ตะลึงอาชีพ 'แม่บ้าน' สร้างมูลค่าปีละ 1.1 หมื่นล้าน สร้างงานไทย 2.5 แสนคน-ต่างด้าวกว่าหมื่น

ชนากานต์ อาทรประชาชิต ศูนย์ข่าว TCIJ 9 เม.ย. 2557 | อ่านแล้ว 7175 ครั้ง

ธุรกิจบริการคนรับใช้ในบ้านสร้างมูลค่ากว่า 1.1 หมื่นล้าน ครองแชมป์สูงสุดในกลุ่มสาขาบริการเอสเอ็มอีสร้างงานให้คนไทยกว่า 2.5 แสนคน ขณะที่ต่างชาติเข้ามาเป็นแม่บ้านผิดกฎหมายกว่า 1.4 หมื่นคน ถูกกฎหมายเพียง 28 คน 

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในภาคการบริการ ปี 2555 มีมูลค่า 3,045,136.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 26.8 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ เมื่อจำแนกเป็นประเภทวิสาหกิจพบว่า วิสาหกิจขนาดใหญ่และอื่น ๆ มีมูลค่า 1,643,938.0 ล้านบาท วิสาหกิจขนาดย่อมมีมูลค่า 1,095,666.0 ล้านบาท วิสาหกิจขนาดกลางมีมูลค่า 305,695.7 ล้านบาท

โดยสาขาการบริการ “บริการคนรับใช้ในบ้าน” คือ สาขาบริการที่มีมูลค่า GDP สูงสุดเป็นลำดับ 8 มูลค่า 11,101.0 ล้านบาท ประกอบการโดยวิสาหกิจขนาดย่อมทั้งสิ้น และครองอันดับ 1 สาขาการบริการที่มีบทบาทสูงสุด มีการเติบโตสูงขึ้นในแต่ละปีแซงหน้าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

 

ธุรกิจบริการคนรับใช้ในบ้าน คือ ตัวแทนหรือนายหน้าจัดหาแรงงาน ทั้งแรงงานไทยหรือต่างชาติ ผู้ทำหน้าที่ดูแลรักษาบ้าน ความเป็นอยู่หรือความสะดวกสบายของคนในบ้าน ซึ่งบางคนอาจต้องดูแลเด็กและผู้สูงอายุด้วย องค์กรธุรกิจและที่พักอาศัยบางแห่ง มักจะใช้บริการบริษัทรับเหมาทำความสะอาด แม่บ้านหรือผู้ทำความสะอาดมีสถานะเป็นพนักงานของบริษัท มีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร และมีการตรวจสอบประเมินผลการทำงาน

ปัจจุบันมีเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียเปิดบริการให้นายจ้างหาลูกจ้างรับใช้ในบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะให้นายจ้างติดต่อไปที่นายหน้าเอง และตกลงค่าตอบแทนของลูกจ้างกับนายหน้าตามตกลงหรือตามอัตราที่กำหนด อาจถือเป็นพนักงานของนายหน้าหรือไม่ก็ได้ ขณะที่บางเว็บไซต์ ลูกจ้างสามารถฝากประวัติหางานไม่ต่างจากการหางานในอาชีพอื่น โดยให้ลูกจ้างฝากประวัติผ่านหน้าเว็บไซต์ไว้หรือลงประกาศหานายจ้างเอง ซึ่งนายจ้างสามารถเข้าไปดูในประกาศนั้น แล้วติดต่อลูกจ้างโดยตรงได้ ในทางกลับกันบางเว็บไซต์เปิดให้นายจ้างลงประกาศผ่านหน้าเว็บไซต์และลูกจ้างที่เป็นสมาชิกของนายหน้า หรือผู้ที่หางานทั่วไปที่มิได้ผ่านนายหน้าก็สามารถติดต่อกับนายจ้างโดยตรงได้เช่นกัน

นอกจากนี้ นายหน้าอาจเปิดบริการทำพาสปอร์ต วีซ่า อบรมทักษะ หรือสอนภาษาไทยให้แก่ลูกจ้างต่างชาติ ควบคู่กันอีกด้วย ซึ่งตามกฎหมายแล้วธุรกิจประเภทนี้ จะต้องจดทะเบียนให้ถูกต้องไม่ต่างกับธุรกิจประเภทอื่น ๆ

โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจภาวะการทำงานของประชากรปี 2555 พบว่า คนไทยที่เป็นลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคล มีจำนวน 254,200 คน คิดเป็นร้อยละ 0.7 ของผู้มีงานทำทั้งหมด ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวรวมประเภทลูกจ้างที่ผลิตสินค้า และบริการที่ทำขึ้นเองเพื่อใช้ในครัวเรือน

ในส่วนของแรงงานต่างชาติ ทางสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวเปิดเผยว่า ปี 2555 ประเทศไทยมีจำนวนคนต่างด้าวคงเหลือ ที่เป็นลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคล (Private households with employed persons) เข้าเมืองถูกกฎหมาย (ตามมาตรา 9 ทั่วไป) มีจำนวน 28 คน ได้แก่ ญี่ปุ่น 1 คน จีน 2 คน ฟิลิปปินส์ 3 คน ออสเตรเลีย 1 คน และสัญชาติอื่น ๆ 21 คน ส่วนจำนวนคนต่างด้าวคงเหลือที่เป็นลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคลเข้าเมืองผิดฎหมาย (ตามมาตรา 13 ประเภทชนกลุ่มน้อย) มีจำนวน 1,950 คน  ได้แก่ ไทยใหญ่ 704 คน กระเหรี่ยง 144 คน พม่า 132 คน ไทยลื้อ 217 คน จีน 66 คน ลั้ว 62 คน มอญ 33 คน ล่าหู่ 48 คน อีก้อ 31 คน มูเซอ 18 คน และสัญชาติอื่นๆ 441 คน ซึ่งพม่าและลาวในกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่มีก่อนกลุ่มตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา

จำนวนคนต่างด้าวคงเหลือที่เป็นลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคลเข้าเมืองผิดกฎหมาย ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สัญชาติ มีจำนวน 12,759 คน ในกิจการ 10,500 แห่ง ได้แก่ พม่า 4,696 คน เป็นชาย 1,041 คน เป็นหญิง 3,655 คน ลาว 5,623 คน เป็นชาย 900 คน เป็นหญิง 4,723 คน กัมพูชา 2,440 คน เป็นชาย 630 คน เป็นหญิง 1,810 คน

ทั้งนี้ยังมีคนไทยที่เดินทางไปทำงานยังต่างประเทศด้วยวิธีการผ่านนายหน้า นายจ้างพาไป หรือเดินทางไปด้วยตนเอง ซึ่งจำนวนหนึ่งนั้นประกอบอาชีพประเภทคนรับใช้ในบ้าน อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของงานประเภทนี้ ณ เดือนตุลาคม 2556 เปิดเผยในเว็บไซต์ของสำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศเพื่อสิทธิประโยชน์ของแรงงานไทย ดังนี้

-สิงคโปร์ 350 เหรียญสิงคโปร์/เดือน (ตามประกาศกรมการจัดหางาน)

-บรูไน 380 เหรียญบรูไน/เดือน (ตามอัตราค่าจ้างท้องถิ่น)

-ฮ่องกง 4,010 เหรียญฮ่องกง/เดือน (ตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำฮ่องกง)

-มาเก๊า 2,500 เหรียญมาเก๊า/เดือน (ตามอัตราค่าจ้างท้องถิ่น)

-มาเลเซีย 1,300 เหรียญริงกิต/เดือน

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงข้อมูลการเติบโตและขนาดมูลค่าธุรกิจประเภทนี้เท่านั้น หากแต่เบื้องหลังเงินหมื่นล้านนี้คือ ผู้ใช้แรงงานที่สมควรมีสิทธิ และการคุ้มครองด้วยกฎหมายไม่ต่างจากอาชีพอื่น แม้ว่ากระทรวงแรงงานจะออกกฎกระทรวงตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2555 เพื่อคุ้มครองลูกจ้างที่ทำงานรับใช้ในบ้านทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติ ที่ไม่ได้เป็นพนักงานของบริษัทรับเหมาทำความสะอาดใน 7 ข้อ ได้แก่

1.ลูกจ้างต้องมีวันหยุดประจำสัปดาห์ ไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 1 ครั้ง 2.นายจ้างต้องกำหนดวันหยุดตามประเพณีปีละไม่น้อยกว่า 13 วัน ซึ่งรวมถึงวันแรงงานแห่งชาติด้วย และหากวันหยุดตามประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ ให้ลูกจ้างหยุดเป็นวันหยุดชดเชยเพิ่มอีก 1 วัน 3.ลูกจ้างที่ทำงานครบ 1 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ปีละไม่เกิน 6 วันทำงาน 4.ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยตามที่ป่วยจริงได้ และหากลา 3 วันขึ้นไป นายจ้างสามารถขอใบรับรองจากลูกจ้างได้

5.กรณีลูกจ้างเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่เด็กโดยตรง 6.ลูกจ้างที่ทำงานในวันหยุดต้องได้รับเงินค่าทำงานในวันหยุดด้วย 7.ลูกจ้างต้องได้รับค่าจ้างในวันที่ลาป่วยโดยไม่เกิน 30 วันทำงาน

ขณะที่นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า แม้ผู้ใช้แรงงานในบ้านจะได้รับสิทธิเพิ่มเติม 7 ข้อ แต่ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ยังมีอยู่หลายข้อที่จำกัดสิทธิผู้ใช้แรงงานในบ้านไว้อยู่ เช่น เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ การคุ้มครองการทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง การลากิจ เป็นต้น

คลิ๊กอ่านข้อมูลจับตาที่นี่ สถานการณ์ลูกจ้างทำงานบ้าน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: