บทวิเคราะห์: ความพร้อมของไทยกับเศรษฐกิจดิจิทัล

ดร.ชยงการ ภมรมาศ 11 พ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 4001 ครั้ง

ดูเหมือนว่าวันนี้ผู้คนในสังคมกำลังให้ความสนใจกันอย่างมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ซึ่งเป็นนโยบายหลักด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่เป็นความพยายามผลักดันของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ที่จะใช้เทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอทีเป็นตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลนี้ได้รับการนำเสนอครั้งแรกใน พ.ศ.2538 หรือประมาณ 20 ปีที่แล้ว ในหนังสือชื่อ “The Digital Economy: Promise and Peril in the Age of Networked Intelligence” ของ Don Tapscott ที่ฉายภาพให้ผู้อ่านได้เห็นว่าเทคโนโลยีไอทีจะเปลี่ยนแปลงวิถีแห่งเศรษฐกิจโลกได้อย่างไร ในช่วงเวลาที Don Tapscott กำลังเขียนหนังสือของเขานั้นสมาร์ทโฟนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เนตจากที่ใดก็ได้บนโลกยังคงเป็นแนวคิดที่ล้ำยุคมากจนหลายคนอาจคิดว่าในช่วงชีวิตของตนจะมีโอกาสได้เห็นเทคโนโลยีที่ว่านี้หรือไม่ ทว่า ในเวลาไม่ถึง 2 ทศวรรษนับจากนั้นสมาร์ทโฟนกลับกลายเป็นสิ่งธรรมดาสามัญที่ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นเจ้าของได้

ลองจินตนาการดูนะครับว่า หากเศรษฐกิจไทยสามารถกลายเป็นเศรษฐกิจแบบดิจิทัลได้โดยสมบูรณ์แล้ว หลายสิ่งคงจะเปลี่ยนไปมากทีเดียว ชาวสวนยางในภาคใต้สามารถเข้าถึงข้อมูลแนวโน้มราคายางในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์แห่งโตเกียว (Tokyo Commodity Exchange: TOCOM) แบบเรียลไทม์และสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้วางแผนการปลูกยางของตน ชาวนาในภาคอีสานสามารถเข้าถึงข้อมูลแนวโน้มราคาข้าวและสต็อกข้าวในตลาดโลกเพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาวางแผนการทำนา นักศึกษาจบใหม่ที่ไม่มีทุนมากมาย แต่อยากเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) ก็สามารถเปิดกิจการนำเสนอสินค้าของตนสู่ตลาดโลกผ่านอินเทอร์เนตโดยใช้เงินลงทุนน้อยมากเพราะไม่ต้องมีหน้าร้าน ไม่ต้องจ้างพนักงาน ต้นทุนการสต็อกสินค้าก็ต่ำเพราะสามารถสั่งซื้อหลังจากได้รับออเดอร์ การชำระเงินก็สามารถทำได้โดยสะดวกไม่ว่าจะเป็น Internet Banking หรือ Credit Card

ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากการเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลคงจะไม่ได้จำกัดเฉพาะด้านอุปทาน (Supply Side) ซึ่งได้แก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ เช่น ชาวสวนยาง ชาวนา และผู้ประกอบการค้าขาย ดังที่ยกตัวอย่างไปแล้วเท่านั้น แต่จะมีผลไปถึงด้านอุปสงค์ (Demand Side) ซึ่งก็คือผู้บริโภคด้วย เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภค (Consumer Behavior) จะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่การซื้อสินค้าจะต้องเห็นของจริงก่อนกลายเป็นการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ซึ่งสะดวกและรวดเร็วกว่ามาก

หากนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลนี้สามารถนำมาปฏิบัติได้จริงแล้วก็ย่อมจะมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจไทย เพราะตลาดของสินค้าไทยจะขยายตัวได้อย่างมากผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการนำเสนอสินค้าสู่ผู้บริโภคทั้งในและนอกประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตสินค้าโอท็อปซึ่งแต่เดิมต้องรอให้ลูกค้าเข้ามาดูสินค้าในร้านของตนก็สามารถลงโฆษณาขายสินค้าในอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะทำให้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นทั้งจากลูกค้าในประเทศและลูกค้าต่างประเทศ

นอกเหนือจากการขยายตลาดให้กับสินค้าไทยแล้ว เศรษฐกิจดิจิทัลยังมีผลต่อการเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผู้ประกอบการไทย โดยในส่วนของการเพิ่มปริมาณนั้น ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) จะสามารถเข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้นเพราะต้นทุนของการทำธุรกิจในยุคดิจิทัลจะลดลงกว่าเดิมมาก โดยมีเพียงโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวและเงินทุนสำหรับสั่งซื้อสินค้าล็อตแรกก็สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้แล้ว ในส่วนของการพัฒนาคุณภาพนั้น ผู้ประกอบการในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลจำเป็นที่จะต้องพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลาเพราะการที่ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นจะกลายมาเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการต้องมีการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ตลอดจนต้องมีความคิดสร้างสรรค์ (Creative Idea) ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) และความน่าสนใจให้กับสินค้าของตน

นอกจากนี้ เศรษฐกิจดิจิทัลยังจะช่วยส่งเสริมให้การลงทุนระหว่างประเทศทำได้ง่ายขึ้น ทั้งในแง่ของการดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยและการที่นักลงทุนไทยจะไปลงทุนในต่างประเทศ เพราะภายใต้ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลขั้นตอนการติดต่อประสานงาน การโอนเงิน การขออนุญาต จะสามารถทำได้ผ่านระบบไอที ซึ่งอำนวยความสะดวกต่อการลงทุนระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก การลงทุนระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นนี้จะส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยได้ประโยชน์ผ่านการเรียนรู้จากเทคนิคและประสบการณ์ของผู้ประกอบการต่างประเทศ

จากผลดีหลายประการที่กล่าวมาข้างต้นนั้น นโยบายการเปลี่ยนเศรษฐกิจของไทยให้เป็นเศรษฐกิจดิจิทัลจะส่งผลประโยชน์อย่างมากต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทำให้สามารถยกระดับจากประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งมีบทบาทเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตไปสู่ประเทศรายได้สูงที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองได้ ดังนั้น นโยบายของรัฐบาลที่นำเสนอจึงเป็นของดีแน่นอน

ภาพจาก www.bangkokbiznews.com

ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่านโยบายนี้ดีหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าประเทศไทยของเรามีความพร้อมเพียงใดสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล?

ความพร้อมประการแรกที่จำเป็นต้องมีสำหรับการเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลก็คือ ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เพราะหากโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไม่มีความพร้อมแล้ว รัฐบาลคงต้องเสียเวลาและงบประมาณอีกมากในการวางโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล จากข้อมูลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศที่จัดทำโดยสถาบัน World Economic Forum ล่าสุดประจำปี พ.ศ.2557–2558 นั้น ประเทศไทยถือว่ามีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเทคโนโลยีสารสนเทศที่ดี เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน โดยประเทศไทยมีสัดส่วนการจดทะเบียนโทรศัพท์เคลื่อนที่และการใช้บรอดแบนด์ต่อประชากรเป็นลำดับที่ 3 ของอาเซียน และเมื่อพิจารณาในด้านปริมาณการรับและส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยไทยก็ได้เป็นลำดับที่ 3 ในอาเซียนอีกเช่นกัน ซึ่งข้อมูลการจัดอันดับของ World Economic Forum นี้ก็สอดคล้องกับสถิติการใช้ Social Media ของคนไทยที่มีบัญชีผู้ใช้ Facebook เกือบ 20 ล้านบัญชีและในแต่ละวันมีการโพสต์ข้อความมากกว่า 30 ล้านครั้ง ในส่วนของการใช้งาน Line นั้นประเทศไทยก็เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศเกาหลีใต้เท่านั้น

ประเด็นที่อยากฝากไว้เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเทคโนโลยีสารสนเทศก็คงจะเป็นเรื่องของความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศระหว่างเมืองและชนบท เพราะหากมีแต่คนที่อาศัยอยู่ในเมืองเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัลแล้วก็จะยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยขยายตัวรุนแรงเพิ่มขึ้น

และประเด็นสุดท้ายที่อยากฝากไว้ก็คือความซ้ำซ้อนของการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง เช่น กสท.โทรคมนาคม และทีโอที และระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน ดังภาพที่เราคุ้นตากันทั่วไปว่า บนเสาไฟฟ้าของไทยนั้นมีสายระโยงระยางเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่หากมีการวางแผนที่ดีก็สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้

ความพร้อมประการที่ 2 ที่จำเป็นต้องมีก็คือความพร้อมใน ปัจจัยเชิงสถาบัน อันได้แก่ปัจจัยด้านกระบวนการยุติธรรมและจรรยาบรรณของผู้ประกอบการไทย ซึ่งปัจจัยเชิงสถาบันนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจดิจิทัลเพราะหากผู้ประกอบการขาดจรรยาบรรณและกระบวนการยุติธรรมก็ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้กับผู้ได้รับความเสียหายแล้วก็คงไม่มีใครกล้าที่จะค้าขายกับเรา

ตารางที่ 1: การจัดอันดับด้านปัจจัยเชิงสถาบันของไทยเปรียบเทียบกับอาเซียนและโลก

 

ลำดับในอาเซียน 9 ประเทศ

ลำดับในโลก 144 ประเทศ

จรรยาบรรณของผู้ประกอบการ

7

92

ความน่าเชื่อถือของตำรวจ

7

113

ความมีประสิทธิภาพของกฎหมายในการแก้ไขข้อพิพาททางธุรกิจ

5

62

การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา

6

104

ที่มา: World Economic Forum: The Global Competitiveness Report 2014-2015

จากข้อมูลการจัดอันดับของ World Economic Forum ปีล่าสุด ได้สะท้อนให้เห็นถึงอุปสรรคสำคัญที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย เริ่มตั้งแต่จรรยาบรรณของผู้ประกอบการ (Ethical Behavior of Firms) ที่ค่อนข้างต่ำ โดยไทยได้ลำดับที่ 7 ของอาเซียน ปัญหาเรื่องจรรยาบรรณของผู้ประกอบการนั้นเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยในชีวิตประจำวันดีอยู่แล้ว ดังเห็นได้จากข่าวสารที่ปรากฎให้เห็นอยู่ตลอดเวลาในเรื่องของการฉ้อโกง ตลอดจนการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ไทยถูกจัดอยู่ในลำดับ 6 ของอาเซียนในด้านการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Protection) และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วหากจะไปพึ่งตำรวจเราก็พบว่าความน่าเชื่อถือของตำรวจไทย (Reliability of Police Services)  ก็อยู่เพียงลำดับที่ 7 ของอาเซียน

ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่ผู้ซื้อและผู้ขายอาจไม่มีโอกาสได้พบหน้ากันเลยแม้แต่ครั้งเดียวจะมีก็เพียงการสื่อสารด้วยโทรศัพท์หรืออีเมลล์และการชำระเงินก็สามารถทำได้โดยง่ายผ่านระบบการสื่อสารที่ทันสมัย เช่น Internet Banking นั้นการให้หลักประกันถึงความปลอดภัยของการทำธุรกรรมเป็นหัวใจสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ทั้งในส่วนของตำรวจและกฎหมายที่จะให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เสียหายได้อย่างครบถ้วนและรวดเร็ว

ความพร้อมประการที่ 3 ที่จำเป็นต้องมีก็คือ ความพร้อมของบุคลากรไทย ที่จะรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ทักษะพื้นฐานที่จำเป็นอย่างยิ่งก็คือความรู้ด้าน IT ภาษาอังกฤษ และความคิดสร้างสรรค์ แต่จากผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการโดยธนาคารแห่งประเทศไทยกลับพบว่า แรงงานไทยขาดทักษะพื้นฐานที่จำเป็นทั้ง 3 ด้าน พร้อมทั้งยังขาดความสามารถในการคำนวณอีกด้วย

ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนทักษะที่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลนั้นเราจำเป็นที่จะต้องแก้ไขที่ต้นเหตุซึ่งก็คือระบบการศึกษาของไทย ข้อมูลของ World Economic Forum เปิดเผยว่า คุณภาพการศึกษาของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน โดยคุณภาพของระบบการศึกษาโดยรวมอยู่ในลำดับที่ 6 เหนือกว่าเพียงเมียนมาร์ กัมพูชา และเวียดนามเท่านั้น ในส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในสถานศึกษาไทยก็อยู่ในลำดับที่ 5 ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่บุคลากรของไทยจะขาดทักษะที่จำเป็นทุกด้านสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล

ตารางที่ 2: การจัดอันดับด้านการศึกษาของไทยเปรียบเทียบกับอาเซียนและโลก

 

ลำดับในอาเซียน 9 ประเทศ

ลำดับในโลก 144 ประเทศ

คุณภาพของระบบการศึกษา

6

87

คุณภาพของการศึกษาด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์

5

81

คุณภาพของสถาบันการศึกษาด้านการจัดการ

6

81

การเข้าถึงอินเทอร์เนตในสถานศึกษา

5

61

ที่มา: World Economic Forum: The Global Competitiveness Report 2014-2015

ดังนั้น หากเราต้องการจะก้าวไปสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลแล้ว การปฏิรูปการศึกษาจึงเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้และจะต้องกระทำอย่างเร่งด่วน มิเช่นนั้นแล้ว เราอาจได้เห็นภาพที่ผู้ประกอบการไทยต้องนำเข้าบุคลากรที่มีทักษะด้านภาษาอังกฤษและไอทีจากประเทศในอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ เข้ามาทำงานแทนที่คนไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับความพร้อมประการสุดท้ายที่จะกล่าวถึงก็คือ ความพร้อมของผู้ประกอบการไทยที่จะลงทุนใน ด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันภายใต้ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่การเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้อย่างตลอดเวลาและรวดเร็ว ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถรักษาความโดดเด่นของตนเองไว้ได้ก็จะค่อยๆ เสียส่วนแบ่งทางการตลาด และในที่สุดก็จะต้องออกจากตลาดไป ตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดคือการเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็วของโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อ Nokia เมื่อสมาร์ทโฟนของ Apple เข้าตีตลาด

ภาพจาก www.techradar.com

ผลการศึกษาของ World Economic Forum พบว่า ผู้ประกอบการไทยมีการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา (Company Spending on Research and Development) ต่ำโดยผู้ประกอบการไทยมีระดับการใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาอยู่ในลำดับที่ 6 ของอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับระดับศักยภาพในการสร้างนวัตกรรม (Capacity for Innovation) ที่ไทยได้ลำดับที่ 5 ของอาเซียน

ประเทศไทยประสบปัญหาที่ไม่สามารถเชื่อมโยงความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเข้ากับงานวิจัยของนักวิชาการได้ ในมุมมองของผู้ประกอบการนั้นจะพบว่า งานวิจัยจำนวนมากทำขึ้นมาแล้วก็เก็บไว้บนหิ้งไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ และในส่วนของนักวิจัยตามสถาบันวิจัยจำนวนมากก็ทำงานวิจัยเชิงวิชาการเพื่อหวังความก้าวหน้าในวิชาชีพเพียงอย่างเดียว ภาครัฐจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นให้ทั้งผู้ประกอบการและนักวิจัยสามารถลดช่องว่างระหว่างกัน โดยอาจอยู่ในรูปแบบของการให้ทุนวิจัยที่ก่อนจะได้รับการอนุมัติต้องมีผู้ประกอบการอย่างน้อย 1 รายเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ทุนสนับสนุนและใช้ประโยชน์จากงานวิจัยด้วย

จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้คงจะพอเห็นภาพแล้วนะครับว่า เศรฐกิจดิจิทัลที่เรากำลังพยายามจะเป็นนั้น ความพร้อมเพียงประการเดียวที่ประเทศไทยมีก็คือความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ แต่ในส่วนอื่นๆ นั้นยังมีปัญหาอีกหลายประการที่เราต้องปรับปรุง ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ระบบยุติธรรมที่สามารถแก้ไขข้อพิพาทได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว การปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะเหมาะสมกับเศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าไทยด้วยการวิจัยและพัฒนาที่เพิ่มขึ้น
นี่ยังไม่นับรวมการปฏิรูประบบราชการให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะต้องเป็นระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการและให้บริการประชาชนโดยสะดวกและรวดเร็ว เพราะหากเราคิดเพียงแต่ว่าเราจะวางโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารให้ครอบคลุมทั่วประเทศหรือการกระจายแท็บเล็ตแบรนด์ “คืนความสุข” ออกไปให้ทั่วถึงโดยไม่มีการเตรียมความพร้อมในส่วนอื่นๆ ให้ดีเสียก่อนแล้ว เศรษฐกิจดิจิทัลก็คงไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยแท้จริงครับ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: