คสช.จ่อล้างไพ่โครงการน้ำ3.5แสนล้าน สั่งทุกหน่วยส่งข้อมูลพิจารณาใหม่9มิ.ย.

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 9 มิ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 2751 ครั้ง

ภาคประชาชนยื่นหนังสือเปิดผนึกต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แสดงความเห็น กรณี คสช.เตรียมเดินหน้าบางโครงการ  ในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 โดยระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว เนื่องจากศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้รับฟังความคิดเห็นหรือให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างทั่วถึง และต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ก่อน

จากการที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ เรียกประชุมข้าราชการและผู้บริหารระดับสูง สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อขอความร่วมมือในการกำหนดยุทธศาสตร์ในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ หรือ “Roadmap”  เพื่อสรุปต่อประชุมใหญ่ของ คสช.โดยระบุว่า จะมีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 และเร่งจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2558 เน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน แก้ปัญหาน้ำแล้งและป้องกันปัญหาอุทกภัย ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา หัวหน้าคสช.ซึ่งจะเลือกทำเฉพาะบางโครงการที่บรรจุอยู่ในโครงการเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ที่เป็นโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และเป็นโครงการลงทุนที่มีความต่อเนื่องตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ นอกจากแก้ปัญหาน้ำแล้งแล้ว ยังช่วยป้องกันปัญหาอุทกภัยได้ ซึ่งกรมชลประทาน ได้เตรียมโครงการเร่งด่วนเสนอเพื่อดำเนินการแล้ว

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมครั้งต่อไป นายเลิศวิโรจน์  โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ได้เตรียมข้อมูลโครงการบางโมดูล ที่ระบุว่าเป็นโครงการเร่งด่วนเสนอต่อ คสช. ประกอบด้วย

1.โมดูล B2 จัดทำพื้นที่ปิดล้อมในชุมชนและเศรษฐกิจหลักพื้นที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ระยะที่ 2 วงเงิน 5,000 ล้านบาท

2.โมดูล A สร้างอ่างเก็ฐน้ำที่ห้วยท่าพล ต.ท่าพล อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ วงเงินกว่า 400 ล้านบาท

3.โมดูล A6 และ B4 ระบบคลังข้อมูล 3,902 ล้านบาท

4.โมดูล A3 แก้มลิงเหนือจังหวัดนครสวรรค์ 9,863 ล้านบาท

5.โมดูล A5 ทางผันน้ำ (ฟลัดเวย์) ฝั่งตะวันออก 30,000 ล้านบาท ก่อสร้างตามแนวคลองชลประทานเดิม มีถนนขนาบด้านข้าง เพื่อเปิดพื้นที่พัฒนาใหม่ๆ ตามแนวเส้นทางเริ่มจากคลองชัยนาท-ป่าสักลงมาผ่านคลองระพีพัฒน์ คลองสิบสาม คลองรังสิตใต้ คลองพระองค์ไชยานุชิต ถึงอ่าวไทยโดยไม่มีการเวนคืนที่ดิน

อย่างไรก็ตาม ข่าวการเดินหน้าโครงการพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านของ คสช.ทำให้เกิดความเป็นห่วงต่อภาคประชาชน ที่เคยเคลื่อนไหวทักท้วงโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาแล้วเป็นอย่างยิ่ง ส่วนใหญ่ระบุว่า เมื่อยังไม่ทราบรายละเอียดว่า คสช.จะนำโครงการใดมาดำเนินการต่อบ้าง จึงเป็นเรื่องที่กลายเป็นความกังวล โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการต่าง ๆ ในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน

ค้านคสช.เดินหน้าโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์ถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทันทีหลังทราบข่าว โดยระบุว่า ขอคัดค้านการรื้อฟื้นโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน เนื่องจากโครงการดังกล่าวขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งก่อนหน้านี้ ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้รับฟังความคิดเห็น หรือให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างทั่วถึง และต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) รวมทั้งยังมีกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตามอีกหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 2548 นอกจากนี้โครงการบริหารจัดการน้ำ เคยถูกคัดค้านจากประชาชนในหลายจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ และการเร่งดำเนินการโดยไม่ผ่านขั้นตอนทางกฎหมาย อาจสร้างความขัดแย้งและสร้างภาพลบต่อคสช.ได้

ระบุประชาชนไม่ยอมรับ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่มีแบบแผน-ไม่มีหลักการ

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ว่า หลังทราบข่าวว่าคสช.จะนำโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท กลับมาพิจารณาใหม่  เครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานร่วมกันมาต่างก็ได้รับการติดต่อจากประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ จำนวนมาก แสดงความเป็นห่วงต่อเรื่องนี้ เพราะขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า คสช.จะดำเนินการโครงการใดบ้าง โดยบางส่วนเสนอว่าควรจะขอเข้าพบกับคสช. เพื่อให้ข้อมูล และแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ แต่เนื่องจากคณะทำงานของเครือข่ายต่าง ๆ เห็นว่ายังไม่เป็นเวลาที่เหมาะสมจึงขอให้รอดูรายละเอียดทั้งหมดก่อน

อย่างไรก็ตามเครือข่ายก็สรุปกันชัดเจนอยู่แล้วว่า ไม่ยอมรับต่อโครงการ 3.5 แสนล้านบาท ที่ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กบอ.) ในรัฐบาลที่แล้วนำเสนอไว้ เพราะที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่า เป็นการดำเนินการที่ไม่มีแบบแผนและหลักการที่ถูกต้อง ที่สำคัญคือไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องการแก้อุทกภัยอย่างแท้จริง ทั้งนี้เห็นว่า หากคสช.จะดำเนินการเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ควรจะดำเนินการในมิติของการปฏิรูปหน่วยงานด้านน้ำที่มีอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมากลับไม่เคยใช้ เช่น คณะกรรมการลุ่มน้ำ ที่ กบอ.ไม่ได้เรียกใช้เลย ดังนั้นจึงไม่ใช่เป็นการบริหารจัดการรูปแบบใหม่ ที่เป็นแบบรวมศูนย์

            “โครงการนี้มีมิติที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ในรัฐบาลที่แล้ว กบอ.ก็คิดว่าจะทำได้เพราะมีความเข้มแข็ง ในการที่จะยกเว้นกฎระเบียบ แต่ศาลปกครองก็ชี้ชัดแล้วว่า จะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน ซึ่งตามที่คสช.แจ้งว่า เป้าหมายคือการปฏิรูปประเทศ ที่แม้ว่ากฎระเบียบต่าง ๆ จะยกเลิกได้ แต่ความเดือดร้อนของประชาชน และเรื่องความกินดีอยู่ดีของประชาชน ก็เชื่อว่า คสช.น่าให้ความสำคัญเรื่องนี้อยู่แล้ว” นายหาญณรงค์กล่าว

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) 

จี้คสช.ตรวจสอบเงินกว่า 6 หมื่นล้าน รัฐบาลเบิกแล้วเงียบ

นายหาญณรงค์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามหาก คสช.ยืนยันจะสานต่อโครงการนี้ต่อ เครือข่ายภาคประชาชนก็พร้อมที่จะของเข้าไปเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริงต่าง ๆ เพราะเราทำงานในแบบที่ไม่ได้แอบแฝงด้วยเรื่องการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น โดยข้อมูลที่ผ่านมาก็จะเห็นได้ว่าประชาชนไม่ได้ยอมรับกับโครงการนี้ การจัดเวทีรับฟังในหลายพื้นที่ กบอ.ไม่สามารถจัดการได้เพราะประชาชนคัดค้าน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ภาคประชาชนพร้อมที่จะนำข้อมูลไปชี้แจงและเสนอต่อ คมช.หากจะดำเนินการจริง นอกจากนี้สิ่งที่อยากเสนอคือเรื่องของการทำมาสเตอร์แพลน เรื่องน้ำของประเทศ ที่อยากให้ คสช.เข้ามาดำเนินการเรื่องนี้ โดยทำเป็นยุทธศาสตร์เรื่องน้ำทั้งหมด ศึกษาความคุ้มค่า และประโยชน์ต่างๆ ถือเป็นการปฏิรูปการทำงานด้านน้ำของประเทศให้ชัดเจน เพราะที่ผ่านมาสังคมไทยเรียนรู้เรื่องน้ำมา 50-60 ปีแล้วแต่ยังไม่มีการดำเนินการที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นจึงหวังว่า คสช.จะเข้ามาช่วยทำให้การขับเคลื่อนเรื่องนี้เป็นไปได้

            “ตอนนี้สิ่งที่เราหวังอีกอย่างหนึ่ง คือเรื่องของการตรวจสอบทุจริตจากโครงการนี้ ซึ่งตอนนี้งบประมาณปลูกป่า ที่ใช้ไปแล้ว 11,000 ล้านบาท เบิกไปแล้วไปไหน ไปปลูกป่าที่ไหนอย่างไร รวมทั้งเงินอีกจำนวน 40,000-50,000 ล้านบาท ที่เบิกไปแล้ว นำไปใช้อะไรบ้าง ซึ่งเราฝากความหวังว่า คสช.จะเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย” นายหาญณรงค์กล่าว

ชาวบ้านไม่เอาฟลัดเวย์ วอนพล.อ.ประยุทธ์ทบทวน

นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวของประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการบริหารจัดการน้ำ มีการรวมตัวกันเพื่อพิจารณาดำเนินการต่าง ๆ เพื่อแสดงจุดยืนในเรื่องนี้แล้ว โดยเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง จ.ราชบุรี เตรียมนำจดหมายเปิดผนึกยื่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคสช. ขอให้พิจารณาทบทวนการหยิบยกโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ขึ้นมาดำเนินการใหม่

ในจดหมายเปิดผนึกระบุว่า ในอดีตศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาไว้ว่า “ต้องกลับไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง หรือ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเสียก่อน” ซึ่งโครงการแม่น้ำสายใหม่หรือฟลัดเวย์ อยู่ในโมดูล A 5 มีการจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี ซึ่งในเวทีมีชาวบ้านกว่า20,000 คน ไปร่วมแสดงประชามติเป็นเอกฉันท์ว่า “ไม่เห็นด้วย และไม่ต้องการ พร้อมกับมีรายชื่อผู้คัดค้านกว่า 10,000 รายชื่อด้วย

ทั้งนี้โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2552 และตามประกาศของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ปี 2552 แต่ขณะนี้ยังไม่มีการจัดทำรายงานฉบับนี้แต่อย่างใด นอกจากนี้ในแต่ละเวทีของจังหวัดต่าง ๆ ที่มีการจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นนั้น มีประชาชนจำนวนมาก ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียออกมาคัดค้านโครงการอย่างชัดเจน และเปิดเผยต่อสาธารณชน เพื่อเป็นการสื่อสารความต้องการของภาคประชาชนที่มีต่อนโยบายของภาครัฐ

อดีตส.ว.แนะประชาชนเสนอความคิดต่อคสช.โดยตรง

ขณะที่นายสุรจิต ชิรเวทย์ อดีตส.ว.สมุทรสงคราม กล่าวว่า แม้ขณะนี้จะยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจนของโครงการต่าง ๆ ภายใต้โรดแมปและคสช.ได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ไปแล้ว แต่โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทนั้น ยังคงอยู่ภายใต้หลักกฎหมายมหาชน ซึ่งต้องทำตามคำสั่งศาลปกครองที่ให้ชะลอโครงการและจัดทำประชาพิจารณ์ก่อน ทั้งนี้ตามโรดแมปของคสช.ที่จะดำเนินโครงการเร่งด่วนนั้น คาดว่าจะเป็นโครงการย่อย ๆ และเป็นโครงการดั้งเดิมของกรมชลประทานที่สามารถดำเนินการได้โดยงบประมาณปกติ เช่น การสร้างสะพาน ขุดลอกทางน้ำ และการฟื้นฟูลำน้ำเดิม เป็นต้น

อดีตส.ว.สมุทรสงครามระบุว่า ส่วนในโครงการขนาดใหญ่ที่เสี่ยงจะมีผลกระทบรุนแรง และต้องอาศัยเงินกู้จากต่างประเทศ โดยเฉพาะการก่อสร้างแนวฟลัดเวย์ หรือการสร้างเขื่อนนั้น คสช.คงไม่กล้าที่จะดำเนินการในขณะนี้ เนื่องจากจะขัดต่อคำสั่งศาลปกครอง และอาจจะมีกระแสคัดค้านอย่างรุนแรงจากประชาชนในพื้นที่ต่างๆ อย่างไรก็ตามอยากเสนอให้ภาคประชาชนพยายามสื่อสารข้อเสนอหรือความคิดเห็นต่อโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ถึงคสช.โดยตรง และอาศัยช่องทางการตรวจสอบที่ยังมีอยู่ ผ่านองค์กรอิสระต่าง ๆ เช่น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ เป็นต้น

‘ปราโมทย์’ยื่นคสช.ยกเลิกโครงการ ชี้แก้น้ำท่วมไม่ได้-มีการทุจริต-กระทบสวล.

กระทั่ง วันที่ 5 มิถุนายน ที่ผ่านมา นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และนายบัญชา ขวัญยืน ประธานคณะอนุกรรมวิศวกรรมแหล่งน้ำ ตัวแทนนักวิชาการวิศกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ วสท. ยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ที่กองบัญชาการกองทัพบก เพื่อเสนอข้อเร่งด่วนการจัดการน้ำของประเทศในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน และขอให้ยุบสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ หรือ สบอช. พร้อมยกเลิกแผนงาน 10 โมดูล เพราะโครงการดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ รวมทั้งมีการบิดเบือนผลประโยชน์ทับซ้อน ทุจริตผิดขั้นตอน เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนก่อสร้างในแวดวงนักการเมือง และข้าราชการ อีกทั้งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ซึ่งยากต่อการแก้ไข มีประชาชนได้รับกระทบจากโครงการและเกิดปัญหาความแตกแยก

นายปราโมทย์ระบุว่า ขอให้คสช.จัดระบบทบทวนใหม่ โดยวางแผนเร่งด่วน เพื่อรับมือกับฤดูฝนที่จะมาถึง โดยไม่ให้นักการเมืองและข้าราชการที่รับประโยชน์มาแทรกแซง และใช้แผนบริหารจัดการน้ำที่กรมชลประทานศึกษาร่วมกับไจก้า และแนวทางที่วสท.ศึกษาไว้ ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วม และมีส่วนตัดสินใจ ตรวจสอบบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่ในคณะทำงานชุดต่าง ๆ ไม่ให้มีส่วนเกี่ยวข้อง

ทั้งนี้บางโครงการใน 10 โมดูล ที่มีประโยชน์ เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กใน 18 แห่ง ที่กระจายในโมดูลต่าง ๆ ซึ่งบางจุดก็จำเป็น และยืนยันการยกเลิกโครงการจะไม่กระทบสัญญาที่ทำร่วมกับเค-วอร์เตอร์ และบริษัทจีน เพราะยังไม่มีการทำสัญญาว่าจ้าง ส่วนเงินที่ใช้ไป 1.2 แสนล้านบาทแล้วนั้น ไม่ใช่เงินที่ใช้ในโครงการ แต่เป็นค่าบริหารจัดการรายละเอียดของโครงการมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 6 มิถุนายน 2557 ถึงทุกหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับโครงการบริหารจัดการน้ำ ระบุว่า ตามที่หัวหน้า คสช.ได้มอบหมายให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. รับผิดชอบในเรื่องการบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาพรวมของประเทศนั้น

เพื่อให้การบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนตามนโยบายของหัวหน้า คสช. จึงขอให้ทุกส่วนราชการ/ส่วนงาน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาน้ำ ได้ระงับการดำเนินการตามแผนงาน/โครงการทั้งปวง ทั้งในส่วนที่ได้รับอนุมัติแล้ว, ในส่วนที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ และในส่วนที่อยู่ในแผนงาน โดยให้รวบรวมข้อมูลแผนงาน/โครงการ/งบประมาณ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงาน ส่งให้ สำนักงานฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. กองบัญชาการกองทัพบก ภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2557 เพื่อพิจารณาทบทวนและกำหนดแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมต่อไป

ซึ่ง พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชี้แจงว่า คสช.ยังไม่ได้ยกเลิกโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท แต่อาจทบทวนบางส่วน เพราะเป็นโครงการที่ใหญ่มีหลายโครงการย่อย จึงจะมีการพิจารณา ในแต่ละโครงการใหม่ ทั้งนี้ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. หากเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณสูง โครงการที่มีเป้าหมายไม่ชัดเจน และโครงการที่มีผลกระทบสูง  ก็ต้องนำมาประชุมพิจารณา ทบทวนกันอีกครั้ง

            “ในภาพรวม ถ้าเป็นโครงการขนาดใหญ่ โครงการที่มีวงเงินสูง หรือที่ประชาชนให้ความสนใจ หรือบางโครงการที่มีเป้าหมายไม่ชัดเจน ก็มีโอกาสที่จะต้องนำมาพิจารณาทบทวน เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณ มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ เวลา 15.00 น. คสช.ประชุมร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดชัดเจนว่ามีโครงการใดบ้าง” พ.อ.วินธัยกล่าว

ย้อนข้อมูล 10 โมดูล โครงการ 3.5 แสนล้านของ กบอ.

สำหรับโครงการออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย วงเงิน 3.5 แสนล้าน ของกบอ. 10 โมดูล แบ่งออกเป็น 2 พื้นที่ คือ โมดูล  A พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา  และโมดูล B พื้นที่ 17 ลุ่มน้ำ  ประกอบด้วย

โมดูล  A พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา  แบ่งย่อยเป็น 6 โมดูล

A1 การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืน ในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก ให้ได้ความจุเก็บกัก 1,534 ล้าน ลบ.ม. ใช้งบประมาณไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท

A2 การจัดทำผังการใช้ที่ดิน การใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลัก พื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยใช้งบประมาณไม่เกิน 25,000 ล้านบาท

A3 การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานในพื้นที่โครงการชลประทาน จ.พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย และนครสวรรค์ โดยใช้งบประมาณไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท

A4 การปรับปรุง ขยายลำน้ำสายหลักและการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำ ในพื้นที่แม่น้ำยม, น่าน และเจ้าพระยา เพื่อทำหน้าที่ระบายน้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลงสู่อ่าวไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้งบประมาณไม่เกิน 1.7 หมื่นล้านบาท

A5 การจัดทำทางผันน้ำ ฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ให้สามารถผันน้ำลงสู่อ่าวไทยไม่น้อยกว่า 1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที รวมทั้งการก่อสร้างถนนริมคลอง เพื่อรองรับการคมนาคม โดยใช้งบประมาณไม่เกิน 150,500 ล้านบาท

A6 จัดหาพร้อมติดตั้งอุปกรณ์ และระบบคลังข้อมูลเพื่อการพยากรณ์และเตือนภัย รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ

โมดูล B พื้นที่ 17 ลุ่มน้ำ

B1 ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ 3 แห่ง ให้ได้ความจุกักเก็บ 465 ลบ.ม. ใช้งบประมาณไม่เกิน 1.2 หมื่นล้านบาท

B2 การจัดทำผังการใช้ที่ดิน การใช้ประโยชน์ที่ดิน ในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลัก ครอบคลุม 47 จังหวัด ในพื้นที่ 17 ลุ่มน้ำ ใช้งบประมาณไม่เกิน 1.4 หมื่นล้านบาท

B3 การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก และการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำ ใช้งบประมาณไม่เกิน 5,000 ล้านบาท

B4 จัดหาพร้อมติดตั้งอุปกรณ์ และระบบคลังข้อมูลเพื่อการพยากรณ์และเตือนภัย รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: