นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า จากข้อตกลงว่าด้วย“ อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท ”ซึ่ง เป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม จากการปลดปล่อยปรอทและสารประกอบจากกิจกรรมของมนุษย์สู่อากาศ แหล่งน้ำ และดิน โดยมุ่งเน้นการควบคุมและลดการใช้และการปลดปล่อยปรอทจากแหล่งกำเนิดที่เป็นประเด็นปัญหาสำคัญระดับโลก และเปิดให้มีการลงนาม (signature) แล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2556 ณ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกฯ แต่จะยังไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายให้ต้องปฏิบัติตามพันธกรณี สำหรับประเทศไทยได้ให้การรับรองอนุสัญญามินามาตะฯ โดยยังไม่ลงนามในอนุสัญญาฯ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2556 จึงจำเป็นต้องมีการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้านก่อน
ดังนั้นกรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้จัดให้มีการประชุมเวทีสาธารณะ “ความพร้อมของไทย...ต่ออนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท” จำนวน 3 ครั้ง สำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบพิจารณาตัดสินใจเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญามินามาตะฯ ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ สมาคมและภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า ส่งออก ผลิต ใช้ จำหน่าย บำบัด กำจัด และปลดปล่อยปรอท ซึ่งข้อเสนอแนะและความคิดเห็นของการเข้าร่วม หรือไม่เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญามินามาตะฯ ที่สะท้อนจากเวทีสาธารณะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ ประเทศไทยควรเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ เนื่องจากการเข้าร่วมจะเป็นตัวกระตุ้นให้ภาครัฐ หรือผู้มีอำนาจการตัดสินใจเชิงนโยบายให้ความสำคัญเรื่องการจัดการปรอท และจะช่วยให้ประเทศมีความชัดเจนในเรื่องฐานข้อมูล การเข้าถึงข้อมูล การมีหน่วยงานรับผิดชอบ และการจัดสรรงบประมาณที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในการพัฒนาระบบและกลไก ซึ่งควรมีการจัดทำเป็นนโยบายระดับประเทศเพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานต่างๆ สามารถนำไปปฏิบัติต่อยอดหรือประยุกต์ใช้ในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม มีการเตรียมความพร้อม ของเจ้าหน้าที่รัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีการสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือ และงบประมาณในการติดตามตรวจสอบ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่ได้ผลจริง
“ก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก จะต้องมีการศึกษาความพร้อมและการเตรียมการในเรื่องต่างๆ อย่างรัดกุมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศ และไม่กระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วย และจำเป็นต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนทราบถึงรายละเอียดและความคืบหน้าของการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติ รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ของประชาชนในทุกภาคส่วนให้สามารถดำเนินตามข้อปฏิบัติของอนุสัญญามินามาตะได้อย่างเหมาะสมต่อไป” นายวิเชียร กล่าว
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ