ชี้เลือกตั้งแรงขึ้นก้าวสู่ผลประโยชน์ล้วนๆ เจ้าพ่อฆ่าเจ้าพ่อถึงประชาชนฆ่ากันเอง

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 8 ต.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2068 ครั้ง

ภาพการเลือกตั้งในยุคทศวรรษที่ 2530 ผูกโยงกับความรุนแรงจนเป็นเรื่องชาชินของสังคม เมื่อถึงฤดูกาลเลือกตั้ง ข่าวคราวการลอบสังหารหัวคะแนนและนักการเมืองมักเป็นข่าวพาดหัวตัวไม้ให้ได้รับรู้ ถึงปัจจุบัน-อย่างน้อยก็การเลือกตั้งปี 2554 ความรุนแรงแบบโบราณหรือการสังหารคู่แข่งค่อยๆ เลือนหายไป การค้นหาสาเหตุความเปลี่ยนแปลงในการใช้ความรุนแรงในการเลือกตั้งจึงเป็นสิ่งสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่น่าสนใจ

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา มีการจัดเสวนาเรื่อง ‘ความรุนแรงในการเลือกตั้งของไทย ว่าด้วยอุปสงค์ อุปทาน และตลาดของความรุนแรง’ ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ การเสวนาข้างต้นแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจรัฐ จะส่งผลต่อการใช้ความรุนแรงในการเลือกตั้ง ที่น่าสนใจคือความรุนแรงกลับกำลังบ่งบอกถึงความก้าวหน้าและถดถอยของประชาธิปไตยในสังคมไทย

        “โครงสร้างรัฐไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ความรุนแรงในการเลือกตั้งขยายตัว การศึกษาความรุนแรงในการเลือกตั้งจะเห็นสิ่งที่กว้างกว่า ลึกซึ้งกว่าตัวความรุนแรงเอง รูปแบบและความรุนแรงในการเลือกตั้งที่เปลี่ยนไปในแต่ละยุคจึงสะท้อนโครงสร้างรัฐ โครงสร้างอำนาจที่เปลี่ยนแปลงไป” ดร.ประจักษ์ กล่าว

ยุคแห่งความรุนแรงโดยรัฐ: อุดมการณ์ทางการเมือง

ประเด็นแรกที่ ดร.ประจักษ์อธิบายคือ ก่อนปี 2518 การเลือกตั้งของไทยนับเป็นการเลือกตั้งที่ปราศจากความรุนแรง เนื่องมาจาก 2 ปัจจัยหลัก หนึ่ง-เพราะการเลือกตั้งในยุคนี้ยังไม่มีความหมายอย่างแท้จริงในการคัดสรรคนขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองหรือยังไม่ใช่พื้นที่ของการต่อสู้ทางการเมือง กล่าวคือตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังมีอำนาจน้อยมากในยุคการเมืองที่ระบบข้าราชการครอบงำ จึงไม่เกิดการแย่งชิงเพื่อเข้าสู่อำนาจ ปัจจัยข้อที่ 2 คือกระบวนการจัดการเลือกตั้งทั้งหมดถูกควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยผู้นำรัฐบาลในแต่ละยุค ทั้งผู้นำรัฐบาลก็มักจะตั้งพรรคการเมืองของตนเพื่อลงเลือกตั้ง และใช้กลไกและทรัพยากรของรัฐในการหาเสียง จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้ความรุนแรงเพราะอำนาจรัฐควบคุมไว้ทั้งหมด

          “จะเห็นได้ว่า ความสงบหรือการไม่มีเหตุรุนแรงในการเลือกตั้งไม่ได้เป็นเครื่องสะท้อนความเป็นประชาธิปไตย”

ขณะที่ความสนใจของ ดร.ประจักษ์ คือความรุนแรงในการเลือกตั้งแต่ปี 2518-2554 โดยแบ่งหมวดหมู่ออกเป็น 3 ยุค ตามลักษณะและระดับความรุนแรง ยุคแรกคือการเลือกตั้ง 2 ครั้งในปี 2518 และ 2519 ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นความรุนแรงโดยรัฐ มีลักษณะเหวี่ยงแห ไม่เฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากเกี่ยวพันกับการต่อสู้ทางอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างพลังฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับพลังฝ่ายก้าวหน้า รัฐมักใช้เจ้าหน้าที่หรือมวลชนฝ่ายขวาก่อกวนหรือใช้ความรุนแรงในเวทีหาเสียงของฝ่ายสังคมนิยม เหยื่อส่วนใหญ่จึงเป็นนักการเมืองฝ่ายสังคมนิยมและผู้สนับสนุน

          “ความรุนแรงในยุคนี้เป็นความพยายามของรัฐที่จะปราบปรามฝ่ายซ้าย ปราบปรามขบวนการนักศึกษา กรรมกร ชาวนา และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็คือส่วนหนึ่งของกลไกนี้ โดยไม่มีพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เป้าหมายของความรุนแรงไม่ใช่เพื่อชัยชนะในการเลือกตั้ง แต่เพื่อสกัดไม่ให้พรรคฝ่ายสังคมนิยมเติบโต”

ยุคแห่งความรุนแรงโดยเจ้าพ่อและนักการเมือง: ผลประโยชน์และอำนาจ

ทว่า การเลือกตั้งนับตั้งแต่ช่วงปี 2522 เป็นต้นไปถึง 2539 ลักษณะความรุนแรงเริ่มเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสะท้อนให้เห็นสิ่งที่ ดร.ประจักษ์กล่าวที่ว่า เมื่อโครงสร้างอำนาจรัฐเปลี่ยน รูปแบบและระดับของความรุนแรงในการเลือกตั้งก็จะเปลี่ยนไป โดยในช่วงที่เรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบนี้ นักธุรกิจเอกชนและนักการเมืองท้องถิ่น เริ่มเข้ามามีบทบาทในการแบ่งปันอำนาจทางการเมืองสูงขึ้น จากการที่ลักษณะทางเศรษฐกิจ-สังคมไทยค่อยๆ เปลี่ยนแปลง ทหารและข้าราชการตระหนักว่าไม่สามารถควบคุมเบ็ดเสร็จได้เช่นเดียวกับในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ช่วงนี้เองที่การเลือกตั้งแต่ละครั้งมีการแข่งขันห้ำหั่นกันอย่างดุเดือด การใช้กำลังข่มขู่คุกคาม รวมถึงการลอบสังหารเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นชัดขึ้น เนื่องจากตำแหน่งจากการเลือกตั้งกลายเป็นสิ่งที่มีความหมายและสำคัญ เป็นที่มาของผลประโยชน์และอำนาจในการกำหนดนโยบาย เป็นเกราะคุ้มกันธุรกิจสีเทาของบรรดาเจ้าพ่อและผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น

         “ยุคนี้จึงเริ่มมีความรุนแรงจากกลุ่มคนที่ไม่ใช่รัฐและไม่มีความเกี่ยวพันกับอุดมการณ์เลย เป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ล้วน ๆ จากเหวี่ยงแหก็เปลี่ยนเป็นจำกัดเป้าหมายและเฉพาะเจาะจง ความรุนแรงจึงออกมาในรูปการลอบสังหารนักการเมือง หัวคะแนนเป็นหลัก ไม่ได้มุ่งไปที่กระบวนการและสถาบันการเลือกตั้ง”

ความรุนแรงนี้สัมพันธ์กับการเฟื่องฟูของอาชีพมือปืน ซึ่งมีลักษณะอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของเจ้าพ่อหรือผู้มีอิทธิพล จะทำงานเมื่อถูกสั่ง ดร.ประจักษ์กล่าวว่า เป็นเหมือนระบบไพร่แบบโบราณ การดำรงอยู่ของอาชีพมือปืนเป็นไปเพื่อรองรับความต้องการของนักการเมืองที่ต้องการผูกขาดอำนาจ เพราะการพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งย่อมหมายถึงการสูญเสียทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ ถึงกระนั้นรูปแบบและระดับความรุนแรงในการเลือกตั้งก็ไม่ได้มีการขึ้นลงอย่างมีนัยสำคัญ ถือได้ว่าค่อนข้างมีความเสถียร ซึ่งเป็นผลจากการที่โครงสร้างอำนาจรัฐไทยมีความเปลี่ยนแปลงน้อยมากในช่วงนี้

         “ความรุนแรงนั้นไม่ได้สะท้อนความเข้มแข็งทางอำนาจของคนที่ใช้ แต่กลับสะท้อนความอ่อนแอของฐานอำนาจหรือฐานสนับสนุนทางการเมืองของตัวนักการเมืองคนนั้นมากกว่า”

ข้อสังเกตที่น่าสนใจต่อการใช้ความรุนแรงในยุคนี้คือ ด้านหนึ่งอาจกำลังสะท้อนความก้าวหน้าของประชาธิปไตยไทยในแง่ที่ว่า รัฐสภามีบทบาทและพลังอำนาจเพิ่มมากขึ้นในการจัดสรรผลประโยชน์ และเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านจากการปกครองโดยทหารไปสู่การปกครองโดยรัฐสภา

ยุคหลังรัฐธรรมนูญปี 40: ความรุนแรงในช่วงเปลี่ยนผ่าน

แต่การเลือกตั้งสองครั้งภายหลังรัฐธรรมนูญปี 2540 รูปแบบและระดับความรุนแรงในการเลือกตั้งกลับมีความเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือมีความรุนแรงในการเลือกตั้งปี 2544 และ 2548 สูงมาก ขณะที่ความรุนแรงในการเลือกตั้งปี 2550 และ 2554 กลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน

ดร.ประจักษ์ อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เป็นผลจากปัจจัย 4 ประการ หนึ่ง-รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้สร้างระบบการเลือกตั้งแบบใหม่คือระบบเขตเดียวคนเดียว

สอง-การกระจายอำนาจที่ทำให้ตำแหน่งจากการเลือกตั้งท้องถิ่นมีอำนาจและผลประโยชน์สูงขึ้น เป็นเหตุให้เกิดการแข่งขันอย่างดุเดือดเพื่อเข้าสู่อำนาจการเมืองท้องถิ่นและยังส่งผลให้ความขัดแย้งในท้องถิ่นเข้าไปพัวพันกับความขัดแย้งระดับชาติ

สาม-ระบบพรรคการเมืองที่เปลี่ยนไปหลังปี 2540 โดยเฉพาะการเคลื่อนเข้าสู่ระบบการเมืองแบบสองพรรค

โดยสามปัจจัยแรกนี้ ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า ทำให้ความรุนแรงในการเลือกตั้งเพิ่มขึ้น

          “จะเห็นว่าหลังการเลือกตั้งในปี 2544 และ 2548 ตระกูลการเมืองหลายตระกูลหมดบทบาทหรือคลายอิทธิพลลงไปจำนวนมาก ต้องปรับตัว คนที่ปรับตัวไม่ได้จะยิ่งใช้ความรุนแรงมากขึ้นเพื่อจะอยู่รอด โดยไม่ยอมปรับตัวในแง่การคิดค้นนโยบายหรือการสร้างผลงาน และนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่อธิบายว่าทำไมการเลือกตั้งปี 2544 และ 2548 จึงรุนแรง เพราะเป็นยุคที่เกิดการเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจเยอะ ทั้งในท้องถิ่นที่มีการกระจายอำนาจ มีพรรคการเมืองอย่างพรรคไทยรักไทยปรากฎขึ้น มีการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตเศรษฐกิจ มีการเปลี่ยนกติกาเป็นเขตเดียวคนเดียว หลายเขตเจ้าพ่อต้องชนกันเอง การเปลี่ยนแปลงในหลายมิติที่ว่า ทำให้การเลือกตั้งสองครั้งนี้รุนแรงมาก เพราะเป็นช่วงของการปรับสัมพันธภาพทางอำนาจใหม่”

แต่ปัจจัยที่ 4 ซึ่งก็คือการรัฐประหารในปี 2549 กลับทำให้ความรุนแรงในการเลือกตั้งปี 2550 และ 2554 ลดลงโดยในปี 2550 เป็นเพราะทหารเข้าไปดูแลแทรกแซงการเลือกตั้งอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับในสมัยก่อนการเลือกตั้งปี 2518 ขณะที่การเลือกตั้งปี 2554 เหตุที่ความรุนแรงลดลงด้วยอีกเหตุผลหนึ่ง

          “พอถึงปี 2554 จะเห็นว่าการหาเสียงเป็นการต่อสู้ของนโยบายและอุดมการณ์ กล่าวคือการเมืองแบบตัวบุคคลที่เคยดำรงอยู่ก่อนปี 2540 เริ่มสลายไปแล้วในการเมืองไทย และการเมืองแบบตัวบุคคลนี่แหละที่ทำให้เกิดความรุนแรง เพราะไม่มีอย่างอื่นไปขาย แข่งกันด้วยบารมีและการใช้อิทธิพลแต่การเมืองหลังปี 2549 ไม่ได้มีเฉพาะการแข่งขันเชิงนโยบายเท่านั้น แต่ยังมีมิติเชิงอุดมการณ์ ซึ่งเห็นชัดเจนในการเลือกตั้งปี 2554 และการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ครั้งที่ผ่านมา คนเลือกตั้งคิดในเชิงจุดยืนทางการเมืองมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เครื่องมือโบราณอย่างการลอบสังหารจึงไม่มีผลต่อการเลือกตั้งอีกต่อไป เป็นเหตุผลที่ความรุนแรงถูกใช้น้อยลง นักการเมืองหรือผู้มีอิทธิพลก็เริ่มเรียนรู้ว่าความรุนแรงเป็นเครื่องมือที่ไม่มีประสิทธิภาพอีกต่อไป”

ยุคประชาชนปฏิเสธการเลือกตั้งและความรุนแรงโดยรัฐกลับมาอีกครั้ง

ความรุนแรงที่ลดลงอย่างมากในการเลือกตั้งปี 2554 ทำให้ ดร.ประจักษ์ เห็นว่าการเลือกตั้งของไทยจะมีความสงบมากขึ้น เพราะจะเป็นการแข่งขันในเชิงนโยบายและอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างแท้จริง ซึ่งถือว่ามีความก้าวหน้ากว่าในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ...ถ้าไม่เกิดรัฐประหารขึ้นเสียก่อน ซึ่งตัดตอนกระบวนการที่ว่า

ดร.ประจักษ์ได้แสดงทัศนะที่น่าขบคิดและชวนห่วงใยว่า การเข้าแทรกแซงจากอำนาจนอกระบบ แม้ความรุนแรงในการเลือกตั้งจะลดลง แต่ความรุนแรงทางการเมืองไม่ได้ลดลง เพียงแต่ย้ายจากสนามการเลือกตั้งไปสู่ความรุนแรงบนท้องถนนและความรุนแรงโดยรัฐที่กลับมาอีกครั้ง ในลักษณะเพื่อปราบปรามประชาชน ซึ่งเป็นความรุนแรงที่ไม่ได้นำความก้าวหน้ามาสู่สังคมไทย เป็นความรุนแรงที่สูญเปล่าเมื่อเทียบกับความรุนแรงในการเลือกตั้งในยุคก่อน ทั้งยังขัดขวางกระบวนการทางประชาธิปไตยและทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากต้องเสียชีวิต

         “ผมคิดว่าจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดคือการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ไทยที่ประชาชนปฏิเสธสถาบันและกระบวนการเลือกตั้ง แล้วเป็นฝ่ายใช้ความรุนแรงแทนรัฐและนักการเมือง เพราะหมดศรัทธากับระบอบประชาธิปไตย แต่สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นความผิดพลาดและน่าเสียดายคือเราหมดศรัทธากับนักการเมือง กับรัฐบาลได้ แต่อย่าทำลายกระบวนการและกติกาประชาธิปไตย เพราะเมื่อทำแบบนั้น เท่ากับกำลังทำลายกติกาที่ถูกออกแบบเอาไว้สำหรับแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ และยังเป็นการทำลายสิทธิทางการเมืองของคนอื่นด้วย”

เมื่อกระบวนการดังกล่าวถูกทำลาย ย่อมเท่ากับนำสังคมไปสู่ทางตัน เพราะจะไม่เหลือพื้นที่ที่จะเจรจาต่อรองได้อย่างสันติและจบลงด้วยสภาวะที่เป็นอยู่เช่นตอนนี้ ซึ่งเป็นผลผลิตของการปฏิเสธกระบวนการประชาธิปไตย ดร.ประจักษ์กล่าวว่า ความรุนแรงในอดีตไม่ได้ทำลายสถาบันและกระบวนการประชาธิปไตย สังคมจึงยังไปต่อได้ แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นว่าสังคมไทยจะกลับสู่การเลือกตั้งที่สงบ สันติ และบริสุทธิ์ยุติธรรม ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้อย่างไรในการเลือกตั้งครั้งต่อไป แล้วหากผลการเลือกตั้งไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะชักพาสังคมไทยกลับสู่วงจรเดิมอีกหรือไม่

ดังนั้น พื้นฐานแรกของการปรองดองทุกฝ่ายจะต้องยอมรับกฎกติกาของสถาบันการเลือกตั้งร่วมกันเสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้สังคมไทยกลับสู่วงจรการรัฐประหาร

       “สำหรับผมตอนนี้สังคมไทยกำลังเผชิญกับความรุนแรงที่ไม่มีทางออกและความสงบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: