วิตกจีนปิดซ่อมเขื่อน-แม่น้ำโขงลดฮวบ เกษตรกรหวั่นภัยแล้งรุนแรงในรอบ15ปี

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 12 ก.พ. 2557 | อ่านแล้ว 3316 ครั้ง

ปัญหาปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง ยังเป็นปัญหาสำคัญของผู้คนในแถบอินโดจีนที่ต้องพึ่งสายน้ำนานาชาติแห่งนี้เป็นหลัก โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ที่พบว่าระดับน้ำมักจะลดระดับลงอย่างต่อเนื่องจนแห้งขอด ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านตลอดริมแม่น้ำโขง ที่ทำมาหากินอยู่กับสายน้ำหลักของภูมิภาคแห่งนี้

เจ้าท่าแจ้งรับมือจีนปิดซ่อมเขื่อน 15 วัน

สำหรับในปีนี้ ปัญหาแม่น้ำโขงลดระดับยังคงเกิดขึ้นเหมือนทุกปี โดยล่าสุดรายงานของกรมเจ้าท่า ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นต้นไป ระยะเวลาประมาณ 15 วัน สาธารณรัฐประชาชนจีนจะซ่อมเขื่อนภายในประเทศ และจะปิดการระบายน้ำแม่น้ำโขง ที่เขื่อนดังกล่าวปิดกั้นไว้ จะส่งผลกระทบให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดต่ำลงผิดปกติ จึงขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ประชาชน ผู้ประกอบการเดินเรือ และผู้ที่อยู่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงได้ทราบโดยทั่วกัน

การแจ้งเตือนดังกล่าว สอดคล้องกับสถานการณ์ระดับน้ำในลำแม่น้ำโขงที่เกิดขึ้น คือ ในช่วงปลายปี 2556 วันที่ 17-20 ธันวาคม 2556 ระดับน้ำโขงสูงขึ้นอย่างฉับพลัน จากระดับน้ำโขง 4 เมตรกว่า เป็น 8 เมตรกว่า เนื่องจากจีนปล่อยน้ำออกจากเขื่อน ที่คาดว่าต้องการให้น้ำเหนือเขื่อนต่ำสุด เพื่อจะปิดซ่อมเขื่อนในช่วงนี้ ก่อนระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่จะลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง

กรมทรัพยากรน้ำพบปริมาณลดลงต่อเนื่อง

จากรายงานสถานการณ์ระดับน้ำแม่น้ำโขง โดยสำนักวิจัยและพัฒนาอุทกวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557 ดังนี้

สถานการณ์อยู่ในเกณฑ์ปกติ แนวโน้มลดลง

แม่น้ำโขงที่เชียงแสน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 07.00 น. ไม่มีฝนตก วัดระดับน้ำได้ 2.36 เมตร เปรียบเทียบกับตลิ่ง ต่ำกว่า 9.44 เมตร เปรียบเทียบกับเมื่อวานนี้ (9 ก.พ.) เท่ากัน เปรียบเทียบสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 0.60 เมตร เปรียบเทียบกับวันนี้เมื่อปีที่แล้วสูงกว่า 0.04 เมตร เปรียบเทียบกับค่าสูงสุดต่ำกว่า 0.44 เมตร เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยสูงกว่า 0.72 เมตร เปรียบเทียบกับค่าต่ำสุดสูงกว่า 1.39 เมตร อยู่ในเกณฑ์ปกติ แนวโน้มทรงตัว

แม่น้ำโขงที่เชียงคาน อ.เชียงคาน จ.เลย วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 07.00 น. ไม่มีฝนตก วัดระดับน้ำได้ 4.43 เมตร เปรียบเทียบกับตลิ่ง ต่ำกว่า 12.97 เมตร เปรียบเทียบกับเมื่อวานนี้ ลดลง 0.02 เมตร เปรียบเทียบสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 0.99 เมตร เปรียบเทียบกับวันนี้เมื่อปีที่แล้วต่ำกว่า 0.28 เมตร เปรียบเทียบกับค่าสูงสุดต่ำกว่า 0.28 เมตร เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยสูงกว่า 0.89 เมตร เปรียบเทียบกับค่าต่ำสุดสูงกว่า 1.67 เมตร อยู่ในเกณฑ์ปกติ แนวโน้มลดลง

แม่น้ำโขงที่หนองคาย อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 07.00 น. ไม่มีฝนตก วัดระดับน้ำได้ 2.01 เมตร เปรียบเทียบกับตลิ่ง ต่ำกว่า 10.19 เมตร เปรียบเทียบกับเมื่อวานนี้ ลดลง 0.03 เมตร เปรียบเทียบสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 0.69 เมตร เปรียบเทียบกับวันนี้เมื่อปีที่แล้วต่ำกว่า 0.25 เมตร เปรียบเทียบกับค่าสูงสุดต่ำกว่า 0.47 เมตร เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยสูงกว่า 0.30 เมตร เปรียบเทียบกับค่าต่ำสุดสูงกว่า 0.81 เมตร อยู่ในเกณฑ์ปกติ แนวโน้มลดลง

แม่น้ำโขงที่นครพนม อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 07.00 น. ไม่มีฝนตก วัดระดับน้ำได้ 1.82 เมตร เปรียบเทียบกับตลิ่ง ต่ำกว่า 10.88 เมตร เปรียบเทียบกับเมื่อวานนี้ ลดลง 0.10 เมตร เปรียบเทียบสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 0.53 เมตร เปรียบเทียบกับวันนี้เมื่อปีที่แล้วต่ำกว่า 0.08 เมตร เปรียบเทียบกับค่าสูงสุดต่ำกว่า 0.08 เมตร เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยสูงกว่า 0.63 เมตร เปรียบเทียบกับค่าต่ำสุดสูงกว่า 1.11 เมตร อยู่ในเกณฑ์ปกติ แนวโน้มลดลง

แม่น้ำโขงที่มุกดาหาร อ.เมืองมุกดาหาร จ.มุกดาหาร วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 07.00 น. ไม่มีฝนตก วัดระดับน้ำได้ 2.21 เมตร เปรียบเทียบกับตลิ่ง ต่ำกว่า 10.59 เมตร เปรียบเทียบกับเมื่อวานนี้ ลดลง 0.08 เมตร เปรียบเทียบสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 0.55 เมตร เปรียบเทียบกับวันนี้เมื่อปีที่แล้วสูงกว่า 0.23 เมตรเปรียบเทียบกับค่าสูงสุดสูงกว่า 0.23 เมตร เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยสูงกว่า 0.63 เมตร เปรียบเทียบกับค่าต่ำสุดสูงกว่า 1.09 เมตร อยู่ในเกณฑ์ปกติ แนวโน้มลดลง

แม่น้ำโขงที่โขงเจียม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 07.00 น. ไม่มีฝนตก วัดระดับน้ำได้ 2.61 เมตร เปรียบเทียบกับตลิ่ง ต่ำกว่า 12.89 เมตร เปรียบเทียบกับเมื่อวานนี้ ลดลง 0.04 เมตร เปรียบเทียบสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 0.33 เมตร เปรียบเทียบกับวันนี้เมื่อปีที่แล้วสูงกว่า 0.26 เมตร เปรียบเทียบกับค่าสูงสุดสูงกว่า 0.24 เมตร เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยสูงกว่า 0.67 เมตร เปรียบเทียบกับค่าต่ำสุดสูงกว่า 1.13 เมตร อยู่ในเกณฑ์ปกติ แนวโน้มลดลง

จับตาผลกระทบกับคนท้ายเขื่อนยักษ์ในจีน

สำหรับผลกระทบจากระดับน้ำโขงที่ลดลงอย่างน่าเป็นห่วง นายจิระศักดิ์ อินทะยศ ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ระดับน้ำลดลงจากเมื่อ 5 ปีก่อนมาก โดยเมื่อปี 2553 พบว่าช่วงแล้งที่สุด มีระดับน้ำลดลงที่ 0.36 เมตร ตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขงตอนบน พบว่า ปัญหาน้ำผันผวนอย่างมากตลอดปี โดยช่วงเดือนธันวาคม 2556 ที่ผ่านมาพบว่า น้ำขึ้นสูงอย่างมากถึง 6.75 เมตร ซึ่งไม่เคยมีปริมาณน้ำขึ้นสูงขนาดนี้ แต่พอมาถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้จากการวัดระดับน้ำภายในเวลา 3 วันตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พบว่าระดับน้ำลดลงอย่างฮวบฮาบต่อเนื่อง ประมาณ 1.6 เมตร แต่ยังไม่กระทบกับการเดินเรือเล็กและเรือบรรทุกสินค้าที่มีน้ำหนักไม่เกิน 150 ตัน จากหลวงพระบางมายังเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ของสปป.ลาว ส่วนการประกอบอาชีพประมงในพื้นที่และการทำเกษตรกรรมริมแม่น้ำโขง ยังไม่พบว่ามีผลกระทบที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามทางเครือข่ายจะติดตามสถานการณ์ต่อไป

            “เราเชื่อว่าสถานการณ์ทั้งหมด ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้งเกิดจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีน ที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำใต้เขื่อน กรณีที่น้ำสูงนั้น เชื่อว่าเป็นเพราะจีนปล่อยน้ำจากเขื่อนลงมามาก โดยจากการเทียบกับปริมาณน้ำฝนแล้ว ไม่น่าจะมีผลต่อการเกิดน้ำท่วมมากขนาดนั้น พอน้ำแล้งและลดลงอย่างผิดสังเกตก็เพราะจีนไม่ยอมเปิดเขื่อนเลย” นายจิระศักดิ์กล่าว

เกษตรกรอีสานประสบปัญหาสูบน้ำลำบาก

ขณะที่ น.ส.จินตนา เกสรสมบัติ กรรมการเรือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง จ.บึงกาฬ กล่าวว่า สถานการณ์ลุ่มน้ำโขง ในพื้นที่จ.บึงกาฬ มีปริมาณลดลงอย่างมาก โดยในส่วนของชาวประมงในพื้นที่ยังสามารถหาปลาได้ตามปกติ แต่ในส่วนของเทศบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ดูแลเรื่องระบบน้ำ ต้องย้ายเครื่องสูบน้ำต่ำลงไปตามระดับน้ำที่ลดลง เพื่อสูบน้ำขึ้นมาใช้ คาดว่าเกษตรกรในพื้นที่อาจจะประสบปัญหาเช่นกัน อย่างไรก็ตามทางเครือข่ายฯได้นัดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อศึกษาสภาพปัญหา

ด้านพระอภิชาติ รติโก พระนักอนุรักษ์ลุ่มน้ำโขง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ระบุว่า จากการติดตามสถานการณ์ระดับน้ำในพื้นที่เชียงแสนพบว่า ระดับน้ำลดลงไปอย่างมาก โดยปกติการลดลงอย่างรวดเร็วราว 1 เมตร มักจะเกิดขึ้นช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี แต่มาปีนี้หลังจากที่พบว่าจีนปิดประตูเขื่อน บริเวณท่าเรือเชียงแสน ก็ไม่พบเรือใหญ่ของจีนมาจอดที่ท่าเรือตั้งแต่เทศกาลตรุษจีนเป็นต้นมา โดยชาวบ้านในพื้นที่รอบ ๆ หลายร้อยหลังคาเรือน ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมยังไม่เดือดร้อนมากนัก เนื่องจากมีแม่น้ำสาขา เช่น แม่น้ำกก ไว้เพาะปลูก ประกอบกับเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว คนไทยฝั่งเชียงแสนจึงยังไม่ถึงกับประสบปัญหาภัยแล้ง แต่ที่น่ากังวลคือ ช่วงเดือนมีนาคม หากสถานการณ์น้ำโขงยังลดระดับลงมากขนาดนี้ เป็นไปได้ว่า ชาวบ้านต้องเร่งใช้น้ำเจาะบาดาลเพิ่มเติม ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจไม่พอใช้

            “ตอนนี้แล้งไม่รุนแรง แต่แล้งมาเร็วกว่าปกติ มันก็น่าห่วง ยิ่งเรือใหญ่ ๆ ไม่สามารถเดินทางมาจอดเทียบท่าเรือได้ด้วยแล้ว ดูเหมือนว่าการลดลงของระดับน้ำโขงเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมากในปีนี้ แต่ชาวบ้านก็เร่งหาแผนสำรองในการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อใช้ยามจำเป็นช่วงมีนาคมถึงเมษายน” พระอภิชาติ กล่าว

ส่วนเกษตรกร อ.เชียงคาน จ.เลย เดือดร้อนหนักจากเหตุการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงเร็วผิดปกติ อย่างน้อยวันละ 20-30 เซนติเมตรต่อวัน เช่นกัน โดยกลุ่มเกษตรกรเชื่อกันว่า ในปี 2557 นี้ สถานการณ์ภัยแล้งจะรุนแรงที่สุดในรอบ 15 ปี เบื้องต้นสำรวจพบว่า การทำเกษตรในพื้นที่เสียหายแล้วกว่า 100  ไร่  ทั้งนี้มีรายงานข่าวระบุว่า กลุ่มเกษตรกรใน อ.เชียงคาน จ.เลย ได้รวมกลุ่มขอสูบน้ำโขงเข้าสู่บ่อปลาและแปลงเกษตร เนื่องจากน้ำในบ่อปลาแห้งขอดและพืชได้แห้งเหี่ยวตายไป สร้างความเสียหายนับร้อยไร่ โดยกรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากแม่น้ำโขงแห้งไวผิดปกติ โดย ลดลงอย่างน้อยวันละ 20-30 เซนติเมตร ในทุกวัน และกำลังวิกฤต

เขื่อนจีนสร้างปัญหาให้คนในลุ่มน้ำโขง

ทั้งนี้ปัญหาการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงของจีน กลายเป็นประเด็นปัญหามานาน กับประเทศที่อยู่ท้ายน้ำ ได้แก่ ลาว กัมพูชา ไทย และเวียดนาม โดยเห็นว่าจีนสร้างเขื่อนในประเทศตัวเองโดยไม่คำนึงถึงการใช้ประโยชน์อย่างเท่าเทียมบนสายน้ำแห่งนี้ ทั้งนี้จากข้อมูลของ เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ระบุข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนในจีนว่า รัฐบาลจีนมีนโยบายที่จะพัฒนาเขื่อนบนแม่น้ำโขงกว่า 20 แห่ง โดยในปัจจุบันได้สร้างเสร็จและดำเนินการแล้ว ได้แก่เขื่อนม่านวาน สร้างเสร็จในปี 2539 ขนาด 1,550 เมกะวัตต์ และเขื่อนต้าเฉาชาน สร้างเสร็จในปี 2546 ขนาด 1,350 เมกะวัตต์ เขื่อนเสี่ยววาน  สร้างเสร็จในปี 2555 ขนาด 4,200 เมกะวัตต์ และเขื่อนจิงหง สร้างเสร็จในปี 2553 ขนาด 1,750 เมกะวัตต์ และยังมีเขื่อนขนาดใหญ่อีกหลายแห่ง

สำหรับเขื่อนจิงหง ก็คือเขื่อนที่ตั้งอยู่ที่เมื่องจิงหง หรือเชียงรุ่ง ในแคว้นสิบสองปันนา ซึ่งเดิมรัฐบาลจีนจะสร้างขึ้น เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้แก่ประเทศไทย เพราะมีระยะทางห่างจากชายแดนไทยเพียง 280 กิโลเมตร แต่เนื่องจากนโยบายของไทยขาดความชัดเจน รัฐบาลจีนจึงตัดสินใจเดินหน้าในการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองในประเทศ และหากต่อไปประเทศไทยยังมีความต้องการจะซื้อไฟฟ้าจากจีนจำนวน 3,000 เมกะวัตต์ตามข้อตกลง รัฐบาลจีนก็จะพัฒนาเขื่อนอื่นเพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้ไทยต่อไป

ซึ่งการปิดซ่อมแซมเขื่อนขนาดใหญ่ของจีนในครั้งนี้ กำลังเป็นที่หวาดหวั่นว่าจะสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนที่อาศัยแม่น้ำโขงดำรงชีวิตอีกจำนวนมาก และคาดว่าจะรุนแรงกว่าหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนจนอาจจะทำให้กลายเป็นวิกฤติภัยแล้งในหลายพื้นที่

ขอบคุณภาพจาก Google

อ่านข่าวออนไลน์จากแฟนเพจเฟสบุ๊คของ TCIJ ได้ทุกวัน

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: