เปิดผลสำรวจ NGOs

8 ต.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2032 ครั้ง


การสํารวจองค์การเอกชนที่ไม่แสวงหากําไร พ.ศ. 2556 ครั้งนี้ได้มีการปรับปรุงขอบข่ายการสํารวจฯ โดยเพิ่มประเภทองค์การด้านการศึกษา (โรงเรียนเอกชน มหาวิทยาลัยเอกชน) และองค์การด้านสุขภาพ (โรงพยาบาลเอกชน) ไว้ด้วยโดยมีองค์การฯ ตัวอย่างที่นํามาประมวลผลและใช้ในการประมาณค่าจํานวน 17,922 แห่ง ซึ่งทําการเก็บรวบรวมข้อมูลในช่วงเดือนพฤษภาคม–กรกฎาคม พ.ศ. 2556 สําหรับข้อมูลที่นําเสนอเป็นผลการดําเนินงานขององค์การเอกชนที่ไม่แสวงหากําไรในรอบปี 2555 (1 มกราคม–31 ธันวาคม 2555) สรุปได้ดังนี้

จำนวนองค์การเอกชนที่ไม่แสวงหากําไร

องค์การเอกชนที่ไม่แสวงหากําไรทั่วประเทศมีประมาณ 76,685 แห่ง ในจํานวนนี้เป็นองค์การฯ ที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณร้อยละ 31.2 องค์การที่ตั้งอยู่ในภาคกลาง และภาคเหนือมีประมาณร้อยละ 22.7 และร้อยละ 20.6 สําหรับองค์การในกรุงเทพมหานคร และภาคใต้มีประมาณร้อยละ 13.2และร้อยละ12.3ตามลําดับ

เมื่อเปรียบเทียบจํานวนองค์การฯ ในปี 2556 และปี 2550 พบว่า มีจํานวนองค์การฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ประมาณร้อยละ 17.2 ซึ่งเพิ่มขึ้นในทุกภาค โดยองค์การฯ ที่ตั้งอยู่ในภาคกลางมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากที่สุด ประมาณร้อยละ 21.8 องค์การฯ ที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้เพิ่มขึ้นในสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือประมาณร้อยละ 20.6 และร้อยละ 20.1 ตามลําดับ สําหรับองค์การฯ ในกรุงเทพมหานครมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดประมาณร้อยละ 7.9

ประเภทขององค์การเอกชนที่ไม่แสวงหากําไร

เมื่อพิจารณาตามประเภทองค์การฯ พบว่าส่วนใหญ่เป็นองค์การศาสนาร้อยละ 57.9 รองลงมาคือ องค์การที่ดําเนินกิจการหลักเกี่ยวกับการบริการสังคมสงเคราะห์มีประมาณร้อยละ 31.4 องค์การที่เป็นสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์มีประมาณร้อยละ 4.4 สําหรับสมาคมการค้า หอการค้า และสมาคมนายจ้าง สหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ มีประมาณร้อยละ 2.8 และร้อยละ 2.3 ตามลําดับ ที่เหลืออีกร้อยละ 1.2 เป็นองค์การประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น

จํานวนคนทํางานในองค์การเอกชนที่ไม่แสวงหากําไร

คนทํางานในองค์การฯ ได้แก่ พนักงานประจํา พนักงานชั่วคราว อาสาสมัคร นักบวชในศาสนาต่างๆ ที่ได้รับเงินประจําตําแหน่ง และคนทํางานโดยไม่ได้รับเงินเดือน เช่น พระภิกษุ สามเณร แม่ชีหมอสอนศาสนา โดยทั่วประเทศมีคนทํางานประมาณ 985,781 คน ในจํานวนนี้ส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัคร ร้อยละ 43.8 รองลงมาคือคนทํางานโดยไม่ได้รับเงินเดือน ร้อยละ 33.5 ที่เป็นพนักงานประจํามีร้อยละ 14.6 สําหรับนักบวชในศาสนาต่าง ๆ ที่ได้รับเงินประจําตําแหน่งและพนักงานชั่วคราว มีประมาณร้อยละ 5.6 และร้อยละ 2.5 ตามลําดับ

เมื่อพิจารณาตามประเภทองค์การฯ พบว่ามีคนทํางานในองค์การศาสนามากที่สุด ประมาณ 455,202 คน หรือร้อยละ 46.2 ในจํานวนนี้เป็นคนทํางานที่ไม่ได้รับเงินเดือนในสัดส่วนสูงสุด ประมาณร้อยละ 62.1 รองลงมาคือคนทํางานในองค์การที่ดําเนินกิจกรรมหลักเกี่ยวกับการบริการสังคมสงเคราะห์มีประมาณ 425,162 คน หรือร้อยละ 43.1 ในจํานวนนี้มีสัดส่วนคนทํางานที่เป็นอาสาสมัครสูงสุด คือ ประมาณร้อยละ 71.0 สําหรับพรรคการเมืองพบว่ามีคนทํางานน้อยที่สุด ประมาณ 610 คน หรือประมาณร้อยละ 0.1

ค่าตอบแทนแรงงาน

ด้านค่าตอบแทนแรงงานของพนักงานและอาสาสมัครขององค์การเอกชนที่ไม่แสวงหากําไรทั่วประเทศ พบว่า มีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 28,170.5 ล้านบาท หรือโดยเฉลี่ย 42,985 ต่อคนต่อปี โดยองค์การที่ดําเนินกิจการหลักเกี่ยวกับการบริการสังคมสงเคราะห์มีค่าตอบแทนแรงงานสูงสุดคือ 12,549.2 ล้านบาท รองลงมาคือ องค์การด้านการศึกษา (โรงเรียนเอกชน มหาวิทยาลัยเอกชน) มีค่าตอบแทนประมาณ 6,324.2 ล้านบาท สําหรับพรรคการเมืองมีค่าตอบแทนแรงงานต่ำสุดประมาณ 39.3 ล้านบาท

หากพิจารณาค่าตอบแทนของพนักงาน (พนักงานประจํา พนักงานชั่วคราว และนักบวชในศาสนาต่าง ๆ ที่ได้เงินประจําตําแหน่ง) พบว่า ได้รับค่าตอบแทนทั้งสิ้น ประมาณ 25,209.2 ล้านบาทหรือโดยเฉลี่ย 112,533 บาทต่อคนต่อปี

โดยพนักงานที่ปฏิบัติงานในองค์การเอกชนต่างประเทศได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยสูงที่สุด คือ 333,350 บาทต่อคนต่อปีรองลงมาคือ พนักงานองค์การด้านสุขภาพ (โรงพยาบาลเอกชน) ได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อคนต่อปีประมาณ 308,565 บาท สําหรับพนักงานในองค์การศาสนาได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยต่ำสุด คือ 27,814 บาทต่อคนต่อปี

สําหรับค่าตอบแทนของอาสาสมัคร พบว่า ได้รับค่าตอบแทนทั้งสิ้น ประมาณ 2,961.3 ล้านบาทหรือโดยเฉลี่ย 6,865 บาทต่อคนต่อปี โดยอาสาสมัครที่ปฏิบัติงานในองค์การเอกชนต่างประเทศได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดคือ 213,035 บาทต่อคนต่อปี รองลงมาคืออาสาสมัครในสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ ได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อคนต่อปีประมาณ 15,898 บาท สําหรับอาสาสมัครที่ปฏิบัติงานในองค์การอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 5,800 – 9,600 บาทต่อคนต่อปี

รายรับขององค์การเอกชนที่ไม่แสวงหากําไร

ในรอบปี 2555 องค์การเอกชนที่ไม่แสวงหากําไรทั่วประเทศมีรายรับทั้งสิ้นประมาณ 202,310.8 ล้านบาท ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 99.1) เป็นรายรับขององค์การฯ ที่เหลือเป็นรายรับจากการเป็นเจ้าของสถานประกอบการอื่นที่แสวงหากําไรซึ่งมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0.9

เมื่อพิจารณาองค์การเอกชนที่ไม่แสวงหากําไรตามประเภทรายรับ พบว่าส่วนใหญ่ (ร้อยละ 61.0) เป็นรายรับที่ได้จากเงินและสิ่งของที่ได้รับบริจาคและสนับสนุน ซึ่งได้จากเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล การบริจาคของประชาชนทั่วไป รายรับจากองค์การหลัก องค์การเอกชนอื่นต่างประเทศและองค์การเอกชนอื่นในประเทศ รองลงมาคือ รายรับจากเงินสงเคราะห์ (ร้อยละ 20.8) จากการจําหน่ายสินค้าและบริการขององค์การ (ร้อยละ 11.5) และรายรับอื่นๆ (ร้อยละ 6.7)

หากพิจารณารายรับขององค์การเอกชนที่ไม่แสวงหากําไรตามประเภทองค์การฯ พบว่าองค์การที่ดําเนินกิจการหลักเกี่ยวกับการบริการสังคมสงเคราะห์มีมูลค่ารายรับสูงสุด คือ ประมาณ 98,800.4 ล้านบาทหรือประมาณร้อยละ 49.3 สําหรับองค์การด้านสุขภาพ (โรงพยาบาลเอกชน) พบว่ามีรายรับเฉลี่ยต่อองค์การฯ มากที่สุดคือ ประมาณ 287.4 ล้านบาท

ค่าใช้จ่ายขององค์การเอกชนที่ไม่แสวงหากําไร

ด้านค่าใช้จ่ายขององค์การเอกชนที่ไม่แสวงหากําไรทั่วประเทศ พบว่ามีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ 134,905.4 ล้านบาท มากกว่าครึ่งหรือประมาณร้อยละ 62.5 เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อกิจกรรมขององค์การฯ นอกจากนั้นเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรประมาณร้อยละ 20.9 และค่าใช้จ่ายสํานักงานประมาณร้อยละ 16.6

หากพิจารณาเปรียบเทียบสัดส่วนของค่าใช้จ่ายและประเภทขององค์การฯ พบว่า สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์และองค์การเอกชนต่างประเทศมีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายเพื่อกิจกรรมขององค์การสูงสุดคือ ประมาณร้อยละ 91.5 และร้อยละ 69.8 ตามลําดับ องค์การด้านการศึกษา (โรงเรียนเอกชน มหาวิทยาลัยเอกชน) สมาคมนายจ้าง สหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายบุคคลากรสูงสุดคือ ประมาณร้อยละ 57.7 และร้อยละ 43.6 ตามลําดับ สําหรับองค์การด้านสุขภาพ (โรงพยาบาลเอกชน) และองค์การด้านศาสนามีค่าใช้จ่ายสํานักงานสูงกว่ารายจ่ายประเภทอื่นคือร้อยละ 58.6 และร้อยละ 53.0 ตามลําดับ

การให้ความช่วยเหลือขององค์การเอกชนที่ไม่แสวงหากําไร

องค์การฯ ทั่วประเทศส่วนใหญ่ (ร้อยละ 82.9) ได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนทั่วไป รองลงมาคือช่วยเหลือสมาชิกขององค์การฯ ร้อยละ 13.6 การให้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐบาล และหน่วยงานเอกชนอื่น ๆ นั้น มีเพียงร้อยละ 2.8 และร้อยละ 0.7 ตามลําดับ

สําหรับวิธีการให้ความช่วยเหลือนั้น ร้อยละ 58.0 ให้ความช่วยเหลือโดยให้เงินสด รองลงมาคือ ให้คําแนะนําปรึกษา ร้อยละ 18.6 องค์การฯ ที่ให้ความช่วยเหลือโดยให้สิ่งของและอื่นๆ มีประมาณร้อยละ 14.8 สําหรับวิธีการให้ความช่วยเหลือนอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น ได้แก่ ให้บริการด้านการศึกษา ให้ที่พักอาศัยชั่วคราว ให้บริการด้านสุขภาพและดูแลรักษา ให้ยืมเงินในการประกอบอาชีพ ให้บริการจัดหางานและอื่นๆ มีประมาณร้อยละ 7.9

การมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการดําเนินกิจการขององค์การเอกชนที่ไม่แสวงหากําไร

องค์การเอกชนที่ไม่แสวงหากําไรทั่วประเทศ มีจํานวนองค์การฯ ที่มีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการดําเนินกิจการมีร้อยละ 50.3 มีการใช้อินเทอร์เน็ต ร้อยละ 26.1 และมีการใช้เว็บไซต์ร้อยละ 5.6 เมื่อพิจารณาเป็นรายภาคพบว่าองค์การฯ ในกรุงเทพมหานครมีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์มากที่สุดคือ ร้อยละ 73.1 รองลงมา คือ ภาคกลาง ร้อยละ 53.6 ส่วนภาคใต้

มีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์น้อยที่สุดคือร้อยละ 24.6 ด้านการมีการใช้อินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์นั้นพบว่า องค์การฯ ในแต่ละภาคมีการใช้อินเทอร์เน็ตภายในองค์การฯ มากกว่าการใช้เว็บไซต์

สําหรับจํานวนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการดําเนินงาน พบว่าองค์การเอกชนทั่วประเทศมีจํานวนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ประมาณ 128,142 เครื่องและมีจํานวนบุคลากรที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการปฏิบัติงานเป็นประจํา (เฉลี่ยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง) ประมาณ 119,324 คน

สรุปและข้อเสนอแนะ

ผลการสํารวจองค์การเอกชนที่ไม่แสวงหากําไร พ.ศ. 2556 พบว่า ประเทศไทย มีองค์การที่ดําเนินกิจการเกี่ยวกับศาสนามากที่สุด ประมาณร้อยละ 57.9 รองลงมาคือ องค์การที่ดําเนินกิจการหลักเกี่ยวกับการบริการสังคมสงเคราะห์เช่น สมาคมและมูลนิธิต่าง ๆ ประมาณร้อยละ 31.4 ด้านคนทํางานส่วนใหญ่เป็นพนักงานอาสาสมัคร ประมาณร้อยละ 43.8 รองลงมาคือคนทํางานโดยไม่ได้รับเงินเดือน ประมาณร้อยละ 33.5 โดยมีจํานวนคนทํางานเฉลี่ยต่อองค์การฯ ประมาณ 13 คน ส่วนค่าตอบแทนแรงงานขององค์การฯ ทั่วประเทศประมาณ 28,170.5 ล้านบาท หรือโดยเฉลี่ยประมาณ 42,985 บาทต่อคนต่อปี

สําหรับรายรับในรอบปี 2555 ขององค์การฯ มีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 202,310.8 ล้านบาท ในจํานวนนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 99.1 มาจากการดําเนินงานขององค์การฯ ได้แก่ รายรับจากเงินบริจาค/เงินสนับสนุน เงินสงเคราะห์ (ฌาปนกิจสงเคราะห์) และจากการจําหน่ายสินค้าและบริการขององค์การฯเป็นต้น และอีกร้อยละ 0.9 เป็นรายรับขององค์การฯจากการเป็นเจ้าของธุรกิจอื่นที่ดําเนินการเพื่อแสวงหากําไร ด้านค่าใช้จ่ายขององค์การฯ มีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 134,905.4 ล้านบาทในจํานวนนี้ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อกิจกรรมขององค์การฯ ประมาณร้อยละ 62.5 ค่าใช้จ่ายเพื่อบุคลากร ประมาณร้อยละ 20.9 และค่าใช้จ่ายสํานักงาน ประมาณร้อยละ 16.6 สําหรับปัญหาอุปสรรคในการดําเนินการองค์การฯ ระบุว่าเป็นเรื่องเงินทุนในการสนับสนุนจากภาครัฐ และผู้บริจาค รวมทั้งขาดเจ้าหน้าที่/อาสาสมัคร

ที่มา

สำนักงานสถิติแห่งชาติ

ขอบคุณรูปภาพจาก http://drupal.in-cdn.net/

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

NGOs  

Like this article:
Social share: