ชี้คนไทยเคยติดสินบน'ตำรวจ'มากที่สุด ระบุการเมืองถ่วงการพัฒนาภาคธุรกิจ

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 11 มี.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2325 ครั้ง

เพราะปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทยในปัจจุบัน แม้จะมีความพยายามในการขจัดปัญหานี้ แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์จะยังไม่ทุเลาเบาบางลง ล่าสุด สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดสัมมนา “ดัชนีชี้วัดสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย” เผยแพร่ผลสำรวจและประสบการณ์เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นของประชาชนไทยในปัจจุบัน ซึ่งนอกจากจะรายงานสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทยแล้ว ยังหวังระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาฐานข้อมูลสถิติและดัชนีชี้วัดการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทยอีกด้วย

ผอ.ทีดีอาร์ระบุมีองค์กรตรวจสอบโปร่งใสเยอะ แต่ปัญหาไม่ลด

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่เหมือนใคร เพราะจากข้อมูลการศึกษาพบว่า ประเทศที่มีประชาธิปไตยมานานกว่า 40 ปี จะมีคอร์รัปชั่นลดลง แต่สำหรับประเทศไทยที่มีประชาธิปไตยมายาวนาน 80 ปี ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นกลับไม่ลดลงและปัจจุบันกลับมีสูงขึ้น ดังนั้นจึงต้องมาทบทวน และตรวจสอบดูสาเหตุว่า เป็นเพราะเหตุใด ปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทยจึงไม่ลดลง เหมือนกับประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ ทั้งที่ประเทศไทยมีการสร้างกลไก เพื่อตรวจสอบความโปร่งใสขึ้นมาหลายองค์กร แต่กลับทำงานไม่ได้ผล ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งด้วยว่า ทำไมองค์กรเหล่านั้นจึงทำงานไม่ได้ และทำงานอย่างมีอิสระในการตรวจสอบจริงหรือไม่

            “ตอนนี้เราจะเห็นว่า ยังมีบางองค์กรอิสระ ที่ต้องพึ่งนโยบายรัฐอยู่ การเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ จึงจำเป็น โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลของรัฐ ตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นปัญหานี้ เช่น กรณีนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลที่เกิดปัญหา ก็สะท้อนว่า เราไม่รู้ข้อมูลการซื้อขายข้าว ราคา จำนวน เป็นไปได้อย่างไรที่ภาครัฐไม่เปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ ไทยจึงต้องพึ่งพาภาคประชาชนมากที่สุด ในการตรวจสอบคอร์รัปชั่น ไม่ใช่พึ่งองค์กรอิสระต่าง ๆ เท่านั้น” ดร.เดือนเด่นกล่าว

การเมืองทุจริตถ่วงความเจริญภาคธุรกิจ

สำหรับผลกระทบของการทุจริตคอร์รัปชั่นในภาครัฐ ที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจนั้น ดร.เดือนเด่น ระบุว่า เป็นที่ชัดเจนจากข้อมูลการจัดทำดัชนีขององค์กรต่าง ๆ เช่น ที่ระบุว่า การคอร์รัปชั่นของภาคการเมืองเป็นอุปสรรคสำคัญที่เข้ามาถ่วงการเจริญเติบโตของภาคธุรกิจ แม้ว่าประเทศไทยจะมีจุดแข็งอยู่ที่ภาคธุรกิจและการเงินก็ตาม แต่หากไม่มีการแก้ไขปัญหา หรือทำให้การทุจริตในภาคการเมืองลดน้อยลง ก็เป็นเรื่องยากที่ธุรกิจไทยจะเติบโตไปได้

            “สิ่งที่น่าเสียดายอีกอย่างหนึ่งคือ จริง ๆ แล้วข้อมูลดัชนีเกี่ยวกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศไทยมีการสำรวจและจัดทำทุกปี แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้นำไปใช้ในเชิงนโยบายเลย จะมีก็เพียงส่วนน้อยเท่านั้น หรือแม้กระทั่งป.ป.ช.เอง ที่ก็ทำแผนเรื่องของการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น ก็ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหานี้เลยเช่นกัน” ผอ.ทีดีอาร์ไอกล่าว

องค์กรวัดความโปร่งใสนานาชาติ จัดอันดับโปร่งใส ไทยต่ำกว่าฟิลิปินส์

ขณะที่ ดร.บุญวรา สุมะโน นักวิชาการประจำสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระบุถึงสถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย โดยอ้างอิงตามดัชนีชี้วัดคอร์รัปชั่น หรือ ซีพีไอ ที่จัดทำโดยองค์กรวัดความโปร่งใสนานาชาติ ที่ดำเนินการจัดอันดับสถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศต่าง ๆ ในทุก ๆ ปี จะเห็นอย่างชัดเจนว่า สถานการณ์ของประเทศไทยน่าเป็นห่วง เพราะพบว่าได้อันดับตกต่ำลงเรื่อย ๆ โดยผลการจัดอันดับตั้งแต่ปี 2553-2556 ไทยได้รับอันดับตกลงมาตลอดคือ  อันดับที่ 78, 80, 88 และ 102 ตามลำดับ

            “สถานการณ์คอร์รัปชั่นในประเทศไทยน่าเป็นห่วง เพราะได้อันดับโลกต่ำกว่าฟิลิปปินส์ ทั้งที่ไทยมีสถานะทางเศรษฐกิจดีกว่า และนักธุรกิจนานาชาติมองว่า การคอร์รัปชั่นเป็นปัจจัยที่น่ากังวลในการมาลงทุน” ดร.บุญวรากล่าว

นอกจากนี้ จากการอ้างอิงดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขัน ปี 2556 ซึ่งระบุว่า คอร์รัปชั่นเป็นปัจจัยที่มีปัญหามากที่สุด 20.2 % รองลงมาคือ เสถียรภาพของรัฐบาล 16.5 % เสถียรภาพทางนโยบาย 13.5 %  และ ประสิทธิภาพในการบริหารงานของภาครัฐ 13.4 % ขณะเดียวกันไทยได้รับเสียงสะท้อนที่ดีเกี่ยวกับนโยบายทางเศรษฐกิจและการเงิน ได้แก่ การเข้าถึงด้านการเงิน หรืออัตราภาษี เป็นต้น ทั้งนี้หากพิจารณาดัชนีการแข่งขันระดับโลกควบคู่ โดยเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียน จะพบว่าไทยยังมีระดับการแข่งขันที่ไม่แย่นักคือ อันดับ 4 รองจากสิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน

ผลสำรวจประชาชน ระบุเคยติดสินบนองค์กรตำรวจมากที่สุด

ดร.บุญวรายังกล่าวถึงประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ มาตรวัดคอร์รัปชั่นโลก (Global Corruption Barometer) ซึ่งจะคำถาม 12 ข้อที่เกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น ที่องค์กรวัดความโปร่งใส ใช้เป็นดัชนีวัดความเห็นประชาชนในประเทศนั้น ๆ ที่มีต่อการคอร์รัปชั่นในประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะชี้ให้เห็นทัศนคติและสถานการณ์สำคัญนี้ โดย คำถาม 2 คำถามที่น่าสนใจ ได้แก่ คุณเห็นว่าสถาบันใดในประเทศไทยมีการคอร์รัปชั่นมากที่สุด และจากประสบการณ์ของคุณ หน่วยงานภาครัฐใดที่คุณเคยติดสินบน โดยผลการสำรวจพบว่า ประชาชนที่ตอบผลสำรวจระบุว่า ในปี 2556 ที่ผ่านมา ตำรวจและพรรคการเมืองเป็นองค์กรที่คอร์รัปชั่นมากที่สุด และคนไทยเคยติดสินบนให้ตำรวจมากที่สุดในบรรดาองค์กรรัฐทั้งหมด

ส่วนคำถามอื่น ๆ  ได้แก่ 1.ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาระดับคอร์รัปชั่นในประเทศของคุณเปลี่ยนแปลงหรือไม่ 2.ประเด็นใดที่ทำให้คุณคิดว่าการคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาของภาครัฐในประเทศของคุณ 3.ในการติดต่อกับภาครัฐ การรู้จักเป็นการส่วนตัวสำคัญต่อการทำให้สิ่งต่าง ๆ บรรลุอย่างไร 4.ประเด็นใดที่ทำให้คุณคิดว่า รัฐบาลของคุณดำเนินงานด้วยคนเฉพาะกลุ่ม เพราะเห็นแก่ประโยชน์ของพวกพ้อง 5.ภาครัฐของคุณทำงานต่อต้านคอร์รัปชั่นได้มีประสิทธิภาพอย่างไร 6.อะไรคือเหตุผลหลักในการติดสินบน 7.คนทั่วไปสามารถเปลี่ยนแปลงโดยต่อต้านคอร์รัปชั่นหรือไม่ 8.คุณต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมกับการต่อต้านคอร์รัปชั่นหรือไม่ 9.ให้คุณรายงานการคอร์รัปชั่น และ 10.การปฏิเสธการจ่ายสินบน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: