ผลวิจัยชี้EHIAรฟฟ.กระบี่ ละเลยความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล

9 ต.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2133 ครั้ง

วันที่ 9 ตุลาคม กรีนพีซร่วมกับเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินนำเสนอรายงานความก้าวหน้า งานวิจัยวิถีชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพชายฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดกระบี่ หรือ “งานวิจัยมหาลัยเล” ยืนยันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือถ่านหินคือหายนะของความหลากหลายทางชีวภาพพื้นที่ชุ่มน้ำ ปากแม่น้ำกระบี่และวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ และเรียกร้องให้คณะอนุกรรมการการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำดำเนินตามพันธกรณีของอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ (Ramsar Convention) เพื่อปกป้องคุ้มครอง ปากแม่น้ำกระบี่ให้สมกับเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ (Wetland of International Importance)

การเปิดเผยรายงานฉบับนี้จัดขึ้นก่อนหน้าการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค.3) โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 12 ตุลาคมที่จะถึงนี้  โดยที่กระบวนการจัดทำ EHAI ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและ EIA ของท่าเรือถ่านหินนั้นขาดความชอบธรรมมาโดยตลอด ในขณะที่เนื้อหาของรายงานทั้งสองได้ละเลยข้อมูลระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญรวมทั้งวิถีชีวิตชาวประมงท้องถิ่นบนฐานการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่

“ชุมชนบริเวณชายฝั่งทะเล จังหวัดกระบี่ มีความสัมพันธ์กับพื้นที่ทั้งจากการอาศัยทรัพยากรดำรงชีวิต เป็นแหล่งรายได้ทางเศรษฐกิจ จนกล่าวได้ว่าการประมงคือทุนธรรมชาติที่ทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงทางเศรษฐกิจทั้งเศรษฐกิจแบบตลาดและเศรษฐกิจเชิงศีลธรรม สร้างรายได้จากการส่งออกปลาไปหล่อเลี้ยงผู้คนในภาคใต้ที่มีการสลับกันของฤดูกาลประมง และจากการส่งออกนอกภูมิภาค รวมทั้งต่างประเทศเช่น มาเลเซีย สิงคโปร์และญี่ปุ่น เป็นต้น” ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าว

งานวิจัยวิถีชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพชายฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดกระบี่ ได้นำเอาแนวคิดความรู้ท้องถิ่นด้านสิ่งแวดล้อมเชิงวัฒนธรรม (traditional ecological knowledge)  มาใช้ในการเก็บข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ และนำแนวคิดพื้นที่ (space) อธิบายถึงวิถีชีวิตของชุมชนที่สัมพันธ์กับระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ

จากการศึกษาเบื้องต้นพบพันธุ์ปลาจำนวน  269  ชนิด หอยจำนวน  72  ชนิด กุ้งและกั้ง 21 ชนิด ปู 25 ชนิด หมึก 8 ชนิด และพบชนิดพันธุ์สัตว์ที่ชาวบ้านอนุรักษ์จำนวน  25  ชนิด ได้แก่ พะยูน โลมา โลมาปากแหลม โลมาสีชมพู ฉลามเสือ ฉลามหัวฆ้อน ฉลามบุดัง ฉลามขาว ฉลามวาฬ ฉลาดทราย กระเบนทราย ปลาดาว  ปลิงทะเลดำ เต่าตะนุ เต่ากระ เต่าทะเล เต่ามะเฟือง  เม่นทะเล (บูลูบาบี) ปุ๊ยักษ์ (ปลาสิงห์โต) ปุ๊ไฟ ม้าน้ำ  แลนขาว แลนดำ ทากทะเล และลิงแสม จำนวนและชนิดพันธุ์ของสัตว์ทะเลที่พบเบื้องต้นในการศึกษานี้มีมากกว่าการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ที่ผ่านมา รวมถึงในฐานข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

         “งานวิจัยชิ้นนี้เกิดจากชาวบ้านร่วมกันศึกษาในสิ่งที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเพิกเฉยมาตลอด การละเลยความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่จึงเป็นการชี้ให้เห็นว่าการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของภาครัฐล้มเหลวโดยสิ้นเชิง” จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

        “พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่เป็นศูนย์กลางความหลากหลายทางชีวภาพของทะเลระดับนานาชาติ แต่ในขณะนี้กลับตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง เนื่องจากการคุกคามของโครงการถ่านหินกระบี่ นอกจากนี้ ยังอยู่ภายใต้รายชื่อที่ถูกจับตามองระดับนานาชาติอันเนื่องมาจากมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมจากกิจกรรมของมนุษย์ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของรัฐบาลในการปกป้องพื้นที่ที่มีความสำคัญแห่งนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ) ต้องยุติการจัดเวทีทบทวนร่างรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่หรือ ค.3 (Public Review) ที่ไร้ความชอบธรรมโดยในวันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคมนี้โดยทันที” จริยากล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ พื้นที่ชุ่มนํ้าปากแม่นํ้ากระบี่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติลำดับที่ 1100 ในปี 2544 มีพื้นที่ประมาณ 133,120 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่สุสานหอย 45 ล้านปีที่เป็นหนึ่งเดียวในภูมิภาคนี้เขตผังเมืองรวมกระบี่ ปาชายเลนหาดเลน หาดทราย ปาพรุชายฝั่ง เทือกเขาหินปูนลำคลองน้อยใหญ่หน้าเมืองกระบี่จนถึงปาชายเลนและแหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ในบริเวณเกาะศรีบอยา

       “ความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ในฐานะที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติเกิดขึ้นจากความสามารถของคนกระบี่ที่ร่วมกันผลักดันผ่านองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล หน่วยงานภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและคณะรัฐมนตรีจนพื้นที่แห่งนี้ได้รับการคุ้มครองที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ การคุกคามของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือถ่านหินกระบี่ย่อมส่งผลให้มรดกทางทรัพยากรธรรมชาติผืนใหญ่ที่สุดแห่งนี้ไม่เหลือความอุดมสมบูรณ์ที่จะตกทอดให้กับลูกหลานกระบี่อย่างแน่นอน ประชาชนของจังหวัดกระบี่ไม่ต้องการนำพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่มาแลกกับถ่านหิน ในทางกลับกัน ประชาชนในพื้นที่มองถึงการขอขยายพื้นที่แรมซาร์ไซต์” นายกิตติชัย เอ่งฉ้วน รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ กล่าว

ขอบคุณภาพจาก: ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: