จ่อฟ้องศาลค้านโครงการน้ำ3.5แสนล้าน หากศาลปกครองยกฟ้องนายกฯ-กบอ.

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 10 ม.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2142 ครั้ง

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 9 มกราคม ที่ศาลปกครองสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ เครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท อาทิ เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ฯลฯ รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ ซึ่งเดินทางมาจากหลายจังหวัด เช่น ลำพูน แพร่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ราชบุรี สระบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม ประมาณ 700 คน เดินทางมาร่วมให้กำลังใจและรับฟังการแถลงปิดคดี กรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 4 คน เพื่อขอให้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามกฎ หรือคำสั่งทางปกครอง หรือเพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบการแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ตามแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โดย ตุลาการศาลปกครองสูงสุดได้ออกนั่งบัลลังค์พิจารณา พร้อมให้ทั้งฝ่ายกบอ. (คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ) และนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้แถลงปิดคดี

ศาลให้คู่กรณีแถลงด้วยวาจาครั้งสุดท้าย

นายศรีสุวรรณ จรรยา แถลงต่อศาลว่า โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท จะสร้างผลกระทบให้กับประชาชนจำนวนมาก ที่ผ่านมาผู้ถูกฟ้องคดี ได้ละเลยการดำเนินการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง ทั้งยังไม่สนใจการที่จะปฏิบัติตามขั้นตอน และหลักวิชาการแม้ว่าจะมีองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องออกมาให้ความเห็นท้วงติงต่าง ๆ ก็ตาม ประเด็นสำคัญคือ การละเลยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ แต่กลับเร่งรัดที่จะดำเนินการ เพื่อนำไปสู่การเซ็นสัญญากับภาคเอกชน

ขณะที่นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาธิการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (สบอ.) ยืนยันว่า หลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา ทางกบอ.ได้ลงพื้นที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนในทุกจังหวัดที่จะมีการดำเนินโครงการ โดยพยายามนำแผนแม่บททั้งหมดมาจัดทำเป็นนิทรรศการ เพื่อให้ประชาชนรับรู้รายละเอียดในทุกโมดูล แบบที่ประชาชนสามารถเข้าใจได้ โดยแปรมาให้เห็นว่า จะมีการสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ 21 แห่ง หรือการสร้างฟลัดเวย์ เพื่อง่ายต่อการเข้าใจ และยังได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นกับประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นเวทีแรกที่ไม่ใช่จะนำไปทำเลย แต่จะต้องนำกลับไปพิจารณาอีก ส่วนกรณีการดีไซน์แอนด์บิวท์นั้น ก็อยากจะทำความเข้าใจใหม่ว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการเช่นเดียวกับมาตรฐานในต่างประเทศ ซึ่งก่อนที่จะก่อสร้างจะต้องมีการออกแบบมาทั้งหมดก่อน แต่ก็สามารถที่จะปรับเปลี่ยนไปได้ตามความเหมาะสมขององค์ประกอบและปัจจัยต่าง ๆ  ไม่ได้เป็นการออกแบบไปสร้างไป อย่างที่ถูกนำไปตีความ และการกำหนดวงเงิน สูงสุด Garantee Maximum Price (GMP) ที่เอกชนจะได้รับไว้แล้ว ยืนยันว่าจะไม่มีการเสียค่าโง่แต่อย่างใด

ตุลาการศาลให้ความเห็นอิสระ แนะพิพากษา 3 ประเด็น

ภายหลังการแถลงคดีด้วยวาจาของผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้อง นายภานุพันธ์ ชัยรัต ตุลาการผู้แถลงคดี ได้แถลงความเห็นขององค์คณะตุลาการอิสระ ที่จะเสนอความคิดเห็นหลังพิจารณาข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ โดยมีความเห็นเสนอแนะต่อการพิจารณาคดี สรุปเห็นควรที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษา ดังนี้

1.ไม่รับคำขอให้เพิกถอนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ จัดทำประชามติตามมาตรา 165 ของรัฐธรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการอกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 ไว้พิจารณา

2.ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 และ ที่ 3

3.ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 นำแผนปฏิบัติการและดำเนินการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยในโมดูล  A1-A6  และ โมดูล B1-B4 ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548

สำหรับคำแถลงของตุลาการผู้แถลงคดีนั้น เป็นเพียงการเสนอความเห็นต่อองค์คณะ ยังไม่ใช่คำพิพากษา ซึ่งองค์คณะตุลาการที่มีนายวราวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา เป็นตุลาการเจ้าของสำนวน จะนัดประชุมกันเพื่อพิจารณาหลักฐานต่าง ๆ แล้วนัดวันอ่านคำพิพากษาอีกครั้ง

เครือข่ายเตรียมเดินหน้าฟ้องต่อ หากยกฟ้องนายกฯ-กบอ.

ทั้งนี้ภายหลังการรับฟังการแถลงปิดคดี และข้อคิดเห็นของตุลาการแล้ว ประชาชนซึ่งคัดค้านโครงการดังกล่าว ที่เดินทางมาจากหลายพื้นที่ พากันเดินทางออกมารวมตัวกันบริเวณหน้าอาคารศาลปกครอง พร้อมยืนยันจะยังคงเดินหน้าต่อต้านการดำเนินการของ กบอ.อย่างถึงที่สุด

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า หากพิจารณาจากความเห็นของตุลาการศาลอิสระ ที่มีเสนอต่อองค์คณะตุลาการศาลเพื่อพิจารณาคดีแล้ว มองว่าจะไม่ต่างจากศาลปกครองชั้นต้น อย่างไรก็ตามต้องเคารพต่อการตัดสินต่อการพิจารณาของศาล ว่าจะออกมาเช่นไร ซึ่งตนมองว่าการยื่นฟ้องครั้งนี้ จะทำให้ใครก็ตามที่จะเป็นรัฐบาลหรือรัฐบาลเดิม ที่มีอยู่นี้จะตระหนักว่า ไม่ว่าจะคิดโครงการอะไรขึ้นมา ก็ต้องให้ความสำคัญกับสิทธิของประชาชน และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน เพราะโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านนี้ จะเห็นได้ว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ข้อมูลรายละเอียดกับชาวบ้าน ที่จะได้รับผลกระทบตั้งแต่แรก ซึ่งอย่างไรก็คงไม่สามารถทำได้ และหลังจากนี้ หากการตัดสินของศาลจะเป็นไปในทิศทางใดชาวบ้านก็ยอมรับ

            “หลังจากนั้นชาวบ้านและเครือข่ายทั้งหมด ซึ่งมาจากหลายพื้นที่คงจะต้องกลับไปร่วมคิดกันอีกครั้ง แต่กระบวนการเดินหน้าเพื่อต่อสู้ทางกฎหมาย เชื่อว่าจะยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ เช่น อาจจะมีการยื่นฟ้องเป็นกรณีย่อยแต่ละโครงการไป เพราะสามารถทำได้อยู่แล้ว แต่ขณะนี้จากความรู้สึกของชาวบ้าน จะเห็นได้ว่าเวทีรับฟังที่ กบอ.จัดทำขึ้นไม่ได้รับการยอมรับของชาวบ้านอยู่แล้ว และเวทีที่เหลืออีก 2 เวที ก็คงจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และถึงที่สุดหากกบอ.ยืนยันจะเดินหน้าโดยไม่รับฟังเสียงของประชาชน ชาวบ้านคงไม่ยินยอมให้เข้าไปก่อสร้างในพื้นที่” นายหาญณรงค์กล่าว

ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า การแถลงต่อศาลครั้งนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์ เพราะชี้ให้เห็นว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่กบอ.ดำเนินการมานั้นไม่ถูกต้อง และหลังจากนี้เชื่อว่าการเดินหน้าคัดค้านของชาวบ้านจะมากกว่าเดิม และเข้มข้นขึ้น การฟ้องร้องต่อโครงการย่อย ๆ ก็น่าจะมี เพราะเป็นสิทธิของชาวบ้านอยู่แล้ว ที่จะฟ้องร้องในประเด็นอื่น ๆ ที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง

ชาวบ้านแห่ฟังคึกคัก พร้อมออกแถลงการณ์ชี้ไม่ได้รับฟังอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ก่อนการเข้ารับฟังการพิจารณาคดี ประชาชนจากพื้นที่ต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ ดังกล่าว เดินทางมาร่วมรับฟังการพิจารณาคดีจำนวนมาก

ทั้งนี้นายกมล เปี่ยมสมบูรณ์ ประธานสภาลุ่มน้ำท่าจีน เป็นตัวแทนกลุ่มประชาชนผู้คัดค้านโครงการ 3.5 แสนล้าน อ่านแถลงการณ์ในหัวข้อ “ไม่ได้รับฟังอย่างแท้จริง ตามคำสั่งศาลปกครองกลาง ” ว่า จากเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2556 จนถึงวันที่ 6 ธันวาคม2556 ที่ผ่านมานั้น จังหวัดที่มีโครงการตั้งอยู่ 34 จังหวัดที่ไม่มีโครงการตั้งอยู่ 41 จังหวัด และมีจังหวัดที่ยังไม่ได้ดำเนินการอีก 2 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร และนครปฐม ซึ่งกระบวนการรับฟังที่ผ่านมาก็ไม่ได้เป็นเวทีรับฟังความเห็นอย่างแท้จริง การจัดให้มีเวทีรับฟังเพียงครั้งเดียวภายใน 1 วันของแต่ละจังหวัดนั้น ไม่ได้ให้ข้อมูลในภาพรวมของแผนแม่บทที่ศาลสั่งมา และยังไม่มีเนื้อหารายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับโครงการที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดนั้นนั้นอย่างครบถ้วน ซึ่งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 ในเรื่องการให้ข้อมูลล่วงหน้าตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้ที่ได้นับผลกระทบตรงในการจัดเวทีรับฟังความเห็นแต่ละพื้นที่

นายกมลกล่าวว่า จากการดำเนินการโครงการภายใต้เงินกู้ 3.5แสนล้านบาทนั้น พบว่า เป็นโครงการที่กล่าวถึงต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ประกอบด้วย โครงการปลูกป่า โครงการสร้างเขื่อน โครงการจัดการพื้นที่รับน้ำหลาก (พื้นที่ปิดล้อม) โครงการจัดรูปที่ดิน ฐานข้อมูล และโครงการระบายน้ำหลาก เราพบว่าโครงการเกือบทั้งหมด เป็นโครงการที่จะต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่ยังไม่ได้มีการศึกษาอย่างครบถ้วนหรือกระบวนการศึกษายังไม่แล้วเสร็จ หรือโครงการพื้นที่ปิดล้อมนั้น ยังไม่ได้ทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งในวันที่จัดเวทีรับฟังความเห็น ก็ไม่ได้มีการนำเสนอข้อมูลก่อน

นายกมลกล่าวต่อว่า การที่พี่น้องประชาชนจังหวัดต่าง ๆ เช่น กำแพงเพชร อุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรีและสมุทรสงคราม ออกมาแสดงความคิดเห็นในเวทีต่าง ๆ ในหลายจังหวัดจำนวนนับหมื่นคน ย่อมแสดงให้เห็นแล้วว่า ประชาชนไม่สามารถยอมรับโครงการต่าง ๆ ที่ กบอ.เสนอได้ เป็นการแสดงออกด้วยใจบริสุทธิ์ ไม่มีผลประโยชน์ของกลุ่มใดแอบแฝงทั้งสิ้น เพราะหากโครงการทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้น จะทำให้ประชาชนเป็นจำนวนมากต้องเดือดร้อน

            “พวกเราในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง จึงมาร่วมแสดงเจตนารมณ์ให้ศาลได้เห็นว่า พวกเรามาด้วยใจบริสุทธิ์ เพื่อยืนยันว่าโครงการเหล่านี้ที่รัฐบาลโดย กบอ.คิดวางแผน ไม่อยู่ในหลักคิดพื้นฐานที่จัดทำได้ และสร้างผลกระทบต่อประชาชนกระทบต่อพื้นที่อนุรักษ์ กระบวนการมีส่วนร่วมในหลักพื้นฐานของการรับฟังความคิดเห็นไม่ได้เกิดขึ้น ถ้าหากโครงการเหล่านี้เดินหน้าต่อไป จะทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนเป็นอย่างมาก พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ศาลปกครองได้พิจารณาทุกแง่มุมแล้ว เห็นว่าการรับฟังนั้นไม่ถูกต้อง ไม่ได้มีการนำแผนไปรับฟังตามขั้นตอน และควรมีแนวทางการแก้ปัญหาที่ดีเสียก่อน ค่อย ๆ คิด เอาภูมิปัญญามาเป็นแนวคิด หน่วยงานมีความจริงใจ ที่จะรับฟังโดยไม่อคติ และเอาผลการรับฟังไปดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักวิชาการจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด” นายกมลกล่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: