ทีดีอาร์ไอเผยบทเรียนจิตวิทยาประชานิยม 300 บาท คุณภาพชีวิตแรงงานไทยยังคงติดลบ รายได้โตไม่ทันรายจ่าย ประเมินปี 2558 มูลค่าเงิน 300 บาทจะลดลงเหลือเพียง 274 บาท แนะวิธีช่วยแรงงานต้องพิจารณาให้รอบด้าน ทั้งอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมและการยกระดับคุณภาพชีวิต
ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นปัญหาคุณภาพชีวิตแรงงานไทย ซึ่งปัจจุบันกำหนดให้ค่าจ้าง 300 บาทต่อวันเป็นบรรทัดฐานขั้นต่ำตามกฎหมายสำหรับการจ้างแรงงาน ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ปี 2554 และอัตราค่าจ้างมีความเหลื่อมล้ำแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ตามขนาดของสถานประกอบการ บางจังหวัดมีค่าจ้างเกิน 300 บาทอยู่แล้ว แต่อีกหลายจังหวัดแรงงานทั้งในและนอกระบบยังได้ไม่ถึง 300 บาท โดยเฉพาะทำงานในสถานประกอบการขนาดเล็ก รวมทั้งระบบกว่า 4.8 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 38.6 ของคนในระบบแรงงานที่มีประมาณ 12.5 ล้านคน
จากการศึกษาผลของค่าจ้างที่ปรับขึ้นต่อคุณภาพชีวิตแรงงาน โดยพิจารณาจากรายได้และรายจ่ายของแรงงานและครอบครัวก่อนและหลังมีการปรับขึ้นค่าจ้าง คือในปี 2554 และปี 2556 (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ) พบว่า สำหรับคนทำงานอายุไม่เกิน 25 ปี ตัวคนเดียว ในปี 2554 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 9,271 บาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากค่าจ้าง 7,891 บาท ขณะที่มีรายจ่ายต่อเดือน 8,615 บาท แต่ละเดือนมีรายจ่ายติดลบ 724 บาท แต่หากรวมรายได้และรายจ่ายทั้งหมดเขาจะมีเงินเหลือเดือนละ 656 บาท หรือประมาณร้อยละ 25 ของรายได้
เปรียบเทียบในปี 2556 ภายหลังมีการใช้ค่าจ้างอัตราใหม่มาครบ 1 ปี พบว่ากลุ่มตัวอย่างนี้มีรายได้ต่อเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 10,176 บาท แต่ก็พบด้วยว่าเขามีรายจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 11,594 บาท และมีรายจ่ายติดลบต่อเดือน 1,418 บาท ซึ่งมากกว่าตอนยังไม่มีการใช้ค่าจ้าง 300 บาท หรือหากนำรายได้ทุกแหล่งมารวมกันและหักด้วยรายจ่ายเขามีเงินเหลืออยู่ทั้งสิ้น 364 บาท ซึ่งก็แย่กว่าในปี 2554
เมื่อพิจารณารายได้ครัวเรือน เช่น สำหรับครอบครัวที่มีสามี ภรรยา และบุตรอยู่ด้วยกัน พบว่า ในปี 2554 เป็นครอบครัวที่มีความเป็นอยู่อย่างยากลำบาก มีเงินเหลือเพียงเดือนละ 46 บาท และหากไม่มีรายได้อื่นมาเสริมจะมีรายได้ติดลบถึง 3,928 บาท แต่ในปี 2556 พบว่า เขามีเงินเหลือเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 897 บาท และมีรายจ่ายติดลบลดลงเหลือเดือนละ 2,970 บาท ซึ่งผลของค่าจ้าง 300 บาททำให้เขาติดลบน้อยลง
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในภาพรวมของครัวเรือนทุกประเภทที่ทำการศึกษาพบว่า ปี 2554 จะมีเงินเหลือประมาณเดือนละ 1,838 บาท แต่ในปี 2556 มีเงินเหลือลดน้อยลงเหลือ 1,341 บาท และหากดูเฉพาะรายได้ค่าจ้างหักด้วยรายจ่ายพบว่า เมื่อปี 2554 ติดลบเดือนละ 200 บาท แต่ปี 2556 ติดลบเดือนละ 1,088 บาท
ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่าแม้นโยบาย 300 บาทจะทำให้แรงงานและครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้นก็จริง แต่รายจ่ายกลับโตเร็วกว่ารายได้ กล่าวคือ รายจ่ายโตร้อยละ 16 ขณะที่รายได้โตเพียงร้อยละ 13 เนื่องจากมีผู้ฉกฉวยโอกาสจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของผู้ใช้แรงงาน ข้าวของ เครื่องใช้ที่แพงขึ้นทำให้ลูกจ้างไม่ได้รับผลประโยชน์จากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย การขึ้นค่าจ้างอย่างเดียวโดยไม่ได้ดูแลหรือควบคุมการขึ้นค่าใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคให้ดี ตัวลูกจ้างหรือผู้ใช้แรงงานก็ไม่มีโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม ในภาพรวมสถานการณ์ครัวเรือนไทยจึงไม่ได้ดีขึ้น และการมีผู้ที่ฉกฉวยโอกาสในกระบวนการนี้ทำให้เขาไม่สามารถมีเงินออมได้ หรือมีฐานะเงินออมแย่ลง แม้จะมีเงินหรือรายได้ผ่านมือมากขึ้น แต่ก็กลายเป็นต้องจ่ายไปกับสิ่งของปัจจัยการดำรงชีวิตที่มีราคาแพงตามไปด้วย ทำให้มูลค่าของเงินค่าจ้างที่ได้ยังคงไม่เพียงพอต่อการสร้างฐานะการออมที่ดีขึ้นของแรงงาน เป็นการใช้นโยบายในเชิงจิตวิทยาที่ทำให้คนรู้สึกมีรายได้มากขึ้น สามารถจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น แต่แท้จริงแล้วเขาไม่ได้ดีขึ้นจริง เป็นอุทาหรณ์ว่าการขึ้นค่าจ้างแบบนี้ไม่ควรทำอีก
สำหรับการพิจารณาปรับค่าจ้างควรใช้วิธีที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างกัน และอาจจะให้คณะกรรมการค่าจ้างในระบบไตรภาคีเป็นผู้พิจารณา เช่น การปรับขึ้นค่าจ้างในปี 2558 ควรมีการประเมินดูว่า ค่าครองชีพในแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน ในบางจังหวัดที่เศรษฐกิจดีมีค่าจ้างมากกว่าขั้นต่ำอยู่แล้วอาจพิจารณาให้ลอยตัวค่าจ้างตามดัชนีค่าครองชีพได้หรือไม่ แต่หากไม่ขึ้นเลยก็จะยิ่งแย่สำหรับตัวแรงงาน เนื่องจากประเมินว่า เมื่อถึงปี 2558 อำนาจซื้อของเงิน 300 บาทจะลดลงเหลือเพียง 274 บาท อย่างไรก็ตาม อัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่คำตอบเดียวที่จะทำให้แรงงานไทยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น หากแต่ต้องอาศัยการพิจารณาอย่างรอบด้าน
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ