เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 ตุลาคม ที่ห้องพิพิธภัณฑ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.ภก.ไพบูลย์ ดาวสดใส คณบดี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยนักวิชาการจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เภสัชกรคุ้มครองผู้บริโภค เภสัชกรโรงพยาบาล เภสัชกรร้านยา สมาคมศิษย์เก่าคณะเภสัชศาสตร์ สโมสรนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพ และเครือข่ายภาคประชาชน จังหวัดขอนแก่น ร่วมแถลงข่าวเพื่อให้ความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. … ที่คาดว่าจะใช้แทนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ว่า ร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. … ไม่ให้ความสำคัญต่อหลักความปลอดภัยในการบริโภคยา จึงมีข้อเสนอเพื่อแก้ไขประเด็นสำคัญใน ร่าง พ.ร.บ. ยา พ.ศ... ดังนี้ 1.การแบ่งประเภทยาในร่าง พ.ร.บ.ยา พศ...ไม่เป็นสากล คือแบ่งเป็น 1) ยาที่ต้องจ่ายตามใบสั่งยา 2) ยาที่จ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพ 3) ยาสามัญประจำบ้าน
ปัญหา คือ ประเภทยากลุ่ม 2 ที่จ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพนั้น กำหนดให้มีรายการยาสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพแต่ละวิชาชีพสามารถสั่งใช้ (Prescribing) และจ่ายยา (Dispensing) เบ็ดเสร็จโดยวิชาชีพเดียว ทำให้ไม่มีกลไกการตรวจสอบกลั่นกรองระหว่างวิชาชีพที่เป็นอิสระต่อกัน ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่เป็นสากลให้แน่ใจว่ายาที่ส่งมอบถึงประชาชนมีความปลอดภัยต่อการใช้จากการกลั่นกรองโดยวิชาชีพทางสุขภาพอย่างน้อย 2 วิชาชีพ
ข้อเสนอ: ประเภทยาที่ต้องจ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพ ควรแก้ไขเป็น ยาที่จ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม
ขอบคุณภาพจาก http://www.pregnancysquare.com/
2.การเตรียมยาและหรือผลิตยาในร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ... ไม่เป็นไปตามหลักการเตรียมและหรือผลิตเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน เพราะเปิดช่องให้ผู้ประกอบวิชาชีพ อย่างน้อย 10 สาขา สามารถนำยาแผนปัจจุบัน ยาแผนไทย และยาแผนทางเลือก ที่ได้ขึ้นทะเบียนตารับยาไว้แล้วมาผสม ปัญหาคือ การเตรียมยาและหรือผลิตยาต้องการผู้เชี่ยวชาญ และ มาตรฐานด้านสถานที่ อุปกรณ์ และกระบวนการ โดยผู้เชี่ยวชาญต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีองค์ความรู้และทักษะที่เกิดจากการเรียนการสอนในหลักสูตรที่มีความเฉพาะด้านเภสัชศาสตร์ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดภัยต่อการบริโภค
ส่วนข้อเสนอคือ การเตรียมยาและหรือผลิตยา ต้องดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะด้านเภสัชศาสตร์ ไม่ควรมีการยกเว้นผู้ประกอบวิชาชีพหลายสาขาโดยไม่ต้องขออนุญาต ผลิต ขาย นำเข้ายา เนื่องจากการดำเนินการผลิต หรือการเตรียมยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย
3.ร่าง พ.ร.บ.ยา พศ.... ไม่คำนึงถึงอันตรายจากการใช้ยาชุด โดยกำหนดห้ามผู้รับอนุญาตขายปลีกยา ผู้ดำเนินการ หรือผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการประจำสถานที่ขายปลีกยาขายยาชุด ปัญหาคือ ผู้อื่นที่ไม่ได้ระบุไว้ใน ร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ.... สามารถขายยาชุดได้ สำหรับข้อเสนอคือ ควรห้ามการขายยาชุดทั้งหมด ไม่เฉพาะผู้ได้รับอนุญาตขายปลีกยา ผู้ดำเนินการหรือผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการประจำสถานที่ขายปลีกยาเท่านั้น
ขอบคุณภาพจาก http://www.xn--42c8ao1akazf5c2be0gsk.com/
4.การควบคุมการโฆษณาและส่งเสริมการขาย 4.1 ในร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ....ได้ตัดบทบัญญัติที่ควบคุมการโฆษณาในพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่ว่าด้วย “ห้ามโฆษณาสรรพคุณยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ” และ “ห้ามโฆษณาโรคที่รัฐมนตรีประกาศ ได้แก่ โรคเรื้อน วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้างในระยะปรากฎอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคติดยาเสพติดให้โทษอย่างร้ายแรง และโรคพิษสุราเรื้อรัง เอดส์ มะเร็ง อีโบล่า” ปัญหาคือ การตัดบทบัญญัติที่ควบคุมการโฆษณานั้น จะส่งผลต่อการควบคุมโฆษณาที่สร้างปัญหาความเข้าใจผิดในสรรพคุณยา และหลอกลวงผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ส่วนข้อเสนอคือ ไม่ควรตัดบทบัญญัติที่ควบคุมการโฆษณาในพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมฯ
ขอบคุณภาพจาก http://www.navidiku.rs/
4.2 ในร่าง พ.ร.บ.ยา พศ....ได้นิยาม “โฆษณา” ว่าเป็นการกระทำไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็น ได้ยินหรือทราบข้อความ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงการส่งเสริมการขาย ปัญหาคือ ไม่มีบทบัญญัติใดในร่าง พ.ร.บ.ยา พศ....ที่กล่าวถึง “การส่งเสริมการขาย” ซึ่งจัดเป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่ควรควบคุม ข้อเสนอคือ ควรระบุบทบัญญัติเรื่องการส่งเสริมการขาย เพื่อแก้ไขปัญหาการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมในปัจจุบัน
เครือข่ายเภสัชศาสตร์ ภาคอีสาน จึงขอให้ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พิจารณา ทบทวนประเด็นข้างต้น เพื่อให้ พระราชบัญญัติยาแห่งชาติ เป็นกฎหมายแม่บทที่จะใช้เป็นกรอบอ้างอิงหลักในการดำเนินการกำกับดูแลระบบยาของประเทศ โดยยึดหลักความปลอดภัยต่อการบริโภคยาของคนไทยเป็นสำคัญ และสอดคล้องกับหลักสากล
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ