เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2557 เว็บไซด์ www.transbordernews.in.th รายงานว่าชาวบ้านในลุ่มน้ำสาละวิน 10 หมู่บ้านพร้อมด้วยเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง อาทิ เครือข่ายกลุ่มรักษ์เชียงของ จังหวัดเชียงราย เครือข่ายคัดค้านเขื่อนแม่แจ่มจังหวัดเชียงใหม่พร้อมข้าราชการ และหน่วยงานต่างๆ จำนวนกว่า 400 คนร่วมจัดกิจกรรม”ปลูกป่า-บวชป่าสาละวิน” ณ บริเวณน้ำแม่ปัว ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน หมู่บ้านแม่สามแลบ ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นบริเวณที่ถูกขบวนการลักลอบตัดไม้สัก ได้ทำการตัดต้นสักขนาดใหญ่และชักลอกลงแม่น้ำไปยังประเทศพม่า โดยมีข้าราชการระดับสูง เดินทางมาร่วมกันหลายราย อาทิ พล.ต.คู่ชีพ เลิศหงิม ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 4 (กองกำลังนเรศวร) ในฐานะตัวแทนแม่ทัพภาคที่ 3 ซึ่งประธานร่วมพร้อมด้วย นายสุรพล พนัสอำพล ผู้ว่าราชการจังหวัด(ผวจ.)แม่ฮ่องสอน นอกจากนี้ยังมีนายบุญเกื้อ คุณาธารกุล นายอำเภอสบเมย พ.ต.องดาวฤกษ อยู่สวัสดิ์ ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรอำเภอสบเมย นายยุทธนา ศรีเงินงาม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสาละวิน และนายอภิรัฐ นพกุล ผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน
ในช่วงเช้าชาวบ้านร่วมกันประกอบพิธีกรรมทางศาสนาทั้ง 3 ศาสนาคือพุทธ คริสต์ และอิสลาม เพื่อขอพรจากผู้นำทางศาสดาให้คุ้มครองป่าสาละวินและคืนความอุดมสมบูรณ์แก่ป่า และแม่น้ำ พร้อมปกป้องชาวบ้านและชุมชนให้รอดพ้นจากขบวนการตัดไม้สัก ขณะที่ชาวกะเหรี่ยงได้ทำพิธีไหว้ผีตามความเชื่อ และได้มีการสาปแช่งผู้ที่ตัดไม้ทำลายป่า
พล.ต.คู่ชีพ ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่สถานการณ์การตัดไม้ถูกนำเสนอออกสู่สาธารณะเมื่อประมาณเดือนเมษายนและมีหน่วยงานอื่นๆ ทั้งกองทัพภาคที่ 3 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งชาวบ้านได้ร่วมกันค้นหาไม้ของกลางและรายงานเบาะแสต่อเนื่องจนมีการจับกุมผู้เกี่ยวข้องได้ 4 คนแล้วนั้น พบว่าปัจจุบันสถานกาณ์เริ่มเบาลง อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ทหารจะยังคงเกาะติดสถานการณ์ต่อไปและเชื่อว่าในเวลาหลังจากนี้ อาจจะไม่มีการลักลอบตัดไม้แล้ว ส่วนการติดตามกลุ่มขบวนการที่อยู่เบื้องหลังการตัดไม้ครั้งนี้นั้น เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ อย่างไรก็ตามในส่วนของการแก้ไขปัญหานั้น ขณะนี้ได้ให้กอ.รมน.เข้ามามีส่วนในการแก้ไขปัญหาบุกรุกป่าสาละวินด้วย
นอกจากนี้พล.ต.คู่ชีพ ยังได้กล่าวในระหว่างการเป็นประธานในพิธีเปิดงานด้วยว่า การบวชป่าครั้งนี้ ต้องบวชป่า บวชคน บวชความคิด และบวชจิตสำนึกความรับผิดชอบ โดยที่ผ่านมามีชาวบ้านและสื่อมวลชนคอยรายงานวสถานการณ์อย่างเข้มข้น ดังนั้นในเมื่อวันนี้ เจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการได้มีโอกาสมาเข้าร่วม อยากให้ทำหน้าที่เสมือนชาวบ้านในพื้นที่ ไม่ใช้อิทธิพลในทางที่ผิด และมีการรายงานสถานการณ์ข้อเท็จนจริงต่อสาธารณะถึงสถานการณ์ป่าสาละวินอย่างตรงไปตรงมา ไม่ทำลายป่า อีกทั้งต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังต่อผู้กระทำผิด
ด้านนายสุรพล พนัสอำพล ผู้ว่าราชการจังหวัด(ผวจ.)แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ที่ผ่านมาป่าสาละวินมีการบุกรุกอย่างมาก สถานการณ์รุนแรงโดยมีการจับกุมคดีเรื่องไม้สักทั้งหมด 44 คดี มีไม้สักท่อน 429 ท่อน และไม้แปรรูปทั้งหมด 2,870 แผ่น มีผู้ต้องหาเป็นชาวบ้านทั้งหมด 4 คน และคดีความอยู่ในขั้นสอบสวนหาผู้เกี่ยวข้องต่อไป แต่หลังจากเจอสถานการณ์ร้ายๆ เกี่ยวกับป่าสาละวินเข้ามาชาวบ้านในพื้นที่ก็ไม่มีความย่อท้อ ยังคงเดินหน้ารักษาทรัพยากรต่อไป โดยชาติพันธุ์ที่อาศัยในป่า มีกฎร่วมกันคือ ป่า 9 ประเภทห้ามลูกหลานและสมาชิกในชุมชนทำลาย ได้แก่ 1 ป่าสะดือ 2 ป่าอนุรักษ์ 3 ป่าพื้นที่ทำกิน 4 ป่าพิธีกรรม 5 ป่าใช้สอย 6 ป่าสาธารณะ 7 ป่าต้นน้ำ 8 ป่าช้า และ 9 ป่าชุมชน
ภายหลังจากเสร็จสิ้นพิธีเปิดงาน ทั้งหมดได้ร่วมกันปลูกต้นไม้จำนวน 2,000 ต้นพร้อมบวชป่าร่วมกันตามหลักศาสนาที่นับถือ โดยกลุ่มที่นับถือศานาอิสลามใช้ผ้าขาวผูกต้นไม้ชาวพุทธใช้ผ้าเหลือง และชาวคริสต์ใช้ถ่านเขียนบนต้นไม้เป็นรูปไม้กางเขนหรือใช้วิธีตอกไม้กางเขนติดที่ต้นไม้
นายสมคิด ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแม่สามแลบ กล่าวว่า การบวชป่าของชาวบ้านทั้ง 10 หมู่บ้านครั้งนี้เป็นครั้งแรกของชุมชนตำบลแม่สามแลบ และชาวบ้านมีความศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิเสมอ ในอดีตนั้นชาวบ้านมีเรื่องเล่าว่า มีกวางตัวหนึ่งวิ่งหนีพรานล่าสัตว์เข้าไปในป่าที่ผ่านการบวชป่าปรากฎว่ากวางตัวนั้นถูกล่าแต่แล้วเวลาผ่านไปไม่นานพรานรายนั้นก็ป่วยตาย แสดงว่าการบวชป่าไม่ใช่แค่การขอพรเจ้าที่ แต่หมายถึงการยอมรับโทษที่อาจถึงแก่ชีวิตด้วยหากใครละเมิดกฎบวชป่า
ขณะที่นายไตรรัตน์ วณาศิริสุข นายกองค์กรบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ ได้นำชาวบ้านกล่าวปฏิญาณตนโดยมีเนื้อหาสำคัญบางตอนว่า ข้าพเจ้าในฐานะผู้อาศัยป่าลุ่มน้ำสาละวิน จะขอจงรักภักดีต่อป่าต่อต่อทรัพยากรและธรรมชาติ จะไม่ขอทำลายความสมดุลในป่า จะขอทำหน้าที่ปกป้องทรัพยากรและร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมขอมีส่วนร่วมในการปลูกป่าทดแทนส่วนที่ถูกทำลายตลอดไป
ทั้งนี้เครือข่ายชาวบ้านได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ดังนี้
1.เครือข่ายฯ สนับสนุนการปฎิบัติการของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการตรวจยึดไม้ของกลางในป่าสาละวินทั้งหมด และดำเนินคดีอย่างตรงไปตรงมา การบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐทุกฝ่าย จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชุมชน หนึ่งในภารกิจเร่งด่วน การตั้งจุดสกัดร่วมในพื้นที่ล่อแหลม โดยเฉพาะที่สบห้วยแม่ปัว และบ้านสบเมย ซึ่งเป็นจุดผ่านของไม้ออกนอกพื้นที่
2. เนื่องจากบริเวณป่าสาละวินเป็นพื้นที่ชายแดน เกี่ยวพันกับความมั่นคงของประเทศ มีหน่วยงานราชการเข้ามาร่วมรับผิดชอบจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาจึงขาดการทำงานอย่างบูรณาการหรือขาดเจ้าภาพ จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดให้ป่าสาละวินเป็นพื้นที่พิเศษ เพื่อให้ผู้บริหารระดับนโยบายเข้าร่วมทำงานกันอย่างมีเอกภาพ ซึ่งรวมไปถึงเรื่องบุคลากรและงบประมาณที่เพียงพอ 3. ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ควรจัดตั้งคณะกรรมการร่วมในระดับจังหวัด เพื่อให้เป็นกลไกกลางในการบูรณาการทุกหน่วยงานในการจัดการดูแลรักษาป่าสาละวินอย่างเป็นระบบ และการสนับสนุนงบประมาณที่เพียงพอ โดยกรรมการมีองค์ประกอบจากฝ่ายปกครอง, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น นอกจากนี้กรรมการยังต้องมีบทบาทในการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศตามแนวชายแดนไทย-พม่า กับทางการพม่าและกองทัพกะเหรี่ยง KNU มีการประชุมร่วมประเมินการทำงานทุกสองเดือน และตรวจสอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับไม่เถื่อนอย่างจริงจัง\
4. การปฎิบัติการเพื่อจับกุมผู้กระทำผิด และยึดไม้ของกลาง ต้องแยกแยะผู้ที่กระทำผิดจริงและชาวบ้านทั่วไปให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เป็นปฏิบัติการจับกุมแบบเหวี่ยงแห ซึ่งส่งผลกระทบไปยังชาวบ้านทั่วไปที่ยังคงต้องอาศัยทรัพยากรป่าไม่ในการดำรงชีพ (ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงการจัดการร่วมระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานภาครัฐ)
5. เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ต่อการจัดการไม้ของกลาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องแสดงบัญชีไม้ของกลาง และสถานที่จัดเก็บในพื้นที่อำเภอสบเมยหรืออำเภอแม่สะเรียงที่สามารถตรวจสอบได้ การเคลื่อนย้ายไม้ของกลางต้องมีการประสานงานาและได้รับความยินยอมจากเครือข่ายฯ การใช้ประโยชน์จากไม้สักของกลางในอนาคต(เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว) ต้องเป็นการจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นเป็นสำคัญ
6. เวลาผ่านมาหลายเดือนแต่ยังไม่มีการตรวจพบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับขบวนการลักลอบตัดไม้าครั้งใหญ่นี้ ทำให้เป็นที่สงสัยของสังคม จึงต้องหาคำตอบมาอธิบาย โดยควรให้มีหน่วยงานจากส่วนกลางเข้าร่วมการตรวจสอบ เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI หรือตัวแทนของ คสช.
7. ต้องมีการปรับปรุงนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ชุมชนมีสิทธิในการร่วมบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตนเองได้อย่างยั่งยืน
8. การส่งเสริมอาชีพให้กับชุมชน และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยมีชุมชนเป็นแกนกลาง เพื่อสร้างรายได้ ลดความเสี่ยงของชุมชนในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการไม้เถื่อน
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
http://www.facebook.com/tcijthai
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ