จี้สังคมหยุดเอาเปรียบ แรงงานสตรีข้ามชาติ วอนให้สิทธิตามกฎหมาย

นักสื่อสารแรงงาน Voice labour 11 มี.ค. 2557


เว็บไซต์  www.voicelabour.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์การสื่อสารแรงงานไทย รายงานว่า เครือข่ายแรงงาน จ.เชียงใหม่ จำนวน 21 องค์กร ร่วมกันจัดกิจกรรมวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2557 เชียงใหม่ “มองใหม่ให้บวก+จริง” ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยแรงงานข้ามชาติ พม่า ไทยใหญ่ ลาหู่ กระเหรี่ยง ฯลฯ โดยมีการจัดเวทีเสวนา ที่พูดถึงบทบาทผู้หญิง การต่อสู้ของ คลาร่า เซ็ทกิ้น (Clara Zetkin) ผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีชาวเยอรมัน เมื่อปี 2453

ในการเสวนาบอกเล่าประวัติความเป็นมาของแรงงานสตรี โดยคลาร่า เซ็ทกิ้น ผู้นำกรรมกรสตรีโรงงานทอผ้าและเหล่ากรรมกรสตรี ณ เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา พากันลุกขึ้นสู้ ด้วยการเดินขบวนนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1907 (พ.ศ.2450) โดยเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานจากวันละ 12-15 ชั่วโมง ให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมง พร้อมทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการภายในโรงงาน และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในการเรียกร้องครั้งนี้ แม้จะมีหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากสตรีทั่วโลก และส่งผลให้วิถีการผลิตแบบทุนนิยมเริ่มสั่นคลอน อีก 3 ปีต่อมา คือ ในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1910 (พ.ศ. 2453) ข้อเรียนร้องของเหล่าบรรดากรรมกรสตรีก็ประสบความสำเร็จเมื่อตัวแทนสตรีจาก 18 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี โดยให้ลดเวลาทำงานให้เหลือเพียงวันละ 8 ชั่วโมง ศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และกำหนดให้ค่าแรงงานสตรีเท่าเทียมกับค่าแรงงานชาย อีกทั้งยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย นอกจากนั้น ในการประชุมครั้งนั้น ยังได้มีการรับรองข้อเสนอของคลาร่า เซ็ทกิ้น ด้วยการประกาศให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล

นางกาญจนา ดีอุต ผู้ประสานการจัดงาน กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อที่จะให้ผู้หญิงกลุ่มต่างๆได้แสดงพลังร่วมกัน และต้องการให้สังคมยอมรับผู้หญิงแรงงานข้ามชาติ ในฐานะผู้ร่วมสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยด้วยเช่นกัน หยุดเอาเปรียบ ขูดรีด ด้วยเพราะความเป็นแรงงานข้ามชาติ

ปัจจุบันแรงงานข้ามชาติทั้งพม่า ลาว กัมพูชากว่า 4 ล้านคน กว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิง เข้าทำหน้างานในบ้าน เลียงลูก ทำงานในโรงงาน ฯลฯ ในฐานะของผู้ใช้แรงงาน แต่กลับไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน แม้ว่าจะมาอย่างถูกกฎหมาย และวันนี้การทำ MOU ระหว่างรัฐบาลไทย กับรัฐบาลเมียนม่าก็ยังไม่เป็นจริง การจัดทำหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ต ไม่ต้องผ่านนายหน้า พราะปัจจุบันต้องจ่ายแพงมาก ด้วยการเดินทางของแรงงานข้ามชาตินั้นไม่ใช่เพียงครั้งเดียว ฤดูกาลเดียว หรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น เขาเคลื่อนย้ายเข้ามาตลอดเวลา การที่เปิดให้ขึ้นทะเบียนเพียงระยะเวลาเดียวนั้นจึงทำให้เกิดขบวนการค้ามนุษย์มากขึ้น พร้อมทั้งปัญหาหลอกลวงแรงงานเพิ่มขึ้น

การจัดงานครั้งนี้ได้มีการแสดงทางวัฒนธรรม ของแรงงานหญิงข้ามชาติกว่า 10 ชุด รวมทั้งมี วงดนตรีภราดรมาร่วมบรรเลงบทเพลงแห่งศักดิ์ศรีแรงงาน สลับกับการแสดง และร่วม เต้น One Billion Rising พร้อมร่วมกันอ่าน แถลงการณ์ วันสตรีสากล 8 มีนาคม 2557 เชียงใหม่ “มองใหม่ให้บวก+จริง” เป็น 3 ภาษา โดยมีเนื่อหาดังนี้

วันนี้ 8 มีนาคม 2557 เป็นวันสตรีสากล พวกเราเหล่าผู้หญิงมารวมกันเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาล, นายจ้าง, ครอบครัว และ ชุมชนของเรา ให้ทบทวนและพิจารณาว่าเราเป็นใคร ให้มองสิ่งที่เรากระทำ และให้รับฟังสิ่งที่เราเรียกร้อง โปรดมองเราในฐานะผู้หญิงที่มารวมตัวกันแสดงพลังความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงความคิด ทัศนคติ มุมมองของสังคมที่มีต่อผู้หญิง ว่าเป็นผู้ที่สามารถก้าวเป็นผู้นำ เป็นผู้สร้างสรรค์ เป็นผู้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงและเป็นเจ้าของสิทธิอันชอบธรรม เราขอเชิญชวนทุกคนเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ตามสโลแกนของเราคือ“มองใหม่ให้บวกจริง”บ่อยครั้งที่ผู้หญิงถูกมองว่าเป็นประชากรชนชั้นสอง สังคมลดทอนคุณค่าตัวตนของเรา เอาเปรียบเราและจ่ายค่าจ้างน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ งานที่เราทำถูกหาว่าไม่สลักสำคัญ เพราะความไม่เท่าเทียมที่ดำรงอยู่บนโลกใบนี้ เห็นได้จากคนรวย 85 คน มีทรัพย์สินรวมกันมากกว่าคนจน3.5พันล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ 70 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้หญิง มีผู้หญิงจำนวนมากที่ได้รับค่าแรงไม่เป็นธรรมจากการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม อีกทั้งไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิแรงงานแต่ถูกเอาเปรียบเป็นอย่างมาก เราผู้หญิงมักถูกบังคับให้ต้องอพยพหรือยอมทำงานที่ถูกขูดรีดเพราะเราต้องหาเลี้ยงครอบครัวและชุมชน โดยเฉพาะผู้หญิงที่รับจ้างทำงานบ้านที่ได้ค่าแรงน้อยมาก และไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน หรือผู้หญิงที่ทำงานในโรงงานทอผ้าที่ได้ค่าตอบแทนในปีหนึ่งรวมกันแล้วยังน้อยกว่ารายได้ของคนที่รวยที่สุดได้รับในหนึ่งวินาที หรือผู้หญิงที่ทำงานในอุตสาหกรรมทางเพศถูกกล่าวหาเป็นอาชญากร อีกทั้งสังคมใช้กฎหมายล้าหลังที่ไม่ยอมรับว่างานบริการคืออาชีพ อีกทั้งปฏิเสธว่า ผู้ทำงานเป็นพนักงานบริการก็สามารถเป็นผู้นำและดูแลความเป็นอยู่ของครอบครัวได้ เกือบทุกสังคมยังมองว่างานที่ผู้หญิงดูแลความเป็นอยู่ภายในบ้านและเกื้อกูลครอบครัว เป็นงานที่ไม่สร้างรายได้ หรือจะกล่าวให้เจ็บช้ำว่า เป็นงานที่ไร้คุณค่า

หลายครั้งที่สังคมยังมองผู้หญิงเป็นเหยื่อและเมินเฉยต่อสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง ความมืดบอดนี้นำไปสู่การเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เมื่อเกิดความรุนแรงขึ้นกับผู้หญิงและเด็ก การใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กกลายเป็นสิ่งปกติในทุกสังคมและชุมชน ผู้หญิงและเด็กต้องเผชิญความรุนแรงทั้งในบ้านและบนท้องถนน ผู้ที่ใช้ความรุนแรงเป็นได้ทั้งสมาชิกในครอบครัว ผู้นำชุมชน ตำรวจหรือแม้แต่โดยทางการทหาร โดยผู้เสียหายของความรุนแรงนั้นไม่ได้รับการคุ้มครองหรือความยุติธรรม อีกทั้งรัฐบาลมีความบกพร่องในหน้าที่การสนับสนุนอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบหรือ CEDAW ที่ในทางปฏิบัติต้องคุ้มครองและสร้างจิตสำนึกในเรื่องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เพื่อความผาสุก ความมั่นคงในชีวิต โดยปราศจากอคติและการเลือกปฏิบัติ

หลายคราที่สังคมยังมีอคติว่า ผู้หญิงเป็นพลเมืองชั้นสอง และมองข้ามสิทธิพลเมือง สิทธิทางการรักษา และการศึกษาของผู้หญิง ผู้หญิงชนเผ่าจำนวนมากในเอเชียยังถูกสังคมปฏิเสธสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐาน รวมทั้งถูกปฏิเสธสิทธิในที่ดินและทรัพยากร ถูกปฏิเสธสิทธิในการเป็นประชาชนของผู้หญิงชนเผ่าและลูกๆของพวกเธออีกด้วย ผู้หญิงชนเผ่า ผู้หญิงข้ามชาติ และผู้หญิงพนักงานบริการต่างถูกเลือกปฏิบัติโดยนายจ้าง เจ้าหน้าที่รัฐ สถานศึกษาและ สถานพยาบาล เราผู้หญิงและลูกของเราถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงการศึกษา หรือแม้แต่การรักษาพยาบาลผู้อยู่ร่วมกับเชื้อHIV

หลายหน ที่สิทธิของผู้หญิงถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ โดยเฉพาะสิทธิระดับสากล ผู้หญิงชนเผ่า ผู้หญิงชนบท ผู้หญิงยากจนต้องเผชิญกับวิกฤตด้านกฎหมายและการอ้างสิทธิร่วมทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองหรือ UNDRIP และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบหรือ CEDAW ผู้หญิงชนเผ่าต้องเผชิญกับการกดดันให้อพยพออกจากพื้นที่พักอาศัยเพื่อทางการจะได้สร้างเขื่อน เริ่มโครงการอนุรักษ์ หรือโครงการว่าด้วยการร่วมมือพัฒนาและธุรกิจการเกษตร ก็เท่ากับว่าผู้หญิงเราถูกกีดกันการเข้าถึงและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และต้องเผชิญกับปัญหาการบุกรุกพื้นที่ของทางการที่มาพร้อมกับวาทกรรมการพัฒนา

จนจะกลายเป็นเรื่องปกติที่สังคมไม่เห็นหัว ไม่ฟังเสียงของผู้หญิง อีกทั้งพื้นที่ทางสังคมสำหรับผู้หญิงยังมีน้อย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทางการเมือง กฎหมาย ทหาร หน่วยงานรัฐ สถาบันกฎหมายและธุรกิจ หรือแม้แต่ในเวทีผู้นำระดับชุมชน เราผู้หญิงถูกกีดกันและเบียดขับจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่จะกำหนดสันติภาพ ความมั่นคงปลอดภัย และสถานภาพในการดำรงชีวิต ความคิดและความต้องการเหล่านี้ของเราไม่ได้รับการใส่ใจจากสังคมเลย

ปีนี้ เรามาเรียกร้องเพื่อการเปลี่ยนแปลง! เพราะถึงเวลาแล้วที่การกระทำของผู้หญิงจะได้รับการมองเห็นและเสียงของผู้หญิงจะได้รับการรับฟัง! มันเป็นเวลาที่จะ “มองใหม่ให้บวก+จริง”

เราต้องการเปลี่ยนมุมมองต่อกระบวนทัศน์ของโลกสมัยใหม่ ที่มิใช่เพียงรับอิทธิพลจากชนชั้นนำชั้นสูงที่มีอยู่เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ในสังคม แต่ยังเอื้อต่อการคงอยู่อย่างไม่มีวันสิ้นสุดของความไม่เท่าเทียมในทรัพย์สิน การเข้าถึงทรัพยากร อำนาจระหว่างรัฐ ระหว่างคนจนกับคนรวย และระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย

เราต้องการเปลี่ยนทัศนคติเรื่องความยุติธรรมสำหรับผู้หญิง สังคมต้องต่อต้านการกระทำอันอยุติธรรมต่อผู้หญิง แต่ต้องสนับสนุนประชาชนและขบวนการผู้หญิงที่จะส่งเสียง รวมตัว และเรียกร้องหาความยุติธรรม ผู้หญิงสามารถเป็นเจ้าของในทรัพย์สินและมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร สังคมต้องให้การรับประกัน “งานที่มีคุณค่า” และค่าตอบแทนในการดำรงชีวิต ซึ่งสามารถให้ความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยไม่ว่าจะต่อครอบครัวหรือชุมชนของเรา และที่สำคัญ การให้ความเคารพต่อการตัดสินใจ ต่อสิทธิเหนือตัวร่างกาย เพศวิถี และการดำรงชีวิตของเรา

เราต้องการขจัดอคติของสังคมที่มีต่อพนักงานบริการ สังคมต้องเปิดตาและเปิดใจที่จะยอมรับเส้นทางดำรงชีวิตใหม่นี้ พร้อมทั้งตั้งใจฟังเสียงของเราจริงๆ และให้การยอมรับว่าพนักงานบริการก็คืออาชีพหนึ่ง โดยปราศจากอคติและการเลือกปฏิบัติ

เราต้องการเปลี่ยนความคิดของสังคมที่มีต่อผู้หญิงข้ามชาติ โดยผู้หญิงเหล่านี้ต้องได้รับการเคารพ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติหรือเหยียดหยาม แรงงานทำงานบ้านและแรงงานนอกระบบอื่นๆต้องได้รับการยอมรับว่าคืองานภายใต้กฎหมายแรงงานเพื่อแรงงานหญิงทั้งหมดจะได้รับการคุ้มครอง

เราต้องการให้การกดขี่ทางเพศจบสิ้นลง ให้การเอารัดเอาเปรียบผู้หญิงและเด็กหญิงชนเผ่าหมดสิ้นไปทั้งในด้านกฎหมาย ด้านการปฏิบัติ ด้านความเชื่อรวมทั้งในสังคม

พวกเราต้องการการเข้าถึงสิทธิด้านการบริการสุขภาพของผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับHIVรวมถึงการสร้างทางเลือกด้านสุขภาพ และการส่งเสริมบทบาทผู้หญิงด้านการจัดการสุขภาพของตนเองให้มากขึ้นและ การจัดบริการของรัฐที่เอื้อต่อความต้องการด้านสุขภาวะทางเพศของผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับHIVอย่างครอบคลุมรอบด้าน

เราต้องการเห็นรัฐบาลของเราให้ความสำคัญและปฏิบัติตามกฎหมายและนโยบายต่างๆทั้งระดับชาติและระดับสากล ที่ยกระดับสิทธิของผู้หญิงและเด็กหญิง อีกทั้งส่งเสริมความความยุติธรรมและความเท่าเทียมกัน

เพราะว่าวันนี้เป็นวันของผู้หญิง – เรา ผู้หญิง มาจากหลากหลายที่ หลากหลายสถานะ หลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายชาติพันธุ์ หลากหลายความเชื่อและประสบการณ์ แต่จุดยืนของเราในการเปลี่ยนความคิด ปรับมุมมอง นี้เองที่ทำให้เรา เหล่าผู้หญิงมีความเข้มแข็ง เราเรียกร้องกับสังคมเสมอมา ไม่ว่าจะให้สังคมให้ความสำคัญกับเรา หรือแม้แต่เรียกร้องให้เข้าร่วมกับเรา เพื่อรับรู้ความแข็งแกร่ง ยอมรับความหลากหลาย เคารพความแตกต่าง และรับฟังเสียงเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่มาจากใจของพวกเรา

สำหรับองค์กรเครือข่ายร่วมจัดงานวันสตรีสากล 2557 จ.เชียงใหม่ ได่แก่ มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์(MAP) มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์(EMPOWER) มูลนิธิเพื่อประสานความร่วมมือชนเผ่าพื้นเมืองแห่งเอเชีย (AIPP) สมาคมผู้หญิง กฎหมายและการพัฒนาแห่งเอเชียแปซิฟิก(APWLD) เครือข่ายสตรีชนเผ่าแห่งประเทศไทย(IWNT) เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN) เครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ (SWAN) สันนิบาตสตรีพม่า (WLB) Burmese Women Union(BWU) We women Foundation มูลนิธิเพื่อความเข้าใจเด็ก (FOCUS) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (WSC/FORWARD) มูลนิธิเอ็มพลัส (MPlus)  Kachin Women’s Association in Thailand (KWAT) โครงการพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน (Sangsan) มูลนิธิรักษ์ไทย เครือข่ายผู้หญิงอยู่ร่วมกับเอชไอวี (TPWN) มูลนิธิศูนย์ชีวิตใหม่(NLCF) V-Day Community กลุ่มแรงงานสามัคคี(WSA) และ สหพันธ์คนงานข้ามชาติ(MWF)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: