เปิดโครงการ ‘จัดซื้อ-จัดจ้างรัฐสภา’ หลังรัฐประหาร จับตาโครงการล็อตใหญ่ต้นปีหน้า

ผู้สื่อข่าวพิเศษ TCIJ 11 ธ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 3385 ครั้ง

การจัดซื้อจัดจ้าง-ประมูลงานของหน่วยงานรัฐสภา ถูกมองว่าเป็นแหล่งขุมทรัพย์ของเครือข่ายนักการเมืองมานานแสนนาน โดยเฉพาะของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อย่างในรัฐบาลที่แล้วก็มีข่าวคราวการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่โปร่งใสหลายกรณี เช่น โครงการปรับปรุงระบบนาฬิกา (Clock Systems) สำหรับติดตั้งบริเวณภายในและโดยรอบอาคารรัฐสภา ของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มูลค่าตามสัญญา 14,891,083 บาท หรือตกเรือนละ 75,000 บาท รวมทั้งโครงการจัดซื้อจัดจ้างห้องออกกำลังกายที่สโมสรรัฐสภามูลค่า 40 ล้านบาท และยังพบว่ามีปัญหาการทุจริตห้องน้ำ มูลค่า 15 ล้านบาท ที่อาคารกษาปณ์ ถนนประดิพัทธ์ รวมถึงห้องนักข่าวที่อาคารรัฐสภา วงเงิน 5 ล้านบาท ที่พบว่ามีราคาสูงทั้งที่ไม่มีการตอกเสาเข็มหรือมุงหลังคา เป็นต้น

กรณีนี้ถึงขั้นสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ทำการไต่สวนคดีทุจริตเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างจากเงินงบประมาณรายจ่ายของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่สงสัยว่าสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและมีส่วนให้มีการทุจริตในหลายโครงการ ซึ่งต่อมาสุวิจักขณ์ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้ว

เผยหลังรัฐประหาร จัดจ้างพิเศษ 2 โครงการ มีผู้เสนอชื่อแค่รายเดียว

โดยหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา จากข้อมูลสรุปผลการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคม 2557 ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พบว่า มีการจัดซื้อจัดจ้างทั้งสิ้น 15 โครงการ

มีโครงการที่มีจัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษ 2 โครงการ และทั้งสองโครงการมีผู้เสนอราคารายเดียว คือ โครงการ ‘จ้างปรับแปลงต้นฉบับตัวเล่มหนังสือพิมพ์รายวันเป็นไฟล์ดิจิทัลประจำปีงบประมาณ 2558 (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557-30 พฤศจิกายน 2557)’ ราคากลาง 437,777.77 บาท โดยบริษัท โรเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้เสนอราคารายเดียวที่ 437,777.77 บาท ซึ่งเหตุผลที่เลือกนั้น ทางสำนักงานเลขาฯ ระบุว่า เป็นงานต่อเนื่องรายปี เป็นงานที่จำเป็นต้องการจ้างเพิ่มในสถานการณ์ที่จำเป็นหรือเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ของส่วนราชการและจำเป็นต้องจ้างเพิ่ม (Repeat Order)

อีกโครงการคือโครงการ ‘จ้างจัดกิจกรรมมหกรรมคอนเสิร์ตสร้างความปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป วันที่ 25 กรกฎาคม 2557’ ราคากลาง 1,500,000 บาท โดยบริษัท วิมลโนช จำกัด เป็นผู้เสนอราคารายเดียวที่ 1,405,000 บาท โดยเหตุผลที่เลือก ทางสำนักงานเลขาฯ ระบุว่า เนื่องจากเป็นผู้เชียวชาญมีความรู้ความชำนาญในการจัดกิจกรรม หากล่าช้าอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ

อนึ่ง ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท วิมลโนช จำกัด ประกอบกิจการประเภทการจัดการแสดงทางธุรกิจและการแสดงสินค้า จดทะเบียนเมื่อเดือนสิงหาคม 2548 ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท  ในปี 2556 ที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้รวม 23,117,288.09 บาท รายจ่ายรวม 19,876,573.60 บาท มีกำไรสุทธิ 2,666,294.26 บาท

"การจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่างๆ ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน

มักจะมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ...การให้สินบนผู้เกี่ยวข้อง

จากการหักหัวคิวของแต่ละโครงการที่เรียกว่า ‘เงินทอน’"

คณะกรรมการบริษัท วิมลโนช จำกัด ประกอบด้วยนางอ้อยทิพย์ วิมลโนช, นายกิตติพงษ์ วิมลโนช และนายปริยะ วิมลโนช โดยปริยะนั้นสมรสกับ ศิริพิชญ์ วิมลโนช (ชื่อและนามสกุลเดิมว่า ศิริพิชญ์ กฤษณะเศรณี) หรือ กีตาร์ อดีตนักแสดงที่ผันตัวเองมาเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทของสามีในด้านการออร์แกไนซ์และโปรดักชั่น

อ่าน ‘จับตา: การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐสภา’ http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5184

ติดตามต้นปีหน้า จัดซื้อจัดจ้างอีกหลายโครงการ

แหล่งข่าวจากรัฐสภาระบุว่า การจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่างๆ ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบันมักจะมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ข้าราชการที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องพลอยอึดอัดใจไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการล็อกสเป็คเอื้อให้กับเครือข่ายของนักการเมือง มีการให้สินบนผู้เกี่ยวข้องจากการหักหัวคิวของแต่ละโครงการที่เรียกว่า ‘เงินทอน’ โดยหลังการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เปิดเผยผลการสอบสวนเบื้องต้นและรวบรวมข้อมูลต่างๆ รวมถึงสั่งการให้นิติกรของ สตง. ดำเนินการแจ้งความเอาผิดทางอาญากับผู้เกี่ยวข้องในโครงการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ประมาณ 11 คน รวมถึงสุวิจักขณ์ไปเมื่อเดือนกันยายน 2557 ที่ผ่านมา

ในช่วงปลายปีนี้ หลังการหมดสัญญาของโครงการต่างๆ ในปีงบประมาณที่แล้วเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ออกประกาศยื่นซองสอบราคาการจัดซื้อจัดจ้างโครงการใหม่หลายโครงการ เช่น  จัดจ้างเอกชนผลิตรายการโทรทัศน์รัฐสภาหลายรายการ, จัดจ้างออกแบบและพัฒนาระบบ Tablet Application ของสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์รัฐสภา และหลายโครงการที่กำลังจะตามมา โดยจะมีการประกวดราคากันในเดือนมกราคม 2558 ที่จะถึงนี้

จึงเป็นที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐสภา ภายใต้บรรยากาศการปราบปรามและเข้มงวดกับการคอรัปชั่นในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะซ้ำรอยกับยุคนักเลือกตั้งครองสภาหรือมีการเอื้อให้กับเครือข่ายอำนาจปัจจุบันหรือไม่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: