'อดีตรมว.คลัง'ค้านกรอ. ขอหมื่นล้านทำเตาเผาขยะ

8 ก.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2398 ครั้ง

ปัญหาขยะอุตสาหกรรมเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมกำลังเข้าไปตรวจสอบ โดยนายเสรี อติภัทธะ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานแก้ไขปัญหาบ่อขยะ ซึ่งแนวทางที่ กรอ. จะใช้แก้ไขปัญหาขยะอุตสาหกรรมจะเริ่มจากการลงพื้นที่สำรวจโรงงานประเภท 3 หรือโรงงานที่อาจส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำนวนกว่า 7 หมื่นโรงทั่วประเทศ โดยในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 9 พันโรงอยู่ในความรับผิดชอบของ กรอ. ส่วนที่เหลืออยู่ในความรับผิดชอบของอุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งขึ้นตรงกับสำนักปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม คาดว่าจะใช้เวลาสำรวจไม่เกิน 2 เดือน

จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่า มีโรงงานที่กระบวนการผลิตและกำจัดขยะอุตสาหกรรมไม่ถูกต้องประมาณ 3.5 โรงจากทั้งหมด 7 หมื่นโรง ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็กและบางส่วนยังขาดความเข้าใจในกระบวนการกำจัดกากอุตสาหกรรม นายเสรี กล่าวว่า ขั้นต้น กรอ. จะลงไปตักเตือนให้ปรับปรุงกระบวนการกำจัดกากอุตสาหกรรมให้ถูกต้องภายใน 30 วัน และหากพบว่ายังไม่แก้ไข ก็จะลงโทษเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ เช่น การปิดโรงงานไปจนถึงโทษขั้นสูงสุดคือ ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดก็คือการเผาขยะ ซึ่งทางกรอ. เตรียมเสนอของบประมาณปี 2558 ในการศึกษาและจัดสร้างเตาเผาขยะอุตสาหกรรมอันตราย 4 แห่ง ใน 4 ภาค โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ มีความต้องการสูงสุด ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนศึกษาหาพื้นที่ก่อสร้างที่เหมาะสม คาดว่าจะใช้งบประมาณก่อสร้างแห่งละ 3 พันล้านบาท รวม 1.2 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะเริ่มสร้างได้หลังปี 2559 และจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2561

         “ขั้นตอนที่ยากที่สุดก็คือการทำความเข้าใจกับชาวบ้าน และหลังจากที่กำหนดพื้นที่ก่อสร้างที่ชัดเจนได้ก็จะเร่งดำเนินการทำความเข้าใจกับชุมชน เพราะการกำจัดขยะอุตสาหกรรมด้วยการเผาเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด และในประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำต่างก็ใช้วิธีการเผาขยะทั้งสิ้น ซึ่งในต่างประเทศก็ได้รับการพิสูจน์อย่างยาวนานแล้วว่า ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อชุมชน หากเผาในเตาเผาที่ก่อสร้างอย่างถูกต้อง”

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเตาเผยขยะอุตสาหกรรมอันตรายเพียง 1 แห่งที่จังหวัดสมุทรปราการ มีกำลังการกำจัดขยะ 200-300 ตันต่อวัน มีหลุมขยะอุตสาหกรรมอันตราย 3 แห่ง มีค่ากำจัดขยะ 3 พันบาทต่อตันขึ้นไป และมีบ่อขยะอุตสาหกรรมอีก 9 แห่ง มีค่ากำจัดขยะ 800 บาทต่อตัน

ขณะที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงทัศนะบนเฟสบุ๊ค Thirachai Phuvanatnaranubala ว่าไม่เห็นด้วยที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะของบกว่าหมื่นล้านบาท เพื่อสร้างเตาเผาขยะอุตสาหกรรม 4 ภาค โดยให้เหตุผลว่า

           “การบริหารจัดการน้ำเสียเป็นโครงการที่ใช้เนื้อที่มากและเก็บค่าบริการเฉพาะแบบรายตัวได้ยาก ในบางจุดจึงเหมาะที่รัฐจะดำเนินการเอง แต่การจัดการขยะอุตสาหกรรมนั้น ประเทศส่วนใหญ่เอกชนทำได้จึงควรพิจารณาทางเลือกให้เอกชนทำงานนี้ เปรียบเทียบกับรัฐทำเอง วิธีกระตุ้นให้เอกชนลงทุนก็คือรัฐกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับงานนี้ และให้เอกชนรายใดที่สนใจยื่นขออนุญาตโดยไม่จำกัดจำนวน พร้อมกันนี้ รัฐควรบังคับให้ทุกโรงงานต้องจ้างบริษัทเชี่ยวชาญที่ได้รับอนุญาต ให้ทำการประเมินปริมาณขยะอุตสาหกรรมแต่ละโรงงาน แล้วกำหนดให้ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมกำจัดขยะต่อตัน ให้สูงกว่าอัตราตลาดสองเท่า โรงงานที่ยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม คือโรงงานที่ใช้บริการของโรงกำจัดขยะที่รัฐอนุญาต เต็มจำนวนตามที่บริษัทเชี่ยวขาญประเมินเท่านั้น”

นายธีระชัย เห็นว่า หากใช้วิธีข้างต้นก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณหรือภาษีของประชาชน ไม่ต้องกังวลเรื่องผลประโยชน์รั่วไหล การคอร์รัปชั่น และไม่เป็นการทำธุรกิจแข่งกับเอกชนโดยรัฐ

          “และไม่จำเป็นต้องไปสร้างรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นเพื่อการนี้ ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาแก้ยากสืบไปในวันข้างหน้า"

ขอบคุณภาพจาก: www.siamsafety.com

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: