ในงาน “Chiang Mai Halal International Fair: CHIF 2014” ระหว่างวันที่ 6-9 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ จังหวัดเชียงใหม่ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายมหาวิทยาลัยในภาคเหนือ และองค์กรพันธมิตร จัดบรรยายพิเศษหัวข้อ “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รองรับอุตสาหกรรมฮาลาล”
โดย นายกวินธร วงศ์ลือเกียรติ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวในเวทีบรรยายดังกล่าวว่า ปัจจุบันในจังหวัดเชียงใหม่มีกิจการที่ได้รับรองมาตรฐานฮาลาลทั้งหมดราว 100 กิจการ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่สอดคล้องกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมฮาลาลในอนาคต จึงจำเป็นที่จะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ในการรณรงค์ และสร้างการรับรู้และเห็นความสำคัญอย่างกว้างขวางต่อไป ซึ่งในอนาคตผู้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาลก็จะได้สิทธิประโยชน์มากขึ้น เนื่องจากเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศในเรื่องการเปิดตลาดฮาลาล อีกทั้งในอนาคตเชียงใหม่ จะสามารถต่อยอดโครงการจัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมฮาลาลภาคเหนือ” เพื่อเป็นศูนย์กลางในการผลิตและแปรรูปอาหารฮาลาลจากภาคเหนือเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศต่อไป
อย่างไรก็ตามแนวคิดการจัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล” ไม่ใช่เพิ่งมีการเสนอในเวทีแห่งนี้เป็นครั้งแรก แต่เคยมีการเริ่มดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน ในพื้นที่จ.ปัตตานี ด้วยแนวคิดของรัฐบาลสมัยนั้น ต้องการผลักดันให้จังหวัดชายแดนใต้เป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล” คือ หนึ่งนโยบายเด่นในทุกรัฐบาลต่อมา รวมทั้งการผลักดันก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลขึ้นใน อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี แต่แล้วจนถึงปัจจุบันผ่านมาหลายปี “นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล” ก็ยังไม่เกิดขึ้น
ฝันเงินล้านนิคมฯมลายกลายเป็นภาระรัฐ
จากรายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและติดตามการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลจังหวัดปัตตานี วุฒิสภา เปิดเผยว่า ในปี พ.ศ.2545 บริษัท ฟาตอนี อินดัสทรีส์ จำกัด ต้องการตั้งโรงงานแปรรูปไก่แช่แข็ง ป้อนตลาดตะวันออกกลาง ระหว่างทำการศึกษาทราบว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)กำลังจะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขตจ.ปัตตานี สนองนโยบายการส่งเสริมให้ภาคใต้ เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ตามยุทธศาสตร์แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 9 “การเป็นประเทศศูนย์กลาง”
บริษัทเห็นว่า หากมีนิคมฯเกิดขึ้น จะเข้าไปตั้งโรงงานในเขตนิคมฯ ทว่าหากภาครัฐดำเนินการเอง อาจไม่ทันการ จึงเสนอเข้าร่วมโครงการด้วย ดดยเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2546 บริษัท ฟาตอนีฯ ลงนามสัญญาร่วมดำเนินการกับ กนอ. 7 วันต่อมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ กนอ.เป็นเจ้าภาพ ร่วมดำเนินการกับ บริษัท ฟาตอนี อินดัสทรีส์ จำกัด
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เกิดเหตุโจมตีค่ายทหารในอ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ตามมาด้วยเหตุการณ์ยิงถล่มมัสยิดกรือเซะ ปัตตานี มีผู้เสียชีวิตกว่าร้อยคน ส่งผลถึงสถาบันการเงินและนักลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ไม่กล้าลงทุนและสถาบันการเงินไม่อนุมัติเงินกู้ ในขณะนั้น บริษัท ฟาตอนีฯ ติดค้างชำระค่าที่ดินกับชาวบ้าน จากการกว้านซื้อที่ทำกิน เดิมคือที่ดิน นส.3 ก. โดยมีโฉนดที่เป็นชื่อบริษัทเพียงแปลงเดียว
ทั้งนี้ข้อมูลจากกรมธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท ฟาตอนี อินดัสทรีส์ จำกัด ตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 ทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท วัตถุประสงค์ เพื่อการขายอสังหาริมทรัพย์ ผู้ถือหุ้นหลัก คือ 1.นายศิริชัย ปิติเจริญ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี เจ้าของธุรกิจศูนย์เชฟโรเลต ปัตตานี 2.นายดำรง ชัยวนนท์ กรรมการผู้จัดการศูนย์เชฟโรเลต ปัตตานี 3.นายกิตติพงษ์ พ่วงสมบัติ 4.นายบุญส่ง พ่วงสมบัติ กรรมการบริหารบริษัท ไฮคิวแคนนิ่ง (ปัตตานี) จำกัด นอกจากนี้ กลุ่มผู้ถือหุ้นรายเดิม ถือหุ้นในกิจเลี้ยงสัตว์ปีก ในนามบริษัท ฟาตอนี ชิคเค็น (ปัตตานี) จำกัด ตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท
ชาวบ้านหนุนผุดนิคมฯ หวังสร้างรายได้ เลิกขายแรงงานมาเลย์
ปาหนัน บัวสาม ปัจจุบันทำการศึกษา เรื่อง “ปัจจัยส่วนบุคคลที่มีอิทธิพลต่อความคาดหวังขิงชาวจังหวัดปัตตานี ต่อการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เมื่อปี พ.ศ.2548 กรณีศึกษา อำเภอสายบุรี และอำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี” พบว่า ชาวบ้านโดยส่วนใหญ่มีความคาดหวังต่อการเกิดขึ้นของนิคมฯ ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตในทุก ๆ ด้านของชาวจ.ปัตตานี และใกล้เคียง ความเห็นส่วนใหญ่ คือให้คนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจ้างงาน
โดยชาวบ้านร้อยละ 66.26 เคยรับทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฯ มาก่อน เกือบทั้งหมดมีทัศนคติต่อโครงการในเชิงบวก และสนับสนุนโครงการ รวมถึงต้องการให้มีโครงการในพื้นที่ คิดเป็นร้อยละ 98.54 เห็นด้วย เหตุผลหลักคือ จะได้มีงานทำภายในชุมชน เกิดการจ้างงานโดยไม่ต้องย้ายถิ่นไปหางานทำที่อื่น ส่วนที่มีการคัดค้านเพียงร้อยละ 1.46 เหตุผลหลักคือ ปัญหาของน้ำเน่าเสีย ที่อาจเกิดขึ้นตามมาภายหลังดำเนินโครงการ
ประชาชนในพื้นที่บริเวณรอบเขตการสร้างนิคมอุตสาหกรรมฯ (ประมาณร้อยละ 80) ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่การทำนา ทำสวน ปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ อาชีพรองได้แก่รับจ้างทั่วไป และค้าขาย ประชากรที่ยังว่างงานอยู่เป็นจำนวนมาก โดยมากรับจ้างทั่วไปทั้งในจังหวัดปัตตานีและนอกพื้นที่ บางส่วนอพยพไปทำงานในประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้อาชีพประมง ถือเป็นอาชีพเสริม เป็นลักษณะประมงพื้นบ้าน โดยส่วนใหญ่กลุ่มที่ไม่ได้อพยพไปทำงานต่างถิ่น ประกอบอาชีพประมงเพื่อเป็นหลัก รายได้เฉลี่ยครอบครัวละ 5,000 บาทต่อเดือน และไม่สามารถระบุรายได้เฉลี่ยได้ในหลายครอบครัว เนื่องจากขึ้นอยู่กับความขยันของสมาชิกครอบครัว เพราะยังมีงานรับจ้างอยู่ทั่วไป บางกลุ่มไม่พอใจกับสภาพแวดล้อมการว่างงานที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง รายได้เพียงพอกับรายจ่ายแบบไม่เหลือเก็บ หลายรายไม่เพียงพอและอาศัยการกู้ยืมจากพี่น้อง นายทุนและสถาบัน
“...ใจจริงอยากให้มีนิคมอุตสาหกรรมฯเกิดขึ้น คนที่ไปมาเลย์จะได้กลับมาบ้าน ชาวบ้านละแวกนี้ก็จะมีงานทำ...” หญิงมุสลิมรายหนึ่งกล่าวถึงชาวบ้านที่ไปขายแรงงานในประเทศมาเลเซีย
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา และคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านมาตรฐานฮาลาล เดินทางไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารฮาลา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2552
ทั้งนี้ตัวเลขประมาณการ หากเกิดนิคมอุตสาหกรรมฯขึ้นจริง คาดว่าจะเพิ่มรายได้จากอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลและกิจการที่ต่อเนื่องเพิ่มขึ้นร้อยละ 15-30 จากฐานเดิม 810 ล้านบาทเป็น 931,1,787,และ 2,680 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 4 ปี และสามารถจ้างแรงงานคนในพื้นที่ได้ประมาณ 2,000-4,000 คน ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุตัวเลขการว่างงานในจังหวัดปัตตานี 7,221 คน (จากประชากรทั้งหมด 111,904 คน นับเป็นอันดับ 5 ของประเทศ)
นอกจากนี้ไม่เพียงตัวเลขการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ระบบสาธารณูปโภครองรับอุตสาหกรรมฯ ที่จะเกิดขึ้น อาทิ ถนนลาดยางสี่เลน ไฟฟ้า ประปา และการดีดตัวขึ้นของราคาที่ดิน เป็นปัจจัยหนุนเสริม สร้างทัศนคติเชิงบวกให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมฯ ตลอดจนมิติเชิงวัฒนธรรม การผูกสัญลักษณ์อุตสาหกรรมฯเข้ากับ “ฮาลาล” หมายถึง ถูกต้องตามหลักบัญญัติศาสนาอิสลาม
อย่างไรก็ตามด้าน มะรอนิง สาและ นักวิจัยชาวบ้านเกี่ยวกับระบบนิเวศอ่าวปัตตานี ตั้งข้อสังเกตเรื่องการจ้างงานว่า หากเกิดการจ้างงานจริง จะเป็นเพียงการจ้างแรงงานราคาถูก เพดานค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน ไม่สามารถดึงแรงงานไทยในมาเลเซียกลับมาได้ โดยเฉพาะแรงงานส่วนใหญ่ ที่เป็นลูกจ้างร้านต้มยำกุ้ง ได้ค่าจ้างขึ้นต่ำประมาณวันละ 500 บาท มีสวัสดิการอาหารที่พักอาศัย
จากการสอบถามวัยรุ่นในหมู่บ้านดาโต๊ะ ที่อพยพไปทำงานในประเทศมาเลเซียพบว่า จำนวนมากเกินครึ่งปฏิเสธย้ายกลับมา แม้ว่าค่าแรงจะขึ้นเป็นวันละ 300 บาท อย่างไรก็ตาม แรงงานส่วนใหญ่ที่ย้ายกลับภูมิลำเนาเป็นแรงงานวัย 40 ปีขึ้นไป หากนิคมฯฮาลาลแล้วเสร็จจริง ความต้องการกำลังแรงงานจึงไม่ตอบสนองคนว่างงานในพื้นที่ เนื่องจากอายุเกินความต้องการของภาคอุตสาหกรรมไปแล้ว
หวั่นได้ไม่คุ้มเสีย ประมงพื้นบ้านตาย ซ้ำรอยอวนลากอวนรุน
อย่างไรก็ตาม การสร้างนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เพื่อดึงแรงงานกลับสู่ท้องถิ่นทางหนึ่งอาจสร้างผลกระทบให้กลุ่มประมงขนาดเล็กสูญเสียอาชีพ นักวิจัยชาวบ้านส่วนใหญ่มองโครงการพัฒนาของรัฐในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ ว่าเป็นการทำลายหม้อข้าวหม้อแกงชาวบ้าน
มะรอนิง สาและ
มะรอนิง สาและ มองว่า โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลเป็นสิ่งที่หลายคนอยากให้เกิด แต่ตนเป็นห่วงว่าจะทำเกิดการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติยิ่งขึ้น เพราะวัตถุดิบป้อนโรงงานมาจากอ่าวไทยและอ่าวปัตตานีหากเป็นเช่นนี้อวนลากอวนรุนจะยิ่งมีมากขึ้นเพื่อแย่งกันป้อนวัตถุดิบให้โรงงาน
“พอเริ่มมีการพัฒนา ก็มีการตั้งโรงงาน ตามมาด้วยการถมทะเล ทำถนนเลียบชายฝั่ง ทำท่าเรือขนาดใหญ่ เขตที่ถมเป็นแหล่งอาหารสัตว์น้ำ...เมื่อก่อนไม่มีโรงงานผู้ชายหาปลา ผู้หญิงเป็นแม่บ้าน ตอนนี้ภรรยาเป็นหัวหน้าครอบครัวแทน เพราะทำงานโรงงาน สามีอยู่บ้านเล่นนกเขา เพราะทะเลไม่มีปลาให้จับ” มะรอนิง สาและ กล่าวและว่า วิถีของคนปัตตานีเริ่มเลี่ยนไปจากการพัฒนาทั้งนี้รัฐควรมองภาพการแจกงานอุตสาหกรรมเข้ามาในครัวเรือนตามหมู่บ้านต่าง ๆ มากกว่า การตั้งโรงงานอุตสาหกรรม มีงานทำที่บ้านโดยไม่ต้องห่างไกลครอบครัวเป็นสิ่งที่ยั่งยืนกว่า
ผลจากปัญหาแย่งชิงทรัพยากรสัตว์น้ำ ระหว่างประมงพื้นบ้านอวนลากกับประมงพาณิชย์อวนรุนเป็นปัญหาเรื้อรัง นับแต่มีอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ บริเวณชายฝั่งปัตตานี ชุมชนประมงชายฝั่งในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ จำนวนมาก ต้องทิ้งอาชีพเดิมอพยพแรงงานไปมาเลเซีย เพราะมีฐานทรัพยากรและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน
อ่าวปัตตานี (ภาพโดย : httpkrungshing.comforumshowthread.phpt=1917)
“ชาวบ้านมองแค่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น คือกระบวนการฮาลาล แต่เมื่อเกิดแล้วจะฮาลาลจริงหรือไม่ เรื่องสำคัญชุมชนที่อยู่อย่างสงบจะไม่มีอีกแล้ว ความวุ่นวานจะเข้ามาแทนที่เพราะจะมีพวกเสียผลประโยชน์โดนเฉพาะเรื่องที่ดินเปลี่ยนมือ ไม่นับรมปัญหาแย่งชิงน้ำจากแม่น้ำสายบุรี เพราะอุตสาหกรรมขนาดนั้นต้องใช้น้ำเยอะ” ดลลยา สาแลแม นักวิจัยชาวบ้านลุ่มน้ำสายบุรี ข้อกังวลเรื่องผลกระทบที่ตามหากนิคมฯ เกิดขึ้นจริง
อย่างไรก็ตามถึงวันนี้การเดินหน้าโครงการก่อสร้างก็ยังไม่ดำเนินต่อไป ให้เป็นรูปร่างมากกว่ากลุ่มอาคารที่ก่อสร้างเมื่อหลายปีก่อน ขณะที่การประกาศจะยุบเลิกโครงการก็ไม่มี มีแต่เพียงการพูดถึงการเป็นครั้งคราวของแต่ละรัฐบาล
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ