จับตาศุกร์นี้เลือกประธานวุฒิฯวัดกำลังการเมืองสองขั้ว ตั้งนายกเฉพาะกิจได้?

ทีมข่าว TCIJ 8 พ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2301 ครั้ง

การลงมติเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภาในการประชุมวุฒิสภา สมัยวิสามัญ วันที่ 9 พ.ค.2557 นี้เป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งสำหรับตำแหน่งผู้คุมเกมในสภาสูงอย่างประธานวุฒิสภา ว่าจะออกมาทางฝั่งไหนระหว่างสายสรรหาและสายเลือกตั้ง

หลังจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นว่านายกรัฐมนตรีใช้ตำแหน่งของตนเข้าไปแทรกแซงในการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. จนเป็นการผิดรัฐธรรมนูญ มีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวแล้วนั้น สังคมเริ่มเกิดความแคลงใจถึงเสถียรภาพของการเมืองไทย และเริ่มผวาถึงภาวะ “สุญญากาศ” มากขึ้น

 และ “วุฒิสภา” ซึ่งเป็นเหมือนเป็นปลายทางของการ ถอดถอนตำแหน่งทางการเมือง การแต่งตั้งคนไปคุมองค์กรอิสระ รวมทั้งการโหมกระแสที่ว่า “วุฒิสภาสามารถตั้งนายกคนกลางได้” นั้น ยิ่งทำให้ “วุฒิสภา” และ “ประธานวุฒิสภา” โดดเด่นขึ้นมาเป็นอย่างมากในยุคที่การเมืองระดับชาติถูกแบ่งออกเป็นสองขั้วชัดเจน ในขณะปัจจุบันนี้

วัดกำลังรอบแรกสายสรรหาได้เปรียบ

เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2557 ที่ผ่านมา ในการประชุมวุฒิสภา สมัยวิสามัญ โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา ฐานะปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยก่อนเข้าสู่การพิจารณาเรื่องด่วน นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา ได้อ่านพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2557 รวมถึงแจ้งให้สมาชิกรับทราบถึงพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศแต่งตั้ง อีก 3 ฉบับ ได้แก่ แต่งตั้งนายณรงค์ รัฐอมฤต เป็นกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, แต่งตั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน และประธานกรรมการการเลือกตั้ง ก่อนที่จะให้ ส.ว.ที่ได้รับการรับรองการเลือกตั้ง จำนวน 77 คน กล่าวปฏิญาณตนในที่ประชุมก่อนเข้ารับหน้าที่

ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบกับญัตติที่เสนอให้ที่ประชุมวุฒิสภาเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา รวมถึงกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา จำนวน 22 คณะ ในการประชุมวุฒิสภา สมัยวิสามัญ ครั้งที่ 2 ในวันที่ 9 พ.ค. หลังจากที่ที่ประชุมได้ใช้เวลาอภิปรายนานเกือบ 3 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้นายอนุรักษ์ นิยมเวช ส.ว.สรรหา อภิปรายว่าการประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ เป็นสิ่งที่รัฐบาลได้กำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนและเป็นเรื่องเฉพาะ ดังนั้นการเสนอญัตติเพื่อพิจารณาตั้งกรรมาธิการฯ ไม่อาจสามารถทำได้ และอาจจะมีปัญหาด้านข้อกฎหมาย

ขณะที่นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา อภิปรายว่า การทำหน้าที่ของวุฒิสภาไม่ได้ทำให้แผ่นดินหรือราชการเสียหาย การกำหนดรายละเอียดใน พ.ร.ฎ.เรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา โดยรัฐบาลนั้น ตนมองว่ารัฐบาลเป็นเพียงทางผ่านให้วุฒิสภาได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์เท่านั้น ดังนั้นรัฐบาลไม่มีสิทธิ์ปิดกั้นการทำงานของวุฒิสภา หากมีการตีความกฎหมายว่าวุฒิสภาไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้เกินกว่าเรื่องที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ฎ.เรียกประชุมสมัยวิสามัญ อาจมีผู้ตีความว่าการกล่าวคำปฏิญาณตนต่อส.ว.ใหม่ไม่สามารถทำได้เช่นกัน

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กล่าวว่าการกำหนดรายละเอียดใน พ.ร.ฎ.เรียกประชุมสมัยวิสามัญ โดยรัฐบาลนั้นเข้าข่ายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการเขียนพ.ร.ฎ.ที่เกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และเข้าข่ายแทรกแซงการทำงานของวุฒิสมาชิก

ส่วนนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา อภิปรายว่า  การเลือกประธานวุฒิสภา ถือเป็นความจำเป็นของการประชุมวุฒิสภา หากไม่มีอาจจะทำให้การทำงานสะดุด รวมถึงมีข้อจำกัดและเกิดช่องว่างตามรัฐธรรมนูญได้ อาทิ กรณีที่ประธานวุฒิสภาต้องทำหน้าที่เป็นรองประธานรัฐสภา

หลังจากการอภิปรายนาน 2 ชั่วโมง นายมนตรี ด่านไพบูลย์ ส.ว.ลำพูน เสนอญัตติด้วยวาจาต่อที่ประชุมเพื่อเลือกบุคคลให้มาดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา, รองประธานวุฒิสภา และกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา ทำให้นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ สว.สรรหา ได้เสนอญัตติต่อที่ประชุมให้เลื่อนการพิจารณาเลือกบุคคลให้มาดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา, รองประธานวุฒิสภา ออกไปก่อน นายวันชัยไม่เห็นด้วยและเสนอญัตติให้ร่วมลงมติทั้ง 2 ประเด็นในคราวเดียว ผลปรากฎว่าที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ 65 เสียงต่อ 23 เสียง งดออกเสียง 27 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง (จากสมาชิกที่อยู่ในห้องประชุมจำนวน 129 คน) เห็นชอบกับญัตติกับเลือกบุคคลให้มาดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา, รองประธานวุฒิสภา และกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา

ทำไมต้องเป็น สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัยไม่ใช่ จารุวรรณ เมณฑกา

ก่อนหน้านี้หลังการเลือกตั้ง ส.ว. เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ชื่อของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ถูกหยิบยกขึ้นมาโดยแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. หลายคนในการเป็นตัวแทนของกลุ่มลงชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภา แต่ทั้งนี้ ส.ว.สรรหา ทั้งหมดก็ไม่ได้เป็นเอกภาพกันมากนัก และหลายคนพยายามไม่ให้ถูกภาพ “การเมืองแบบเลือกข้าง” ครอบงำมากเกินไป และหากเลือกคุณหญิงจารุวรรณ เป็นประธาน ส.ว. ภาพของ ส.ว.สรรหาทุกคนก็จะถูกมองว่าเลือกข้างฝ่ายตรงข้ามพรรครัฐบาลอย่างชัดเจน

ชื่อของนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัยจึงเป็นทางออกที่รับได้ ไม่สุดโต่งเกินไป และจะยังคงรักษาสายสัมพันธ์ของ ส.ว.สายสรรหาไว้ได้อย่างมีเสถียรภาพมากที่สุด และหากจะว่าไปแล้วในอดีตนายสุรชัยก็มีบทบาทเรื่องการตรวจสอบฝ่ายทักษิณร่วมกับกลุ่ม 40 ส.ว. อย่างแนบแน่นมาก่อน นอกจากนี้ตำแหน่งรองประธาน ส.ว. ก็คงจะตกอยู่กับ ส.ว.สายตรงของกลุ่ม 40 ส.ว. อย่างแน่นอน

สำหรับเส้นทางทางการเมืองของ ‘สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย’ เริ่มเป็นที่รู้จักในสนามการเมืองระดับประเทศหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549  ในกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นั้น นายสุรชัยเป็นตัวแทนหนึ่งเดียวจากสภาทนายความ ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) พ.ศ.2550 ทั้งยังเป็นประธานคณะกรรมาธิการภาคกลาง ดูแลพื้นที่ 17 จังหวัด และประธานคณะกรรมาธิการกรุงเทพฯ ที่ต้องทำหน้าที่เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญตามพื้นที่ที่รับผิดชอบ

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา 

จากนั้นเข้าสู่การเป็นสมาชิกวุฒิสภา ด้วยการสรรหาจากภาควิชาการ พ.ศ. 2551-54 ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา นายสุรชัยได้รับเลือกให้เป็นประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ติดต่อกัน 3 สมัย

ได้รับเลือกเป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2555 ในฐานะรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 นี้นายสุรชัยได้แสดงวิสัยทัศน์ที่จะขออาสาพัฒนางานฐานข้อมูลกฎหมายของวุฒิสภาให้ก้าวหน้า จนกระทั่งนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ถูกชี้มูลความผิดโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ นายสุรชัยจึงต้องปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา

.. สายเลือกตั้งแล้วแต่ เพื่อไทยจะเคาะ - ชื่อจงรัก โผล่ สูตรใหม่ ท้ายสุดน่าจะแป่ก

ก่อนหน้านี้มีชื่อของนายศรีเมือง เจริญศิริส.ว.มหาสารคามที่พรรคเพื่อไทยพยายามจะผลักดันให้ขึ้นสู่ตำแหน่งประธานวุฒิสภาแต่คนใกล้ชิดของนายศรีเมือง เองก็ได้ออกมายอมรับอย่างถอดใจแล้วว่าจากสภาพการณ์ภายในวุฒิสภาขณะนี้ไม่น่าเป็นไปได้เพราะหากดูจากฐานคะแนนสนับสนุนฝ่าย 40 ส.ว. กุมเสียงได้เกินครึ่งโดยเฉพาะกลุ่ม ส.ว.สรรหาที่ยังเป็นเอกภาพประกอบกับ ส.ว.เลือกตั้งชุดใหม่กลุ่มที่มีสายสัมพันธ์กับพรรคประชาธิปัตย์อีกราว 15-20 คน ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะยอมให้ฝ่ายตรงข้ามขึ้นมาเป็นประธานวุฒิสภาเชื่อว่าประธานวุฒิสภาคนใหม่จะต้องมาจากสายสรรหา

รวมทั้งภาพที่ใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มากเกินไปอาจจะทำให้นายศรีเมือง ถูกมองว่าไม่สง่างามมากนัก ในการนั่งในตำแหน่งนี้

ชื่อต่อมาที่ได้รับการพูดถึงของฝั่ง ส.ว.เลือกตั้งก็คือ นายจองชัย เที่ยงธรรม ส.ว.สุพรรณบุรี ที่ออกตัวขออาสาเป็นคนกลางในการลงชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภา แต่ก็ถูกแรงกดดันจาก ส.ว.สายตรงพรรคเพื่อไทย ว่าจะเป็นการตัดคะแนนสายเลือกตั้งด้วยกันเองเสียมากกว่า

ชื่อสุดท้ายที่มีการแง้มมาคือพล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจึงเป็นการแก้เกมของฝั่งพรรคเพื่อไทย เพราะอาจมองว่าลำพังเพียงเสียงของ ส.ว. ฝ่ายเลือกตั้งที่พรรคคุมเสียงได้นั้นมีไม่เพียงพอ ต้องหาแนวร่วม ส.ว. สรรหา ที่ไม่เอากลุ่ม 40 ส.ว. มาสมทบให้ได้มากที่สุด โดยไม่กี่วันที่ผ่านมา นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ส.ว.สรรหา รับบทล๊อบบี้ยิสต์เดินสายพูดคุยกับเพื่อนสมาชิก ทั้ง ส.ว.สายเลือกตั้งและสรรหาบางส่วนให้กับพล.ต.อ.จงรักบ้างแล้วโดยคาดว่า ส.ว.สรรหาส่วนหนึ่ง ราว 5-10 คน จะสนับสนุน พล.ต.อ.จงรัก

พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ชื่อของ พล.ต.อ.จงรัก จึงเริ่มเป็นที่จับตาเป็นอย่างยิ่งในโค้งสุดท้ายนี้ เพราะจำนวน ส.ว.สายสรรหา ที่สนับสนุน พล.ต.อ.จงรัก อาจจะบ่งบอกถึงความคับข้องใจของ ส.ว.สายสรรหาบางส่วน ที่ไม่เอาด้วยกับกลุ่ม 40 ส.ว. แต่ท้ายสุด พล.ต.อ.จงรักจะทำได้แค่เป็นตัวตัดคะแนนฝั่ง ส.ว.สรรหา จากนายสุรชัย เท่านั้น หากนายจองชัยยังคงยืนยันที่จะลงแข่ง

ล่าสุดมีกระแสข่าวที่ว่าฝ่ายส.ว.เลือกตั้งพยายามล็อบบี้นายจองชัย ให้ถอนตัวจากการชิงตำแหน่ง เพื่อผลักดันให้พล.ต.อ.จงรัก ลงชิงตำแหน่งแทนกับนายสุรชัย แต่นายจองชัยยังมีท่าทีแข็งขืนอยู่ โดยเสนอข้อต่อรองว่าหากไม่สามารถลงชิงประธานวุฒิสภาได้ ก็ขอเป็นรองประธานวุฒิสภาแทน ทำให้ยังมีการต่อรองกันหนักอยู่

เช็คขุมกำลัง สายตรงข้ามเพื่อไทย-นักเลือกตั้ง ในสภาสูง

ณ เวลานี้(บทวิเคราะห์นี้ประเมินสถานการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2557)เมื่อประเมินขุมกำลังคร่าวๆ ในสภาสูงของแต่ละฝ่ายพบว่านายสุรชัยยังคงได้เปรียบอยู่หลายขุม ในแง่ของฐานเสียง

-          สายตรงข้ามเพื่อไทย นำโดยกลุ่ม 40 ส.ว. รวมกับสายประชาธิปัตย์และ กปปส. (ทั้งสรรหาและเลือกตั้ง) ประมาณ 65 คน

-          สายพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล (ส.ว.เลือกตั้ง) ประมาณ 55 คน

-          สายอิสระและไม่ออกตัวชัดเจน (ทั้งสรรหาและเลือกตั้ง) ประมาณ 30 คน

ทั้งนี้ประธานวุฒิสภาจะไม่หลุดไปถึง ส.ว.ฝ่ายเลือกตั้งได้นั้นอาจจะต้องอยู่ในเงื่อนไขที่กลุ่ม 40 ส.ว. จะต้องหนุนนายสุรชัย และไม่ส่งตัวแทนของกลุ่มที่มีภาพลักษณ์สุดโต่งเกินไป (เช่นคุณหญิงจารุวรรณ) ลงแข่งซึ่งหากเป็นไปตามนี้จะได้คะแนนเสียงของ ส.ว.สายอิสระมาสมทบ

ส่วน ส.ว.เลือกตั้ง และสายพรรคเพื่อไทยนอกจากจะกุมสภาพเสียงของ ส.ว.เลือกตั้งฝ่ายตนให้ได้แล้วนั้น มีทางเลือกคือ หวังให้ ส.ว.สรรหาตัดคะแนนกันเอง หรืออีกสูตรการชู ส.ว.สรรหา สักคน (พล.ต.อ.จงรัก?) ที่ไม่เอาด้วยกับกลุ่ม 40 ส.ว. แล้วเทคะแนนให้คนนั้น ซึ่งทางเลือกนี้อาจจะได้เสียง ส.ว.อิสระมาบ้างแต่กระนั้นปัจจัยการ “ล๊อบบี้” ในเวลาที่ฉุกละหุกแบบนี้นั้นคงเป็นไปได้ยาก

และแม้นว่าจะพ่ายแพ้ในครั้งนี้ แต่เราอาจจะได้เห็น “ภาพรวม” จากคะแนนเสียงของส.ว.สายเลือกตั้งครั้งนี้ ที่ยังจะมีผลสำคัญต่อการ “ขวาง” การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ชงมาโดยฝ่ายต่อต้านเพื่อไทยในอนาคตเป็นอย่างมากซึ่งการถอดถอนต้องใช้เสียงของ ส.ว. 3 ใน 5 ของ ส.ว.ทั้งหมด ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 90 เสียง

เดินหน้าโร้ดแมพฝ่ายต่อต้านเพื่อไทย

หลังคำตัดสินของตุลากาลศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นว่านายกรัฐมนตรีใช้ตำแหน่งของตนเข้าไปแทรกแซงในการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. จนเป็นการผิดรัฐธรรมนูญ มีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวแล้วนั้น  หลายฝ่ายมองว่านี่คือการเดินหน้าตาม “โร้ดแมพฝ่ายต่อต้ายเพื่อไทย” ที่มีตัวเล่นที่สำคัญคือองค์กรอิสระ กลุ่มมวลชนของพรรคประชาธิปัตย์และ กปปส. รวมทั้งสมาชิกวุฒิสภาสายสรรหา ผนึกกำลังกันแทรกแซงประชาธิปไตย เป้าหมายสูงสุดเฉพาะหน้าก็คือ การตั้งรัฐบาลและนายกเฉพาะกิจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แล้วดำเนินการปฏิรูปประเทศ

หนึ่งในโร้ดแมพที่ฝ่ายต่อต้านเพื่อไทยส่งตัวแทนมาโยนหินถามทางหลายครั้งหลายคราแล้วในช่วงนี้ก็คือ ให้สมาชิกวุฒิสภาโหวตเลือกนากยกรัฐมนตรี และจากปากคำของนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.คนสำคัญของกลุ่ม 40 ส.ว. ที่ได้ประเมินว่าหากเกิดอุบัติเหตุกับคณะรัฐมนตรีชุดรักษาการทั้งคณะแล้ววุฒิสภาน่าจะมีอำนาจรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งในการสรรหา “รัฐบาลและนายก” เฉพาะกิจนี้

นายคำนูณระบุว่าอำนาจตาม รธน.ไม่มี แต่ในฐานะเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย เมื่อบ้านเมืองถึงทางตันไม่มีทางออกใด องค์กรที่อยู่ในระบบจะเข้ามาแก้ไขสถานการณ์ได้หรือไม่ หากไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนนอกระบบ และเป็นธรรมดาที่อำนาจจะอยู่ที่ประธานวุฒิสภาที่ต้องแสวงหาความเห็นจากสมาชิกวุฒิสภาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

" หากเหตุการณ์นำไปสู่จลาจลรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ทหารซึ่งมีอำนาจจะรักษาความสงบเรียบร้อย ก็จะต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ผมเชื่อว่าทหารก็คงหลีกเลี่ยงการออกมาเต็มรูปแบบ และยังมีโอกาสที่เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์กรที่มีอยู่ตาม รธน. ซึ่งทุกฝ่ายก็ฝากความหวังว่าจะเป็นอำนาจสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และหากทักษิณมั่นใจว่าสุเทพไม่มีวาระแอบแฝงเรื่องการล้างตระกูลชินวัตร ก็อาจจะพูดกันได้ง่าย ว่า ในที่สุดสถานการณ์คงมีการพูดกันของทุกฝ่าย หรือตัดสินใจยอมรับว่าถ้าสถานการณ์จบลง ณ จุดนี้ก็จะไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ และไม่สูญเสียทั้งหมด เพราะในที่สุดก็ต้องกลับเข้ามาในระบบปกติที่ต้องมีการเลือกตั้ง ดังนั้นทักษิณต้องตัดสินใจแตกหักว่าจะได้หมด หรือเสียหมด หรือยอมรับเพื่อรักษาส่วนหนึ่งไว้ แต่มีความเป็นไปได้ว่าในนาทีที่สองฝ่ายถือธงต่างกัน ต่างฝ่ายก็ต้องชูธงของตัวเองให้ถึงที่สุด " นายคำนูณ กล่าวไว้เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2557

เลื่อน-วอล์คเอาท์-ท้ายสุดอาจถึงศาลรัฐธรรมนูญ

แต่กระนั้นในการเลือกประธานวุฒิสภาครั้งนี้ ยังเป็นข้อถกเถียงกันว่าจะมีความชอบธรรมไหม เพราะภายหลังพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2557 ระหว่างวันที่ 2-10 พฤษภาคม ได้กำหนดเรื่องอย่างเฉพาะเจาะจงให้ทำได้เพียง 2 เรื่อง คือ 1.ตั้งคณะกรรมาธิการสรรหา ผู้ทรงคุณวุฒิศาลปกครอง และ 2.ตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพียงเท่านั้น

กอปรกับเหตุการณ์หลังอุบัติเหตุการเมืองของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา ก็อาจจะทำให้ ส.ว.เลือกตั้ง แก้เกมด้วยการขอเลื่อน การวอล์คเอาท์ หรือท้ายที่สุดแล้วหากยังมีการประธานวุฒิสภาโดยที่ฝ่าย ส.ว.เลือกตั้งเสียเปรียบ ก็อาจจะมีการยื่นตีความตามข้อกฎหมายว่าการเลือกประธานวุฒิสภา ในสมัยประชุมวิสามัญที่ พ.ร.ฎ.เรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2557 ที่กำหนดเรื่องอย่างเฉพาะเจาะจงให้ทำได้เพียง 2 เรื่องไว้ข้างต้น และการเลือกประธานวุฒิสภาในสมัยประชุมวิสามัญนี้จะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ซึ่งปัจจัยบีบคั้นทางการเมืองทั้งหลายทั้งปวง ได้บีบให้สมาชิกสภาสูงต้องเลือกข้างชัดเจน พรรคการเมืองต้องส่งคนของตนลงมาเล่นในสนามนี้อีก และการต่อสู้กันในวุฒิสภาน่าจะดุเด็ดเผ็ดมันขึ้นมาอีกครั้ง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: