เปิดแผนดันสมุนไพรไทยเป็นสินค้าโลก

9 พ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 3916 ครั้ง


แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสมุนไพรไทย : สมุนไพรไทย--สินค้าโลก (พ.ศ. 2556-2560)
การพัฒนาสมุนไพรไทยสู่ผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศไทย
(Thailand Champion Herbal Products : TCHP)
โดย นายแพทย์สมชัย นิจพานิช
อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

เป้าหมาย/เป้าประสงค์ในช่วง 5 ปี (พ.ศ.2556-2560)

1. ผลิตภัณฑ์สมุนไพรสามารถแข่งขันได้ในตลาดสากลสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
2. ผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีคุณภาพมาตรฐาน
3. ระบบยาของประเทศมีความมั่นคงบนฐานของระบบยาจากสมุนไพร
4. การพึ่งตนเองด้านสุขภาพด้วยสมุนไพรไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ

วัตถุประสงค์

1. เพื่อพัฒนาการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพมาตรฐานครบวงจรการผลิต
2. เพื่อสร้างองค์ความรู้ การศึกษาวิจัยพัฒนาด้านประสิทธิผลและความปลอดภัย รวมถึงเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพในการสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค
3. เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศและสร้างอาชีพให้เกษตรกรและชุมชนเข้มแข็ง

แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสมุนไพรไทย มี 3 ประเด็นยุทธศาสตร์ ที่สอดรับซึ่งกันและกัน

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 : ส่งเสริมให้มีวัตถุดิบสมุนไพรอย่างเพียงพอและเหมาะสม
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 : พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานการผลิต
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 : สนับสนุนสมุนไพรไทยสู่สินค้าโลก

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 : ส่งเสริมให้มีวัตถุดิบสมุนไพรอย่างเพียงพอและเหมาะสม

เป้าหมาย/เป้าประสงค์

1. มีแหล่งสมุนไพรที่เพียงพอ เหมาะสมในการผลิต/แปรรูป
2. สอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและมีระบบจัดการชุมชนยั่งยืน
3. สมุนไพรเป้าหมายมีคุณภาพ

กลยุทธ์/มาตรการ

7.1 ส่งเสริมชุมชนพึ่งตนเองด้านสุขภาพด้วยสมุนไพรไทย (เป้าหมาย ไม่น้อยกว่า 10,000 ชุมชน)
7.2 กำหนดพื้นที่ระดับจังหวัดที่เหมาะสมส่งเสริมให้มีการปลูกสมุนไพรเป้าหมายแต่ละชนิด เช่น สมุนไพรกระชายดำจากจังหวัดเลย (เป้าหมาย ไม่น้อยกว่า 15 จังหวัด)
7.3 ส่งเสริมให้มีการปลูกป่าสมุนไพรในชุมชน เพื่อไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นแหล่งใช้อย่างยั่งยืน (เป้าหมาย ไม่น้อยกว่า 100,000 ไร่)
7.4 สนับสนุนการผลิตภาคเกษตรกรรม เช่น การปลูกสมุนไพรตามมาตรฐานการปลูกและเก็บเกี่ยวที่ดี (Good Agricultural and Collection Practice, GACP) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การจัดหาสายพันธุ์พืชสมุนไพรหรือต้นกล้าสมุนไพรที่ถูกต้องให้เกษตรกร (เป้าหมาย ไม่น้อยกว่า 3,000 ไร่)
7.5 เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกและแปรรูปสมุนไพร โดยสนับสนุนให้จัดตั้งเป็นสหกรณ์ หรือวิสาหกิจชุมชนเพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ ผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติและภูมิปัญญาให้ได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และยั่งยืน (เป้าหมาย ไม่น้อยกว่า 500 กลุ่มสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชน)
7.6 เร่งรัดให้จัดตั้งตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพรทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อให้เป็นสถานที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนวัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดและราคาเหมาะสม (เป้าหมายไม่น้อยกว่า 5 แห่ง)

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 : พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานการผลิต

เป้าหมาย/เป้าประสงค์

1. ผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั้งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปได้รับการตรวจวิเคราะห์คุณภาพให้ได้มาตรฐาน
2. ผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีมาตรฐานการผลิต
3. มีระบบการจัดการการผลิตที่มีมาตรฐาน สอดคล้อง และยั่งยืน

กลยุทธ์/มาตรการ

8.1 เร่งรัดให้มีงานศึกษาวิจัยรองรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการศึกษาวิจัยระดับคลินิก รวมทั้งการอ้างอิงตามภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีประวัติการใช้ยาวนาน (History) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและสร้างความน่าเชื่อถือต่อผลิตภัณฑ์ (เป้าหมาย ไม่น้อยกว่า 50 เรื่องรายงานวิจัย)
8.2 เร่งรัดให้มีการเพิ่มจำนวนและศักยภาพของหน่วยรับตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ทั้งที่เป็นวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป (Finished Product) (เป้าหมาย ไม่น้อยกว่า 20 แห่ง)
8.3 พัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) จากสมุนไพร ให้มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนด (เป้าหมาย ไม่น้อยกว่า 1,000 รายการผลิตภัณฑ์)
8.4 ส่งเสริมให้ภาคเอกชนจัดทำโรงงานแปรรูปสารสกัดสมุนไพร เพื่อรองรับวัตถุดิบสมุนไพรจากภาคเกษตรกรรม (เป้าหมาย ไม่น้อยกว่า 5 แห่ง)
8.5 เร่งรัดพัฒนาให้สถานประกอบการภาคเอกชน ทั้งที่ผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับเป็นยาจากสมุนไพร (ยาแผนไทยหรือยาแผนโบราณ) เครื่องสำอาง อาหารเสริม ให้มีมาตรฐานการผลิตที่ดีระดับอาเซียน (ASEAN-GMP) หรือระดับภายในประเทศ (Local GMP) ตามที่ อย.กำหนด (เป้าหมายระดับ ASEAN-GMPไม่น้อยกว่า 50 แห่ง / ระดับ Local GMP ไม่น้อยกว่า 100 แห่ง)
8.6 เร่งรัดจัดตั้งโรงงานยากลางสมุนไพร ทั้งในส่วนภาคเอกชน และ/หรือ ภาครัฐวิสาหกิจ เช่น องค์การเภสัชกรรม และ/หรือ พัฒนาหน่วยงานภาครัฐ เช่น ศูนย์พัฒนายาไทยและสมุนไพร กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ โรงพยาบาลของรัฐที่มีการผลิตมาตรฐาน GMP ให้มีความสามารถในการผลิตในปริมาณมากพอรองรับผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ไม่สามารถพัฒนาการผลิตสู่มาตรฐาน Local GMP ด้วยตนเอง (ในปี พ.ศ.2555 มีจำนวนประมาณ 800 แห่งทั่วประเทศ) เพื่อให้สามารถคงอยู่และภูมิปัญญาไม่สูญหาย (เป้าหมาย ช่วยเหลือโรงงานได้ไม่น้อยกว่า 400 โรงงาน)

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 : ผลักดันสมุนไพรไทยสู่สินค้าโลก

เป้าหมาย/เป้าประสงค์

1. พัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้เป็นที่ยอมรับของผู้ใช้ในประเทศ
2. สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการยอมรับของผู้ใช้ในต่างประเทศ
3. มีระบบคุ้มครองภูมิปัญญาที่สอดคล้องกับระบบสากล

กลยุทธ์/มาตรการ

9.1 ส่งเสริมให้มีการใช้อย่างกว้างขวาง เป็นที่นิยมรู้จักในประเทศ เช่นในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และในท้องตลาดทั่วไปในประเทศ (เป้าหมาย มูลค่าการใช้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 เทียบกับยาแผนปัจจุบัน)
9.2 กำหนดให้มีการใช้ตราสัญลักษณ์ของประเทศไทยในผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีมาตรฐาน (เป้าหมาย ไม่น้อยกว่า 500 ผลิตภัณฑ์สมุนไพร)
9.3 พัฒนาด้านการตลาดที่เป็นศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ (outlet) ให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้สะดวก เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ แหล่งท่องเที่ยว และหน่วยงานราชการ เช่นโรงพยาบาล โดยในระยะแรกรัฐควรกำหนดราคาที่เหมาะสมสำหรับผลิตภัณฑ์สมุนไพรพื้นฐาน หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เช่น ระบบการจัดหาวัตถุดิบ ระบบการผลิตที่มีมาตรฐาน (เป้าหมาย ไม่น้อยกว่า 50 แห่งรวมทั้งรัฐและเอกชน)
9.4 ควรสร้างอุปสงค์ (demand) ในตลาดในต่างประเทศ ด้วยการประชาสัมพันธ์ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีการพัฒนาและมีประสิทธิผลในการดูแลสุขภาพ และสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพรของประเทศไทยไปสู่ผลิตภัณฑ์สุขภาพนานาชาติต่อไป (เป้าหมาย ไม่น้อยกว่า 5 แผนประชาสัมพันธ์)
9.5 ส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้บริโภคให้ใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างเหมาะสม (เป้าหมาย ไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน)
9.6 เร่งรัดพัฒนาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพร ภูมิปัญญา ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ และพัฒนาระบบการคุ้มครองเฝ้าระวังสิทธิภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร (TKDL) และทรัพย์สินทางปัญญาอื่น ๆ ในเวทีสากล (เป้าหมาย ไม่น้อยกว่า 5 ฉบับ)

*****************************

ที่มา

กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

ขอบคุณรูปภาพจาก www.manager.co.th

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: