กลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขณะนั้น ได้เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หนึ่งในเนื้อหาสำคัญของการประชุมคือ ที่ประชุมมีมติเห็น ชอบแนวทางจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ หรือแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2558-2579 (Power Development Plan: PDP 2015) ระยะยาว 20 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.4 ล้านล้านบาทตามนโยบายรัฐบาล และการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) รวมถึงให้สอดคล้องกับแนวโน้มทิศทางพลังงานโลก (World Energy Outlook) ของทบวงพลังงานโลก (International Energy Agency: IEA) โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 เดือน เพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)
แผนดังกล่าวคาดการณ์ว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ พร้อมกันนี้ได้มีการปรับกรอบระยะเวลาของแผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกใหม่ ให้มีกรอบระยะเวลาของแผนระหว่างปี 2558-2579 เช่นเดียวกับแผน PDP ฉบับใหม่ ซึ่งคาดว่าในการปรับแผน PDP ครั้งใหม่นี้จะมีการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าและปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลงจากปัจจุบันที่สูงถึงเกือบร้อยละ 70 ลดลงเหลือร้อยละ 30 โดยให้มีการกระจายเชื้อเพลิงต่างๆ ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ที่ร้อยละ 20-30 แบ่งเป็นก๊าซธรรมชาติ น้ำ ถ่านหิน และพลังานทดแทน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดที่จะต้องเพิ่มเข้ามาในแผนพีดีพีมากขึ้น
ต่อมาในการประชุม กพช. เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม มีการระบุรายละเอียดลงไปให้ชัดเจนอีกด้วยว่า ในแผนนี้กำหนดว่ารัฐบาลจะต้องเพิ่มอัตราส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเป็นร้อยละ 30 ของการผลิตรวม แบ่งเป็นกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 800 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดสงขลา 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้นานถึง 9 ปี และการซื้อไฟฟ้าจากเมืองหงสา สปป.ลาว จำนวน 1,400 เมกะวัตต์ รวมถึงเจรจาซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินเพิ่มเติมจากเมืองมะริด ประเทศเมียนมาร์และประเทศกัมพูชา รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ขณะเดียวกันจะมีการเปิดประมูลโครงการรับซื้อไฟจากเอกชน (ไอพีพี) อีกด้วย
เร่งเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินท่ามกลางเสียงค้านจากคนใต้
โดยณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยังให้สัมภาษณ์ประเด็นสำคัญยืนยันว่า การเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดกระบี่จะยังคงดำเนินต่อไปและคาดว่าจะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้เร็วที่สุด เพราะไม่เช่นนั้นอาจเกิดไฟฟ้าดับในภาคใต้อีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญระดับโลก
ถือเป็นการสรุปแผนพลังงานที่ชัดเจนของรัฐบาลที่เร่งเดินหน้าจัดทำแผน PDP ฉบับใหม่ โดยมีเป้าหมายจะทำให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้เพื่อเข้าสู่การประชุมของ กพช. เพื่อให้มีมติใช้เป็นแผนนโยบายด้านพลังงานแห่งชาติของประเทศต่อไป
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นประเด็นร้อนที่ยังคงถูกคัดค้านมาโดยตลอด โดยภาคประชาชนในพื้นที่ที่เห็นว่าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจะสร้างมลพิษให้แก่ชุมชน สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชาวบ้าน โดยเฉพาะการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดระบี่และจังหวัดสงขลาที่ยังคงมีการต่อต้านคัดค้านอย่างเข้มแข็ง จนกลายเป็นอุปสรรคสำคัญของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หากจะเดินตามแผน PDP ฉบับล่าสุดนี้ โดยประเด็นคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ คือการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดกระบี่ที่กลุ่มผู้คัดค้านระบุว่า ไม่จำเป็นต้องเลือกหนทางแก้ไขปัญหาด้านพลังงานด้วยการเลือกใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เพราะถือเป็นเทคโนโลยีเก่า สกปรก และก่อมลพิษต่อชุมชน โดยแทนที่จะลงทุนมหาศาลถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปกับโครงการไฟฟ้าถ่านหิน สามารถใช้งบประมาณนี้ไปลงทุนระบบพลังงานหมุนเวียนที่จังหวัดกระบี่ได้ เนื่องจากมีศักยภาพเหมาะสมสามารถดำเนินการได้ทันที
ข้อมูลคัดค้านนี้ได้มีการทำการศึกษาโดยนักวิชาการและหน่วยงานองค์กรเอกชนหลายแห่ง เช่น กรีนพีซซึ่งยืนยันว่าจังหวัดกระบี่มีทางเลือกพลังงานในระบบพลังงานหมุนเวียนผสมผสานและกระจายศูนย์ได้ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจัดทำการศึกษาความเป็นไปได้และแผนงานเพื่อการผลิตไฟฟ้าจากระบบพลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสานในการผลิตไฟฟ้าที่ประกอบด้วย ชีวมวล กังหันลมบนบก กังหันลมนอกชายฝั่ง และเซลแสงอาทิตย์ แทนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน พร้อมชี้ให้เห็นข้อดีต่างๆ นอกจากการได้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดแล้ว ยังสร้างงาน สร้างรายได้ และพลังงานที่ยั่งยืนให้แก่ภูมิภาค และจะยังเป็นตัวอย่างของผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนของประเทศไทยได้ด้วย
"การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดกระบี่
ที่กลุ่มผู้คัดค้านระบุว่าไม่จำเป็นต้องเลือกหนทางแก้ไข
ปัญหาด้านพลังงานด้วยการเลือกใช้ถ่านหิน"
การเดินหน้าคัดค้านพร้อมเสนอแนะการใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทนการใช้เชื้อเพลิงพลังงานเดิม รวมทั้งถ่านหินเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของภาคประชาชนและเอ็นจีโอ ดูเหมือนจะไม่ได้รับการตอบสนองต่อภาครัฐเท่าใดนักเพราะการเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่เพียงแต่ที่จังหวัดกระบี่เท่านั้น ในแผน PDP 2015 ที่ถูกประกาศล่าสุด ยังประกาศชัดว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินในทุกพื้นที่ที่มีแผนจะก่อสร้างจะยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันการสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ก็ถูกประกาศว่าจะมีการเพิ่มสัดส่วนขึ้นเช่นกัน
นั่นหมายความว่า แม้รัฐบาลจะทำตามข้อเสนอของภาคประชาชนและเอ็นจีโอ ในการใช้พลังงานอื่นๆ แทนถ่านหิน แต่ก็ใช่ว่าจะหยุดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินตามข้อเรียกร้อง โดยสิ่งที่กระทรวงพลังงานยืนยันชัดเจนคือการดำเนินการทุกอย่างนี้ถูกวางนโยบายเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในระยะยาวนั่นเอง
สนพ.ยันรับฟังความคิดเห็นทุกพื้นที่ เห็นด้วยสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์-ถ่านหิน
ชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ระบุว่า ในการจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเรื่อง ‘ทิศทางพลังงานไทย’ ทั้ง 4 ครั้งของกระทรวงพลังงานทั้งในกรุงเทพ, ขอนแก่น, เชียงใหม่ และสุราษฎร์ธานี ในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนที่ผ่านมา ประเด็นสำคัญที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นในส่วนของกรุงเทพเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม คือข้อเสนอให้รัฐจัดหาเชื้อเพลิงชนิดอื่นเพิ่มเติม เพื่อเป็นการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงและการพิจารณากำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin: RM) ให้มีระดับไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 โดยเห็นด้วยที่จะให้มีการวางแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และถ่านหินอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล โดยที่ประชาชนสามารถเป็นเจ้าของและบริหารจัดการได้อย่างเต็มรูปแบบ
ข้อสรุปที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นยังมีเรื่องของการวางแผนการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้สอดคล้องกับการสร้างโรงไฟฟ้า การเปิดประมูลโรงไฟฟ้า IPPs ให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรม การกำหนดเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานในการจัดทำแผนพีดีพีให้สูงกว่าเดิมที่ร้อยละ 20 และการกำหนดสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ไม่ให้ต่ำกว่าร้อยละ 50
ขณะที่ความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 10 กันยายน ประชาชนยังต้องการให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอย่างแท้จริง โดยไม่ปล่อยให้คนจากพื้นที่ภายนอกมาสร้างความวุ่นวาย และมองว่าการประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพี ที่ผ่านมา 5,000 เมกะวัตต์ มีการกระจุกตัวของผู้ชนะการประมูล รวมทั้งยังต้องการความชัดเจนเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่าจะมีหรือไม่ เมื่อใด และในพื้นที่ใด
ในเรื่องของพลังงานทดแทน ภาคประชาชนเห็นว่าควรสนับสนุนให้มีการใช้แสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าเป็นทางออกที่ยั่งยืน และสร้างฐานการผลิตโซล่าร์เซลล์ในประเทศเพื่อให้ต้นทุนถูกลง และยังมองว่าการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านมากเกินไปมีความเสี่ยง โดยการซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ต้องขึ้นอยู่กับฤดูกาล ส่วนการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้าจากพม่าในอนาคตอาจพึ่งพาได้ไม่มาก เนื่องจากความต้องการใช้ในพม่ามีมากขึ้น อาจส่งออกมาไทยได้ไม่มาก
สำหรับเรื่องก๊าซธรรมชาติ เห็นควรให้มีการขยายท่อก๊าซมายังภาคอีสานให้มากขึ้น เพื่อสร้างทางเลือกในการผลิตไฟฟ้าในภาคอีสาน ซึ่งปัจจุบัน ท่อก๊าซดังกล่าวมีแผนที่จะสร้างมาถึงแค่จังหวัดนครราชสีมา และเห็นว่าในภาคอีสานมีแหล่งก๊าซขนาดเล็กหลายแหล่งควรมีการพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ใช้ก๊าซไม่มาก
เชียงใหม่เสนอสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ-ถ่านหินขนาดเล็ก
สำหรับข้อสรุปที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2557 ชวลิต กล่าวว่า ภาคประชาชนเสนอว่าต้องการใช้โรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นกรณีตัวอย่าง ให้ประชาชนได้มาศึกษาดูงานในการจัดการปัญหามลพิษและเห็นด้วยกับการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้า แต่การใช้พลังงานทดแทนก็ไม่สามารถทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติได้
นอกจากนี้ ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่เข้าใจและเห็นความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเสนอให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดเล็ก 100 เมกะวัตต์ที่อำเภอเวียงแหง เนื่องจากมีถ่านหินในพื้นที่อยู่แล้ว โดยมองว่าการวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าควรกำหนดโซนนิ่งตามศักยภาพของพื้นที่ และการดำเนินการจัดทำแผน PDP ต้องดำเนินการควบคู่กับแผนอนุรักษ์พลังงาน รวมทั้งเน้นเรื่องการรณรงค์การประหยัดพลังงานด้วย
ส่วนการรับฟังข้อคิดเห็นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 19 กัยนายน 2557 ภาคเอกชนมีความต้องการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก การนำระบบ Feed in Tariff มาใช้กับพลังงานทดแทนต้องพิจารณาความเหมาะสมและต้นทุนของวัตถุดิบแต่ละประเภท และเห็นด้วยกับการผลิตไฟฟ้าจากขยะ แต่ต้องเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม ส่วนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ควรสอบถามความคิดเห็นประชาชนก่อนกำหนดให้พื้นที่ใดเป็นพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้า และเชิญเอ็นจีโอเข้ามาพูดคุยและทำความเข้าใจด้านพลังงาน
"กลายเป็นช่องทางธุรกิจใหม่ที่กำลังคึกคักอย่างหนัก
ในกลุ่มธุรกิจผู้ผลิตพลังงานทดแทน เนื่องจากแผนดังกล่าว
จะทำให้มูลค่าตลาดรวมในกลุ่มนี้ใหญ่ขึ้นถึง 5 เท่า"
จากข้อมูลของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ระบุว่า สำหรับพลังงานทางเลือกในประเทศไทยที่มีศักยภาพสูงในการผลิตไฟฟ้า ได้แก่ พลังงานไฟฟ้าจากขยะ พลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล และพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ แต่ยังมีอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการลงทุน เช่น พลังงานไฟฟ้าจากขยะยังมีอุปสรรคเกี่ยวกับผังเมือง ที่บางพื้นที่ไม่สามารถดำเนินการได้เต็มที่ และ Feed in Tariff ยังไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาโครงการ ขณะที่พลังงานไฟฟ้าจากชีวมวลยังประสบปัญหาสายส่งไม่มีความเพียงพอ ทำให้เมื่อผลิตไฟฟ้าไปแล้วไม่สามารถส่งใฟฟ้าได้ และยังมีปัญหาเรื่องการจัดเก็บยากทำให้มีต้นทุนที่สูง เช่นเดียวกับพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และพลังงานลม เป็นต้น
PDP 2015 ดันกลุ่มทุนธุรกิจในตลาดหุ้นคึกเตรียมระดมทุนเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม แม้ดูเหมือนอุปสรรคของการดำเนินการพลังงานทดแทนจะมีอยู่มาก แต่ภายหลังที่ กพช. เห็นชอบปรับค่าเป้าหมายแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกร้อยละ 25 ใน 10 ปี หรือ AEDP ส่งผลให้กำลังการผลิตเป้าหมายของโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 51 จากแผนเดิม 9,201 เมกะวัตต์ เป็น 13,927 เมกะวัตต์ กลายเป็นช่องทางธุรกิจใหม่ที่กำลังคึกคักอย่างหนักในกลุ่มธุรกิจผู้ผลิตพลังงานทดแทน เนื่องจากแผนดังกล่าวจะทำให้มูลค่าตลาดรวมในกลุ่มนี้ใหญ่ขึ้นถึง 5 เท่า โดยเฉพาะพลังงานชีวมวล ก๊าซชีวมวล และโซลาร์ ที่จะมีบทบาทสูงขึ้นเพราะได้รับอานิสงค์จากแผน PDP 2015 ซึ่งทำให้การลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนเหล่านี้คักคักขึ้นมาทันที
ตลาดหลักทรัพย์ได้จับมือ 3 หน่วยงานด้านพลังงาน ประกอบด้วยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อหนุนธุรกิจพลังงานทดแทนให้เติบโต โดยผ่านการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อขยายธุรกิจ
ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ ระบุว่า หลังการประกาศนโยบายแผน PDP ฉบับบใหม่ พบว่า มีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ 12 แห่ง ซึ่งดำเนินธุรกิจพลังงานทดแทน เตรียมที่จะเพิ่มทุนมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนในระยะข้างหน้า จากปัจจุบันที่พบว่า บริษัททั้ง 12 แห่ง มีโครงการที่อยู่ในมือมูลค่ารวม 40,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจพลังงานทดแทนอีกเกือบ 100 แห่ง ส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ให้ความสนใจที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมีมูลค่าการระดมทุนรายละ 500-1,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุนรวมราว 50,000-100,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ การปรับเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนในแผน PDP ดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากผู้คนในแวดวงพลังงานที่ออกมาแสดงความคิดเห็น อาทิ พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่เห็นว่า กิจการไฟฟ้าเป็นกิจการที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานและมีศักยภาพในการเติบโต รัฐบาลจึงกำหนดนโยบายสนับสนุนธุรกิจพลังงานและพลังงานทดแทนหลายด้าน โดยความร่วมมือนี้เป็นก้าวแรกในการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อเดินหน้าตามแนวนโยบาย ให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจพลังงานของภูมิภาคต่อไป
ขณะที่ไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า นโยบายนี้นอกจากจะสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพิ่มเม็ดเงินลงทุนและการจ้างงานในประเทศแล้ว ยังก่อให้เกิดประโยชน์ทางอ้อมต่อเสถียรภาพของราคาสินค้าเกษตร พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น โดยความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการร่วมผลักดันให้ไทยเกิดการลงทุนและผลิตพลังงานทดแทนขึ้นใช้เองได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต และก้าวไปสู่ศูนย์กลางด้านพลังงานทดแทนในภูมิภาคต่อไป
จากข้อมูลข่าวการปรับแผน PDP 2015 ที่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนในครั้งนี้ ดูจะเป็นไปในเชิงบวก ทั้งประเด็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ที่เห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน หรือแม้กระทั่งความคึกคักของกลุ่มธุรกิจพลังงาน ในขณะที่ยังไม่ปรากฎประเด็นในเชิงคัดค้านหรือเห็นต่างๆ คงต้องติดตามต่อไปว่านโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลนี้จะสามารถเดินหน้าได้ตามเป้าหมายหรือไม่ และการเคลื่อนไหวคัดค้านของภาคประชาชนจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร
อ่าน 'จับตา: สถิติการผลิตพลังงานไฟฟ้า 2557'
http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5180
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ