังวลหรือไม่ครับว่า เศรษฐกิจของประเทศดูเหมือนจะต้องพึ่งพาภาคต่างประเทศมากมายขนาดนี้ ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจกันก่อนนะครับว่า เวลานักเศรษฐศาสตร์จะดูว่าภาคต่างประเทศมีความสำคัญกับเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมากน้อยขนาดไหน เขาจะดูกันที่ระดับการเปิดประเทศ (Degree of Openness) ซึ่งวัดจากสัดส่วนของภาคการส่งออกและนำเข้าต่อ GDP ของประเทศ ยกตัวอย่างกรณีของประเทศไทย เราจะพบว่าเมื่อคำนวณ Degree of Openness ออกมาแล้วจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 140-150 หากเราเปรียบเทียบ Degree of Openness ของประเทศไทยเทียบกับประเทศซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก (สหรัฐอเมริกา) และใหญ่อันดับ 2 ของโลก (จีน) เราจะพบกับความแปลกประหลาดใจว่า ประเทศไทยมี Degree of Openness มากกว่าทั้งสองประเทศเสียอีก!
ตารางที่2: Degree of Openness สัดส่วนการส่งออกและนำเข้าต่อ GDP ของประเทศต่างๆ
ประเทศ |
สัดส่วนการส่งออกต่อ GDP (พ.ศ.2555) |
สัดส่วนการนำเข้าต่อ GDP (พ.ศ.2555) |
Degree of Openness* (พ.ศ.2555) |
ไทย |
75% |
74% |
149% |
สหรัฐอเมริกา |
14% |
17% |
31% |
จีน |
27% |
25% |
52% |
ญี่ปุ่น |
15% |
17% |
32% |
สหราชอาณาจักร |
32% |
34% |
66% |
เยอรมนี |
52% |
46% |
98% |
อินโดนีเซีย |
24% |
26% |
50% |
สิงคโปร์ |
195% |
173% |
368% |
เขตปกครองพิเศษฮ่องกง |
226% |
224% |
450% |
ที่มา: World Bank
*คำนวณโดยผู้เขียน
แล้วจริงๆ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายหรือไม่ เราลองมาหาคำตอบแบบง่ายๆ กันครับ ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่า รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศแทบทุกรัฐบาลล้วนแล้วแต่มีจุดมุ่งหมายที่จะชักชวนให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุน และมีนโยบายส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลกที่สำคัญในหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผลผลิตที่มากมายมหาศาลของศูนย์กลางการผลิตเหล่านี้มีขนาดมากเกินกว่าที่ตลาดในประเทศ (กำลังซื้อของประชาชนในประเทศ) จะรองรับไว้ได้หมด ดังนั้น การลงทุนขนาดใหญ่เหล่านี้จึงไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะผลิตเพื่อสนองตอบต่อกำลังซื้อในประเทศ แต่เป็นการผลิตเพื่อสนองตอบต่อตลาดโลกเป็นหลัก ซึ่งก็สอดคล้องกับการเปลี่ยนนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมจากอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้ามาเป็นอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกของประเทศ เมื่อเป็นเช่นนี้ การพึ่งพิงการส่งออกของไทยจึงเป็นเรื่องที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ครับ
หลายคนยังอาจสงสัยอยู่นะครับว่าตกลงแล้วประเทศไทยเรากลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมแล้วหรือ? ทำไมยังได้ยินปัญหาข้าวไทยล้นตลาดโลกอยู่เลย? ตัวเลขการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่มากกว่าสินค้าเกษตรกรรมกว่า 10 เท่าคงช่วยตอบคำถามนี้ได้ชัดเจนขึ้นนะครับ
ตารางที่3: มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเทียบกับสินค้าอุตสาหกรรม พ.ศ. 2551–2556
|
มูลค่าส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ล้านบาท) |
มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรกรรม (ล้านบาท) |
ส่วนต่าง* (ล้านบาท) |
2551 |
5,030,878 |
514,129 |
4,516,749 |
2552 |
4,418,328 |
418,124 |
4,000,204 |
2553 |
5,201,999 |
530,321 |
4,671,678 |
2554 |
5,615,378 |
713,858 |
4,901,520 |
2555 |
6,106,359 |
562,555 |
5,543,804 |
2556 |
6,082,736 |
551,700 |
5,531,036 |
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
*คำนวณโดยผู้เขียน
ในวันนี้ ผมจะยังไม่ลงไปในประเด็นที่ว่า แล้วตกลงเราควรส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือเกษตรกรรมมากกว่ากัน เพราะคงต้องใช้พื้นที่อีกค่อนข้างมาก แต่สัญญานะครับ ถ้ามีโอกาสเราจะกลับมาพูดถึงเรื่องนี้กันใหม่ เพราะมีประเด็นสำคัญหลายประเด็น เช่น คนไทย (หมายถึงคนไทยจริงๆ ที่เกิดในประเทศไทย) ได้อะไรจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ ปัญหาสังคมซึ่งมีที่มาจากการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียม ตลอดจนความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น
หากพิจารณาต่อไปอีกสักนิดนะครับ แล้วคนไทยมีพื้นฐานอะไรถึงจะเป็นอุตสาหกรรม ถ้าเป็นในอดีตก็ต้องตอบตามตรงว่าไม่ค่อยจะมีหรอกครับ ส่วนใหญ่เรามีบทบาทแค่ประกอบชิ้นส่วนเท่านั้น แต่ในปัจจุบันนักธุรกิจไทยเราเก่งขึ้นมากครับ จนเราสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting Industry) สำหรับบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ขึ้นมาได้อย่างน่าพอใจ อย่างไรก็ตาม แม้เราจะพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนขึ้นมาได้เป็นอย่างดี แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงการผลิตชิ้นส่วนที่มีลักษณะของงานฝีมือมากกว่าการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ดังนั้น ประเทศไทยแม้จะส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้มากจริง แต่ก็ยังต้องพึ่งพิงการนำเข้าชิ้นส่วนที่ต้องใช้เทคโนโลยีสูงในการผลิต ตลอดจนต้องนำเข้าเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสัดส่วนของการนำเข้าสินค้าและบริการของไทย (M) จึงมีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศ
อ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านหลายท่านคงเริ่มกังวลแล้วนะครับว่า แล้วเศรษฐกิจของประเทศไทยเราอยู่ในสถานการณ์อันตรายหรือไม่? ก็อย่างที่เขียนไปแล้วในช่วงต้นนะครับว่า ประเทศใดซึ่งเป็นประเทศเล็กแล้วอยากพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมหรือศูนย์กลางการค้าก็หนีไม่พ้นหรอกครับที่จะต้องพึ่งพิงภาคต่างประเทศมากขนาดนี้ ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้วเราไม่อาจนำอัตราการพึ่งพิงภาคต่างประเทศมาเป็นตัวชี้วัดได้ว่าแต่ละประเทศดีหรือไม่ดี ดังเห็นตัวอย่างได้จากประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ก็มี Degree of Openness สูงถึงร้อยละ 368 และคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าสิงคโปร์เป็นชาติที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงสุดในอาเซียนและอยู่ในลำดับต้นๆ ของโลกตลอดมา
แต่หลังจากเศรษฐกิจโลกในช่วงหลังเริ่มมีความผันผวนมากขึ้นเรื่อยๆ และประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ แต่กลับต้องไปพึ่งพิงโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน หากเปรียบก็คงเสมือนเรือลำน้อยท่ามกลางคลื่นลมของมหาสมุทรกว้าง รัฐบาลในช่วงหลังจึงเริ่มดำเนินนโยบายที่จะปรับสมดุลเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการเพิ่มบทบาทของการใช้จ่ายของครัวเรือน (C) และการใช้จ่ายของรัฐบาล (G) ซึ่งผมจะได้มานำเสนอต่อท่านผู้อ่านในโอกาสต่อไปว่า แล้วหลังจากเราเริ่มปรับสมดุลเศรษฐกิจของประเทศแล้ว เราเป็นอย่างไร และทิศทางเศรษฐกิจของประเทศเราจะเป็นอย่างไรต่อไป
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ