เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กทม. มีการจัดเวทีเสวนาเรื่อง “จาก 3.5 แสนล้าน สู่ข้อเสนอเร่งด่วน การบริหารจัดการน้ำประเทศไทย” โดยมีผู้แทนองค์กรด้านการจัดการน้ำ นักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกันอย่างคับคั่งประมาณ 100 คน อาทิ นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ดร.คมสัน มาลีสี สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.กมล เปี่ยมสมบูรณ์ ประธานสภาเครือข่ายลุ่มน้ำท่าจีน
ดร.บัญชา ขวัญยืน ประธานอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ กล่าวว่า ประเทศไทยมีการถกเถียงเรื่องการจัดการน้ำและพยายามเสนอตั้ง พ.ร.บ.การจัดการทรัพยากรน้ำมาตั้งแต่สมัยที่พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ การเกิดขึ้นขององค์กรต่าง ๆ ที่พยายามอ้างภัยแล้ง อ้างน้ำท่วม และพยายามเลือกแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่มบุคคล โดยระบายน้ำสู่ความทุกข์ของอีกกลุ่มคน เป็นวัฎจักรที่ไม่เคยจบสิ้น กระทั่งเมื่อมีการนำเสนอโครงการ 3.5 แสนล้านบาท พบว่าประเทศไทยยิ่งก้าวถอยหลังไปอีกกับความไม่เข็ดเรื่องการวางแผนในการจัดการทรัพยากรน้ำ ดังนั้นหาก คสช.ยังมีบทบาทในการบริหารอยู่ อยากให้รับข้อเสนอเร่งด่วนไปพิจารณาเกี่ยวกับโครงการ 3.5 แสนล้าน คือ 1 ข้อเสนอระยะเร่งด่วน ที่สามารถบรรเทาเรื่องภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ คือ เร่งออก พ.ร.บ.การจัดการทรัพยากรน้ำ
“อยากให้ประเทศไทยมีแผนแม่บทเรื่องการจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น การแก้ปัญหาคอขวด หรือ การแก้เส้นเลือดขอดของเจ้าพระยา ส่วนการแก้ปัญหาแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก็อาจต้องออกแบบฤดูการเพาะปลูก เพื่อให้การเกษตรเกิดขึ้นตามช่วงเวลาที่มีน้ำเหมาะสม ไม่ต้องหวังอาศัยน้ำจากเขื่อนใดๆ ซึ่งสามารถทำได้ทั้งแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน ปิง วัง ยม น่าน และแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง สะแกกรัง ป่าสัก เจ้าพระยา ท่าจีน ส่วนเขื่อนหลักลุ่มน้ำก็ควรมีเกณฑ์เปิด-ปิดที่แน่ชัด หากจะมีบางงพื้นที่ท่วมก็ต้องปล่อยตามธรรมชาติ เราแนะนำให้สร้างคลองลัดเจ้าพระยา บางบาล /บางไทร และปรับปรุงคลองระบายน้ำชัยนาท –ป่าสัก แนวคลองรพีพัฒน์ ขยายประตูน้ำให้ระบายน้ำได้ประมาณ 500 ลบ.ม./ต่อวินที จนถึงคลองชายทะเล” ดร.บัญชา กล่าว
ดร.บัญชากล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอระยะยาว คือ การจัดผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีองค์กรลุ่มน้ำที่มีบทบาทชัดเจนและร่วมกับท้องถิ่นจัดสรรน้ำอย่างเป็นระบบ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ไม่ใช่มุ่งสร้างเขื่อนแล้วจ้องหาผลประโยชน์จากการทำลายป่า การตัดไม้เหมือนกับการเมืองหลายฝ่ายพยายามจะทำให้โครงการ 3.5 แสนล้าน และ คสช.ควรยึดหลักวิชาการที่สอดคล้องกับประชาชน แก้ปัญหาการทุจริตให้ได้ เพราะจากเงินทุนที่ทุ่มไปของหน่วยงานหลายส่วนที่สร้างเวทีรับฟังความเห็น เสมือนกับเวทีประชาพิจารณ์ก็สะท้อนแล้วว่างบประมาณที่หมดไปไม่เกิดประโยชน์ใดๆ
ด้าน รศ.ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร นักวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน กล่าวว่า อยากเสนอให้ คสช.ยุบสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ หรือ สบอช. เพราะไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารงาน อาทิ โครงสร้างที่ สบอช.ได้ร่วมสนับสนุน ต่อกรณีโครงการ 3.5 แสนล้านบาทนั้น พบว่าผิดขั้นตอนหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดระยะเวลาในการก่อสร้างโครงการ 9 โมดูลให้เสร็จภายใน 3-5 ปี แล้วเปิดให้บริษัทเอกชนทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาประมูลราคา โดยไม่ผ่านการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เพราะตามหลักวิศวกรรมการก่อสร้างนั้นยังมีข้อจำกัดเรื่องของวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร เครื่องมือ ทักษะของแรงงานและภาควิชาการ อีกหลายส่วน แต่ละโมดูลช้าเร็วต่างกัน จุดก่อนตรงนี้สะท้อนว่าสบอช.ไม่มีศักยภาพ
นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า อยากให้ คสช.ประเมินและทบทวนให้รอบคอบและยอมรับว่า รัฐบาลที่ผ่านมาบกพร่องในการศึกษาข้อมูล เกี่ยวกับแผนบริหารทรัพยากรน้ำ ดังนั้นเมื่อ คสช.มีอำนาจในขณะนี้จึงไม่ควรเดินหน้า โดยขาดความรอบคอบ เพราะเงินทุนที่หมดไปกับความไม่โปร่งใสของโครงการสะทำให้ระบบจัดการน้ำยิ่งล้าหลัง และผลักดันผลกระทบสู่ประชาชนมากขึ้น
“ไม่มีประเทศใดเขาทำแล้ว กรณีจัดประชุมหมดหลายล้านบาท แถมมีคณะกรรมการย่อยๆ อีกหลายกลุ่ม การสร้างเขื่อน หรือ สร้างฟลัดเวย์หรืออะไรก็ตาม ไม่ใช่คิดออกแบบแล้วทำได้ น้ำจำเป็นต่อทุกคน หากไม่มีการวางแผนที่ดีแล้วยังมายืดเวลาทบทวนอะไรหลายอย่างโดยไม่ฟังเสียงวิชาการ แล้วยังจะพยายามหาข้ออ้างที่บิดเบือนข้อเท็จจริงนอกจากเปิดช่องทุจริตแล้วยังสร้างผลกระทบต่อชุมชนระยะยาวด้วย ไม่ว่าสร้างเขื่อนหรือสร้างอะไรก็ตาม” นายปราโมทย์กล่าว
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ