มีคำกล่าวว่า สัจนิยมมหัศจรรย์ คือ การนำเรื่องจริงมาเล่าใหม่แบบเหนือจริงเพื่อหลบหลีกอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้เล่า กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ นักเขียนชาวโคลัมเบีย เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ปี ค.ศ.1982 ผู้บุกเบิกงานเขียนด้านสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) คนไทยรู้จักเขาผ่านผลงานเลื่องชื่อเรื่อง 100 ปีแห่งความโดดเดี่ยว(One Hundred Years of Solitude) ซึ่งจากโลกไปในวัย 87 ปี เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 และในสภาพสังคมปัจจุบันที่ความจริงหลายเรื่องเป็นสิ่งละเอียดอ่อน สัจนิยมมหัศจรรย์ จึงถูกพูดถึงในฐานะ วิธีการเล่าเรื่องเพื่อเอาตัวรอดจากอันตรายของฝ่ายตรงข้าม
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาหัวข้อ รัฐศาสตร์ภาคประชาชน ตอน สัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) แด่การจากไปของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ขึ้น โดยมุ่งประเด็นไปที่งานเขียนประเภทสัจนิยมหัศจรรย์ที่ปรากฎในงานเขียนของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ
กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ
ผศ.ดร. สุรเดช โชติพันธ์ ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญวรรณคดีในแนว สัจนิยมมหัศจรรย์โดยเฉพาะในวรรณกรรมของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ชี้ว่างานของมาเกซล้วนแล้วแต่มีนัยซ่อนเร้นที่ซับซ้อนและน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองลาตินอเมริกาหรือสายสัมพันธ์ที่ลาตินอเมริกามีต่อกลุ่มประเทศมหาอำนาจ การครุ่นคิดไตร่ตรองเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมนุษย์เอง และอาจกล่าวได้ว่า ความมหัศจรรย์ของสัจนิยมมหัศจรรย์ในงานของกาเบรียลการ์เซีย มาร์เกซ อยู่ที่การผสมผสานระหว่างรูปแบบที่น่าตื่นเต้นกับนัยแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ที่ซับซ้อนทำให้ผู้อ่านไม่ได้รับเพียงแค่ความเพลิดเพลินเพียงอย่างเดียว หากยังทำให้ต้องฉุกคิดเกี่ยวกับการเมืองและเรื่องวัฒนธรรมอันซับซ้อน
จุดเด่นของงานของมาร์เกซก็คือ การเขียนงานด้วยลักษณะสัจจนิยมมหัศจรรย์ ที่มีลักษณะของการพรรณาถึงลักษณะและเหตุการณ์ที่มหัศจรรย์ต่าง ๆ ซึ่งปรากฏขึ้นมาในลักษณะการผสมผสานกับเหตุการณ์จริงหรือเหตุการณ์ที่เรามองว่าปกติธรรมดา อาทิ ฝนตกเป็นร้อยปี ดอกไม้ร่วงหล่นจากฟากฟ้า จอมเผด็จการมีอายุยืนนับศตวรรษ พระลอยได้ ศพไม่เน่าเปื่อยรวมทั้งคนรักที่พรากจากกันนับครึ่งศตวรรษได้กลับมารักกันอีกครั้ง ซึ่งก็คือการดึงเอาเรื่องราวกลับไปสู่เหมือนยุคจินตนิยาย
100 ปีแห่งความโดดเดี่ยว
ผลงานที่โดดเด่นของเขาที่ชื่อว่าหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวนั้น ก็วางอยู่บนเรื่องราวของชีวิตที่ถูกจินตนาการขึ้นมาในสังคมวัฒนธรรมของลาตินอเมริกา แต่ก็ได้รับความนิยมในการอ่านจากนักอ่านทั่วโลก งานชิ้นนี้ของเขาก่อตัวมาจากการใช้ชีวิตในวัยเด็กของเขาในหมู่บ้านเล็ก ๆ และการใช้ชีวิตกับคุณตาของเขาซึ่งเป็นอดีตนายทหารงานเขียนของเขากล่าวถึงการใช้ชีวิตหลายชั่วอายุคนของตระกูล "บูเอนดิยา" ในระยะเวลากว่าหนึ่งศตวรรษกับเรื่องราวที่อุบัติขึ้นกับสมาชิกของครอบครัวหนึ่ง ซึ่งคำนิยมของงานชิ้นนี้ก็คือเป็นงานที่มิใช่เพียงสะท้อนถึงปัญหาและชะตากรรมของผู้คนพลเมืองในดินแดนละตินอเมริกาหากยังช่วยให้ผู้อ่านแลเห็นเนื้อแท้ของเหตุการณ์ทางสังคม การเมืองตลอดเรื่องราวอื่นๆกระทั่งได้รับการชื่นชมสรรเสริญในฐานะมหากาพย์ร่วมสมัยที่เผยความเป็นไปของประเทศโลกที่สามได้อย่างถึงแก่น
ดร.สุรเดช ตั้งข้อสังเกตว่า ความเจ็บปวดในวรรณกรรมลาตินอเมริกามักแสดงออกในรูปของสังคมที่ตกอยู่ในภาวะขัดแย้งระหว่างประเพณีนิยมกับสมัยนิยมระหว่างเรื่องโกหกกับความเป็นจริงเพื่อหลีกหนีไปให้พ้นจากความทุกข์ทรมานจากสภาพสังคมที่เป็นอยู่ ประโยคในเรื่องราวจึงมักใช้ข้อความหรือประโยคที่เป็นสัญลักษณ์เช่น “โผผินไปสู่ดวงตะวันโดยปราศจากความสนใจใยดีของกลุ่มผู้หญิงที่กำลังซักผ้าอยู่” ดังที่ปรากฏอยู่ในนวนิยายเรื่อง "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว”
นอกจากนี้บทบาทที่สำคัญของมาเกซยังเกี่ยวข้องกับเรื่องของการต่อต้านเผด็จการอำนาจนิยมฝ่ายขวาเชิดชูการต่อสู้แบบสังคมนิยม และเป็นปฏิปักษ์กับลัทธิจักรวรรดิ์นิยมอเมริกันมาเกซคบหาเป็นสหายทางวรรณกรรมกับคาสโตรของคิวบาและไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าสหรัฐอเมริกาจนกระทั่งยุคของประธานาธิบดี บีล คลินตัน ซึ่งยอมรับว่า ตนนั้นเป็นแฟนนิยายของมาเกซรวมทั้งการให้การสนับสนุนกับพรรคการเมืองในเวเนซูเอล่าและสนับสนุนกลุ่มซาดินิสต้าในนิคารากัว
“คุณูปการณหนึ่งของวรรณกรรมสัจจนิยมมหัศจรรย์จากงานของมาเกซ คือ ชวนให้ผู้อ่านคิดต่อและตั้งคำถามอย่างไม่ด่วนสรุป เป็นต้นว่าเราจะทำอย่างไรในสภาวะปัจจุบันที่หลายเรื่องเราไม่รู้ว่าจะอธิบายมันอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องทีมีความละเอียดอ่อนและแตกต่างทางทัศนคติ สัจนิยมมหัศจรรย์จะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ใช้อธิบายเรื่องต่างๆโดยทำเสมือนมันไม่ใช่เรื่องจริง” ดร.สุรเดชกล่าว
เช่นเดียวกับ รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวานิชย์ ภาควิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมสาสตร์ กล่าวถึงบทบาทของงานวรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์ในทางการเมืองว่า งานเขียนส่วนใหญ่ในทศวรรษที่ 1960-1970 มักถูกใช้เพื่อนำเสนอหรือวิพากษ์สังคมรวมถึงรัฐบาลในลาติอเมริกาเพื่อหลีกเลี่ยงการเซ็นเซอร์หรือการกวาดล้างจับกุม
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ