ศาลรธน.ชี้ม.190ขัดรธน. ทั้งกระบวนการและเนื้อหา

8 ม.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1570 ครั้ง

เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 8 มกราคม ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นำโดยนายจรูญ อินทจาร ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์เพื่ออ่านคำวินิจฉัยคำร้องที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา และสมาชิกรัฐสภารวม 383 คน ร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ที่จำกัดอำนาจรัฐสภาในการให้ความเห็นชอบ การทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศของฝ่ายบริหาร เข้าข่ายเป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครอง และกระทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่

โดยองค์คณะตุลาการฯ มอบหมายให้นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ และนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัย โดยนายทวีเกียรติกล่าวว่า คดีนี้ผู้ร้องได้ใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ศาลจึงมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคำร้องได้ โดยมีประเด็นวินิจฉัย 2 ประเด็น คือ 1.กระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่... พ.ศ.... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190 เห็นชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ 2.การแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่... พ.ศ.... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190 เห็นชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และมีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่

นายทวีเกียรติกล่าวว่า โดยกระบวนการพิจารณารัฐธรรมนูญดังกล่าว พบว่า มีการปิดอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระ 1 ขั้นรับหลักการ ทั้งที่การประชุมอภิปรายยังเหลือเวลาอภิปรายกว่า 8 ชั่วโมง จาก 38ชั่วโมง ตามที่วิป 3 ฝ่ายตกลงกันไว้ แม้จะมีผู้ทักท้วง แต่ประธานในที่ประชุมได้สั่งปิดการอภิปรายและให้ลงมติรับหลักการ ส่วนการกำหนดกรอบเวลาแปรญัตติ ประธานในที่ประชุมได้กำหนดกรอบเวลาในการแปรญัตติเพียง 15 วัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เป็นเรื่องสำคัญการและมีผลต่อการบริหารราชการแผ่นดิน การพิจารณาต้องทำด้วยความระมัดระวัง โปร่งใส มิใช่จะแก้เพื่อประโยชน์ของฝ่ายบริหารได้นำไปใช้ โดยปราศจากการให้สมาชิกแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย หากการพิจารณาไม่ฟังเสียงข้างน้อยโดยไม่เคารพต่อเสียงข้างน้อย ย่อมเป็นเผด็จการเสียงข้างมาก แม้เสียงข้างมากจะมีสิทธิลงมติปิดการอภิปราย แต่ต้องไม่ไปตัดสิทธิ์การทำหน้าที่ของสมาชิก การรวบรัดปิดการอภิปรายและปิดประชุมจึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ ศาลจึงเห็นว่า ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 125 วรรคหนึ่ง

นายทวีเกียรติกล่าวว่า ส่วนการกำหนดกรอบเวลาในการแปรญัตติถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่ต้องมีเวลาให้สมาชิกที่ประสงค์จะแปรญัตติได้ใช้เอกสิทธิ์ในการแปรญัตติ การนับเวลาแปรญัตติไม่อาจนับย้อนหลังได้ แต่ต้องนับตั้งแต่วันที่มีมติรับหลักการในวาระ การที่คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนับเวลาย้อนหลังไปจึงขัดต่อข้อบังคับการประชุมและไม่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรค 2 และมาตรา125 วรรคหนึ่งและวรรคสอง และการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระสองเป็นรายมาตรา ศาลเห็นว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 125 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

ด้านนายจรัญกล่าวว่า สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหา ที่ไม่มีในร่างที่ผ่านการพิจารณาในวาระแรก การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอำนาจในการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ถือว่าเป็นการใช้อำนาจที่คณะรัฐมนตรีใช้อำนาจนี้แทนพระมหากษัตริย์ คณะรัฐมนตรีจึงต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง การกำหนดให้คณะรัฐมนตรีฟังความคิดเห็นของประชาชน และชี้แจงการทำหนังสือสัญญา และกรอบเจรจาต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนเข้าถึงรายละเอียดในหนังสือสัญญาเหล่านั้นด้วย การแก้ไขเนื้อหาที่ไม่มีในร่างที่ผ่านการพิจารณาในวาระ 1 อาจมีการนำหนังสือสัญญาฯ ไปตีความอย่างแคบ หรือจำกัดความ ถือเป็นการลิดรอนอำนาจในการตรวจสอบถ่วงดุลของรัฐสภาให้ลดน้อยลง แต่เป็นการเพิ่มอำนาจรัฐมนตรีให้เพิ่มมากขึ้น

            “การกระทำดังกล่าวยังกระทบต่อหลักเกณฑ์แบ่งแยกอำนาจ ระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ถือเป็นการให้อำนาจ ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้ตรวจสอบหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ก่อนจะไปลงนามกับต่างประเทศ การที่ผู้ถูกร้องร่วมกันแก้ไขถ้อยคำ โดยตัดข้อความว่า ‘หนังสือสัญญา’ ออกไปโดยให้เหตุผลว่า การที่รัฐธรรมนูญมาตรา 190 กำหนดให้รัฐสภาเห็นชอบหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ เป็นเรื่องที่ทำให้การเจรจามีความล่าช้า หลักการและเหตุผลของผู้ถูกร้องดังกล่าวปราศจากน้ำหนักและไม่อาจนำมาอ้างได้ เพราะได้เคยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำหนดประเภทของหนังสือสัญญาไว้แล้ว การที่ผู้ถูกร้องได้แก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาในประเด็นนี้ จึงเป็นการลดทอนอำนาจของรัฐสภา และเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายบริหาร ในการทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศ เป็นการทำลายดุลยภาพในการตรวจสอบถ่วงดุล การกระทำดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคหนึ่ง”

นายจรัญกล่าวอีกว่า การที่ผู้ถูกร้องได้ตัดเนื้อหาในบทบัญญัติดังกล่าว เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และถือเป็นการกระทำเพื่อความสะดวกต่อกลุ่มบุคคล โดยไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิ ในการเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญา ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ดังนั้น ศาลมีมติเสียงข้างมากเห็นว่า การพิจารณาและลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีกระบวนการในการพิจารณามิชอบด้วยกฎหมาย ไม่ชอบด้วยกระบวนการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 125 วรรคหนึ่ง เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ส่วนการแก้ไขโดยตัดเนื้อหาสำคัญ เป็นการกระทำเพื่อให้บุคคลหรือคณะบุคคลได้อำนาจในการปกครองประเทศมาโดยไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3, 4, 5, 87 และมาตรา 122 รวมทั้งยังเป็นการผ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ กล่าวภายหลังรับฟังคำวินิจฉัยว่า หลังจากนี้ตนจะคัดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกับรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 20,000 รายชื่อ เพื่อขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการถอดถอนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว ออกจากตำแหน่ง และผลการตัดสินวันนี้แสดงให้เห็นว่า ระบอบทักษิณไม่สามารถแก้กฎหมาย เพื่อนำสมบัติของประเทศแลกเพื่อประโยชน์ส่วนตัวได้อีกต่อไป ทั้งนี้ร่างกฎหมายดังกล่าว แม้ไม่มีการแก้ไข ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารประเทศ เพราะสิ่งที่กำหนดในกฎหมาย เป็นการแสดงให้เห็นว่า การดำเนินการใด ๆ ที่เป็นผลประโยชน์ของชาติ ต้องทำอย่างรอบคอบ

 

ขอบคุณข่าวจากข่าวสดออนไลน์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: