ตั้งแต่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ปรับเปลี่ยนระบบการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย หรือระบบการรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4-ม.6) หรือเทียบเท่าจาก Entrance ซึ่งผู้สอบแข่งขันมีโอกาสเพียงครั้งเดียว มาเป็น Admissions หรือระบบกลาง ที่นำผลการเรียนระดับ ม.ปลาย มาพิจารณาเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้สอบแข่งขันมีโอกาสเพิ่มขึ้น
ฝ่ายคิดคือที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้ดำเนินการแก้ไขระบบแอดมิชชั่นมาแล้ว 2 ระยะ โดยระยะที่ 2 ทปอ.ได้นำเสียงวิจารณ์เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำของคุณภาพและมาตรฐานที่แตกต่างกันของแต่ละโรงเรียน อันส่งผลถึงคุณภาพของผู้สอบแข่งขันมาปรับปรุงแก้ไข ก่อนสรุปเป็นมติให้พิจารณาจากผลคะแนนทั้ง 4 ด้าน ซึ่งถูกจะนำมาใช้โดยกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ ดังนี้
1.ผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอด ม.ปลาย (GPAX) ซึ่งก็คือเกรดเฉลี่ยของทุกวิชาที่ได้เรียนมาตลอดหลักสูตร
2.ผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET)
3.ผลการทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT)
4.ผลการทดสอบความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ (PAT)
สำหรับสัดส่วน Admissions ปี’57 ที่สมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) ประกาศใช้ถูกแบ่งเป็น 13 กลุ่มคณะ ประกอบด้วยดังนี้
จากสัดส่วนข้างต้น หมายความว่านอกจากเกรดเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร ม.ปลาย (GPAX) แล้ว เมื่อนักเรียนเลื่อนชั้นขึ้นสู่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทุกคนจะต้องสอบ O-NET GAT และ PAT ตามปฏิทินที่กำหนดไว้ในแต่ละปี เพื่อใช้คัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย
ซึ่งนอกจากระบบกลางนี้แล้ว ยังมีการสอบคัดเลือก “ระบบรับตรง” ที่แต่ละมหาวิทยาลัยจัดสอบเอง โดยบางคณะ/สาขา จะกำหนดให้นำคะแนน 7 วิชาสามัญ มาเป็นเกณฑ์ส่วนหนึ่งในการพิจารณาคัดเลือกด้วย แต่ 7 วิชาสามัญข้างต้นนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับระบบ Admissions แต่อย่างใด
ม็อบกระทบการเรียนการสอบของนักเรียน
ทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่ใช่เพียงแค่ขั้นตอนวิธีการของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยซึ่งทั้งนักเรียนและผู้ปกครองส่วนใหญ่จะทราบกันอยู่แล้ว แต่ต้องการให้เห็นถึงความสำคัญในทุกขั้นตอนของการศึกษาของนักเรียน ที่ไม่อาจละเลยส่วนใดส่วนหนึ่งไปได้ เพราะนั่นหมายถึงจะกระทบถึงกัน โดยเฉพาะในห้วงเวลานี้ที่สถานการณ์บ้านเมืองเข้าขั้นวิกฤตการณ์ ส่งผลกระทบต่อส่วนต่าง ๆ บ้างไม่มากก็น้อย แต่ที่สำคัญในเวลานี้คือ สร้างผลกระทบให้กับอนาคตของชาติทั้งระบบ
เริ่มตั้งแต่ม็อบคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เมื่อเดือนพ.ย.2556 ไล่เรียงมาถึงการขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้ลาออก ปัญหาการชุมนุมไม่ได้เกิดขึ้น เพราะผู้คนจำนวนมากมาชุมนุมกันบนถนนราชดำเนิน เพราะนั่นคือสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย แต่ที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อนักเรียนลูกหลานคนไทยก็คือ “การแยกกันเดิน แต่ร่วมกันตี” ตั้งชัยภูมิตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งสวนลุมพินี อุรุพงษ์ หรือสามเสน ก่อนจะค่อยๆ ขยับพื้นที่เข้ามาโอบล้อมทำเนียบรัฐบาล ศูนย์กลางอำนาจของประเทศ ก่อนตั้งเวทีปราศรัย 3 จุด คือ สะพานชมัยมรุเชฐ ถนนราชดำเนินนอก และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สุดท้ายแม้ว่ารัฐบาลจะประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2556 แล้วก็ตาม แต่ท่าทีของกลุ่มกปปส.ก็ยังคงยึดจุดยืน “ขับไล่” ไม่เปลี่ยนแปลง
ที่ระบุว่า กำลังกระทบอนาคตของชาติทั้งระบบ เนื่องเพราะระหว่างทางที่สองฝ่ายต่างยื้อยุดฉุดกระชากกันอยู่ เป็นห้วงเวลาสำคัญที่นักเรียนชั้นม.6 ต้องเข้าสู่ปฏิทินการทดสอบต่างๆ เพื่อนำผลคะแนนมาใช้คัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยในฝันที่ทุกคนวาดหวังแบบเต็ม ๆ
เลื่อนสอบ GAT-PAT ครั้งที่ 1กระทบครั้งที่ 2 O-NET
ที่เห็นได้ชัดคือปฏิทินการสอบ GAT และ PAT ครั้งที่ 1/2557 ระหว่างวันที่ 7-10 ธ.ค.2556 สนามสอบบางแห่ง เช่น โรงเรียนวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร มีผู้มีสิทธิ์สอบ 900 คน โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย เขตราชเทวี 1,620 คน โรงเรียนศรีอยุธยา เขตราชเทวี 905 คน และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เขตพญาไท จำนวน 2,821 คน อยู่ในพื้นที่การชุมนุม
ในที่สุดนายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จึงเรียกประชุมคณะกรรมการบริหาร สทศ. นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2556 ก่อนวันที่นักเรียนจะลงมือสอบเพียง 2 วัน มีนายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ เป็นประธาน ที่ประชุมเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อนักเรียน ทั้งการเดินทางมาสอบไม่ทัน และเรื่องคลามปลอดภัย จึงมีมติให้เลื่อนการสอบออกไป
“จากการหารือกับนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธาน ทปอ. ประธานคณะทำงานแอดมิสชั่นฟอรั่ม ผู้แทนจากคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และตัวแทนศูนย์สอบ 18 แห่ง เกี่ยวกับการจัดทดสอบ GAT และ PAT ซึ่งขณะนั้นไม่มีใครสามารถคาดคะเนได้ว่า ในวันที่ 7-10 ธ.ค.2556 เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองจะเรียบร้อยหรือไม่ จึงเห็นชอบตรงกันให้เลื่อนวันสอบ GAT และ PAT ครั้งที่ 1/2557 ออกไปเป็นวันที่ 8-11 มี.ค.2557 ประกาศผลสอบวันที่ 24 เม.ย.2557 ส่วนการสอบ GAT และ PAT ครั้งที่ 2/2557 เดิมกำหนดสอบวันที่ 8-11 มี.ค.2557 ให้เลื่อนเป็นวันที่ 26-29 เม.ย.2557 และคาดว่าจะประกาศผลได้ประมาณวันที่ 29 พ.ค.2557” ผอ.สอศ.กล่าว
นายสัมพันธ์ระบุว่า การที่ สทศ.สามารถเลื่อนสอบ GAT และ PATออกไปได้นั้น เป็นเพราะประธาน ทปอ.ยืนยันว่าไม่กระทบต่อการรับตรง และ Admissions เนื่องจากกลุ่มมหาวิทยาลัย ทปอ.ขยับการเปิดภาคเรียนที่ 1/2557 ออกไปเป็นเดือนสิงหาคมตามปฏิทินของชาติสมาชิกอาเซียน
เลื่อนสอบ GAT และ PAT กระทบลามไปถึง O-Net
แต่การเลื่อนสอบ GAT และ PAT ทั้งสองครั้ง ไม่ได้กระทบเฉพาะศูนย์สอบในกรุงเทพฯ เท่านั้น ยังกระทบถึงนักเรียนในต่างจังหวัดด้วย เพราะอาจไปตรงกับการสอบโควต้า ในมหาวิทยาลัยภูมิภาค และการสอบของมหาวิทยาลัยราชภัฎ มหาวิทยาลัยเอกชนต่างๆ เท่ากับว่าเป็นการเพิ่มความเครียดให้กับนักเรียนม.6 โดยไม่รู้ตัว
แต่ทั้งนี้หากสถานการณ์ทางการเมืองยืดเยื้อไปถึงวันที่ 8-11 มี.ค. การทดสอบทั้งสองคงมีอันต้องเลื่อนออกไปอีกครั้ง หรือหากสงบลงเร็วกว่านั้นการสอบก็อาจเกิดขึ้นได้ตามกำหนด แต่นั่นไม่ได้หมายถึงการสอบเพียงอย่างเดียว ระหว่างนั้นนักเรียนในพื้นที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ก็ไม่สามารถไปเรียนได้ตามปกติ ความได้เปรียบเสียเปรียบจะเกิดขึ้นตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย
ส่วนการสอบ O-Net ปีการศึกษา 2556 ที่จากเดิมจะกระทบตามมาจาก GAT และ PAT เพราะกำหนดให้สอบระหว่างวันที่ 15-16 ก.พ.2557 หลังจากประกาศรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1-15 พ.ย.2556 ก่อนประกาศผลการสอบในวันที่ 31 มี.ค.2557 เมื่อสทศ.ประกาศเลื่อน GAT และ PAT ออกไป ผลกระทบจึงมาตกลงที่การสอบ O -Net เต็มๆ เพราะนั่นหมายถึงว่า นักเรียนจะเหลือเวลาอีกไม่ถึง 5 สัปดาห์เท่านั้น ก็จะถึงกำหนดการสอบแล้ว
ชัตดาวน์กรุงเทพฯบีบเวลาเรียนน้อยลงไปอีก
มาถึงสถานการณ์ล่าสุดที่เรียกว่าต้องประเมินกันแบบวันต่อวัน ในวันที่ 13 ม.ค.นี้ ม็อบประกาศ “ชัตดาวน์กรุงเทพฯ” ปิดถนนหลายสาย ตั้งเวทีปราศรัยถาวร 7 แห่งคือ 1.บริเวณหน้าศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ 2.ห้าแยกลาดพร้าว 3.อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 4.ปทุมวัน 5.สวนลุมพินี 6.อโศกมนตรี และ 7.แยกราชประสงค์
ส่วนฝ่ายกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ประกาศ “เปิดประเทศ” อีก นั่นหมายความว่า สถานการณ์ในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนม.ค.นับว่าเข้าขั้นวิกฤต และคงเป็นที่แน่นอนแล้วว่านักเรียนที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา ทุกสังกัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ จะได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่
กระทบการสอบเรียนต่อของม.6-ม.3-ป.6-อาชีวะ
และนั่นไม่ใช่หมายถึงเฉพาะนักเรียนชั้นม.6 เพียงอย่างเดียว แต่เบื้องแรกคือกระทบต่อการเรียนเพื่อสอบปลายภาคปกติ ของนักเรียนที่ไม่ต้องสอบเข้าเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไป ก็ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่อยู่แล้ว เพราะต้องมาเรียดแบบอัด ๆ หรือลดเวลาให้น้อยลงเพื่อทันกับเนื้อหา แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ นักเรียนชั้นป.6 ที่ต้องเตรียมสอบเข้าชั้นม.1 นักเรียนชั้นม.3 ที่เตรียมสอบเข้าม.4 หรือสอบเข้าเรียนสายอาชีวศึกษา หรือนักเรียนสายอาชีวศึกษา ที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วย ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลกระทบต่อคะแนน GPAX ที่จะต้องนำไปใช้ชี้วัดการสอบต่าง ๆ ในอนาคตด้วย
ที่ชัดเจนไปแล้ว คือกลุ่มโรงเรียนสังกัด “กรุงเทพมหานคร” ที่ต้นสังกัดประกาศตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา ให้โรงเรียนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงว่าจะได้รับผลกระทบ จำนวน 146 โรงเรียน ครอบคลุม 26 สำนักงานเขต ปิดการเรียนการสอนในวันที่ 13 ม.ค.
นักเรียนต้องหยุดเรียนกว่า 5 แสนคน
ส่วนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยข้อมูลจนถึงวันที่ 9 ม.ค.ยังเป็นเพียงการเปิดเผยรายชื่อโรงเรียน และวิทยาลัยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้รับผลกระทบเท่านั้น โดยแบ่งออกเป็น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระบุว่า มีโรงเรียนได้รับผลกระทบถึง 51 โรง แบ่งเป็น ระดับมัธยมศึกษา 35 โรง ระดับประถมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 16 โรง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 9 แห่ง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 158 โรง รวมมีโรงเรียนได้รับผลกระทบ 364 โรง
ศูนย์ข่าว TCIJ ประมาณการเฉลี่ยนักเรียนทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ อยู่ที่ 100-3,000 คน โดยคำนวนจำนวนนักเรียนเฉลี่ยโรงเรียนละ 1,500 คน จะมีนักเรียนที่ได้รับผลกระทบประมาณ 1,500 X 364 = 547,000 คน
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ