‘จาตุรนต์’ระบุสรรหานายกฯม.7ขัดรธน. เตือนบิ๊กทหาร-องค์กรอิสระอย่าหลงกล

12 พ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1867 ครั้ง

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. นายจาตุรนต์ ฉายแสง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chaturon Chaisang ถึงสถานการณ์การเมืองว่า หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง รวมทั้งทำให้รัฐมนตรีร่วมคณะ 9 คน ต้องสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีเฉพาะตัวลงไปด้วยนั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่มีสภาพสุญญากาศทางการเมือง และไม่เกิดเงื่อนไขที่จะทำให้ต้องมีการสรรหานายกฯ คนใหม่ เนื่องจากยังมีรัฐมนตรีอีก 25 คน รักษาการต่อไปได้ และสามารถให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาการแทนนายกรัฐมนตรี คือเป็นทั้งรักษาการแทนและเป็นผู้อยู่ในตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ หรือจะใช้คำว่า เป็นทั้งรักษาราชการแทน เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไปได้

ขณะนี้นอกจากไม่จำเป็นต้องสรรหานายกรัฐมนตรี แต่การสรรหานายกรัฐมนตรีขึ้นมาในช่วงนี้ ยังเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า “เมื่อนายกรัฐมนตรียุบสภาแล้ว คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง และคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งนั้น ยังต้องรักษาตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่”

นายจาตุรนต์ระบุว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติว่าเมื่อยุบสภาแล้ว ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน จึงไม่อาจมีการสรรหานายกรัฐมนตรีขึ้นมาในช่วงนี้ได้ ถึงแม้ว่านายกรัฐมนตรีจะถูกวินิจฉัยให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวแล้วก็ตาม ก็สามารถให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนได้ ส่วนการจะอ้างมาตรา 7 นั้น ก็เป็นการจงใจที่จะไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ จงใจที่จะทำให้เกิดความสับสน เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 มีไว้สำหรับกรณีที่เกิดเหตุการณ์หรือเกิดกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าให้ทำอย่างไร

แต่ในกรณีเหตุการณ์ในปัจจุบันทุกเรื่องมีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญไว้แล้วอย่างชัดเจน คือ เมื่อยุบสภา ก็ต้องมีการเลือกตั้งในระยะเวลาที่กำหนด เมื่อยุบสภา คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง แต่ยังต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ก็ต้องมาจากการเลือกตั้ง คือ จะต้องมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นสส.และได้รับการเลือกจากสภาผู้แทนราษฎร

นายจาตุรนต์กล่าวว่า จะไปตีความว่า ขณะนี้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ไม่มีนายกรัฐมนตรี แล้วจะต้องสรรหานายกรัฐมนตรีมา ปกติจะต้องให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือก แต่เมื่อไม่มีสภาผู้แทนราษฎรแล้วให้วุฒิสภาไปสรรหาใครก็ไม่รู้มาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นเรื่องที่โมเมเอาอย่างชัดเจน ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

            “ที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะทำให้เกิดสภาพสุญญากาศทางการเมือง โดยความร่วมมือกันของนายสุเทพกับพวกกปปส. และพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมมือกับองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ มีนักวิชาการบางส่วน สื่อมวลชนบางส่วนคอยสนับสนุน นอกจากนั้นกลุ่มเหล่านี้ก็พยายามที่จะดึงเอาผู้นำกองทัพให้เข้าร่วมด้วย แต่จนถึงขณะนี้ไม่มีใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มองค์กรใดกลุ่มองค์กรหนึ่ง ที่จะสามารถทำให้เกิดสภาพสุญญากาศทางการเมือง หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการเมือง ตามที่พวกเขาต้องการได้ตามลำพัง และถึงแม้จะใช้วิธีแบ่งบทกันเล่น แต่ล่าสุดจากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็ยังไม่สามารถทำให้เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมืองได้ ยังไม่เกิดสภาพและเงื่อนไขให้อ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้” นายจาตุรนต์ระบุ

นายจาตุรนต์กล่าวต่อว่า จนถึงขณะนี้การทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ความพยายามล้มรัฐบาล และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการเมือง อย่างที่ชนชั้นนำและอำมาตย์ต้องการนั้น อาจจะพูดได้ว่า มีการแบ่งบทบาทและเฉลี่ย ๆ กันไป ไม่มีกลุ่มองค์กรใดองค์กรหนึ่ง สามารถจะทำให้เกิดสภาพที่ต้องการได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยกลุ่มหรือองค์กรเพียงองค์กรเดียว มาถึงขณะนี้ มาถึงคิวของวุฒิสภา ซึ่งผู้ที่กระตือรือร้นเป็นพิเศษ ได้แก่ ประธานวุฒิสภาคนใหม่กับกลุ่ม 40 สว. ที่มีจุดมุ่งหมายอย่างชัดเจน ไม่ปิดบังอำพรางมาตลอดว่า ต้องการล้มรัฐบาลปัจจุบัน สร้างสภาพสุญญากาศทางการเมือง และเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า นายสุเทพกับพวกคงจะรู้ว่า สิ่งที่วุฒิสภาจะทำนั้น เป็นการขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน การอ้างมาตรา 7 นั้นฟังไม่ขึ้น จึงเรียกร้ององค์กรต่าง ๆ เข้ามา แต่การไปดึงเอาองค์กรอิสระและศาลต่าง ๆ เข้ามาร่วมหารือเพื่อให้เกิดข้ออ้างในการใช้มาตรา 7 และนำไปสู่การสรรหานายกรัฐมนตรีนอกรัฐธรรมนูญนั้น รังแต่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อองค์กรอิสระและศาลต่าง ๆ เนื่องจากจะทำให้คนเห็นอย่างชัดเจนถึงการสมรู้ร่วมคิดกันในการกระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเกิดเป็นความเสียหายเนื่องจากการกระทำที่ขัดต่อหลักการของระบอบประชาธิปไตย และเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองไปสู่ระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จึงขอเรียกร้องว่าอย่าไปร่วมมือกับนายสุเทพ เพราะมีแต่จะทำให้ความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระและระบบยุติธรรมยิ่งตกต่ำลงไปอีก

การให้วุฒิสภาสรรหานายกรัฐมนตรีนอกรัฐธรรมนูญ และหากมีการนำไปทูลเกล้าเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย เท่ากับเป็นการโยนภาระไปให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง การกระทำอย่างนั้น เท่ากับเป็นการดึงเอาสถาบันเบื้องสูงให้มาอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจนอยู่แล้ว

นายจาตุรนต์กล่าวอีกว่า การที่นายสุเทพจะหารือกับผู้นำกองทัพนั้น อยากเตือนว่า ที่ผ่านมาถึงแม้ผู้นำกองทัพบางคน จะวางตัวไม่ค่อยเป็นกลางนัก แทนที่จะช่วยรัฐบาลรักษากฎหมายก็ไม่ช่วย บางครั้งก็ไปคุ้มครองผู้ชุมนุมที่กำลังถูกตั้งข้อหาว่าเป็นกบฏ แต่ก็ต้องถือว่าผู้นำกองทัพยังประคับประคองบทบาทของตนไว้ได้พอสมควร ไม่ให้ถลำลึกจนเกินไป ครั้งนี้จึงควรระมัดระวังที่จะไม่ไปตกหลุม ถลำลึกเข้าไปร่วมมือกับนายสุเทพในการล้มล้างรัฐบาล และสร้างระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะถ้าหากผู้นำกองทัพเข้าไปร่วมมือกับนายสุเทพอย่างเต็มตัวแล้ว สิ่งที่พยายามหลีกเลี่ยงมาตลอด คือ รัฐประหารและการปราบ การฆ่าประชาชน ก็จะเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงต่อไปได้

เพราะจะมีผู้รักประชาธิปไตยจำนวนมากออกมาคัดค้านทั่วประเทศ ผู้นำกองกองทัพก็จะตกอยู่ในสภาพที่เหตุการณ์บังคับ หรือไม่ก็ถูกชนชั้นนำและอำมาตย์บังคับให้ต้องปราบต้องฆ่าประชาชน และในที่สุดก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการรัฐประหารได้ แต่หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้น สิ่งที่ตามมา คือ การนองเลือดและความสูญเสียที่ไม่มีวันสิ้นสุด ในเมื่อกองทัพประคับประคองตนเองมาจนถึงวันนี้ โดยไม่ต้องปราบไม่ต้องฆ่าประชาชน และยังไม่ต้องทำรัฐประหาร ก็ไม่ควรไปหลงกล ตกหลุมนายสุเทพกับพวกและพรรคประชาธิปัตย์

โดยเฉพาะผู้นำกองทัพที่ใกล้จะเกษียณอายุราชการแล้ว ต้องนึกให้ดีว่า ถ้าทำรัฐประหารในขณะที่ยังมีอำนาจอยู่ แต่การต่อสู้และความรุนแรงและความสูญเสียจะเกิดขึ้น กลุ่มนปช.และคนเสื้อแดงมีความเข้าใจว่า จะไม่สร้างเงื่อนไขยั่วยุให้เกิดความรุนแรง หรือหลีกเลี่ยงการปะทะกับฝ่าย กปปส.ทำให้สบายใจได้ว่า กลุ่มนปช.และคนเสื้อแดงจะไม่เป็นฝ่ายสร้างเงื่อนไขให้เกิดข้ออ้างในการรัฐประหารเกิดขึ้นเสียเอง สำหรับการเคลื่อนไหวชุมนุมของกลุ่มนปช.และคนเสื้อแดงนั้น ส่วนตัวคิดว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่มีความหมายอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะในขณะนี้การแสดงพลังของประชาชนผู้รักประชาธิปไตย ที่มีการสนับสนุนจากนักวิชาการ อดีตข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบ้าง เป็นสิ่งที่จะทำให้ชนชั้นนำ อำมาตย์ และผู้นำกองทัพจะต้องนำไปคิดให้ดีว่า ยังจะดันทุรังเดินหน้ากันต่อไปหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้นำกองทัพต้องคิดหนักที่สุด เพราะผู้ที่จะต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มพลังประชาธิปไตย ผู้นำกองทัพจะต้องตัดสินว่า พลังประชาธิปไตยที่มีในวันนี้ ซึ่งถึงวันที่มีนายกฯ คนนอก พลังเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าอย่างรวดเร็ว ผู้นำกองทัพ พร้อมที่จะปราบ พร้อมที่จะฆ่าพวกเขาหรือไม่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: