เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา ที่ศาลาวัด บ้านดอนชัย หมู่ 1 และบ้านดอนชัยสักทอง หมู่ 9 ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้หน่วยราชการยุติการผลักดันเขื่อนขนาดใหญ่ อย่างเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เขื่อนแก่งเสือเต้น รวมทั้งโครงสร้างเตาปูน โครงสร้างผาลาด ซึ่งทั้งหมดอยู่ในเขต อ.สอง จังหวัดแพร่ ในที่เดียวกันกับโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นเดิม กระทบต่อป่าสักทองธรรมชาติและผ่าใจกลางอุทยานแห่งชาติแม่ยมยาวกว่า 80 กิโลเมตร ทั้งยังแฉ หน่วยงานราชการแอบยักใส้โครงการเขื่อนขนาดใหญ่เข้าสู่แผนการจัดการน้ำ และเรียกร้องให้ยุติการผลักดันเขื่อนใหญ่โดยเร่งด่วน โดยอ้างว่าเสียงประชาชนลุ่มน้ำยม 11 จังหวัดที่ได้ระดมความคิดเห็นกันในเวทีรับฟังความคิดเห็นของคณะรับฟังความคิดเห็นเมือวันที่ 9 กันยายน 2557 ที่จังหวัดพิษณุโลกที่ผ่านมา เสียงจากประชาชน 11 จังหวัดไม่มีการเสนอเขื่อนขนาดใหญ่ แต่มีบางหน่วยงานแอบยัดใส้ในภายหลัง
นายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ได้อ่านแถลงการณ์ต่อหน้าพระพุทธรูป วัดดอนชัย เรียกร้องให้หน่วยงานราชการยุติการผลักดันเขื่อนขนาดใหญ่ “อย่างเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เขื่อนแก่งเสือเต้น และยังมีชื่อใหม่ที่ซ่อนเข้ามาในเอกสารเสนออีกคือ โครงสร้างเตาปูน โครงสร้างผาลาด ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอสองทั้งหมด เขื่อนยมล่าง หรือโครงสร้างเตาปูนใช้วิธีย้ายหัวงานออกไปจากสะเอียบ 5 กิโลเมตร ไปสร้างที่ ตำบลเตาปูน แล้วน้ำท่วมสะเอียบ ท่วมเข้ามาในเขตป่าอุทยานแห่งชาติแม่ยมอีก 30 กิโลเมตร อย่างนี้ไม่กระทบได้อย่างไร ... แอบเอา ฮ. บินถ่ายป่าหน้าแล้งช่วงสักผลัดใบ แล้วไปอ้างว่าป่าเสื่อมโทรม จะเสื่อมโทรมได้อย่างไร ใจกลางอุทยานแห่งชาติแม่ยม” นายสมมิ่งกล่าว
นายสมมิ่งกล่าวต่อว่า ในสมัยพลตรีสนั่น ขจรประสาท ที่ได้พานักข่าวสายการเมือง จากกรุงเทพ บินสำรวจป่าหน้าแล้ง ซึ่งเป็นช่วงป่าสักผลัดใบ แล้วไปแถลงข่าวว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม “เหตุการณ์นี้ได้เกิดซ้ำขึ้นอีก เมื่อ ผอ.สสนก. ได้ให้ ฮ. ของกองทัพบกบินถ่ายภาพป่าหน้าแล้ง แล้วนำไปอ้างว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม เราจึงขอให้ท่าน ยุติพฤติกรมเยี่ยงนี้ และขอให้ท่านยุติการผลักดันโครงสร้างบ้าบออะไรของท่านได้แล้ว ทั้งโครงสร้างเตาปูน ทั้งโครงสร้างผาลาด มันก็คือเขื่อนนั่นแหละ อย่าเลี่ยงบาลีเลย ความคิดเฮ็งซวยของท่านอย่ามาใช้กับที่นี่ เราคงไม่ยอมรับหรอก หลอกผู้นำชาวบ้าน 3 คน ไปกินข้าวด้วยแล้วอ้างว่าชาวบ้านเห็นด้วยกับท่านได้อย่างไร ไม่พอยังรับเอาลูกเขยผู้นำเราไปทำงานกับท่านเพื่อล้วงความลับจากหมู่บ้านเรา วิธีการเช่นนี้ก็ใช้ไม่ได้เช่นกัน เพราะชาวบ้านเขารู้ทันท่านหมดแล้ว” นายสมมิ่ง กล่าว
ด้านนายสอนชัย อยู่สุข ชาวบ้านบ้านดอนชัยสักทอง หมู่ 9 ต.สะเอียบ อำเภอสอง จ.แพร่ ได้ขอร้องให้หน่วยงานต่างๆ ยุติการผลักดันเขื่อนได้แล้ว “เรามีเหตุผลในการคัดค้าน 14 ข้อ เราเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม 14 แนวทาง เราขอให้ท่านฟังเราบ้าง อย่าให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟอีกเลย เราสู้มา 25 ปี กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ความดันขึ้น สุขภาพจิตย่ำแย่ เราไม่อยากให้พวกท่านเป็นอย่างพวกเรา หาวิธีอื่นๆเถอะ มีวิธีการอื่นๆ อีกมากมาย อย่าเอาเขื่อนมาเป็นตัวตั้งเลย เราถือว่าเราขอร้องท่านแล้วนะ” นายสอนชัยกล่าว
ต่อข้อถามที่ว่าหากมีการผลักดันเขื่อนเหล่านี้อยู่ ชาวบ้านจะมีมาตรการอย่างไร นายสมมิ่ง กล่าวว่า “เราก็คงคัดค้านต่อไป อีก 25 ปี เราจะสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาต่อสู้คัดค้านโครงการอัปยศเหล่านี้จนถึงที่สุด ส่วนมาตรการก็คงไล่จากเบาไปหาหนัก ท่านจะได้รู้จักสะเอียบมากขึ้น ความคับแคนใจของชาวบ้านก็มีขีดจำกัด ท่านคงได้เจอเร็วๆนี้ หากโครงการเขื่อนเหล่านี้ยังถูกบรรจุในแผนการจัดการน้ำชาติอยู่” นายสมมิ่งกล่าว
ทั้งนี้ในแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า “เราขอเรียกร้องให้กรมชลประทาน คืนงบประมาณผูกพันในการศึกษาเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง และเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่เป็นงบผูกพันในปี 2558 จำนวน 5 ล้านบาท และ งบผูกพันปี 2559 อีก 75 ล้านบาท ให้กับแผ่นดิน โดยเร่งด่วน และยุติการผลักดันทางเลือกจอมปลอมอย่างโครงสร้างเตาปูนและโครงสร้างผาลาด โดยเด็ดขาด”
ชาวบ้านทั้งหมดได้แสดงท่าทีการคัดค้านโครงการเขื่อนดังกล่าว โดยการแสดงประชามติด้วยการยกมือ ซึ่งชาวบ้านทั้งหมดได้ยกมือคัดค้านอย่างเป็นเอกฉันท์ จากนั้นจึงได้แยกย้ายกันกลับบ้านต่อไป.
สำหรับเนื้อหาในแถลงการณ์คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ มีเนื้อหาขอ หยุดผลักดัน เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เขื่อนแก่งเสือเต้น หยุดทางเลือกจอมปลอมอย่างโครงสร้างเตาปูน โครงสร้างผาลาด เพราะมันคือเขื่อนแก่งเสือเต้นเหมือนเดิม โดยมีรายละเอียดดังนี้
จากการเปิดเวทีรับฟังการพัฒนาและหาแนวทางแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำภาคเหนือ ในวันที่ 9 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา ที่จังหวัดพิษณุโลก ในส่วนของลุ่มน้ำยม ได้มีข้อสรุปชัดเจนว่า เสียงประชาชนลุ่มน้ำยม ได้เสนอ -การพัฒนาระบบเหมืองฝาย -การพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็กทั่วทั้งลุ่มน้ำยม -การฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ –การพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำหนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ -การปรับปรุงประสิทธิภาพแห่งน้ำเดิม ฯลฯ รวมทั้งการเร่งฟื้นฟูป่าต้นน้ำเป็นประเด็นสำคัญ โดยที่ประชุมไม่มีการเสนอเขื่อนขนาดใหญ่ อย่างเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง หรือเขื่อนแก่งเสือเต้นเลย
หากแต่ยังมีบางหน่วยงานยังผลักดัน เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เขื่อนแก่งเสือเต้น รวมทั้งโครงสร้างเตาปูน โครงสร้างผาลาด อยู่อีก อันเป็นการสวนกระแสเสียงประชาชนลุ่มน้ำยมทั้ง 11 จังหวัด ซึ่งจะก่อให้เกิดความขัดแย้งตามมาอย่างแน่นอน ป่า 30,000 - 40,000 ก็จะถูกทำลาย ชุมชนก็จะไม่เป็นสุก จึงขอให้หน่วยงานต่างๆ ยุติการผลักดันเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง รวมทั้งเขื่อนแก่งเสือเต้น และหันมาใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม 14 แนวทาง รวมทั้งแนวทางที่เสียงประชาชนลุ่มน้ำยมได้ระดมสมองกันมาทั้ง 11 จังหวัด
เรา ขอเรียกร้องให้ทุกหน่วยงาน ยุติการผลักดันเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เขื่อนแก่งเสือเต้น รวมทั้งโครงสร้างเตาปูน โครงสร้างผาลาด เพราะมันคือเขื่อนแก่งเสือเต้นเหมือนเดิม
ที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ยุติการศึกษาเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง หรือเขื่อนแก่งเสือเต้นแล้ว แต่ยังมีบางหน่วยงานเสนอให้มาศึกษาการสร้างเขื่อนในพื้นที่เหล่านี้อีก โดยเปลี่ยนชื่อเป็นโครงสร้างเตาปูน โครงสร้างผาลาด ซึ่งห่างจากที่เดิมออกไปนอกเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม 5 กิโลเมตร แต่ตัวอ่างเก็บน้ำท่วมเข้ามาในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยมอีก 30 กิโลเมตร เราเห็นว่าการเลี่ยงบาลี เปลี่ยนจุดหัวงาน เพื่อพลาญป่า ผลาญธรรมชาติ ผลาญงบประมาณแผ่นดิน ควรจะยุติได้แล้ว เราขอเรียกร้องให้กรมชลประทาน คืนงบประมาณผูกพันในการศึกษาเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง และเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่เป็นงบผูกพันในปี 2558 จำนวน 5 ล้านบาท และ งบผูกพันปี 2559 อีก 75 ล้านบาท ให้กับแผ่นดิน โดยเร่งด่วน และยุติการผลักดันทางเลือกจอมปลอมอย่างโครงสร้างเตาปูนและโครงสร้างผาลาด โดยเด็ดขาด
ทั้งนี้หากยังดื้อด้าน ผลักดันโครงการต่างๆ เหล่านี้ เข้าไปในแผนการพัฒนาการจัดการน้ำ เราคงต้องมีมาตรการที่ชาวสะเอียบปฏิบัติกันสืบมาต่อไป
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ