ความขัดแย้งทางการเมืองไทยเกือบสิบปีที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากจุดโฟกัสที่แตกต่างกันระหว่างคนสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือชนชั้นกลางที่รังเกียจการคอร์รัปชั่น ขณะที่กลุ่มชนชั้นล่างของสังคมต้องการประชาธิปไตยที่ตนกินได้
น่าแปลกใจที่ทั้งสองกลุ่มกลับมองสองเรื่องนี้แยกขาดจากกัน โดยไม่สนใจอีกฝ่าย ทั้งที่ประชาธิปไตยที่เต็มไปด้วยคอร์รัปชั่นกับสังคมที่ปราศจากคอร์รัปชั่น แต่ปราศจากประชาธิปไตย ก็ดูจะไม่ใช่ทางออกของสังคมไทยทั้งนั้น
เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2557 โครงการเศรษฐกิจแห่งวันพรุ่งนี้ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท จึงได้จัดเสวนาเรื่อง ‘ประชาธิปไตย คอร์รัปชั่น และการปฏิรูปประเทศไทย: จะใช้ประชาธิปไตยแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้อย่างไร’ ขึ้นที่โรงแรม เดอะ สุโกศล
โดยภายในงาน ดร.ธานี ชัยวัฒน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายถึงบุคลิกเฉพาะของประเทศไทยที่ดูเหมือนจะไม่เป็นไปตามหลักทฤษฎีการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างที่ควรเป็น และความสัมพันธ์ระหว่างตลาดการ เมืองและตลาดเศรษฐกิจ ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวจะนำไปสู่การลดปัญหาคอร์รัปชั่น โดยไม่ต้องละทิ้งประชาธิปไตย
ดร.ธานี ชัยวัฒน์ (ภาพจาก thaipublica.org)
สังคมไทยฉีกทฤษฎี คอร์รัปชั่นไม่ลด ทั้งที่เศรษฐกิจ-ประชาธิปไตยค่อนข้างดี
ดร.ธานี เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว ความเชื่อเกี่ยวกับการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ มักวางอยู่บนทฤษฎีที่ว่า เมื่อเศรษฐกิจเจริญเติบโต ประชาธิปไตยจะได้รับการพัฒนา และคอร์รัปชั่นก็จะลดลงตามไปด้วย และเมื่อประชาธิปไตยพัฒนา คอร์รัปชั่นลด เศรษฐกิจย่อมเจริญเติบโต เป็นความสัมพันธ์ในเชิงเส้นตรง
กลับมาที่กรณีของประเทศไทยจะพบว่า จากการเก็บข้อมูลของหน่วยงานระหว่างประเทศต่างๆ เศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจเป็นระยะก็ตาม ขณะที่ความเป็นประชาธิปไตยก็ถือว่าอยู่ในระดับค่อนข้างดี แม้จะมีความผันผวนสูง แต่ที่น่าแปลกใจคือการคอร์รัปชั่นกลับไม่ลดลง
“เรามักจะนึกถึงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกันคือ ถ้าประชาธิปไตยสูงขึ้น คอร์รัปชั่นน่าจะลดลง มีความโปร่งใสมากขึ้น และเศรษฐกิจก็น่าจะดีขึ้นด้วย เพราะความโปร่งใสก็มีผลบวกต่อเศรษฐกิจ สามตัวนี้จึงมีความสัมพันธ์กันอยู่ แต่ในกรณีประเทศไทย กลับพบว่าไม่สัมพันธ์กันอย่างข้อสันนิษฐานเบื้องต้น” ดร.ธานี กล่าว
ประชาธิปไตยโตไม่ทันเพราะความเหลื่อมล้ำ
สาเหตุที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตย การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการคอร์รัปชั่นของประเทศไทยไม่สัมพันธ์ในแบบที่ควรจะเป็น ดร.ธานี อธิบายว่า เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกับโอกาสของการเป็นประชาธิปไตยไม่ได้สัมพันธ์กันเป็นเส้นตรง แต่สัมพันธ์กันเป็นรูประฆังคว่ำ หมายความว่าในช่วงเริ่มต้นที่การเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีของประเทศสูงขึ้น รายได้ของประชาชนสูงขึ้นเรื่อยๆ โอกาสความเป็นประชาธิปไตยจะมากขึ้น เพราะเป็นช่วงเวลาที่ชนชั้นกลางกับชนชั้นล่างจะได้ประโยชน์พร้อมๆ กัน
แต่ถ้าประเทศนั้นไม่สามารถพัฒนาให้เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ได้ เมื่อเศรษฐกิจเติบโตจนถึงจุดหนึ่ง โอกาสการเป็นประชาธิปไตยจะเริ่มยากขึ้น นั่นก็เพราะเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นจนถึงจุดหนึ่งจะเริ่มมีกลุ่มชนชั้นกลางที่เริ่มเสียประโยชน์
“จะเห็นว่าเมื่อก่อนชนชั้นกลางอาจจะสนับสนุนประชาธิปไตย เพราะทำให้เขาได้ประโยชน์ แต่พอการพัฒนาเศรษฐกิจเลยมาถึงจุดหนึ่ง เราพัฒนาประชาธิปไตยไม่ได้เต็มรูปแบบ มันจะเริ่มวกกลับ ซึ่งเราเริ่มเลยจุดนั้นไปแล้ว แต่ยังเลยไม่เยอะ แต่การจะเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบจะเริ่มยาก เพราะจะทำให้ชนชั้นกลางเสียประโยชน์และวกกลับไปสู่การต่อต้านประชาธิปไตย”
ปัจจัยสำคัญที่แทรกตัวอยู่และทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ส่งผลต่อความเป็นประชาธิปไตยก็คือ ความเหลื่อมล้ำ
ประชาธิปไตยไทยผันผวนสูง ทำคอร์รัปชั่นระบาด
นอกจากนี้ ประชาธิปไตยของไทยยังมีความผัวผวนขึ้นลงมากที่สุดในโลก การแกว่งตัวที่ว่านี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตยกับการคอร์รัปชั่นก็ไม่เป็นเส้นตรง ส่งผลให้การคอร์รัปชั่นไม่ลดลง เนื่องจากตอนที่ระดับความเป็นประชาธิปไตยสูงขึ้นในช่วงแรกๆ คอร์รัปชั่นจะสูงขึ้นตาม เพราะจะมีการถ่ายโอนอำนาจออกไป เท่ากับกระจายให้คนจำนวนมากมีโอกาสคอร์รัปชั่นมากขึ้น
แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่มีการถ่ายโอนอำนาจออกไปมากขึ้น จะเกิดการแข่งขันในกลุ่มคนเหล่านี้และจะไปกดการคอร์รัปชั่นให้ลดลง เพียงแต่ว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นจำเป็นต้องอาศัยเวลา แต่เพราะความเป็นประชาธิปไตยของไทยที่ขึ้นลงๆ ตลอดมา มันจึงทำให้ไทยต้องติดอยู่ในกับดักการคอร์รัปชั่น
“ตลาดการเมืองโดยปกติจะเกี่ยวเนื่องกับตลาดเศรษฐกิจ โดยตลาดการเมืองทำหน้าที่เก็บภาษี แล้วใช้จ่ายให้แก่คนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ ในระบบเศรษฐกิจ คนรวยจึงมีอุดมการณ์ชัดเจน คือเลือกพรรคการเมืองอะไรก็ได้ที่ไม่เก็บภาษี เพราะคนกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพารัฐ ขณะที่ชนชั้นล่างต้องการพรรคการเมืองที่เก็บภาษีสูงๆ เพราะตนเองจ่ายน้อย แต่อยากได้การช่วยเหลือจากรัฐ”
เหตุนี้ ในมุมมองของ ดร.ธานี การที่ประเทศไทยจะหลุดพ้นจากกับดักคอร์รัปชั่นได้ ชนชั้นกลางจึงมีบทบาทมาก เพราะชนชั้นกลางยังต้องการการสนับสนุนจากรัฐ แต่ก็ต้องจ่ายภาษีด้วย ชนชั้นกลางจึงมีความอ่อนไหวมากในทางการเมือง สามารถสวิงไปฝ่ายไหนก็ได้ที่บริหารประเทศได้ดี การตัดสินใจของชนชั้นกลางจึงมีผลสูงต่อนักการเมืองในแต่ละพรรค
ประชาธิปไตยจะพัฒนา ถ้าเจอวิกฤตเศรษฐกิจหนักพอ
แต่ความเหลื่อมล้ำคือกำแพงขวางกั้น ซึ่งจากการศึกษาของ ดร.ธานี พบว่า ประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยในโลกมี 2 แบบคือทางลัดกับทางหลัก ทว่า โดยส่วนใหญ่แล้วมักเป็นทางลัด
เพราะความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม การพัฒนาประชาธิปไตยจึงทำได้ยาก ถ้าต้องการพัฒนาประชาธิปไตยและลดคอร์รัปชั่น หลักการก็คือทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน เมื่อทุกคนเท่าเทียมกันก็จะเกิดการรวมตัวกันได้เพื่อเรียกร้องนักการเมืองให้ลดคอร์รัปชั่นและพัฒนาประชาธิปไตย ดร.ธานี ยกตัวอย่างอินโดนีเซียเมื่อครั้งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ซึ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงและทุกคนเท่ากัน จนนำไปสู่การโค่นล้มซูฮาร์โต
“นี่เป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ คือวิกฤตเศรษฐกิจจะทำให้ประชาธิปไตยพัฒนามากขึ้น ถ้าวิกฤตนั้นหนักพอ เพราะว่าทำให้ประชาชนจำนวนมากมีความเท่าเทียมกันและทุกคนจะเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง จะไม่มีคนที่ได้และเสียประโยชน์”
(ภาพจาก www.matichon.co.th)
เขียนกฎหมายบีบนักการเมืองรับผิดชอบ-ใช้ตลาดเศรษฐกิจกดดันตลาดการเมือง
แล้วสังคมไทยจะพัฒนาประชาธิปไตยโดยไม่ต้องมีวิกฤตอย่างไร
ดร.ธานี กล่าวว่า ประเทศประกอบด้วยระบบเศรษฐกิจและระบบการเมืองที่คานกันอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ระบบเศรษฐกิจจะให้คะแนนเสียงกับระบบการเมือง ระบบการเมืองจะต้องคืนความรับผิดชอบให้แก่ระบบเศรษฐกิจ นี่คือหน้าที่ในตลาดการเมือง ขณะที่ระบบการเมืองจะต้องเก็บภาษีจากระบบเศรษฐกิจ แล้วจ่ายคืนให้แก่ระบบเศรษฐกิจผ่านนโยบายต่างๆ อีกด้านคือปัจเจกบุคคลไปเลือกตั้ง นักการเมืองก็คืนนโยบายมาให้ ในทางตรงกันข้าม ประชาชนจ่ายภาษีให้แก่นักการเมือง นักการเมืองก็ต้องมีความรับผิดชอบ
“แต่ในประเทศไทยสิ่งที่หายไปคือ ความรับผิดชอบของนักการเมือง ถ้าเราพบว่านักการเมืองทำผิด เราไม่สามารถทำให้นักการเมืองรับผิดชอบต่อความผิดที่เกิดขึ้นได้ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี วงจรของระบบเศรษฐกิจและระบบการเมืองจึงไม่สมดุล ทำให้คอร์รัปชั่นเข้ามาแทรก”
ดร.ธานี เห็นว่า ในเบื้องต้นไม่ควรพุ่งเป้าไปที่นักการเมืองจนเกินไป เพราะกฎหมายต่างๆ ต้องผ่านนักการเมือง ดังนั้น จึงควรสร้างเครื่องมือทางกฎหมายที่มีประสิทธิภาพแต่จู่โจมนักการเมืองโดยตรง และเป็นกฎหมายที่ทุกฝ่าย ทุกสีเห็นพ้องกัน ในทีนี้ ดร.ธานี เสนอกฎหมายเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ซึ่งข้อมูลจากธนาคารโลกเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะเป็นระบบการตรวจสอบที่ดีที่สุดระบบหนึ่ง และเพิ่มอำนาจประชาชนในการเสนอกฎหมาย ซึ่งจะเป็นเป็นตัวคานอำนาจกับนักการเมือง
“การสร้างความเปลี่ยนแปลงในตลาดการเมืองส่วนใหญ่ในโลกเกิดจากแรงกดดันจากตลาดเศรษฐกิจ เช่น การเมืองหรือประชาธิปไตยในหลายประเทศพัฒนาดีขึ้นเกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจ ขณะที่ตลาดเศรษฐกิจที่เติบโตได้เกิดมาจากวิกฤตบางอย่างจากตลาดการเมือง เพราะฉะนั้นระบบเศรษฐกิจของเรายังโชคดีที่ยังมีมือที่มองไม่เห็นช่วยจัดการ แต่ในตลาดการเมืองเราไม่มี จึงต้องมีปัจจัยภายนอกบางอย่างเข้ามากดดันตลาดการเมืองให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าถ้าเราอยากได้ประชาธิปไตยที่ดีขึ้นหรือคอร์รัปชั่นที่ลดลง ต้องอาศัยตลาดเศรษฐกิจเป็นตัวกดดัน” ดร.ธานี กล่าวทิ้งท้าย
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊ค TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ