วิจัยแฉ5ผลกระทบโครงการพัฒนาใต้ แนะรัฐบาลทบทวน-ฟังความเห็นชุมชน

ชุลีพร บุตรโคตร TCIJ 12 ก.ย. 2557 | อ่านแล้ว 5736 ครั้ง

เป็นคำถามตลอดมาเกี่ยวกับสิทธิของชุมชนกับนโยบายการพัฒนาประเทศว่า แท้จริงแล้วการดำเนินการจากภาครัฐได้ให้สิทธิกับชุมชนได้เลือกการดำรงชีวิตของตัวเอง บนเส้นทางการพัฒนาตามที่รัฐวางเป้าหมายไว้ได้จริงตามกระบวนการด้านสิทธิมนุษยชน ที่ทุกฝ่ายได้พยายามร่างระเบียบกฎเกณฑ์ขึ้นหรือไม่

รายงานการวิจัย “สิทธิชุมชน และผลกระทบจากโครงการพัฒนาภาคใต้” ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยศ.ดร.อาภา หวังเกียรติ ที่ปรึกษาโครงการวิจัยดังกล่าว เปิดเผยว่า การวิจัยการละเมิดสิทธิชุมชน เป็นการดำเนินการในพื้นที่ที่คณะกรรมการสิทธิฯ ได้รับการร้องเรียนจากชุมชนใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สงขลา และสตูล ที่ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกและภาคใต้ ซึ่งแผนพัฒนาภาคใต้เป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่อยู่ภายใต้การศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งการศึกษาและจัดทำแผนได้รับการสนับสนุนและศึกษาโดยต่างประเทศ ได้แก่ แผนพัฒนาภาคใต้ตอนบน มีองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency,JICA) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asain Development Bank,ADB) เป็นผู้ศึกษาระหว่างพ.ศ.2528-2530

ส่วนแผนแม่บทโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ศึกษาระหว่างปีพ.ศ.2534-2535 โดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา 4 บริษัท คือ บริษัท Bechtel สหรัฐอเมริกา บริษัท Nippon Koei ญี่ปุ่น และบริษัทไทยอีก 2 บริษัทคือ บริษัทเอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด (AEC) และบริษัท เซ้าท์อีสท์ เอเชียเทคโนโลยี จำกัด (SEATEC) หลังจากนั้นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ผลักดันโครงการแผนพัฒนาภาคใต้เข้าสู่นโยบายระดับชาติ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการชะลอและทบทวนการดำเนินการมาแล้วหลายครั้ง แต่ยังคงเป้าหมายเดิมเพื่อพัฒนาภาคใต้ให้เป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลังงานของภูมิภาค

ปกปิดข้อมูล-ชี้แจงแบบแยกโครงการ

ดร.อาภากล่าวต่อว่า การดำเนินงานในระยะแรกของแผนพัฒนาภาคใต้ มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรรม โดยใช้วิธีการแยกย่อยแผนงานโครงการไปตามภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงาน เช่น การจัดทำแผนพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรรมโดยกรมชลประทาน การพัฒนาระบบถนน การขนส่งทางราง และท่าเรือน้ำลึก โดยกระทรวงคมนาคม การจัดเตรียมพลังงานไฟฟ้าโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การพัฒนาท่อพลังงานและอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยกระทรวงพลังงาน การศึกษาความเป็นไปได้ของพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  ฯลฯ

และในการแยกย่อยโครงการต่าง ๆ พบว่า หน่วยงานดังกล่าวไม่ได้มีการชี้แจงข้อมูล ว่าโครงการมีความเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาภาคใต้ ทำให้ชุมชนไม่เห็นภาพรวมของโครงการพัฒนาใหญ่ เหมือนเป็นการปิดบังข้อมูลหรือเปิดเผยข้อมูลไม่หมดทั้งภาพใหญ่

            “ชุมชนต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบภายใต้การดำเนินการโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับแผนพัฒนาภาคใต้ในพื้นที่ 4 จังหวัด ล้วนประสบถูกละเมิดสิทธิ์จากหน่วยงานของรัฐและเอกชน ทั้งสิทธิในการกำหนดอนาคตเจตจำนงของตนเอง สิทธิในการพัฒนา สิทธิในมาตรฐานการครองชีพ สิทธิในข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และสิทธิของชุมชนในการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น” ดร.อาภาระบุ

ชุมชนไม่มีสิทธิออกเสียง-กำหนดอนาคตตัวเอง

ทั้งนี้ในการเสนอรายงานดังกล่าว ระบุชัดเจนว่า จากการดำเนินการกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิ์มนุษยชนแห่งชาติ ในพื้นที่ที่ได้รับการร้องเรียนดังกล่าวพบว่า มีการละเมิด ละเลยความสำคัญของสิทธิมนุษยชน 5 ด้านด้วยกัน  ได้แก่

1.สิทธิในการกำหนดอนาคตและเจตจำนงของตนเองและสิทธิในการพัฒนา ซึ่งที่ผ่านมาโครงการพัฒนาภาคใต้เป็นชุดโครงการขนาดใหญ่ที่ถูกกำหนดจากหน่วยงานระหว่างประเทศ รัฐบาล และหน่วยงานของรัฐ เช่น แผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากพลังงาน โครงการท่อขนส่งพลังงาน เป็นต้น แต่เมื่อลงมาสู่ชุมชน กลับถูกแยกส่วนออกไปในระดับความรับผิดชอบต่าง ๆ ของหน่วยงาน ทำให้ชุมชนไม่เห็นความเชื่อมโยงของโครงการทั้งหมด จึงถือเป็นการละเลยสิทธิของชาวบ้านและชุมชน ในการกำหนดอนาคตและเจตจำนงของตนเองและสิทธิในการพัฒนา

2.สิทธิในมาตรฐานการครองชีพ พบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพโดยอาศัยทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่นที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์ ขณะที่โครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จะเป็นสาเหตุสำคัญในการทำลายแหล่งทำมาหากิน อาชีพของชาวบ้าน ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ความผาสุกของครอบครัวและชุมชน เพราะพื้นที่ที่ถูกกำหนดว่าจะดำเนินโครงการท่าเรือน้ำลึก โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงถลุงเหล็ก อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ล้วนแล้วแต่อยู่ในพื้นที่ประมงชายฝั่ง ที่เป็นแหล่งทำมาหากินของประชาชน  ซึ่งชุมชนเชื่อว่าแหล่งทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้เสื่อมโทรม จะทำให้วิถีชีวิตประมงต้องเปลี่ยนแปลงไป

ให้ข้อมูลเพียงข้อดีด้านเดียว

3.สิทธิในการรับข้อมูลข่าวสาร พบว่าโครงการพัฒนาภาคใต้ ซึ่งเจ้าของโครงการทราบว่า จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อชุมชน แต่กลับไม่ให้ประชาชนรับรู้ข้อมูข่าวสาร และไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดการดำเนินโครงการต่อสาธารณะ แม้กระทั่งนักวิชาการในมหาวิทยาลัยของภาคใต้ ก็ยังไม่รู้ข้อมูลเลยว่าจะเกิดโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่ใดบ้าง หากต้องการทราบต้องไปค้นหาจากเอกสาร จากนโยบาย จากแผนงานต่าง ๆ หรือที่ไปปรากฎอยู่ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแม้แต่โครงการที่มีการดำเนินการในพื้นที่แล้ว ก็ไม่มีการแจ้งรายละเอียดกับประชาชนในพื้นที่

นอกจากนี้การยื่นร้องขอเอกสารรายละเอียดโครงการ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รายงานการประชุมของชาวบ้านและชุมชน มักจะไม่ได้รับการเปิดเผยจากหน่วยงานรัฐ นอกจากนี้ในกระบวนการพิจารณาการตัดสินใจต่างๆ เช่น การพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การประกาศเขตนิคมอุตสาหกรรม ก็ไม่ให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น สะท้อนให้เห็นว่า ชาวบ้านและชุมชนยังไม่ได้รับการปฏิบัติจากหน่วยงานราชการในเรื่องสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารตามรัฐธรรมนูญ

4.สิทธิชุมชนในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ การดำเนินโครงการภายใต้แผนพัฒนาภาคใต้ล้วนคุกคามพื้นที่ซึ่งชุมชนได้อาศัยใช้ประโยชน์ความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้อต่อวิถีชีวิตและการดำรงชีพ เช่น พื้นที่ป่าพรุแม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อ่าวทองคำ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช อ่าวปากบารา อ.ละงู จ.สตูล เป็นต้น การเข้าไปใช้พื้นที่ดังกล่าวของอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึก โรงไฟฟ้า ย่อมคุกคามสิทธิชุมชนในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน ที่เคยมีมาแต่ดั้งเดิม

5.สิทธิของชุมชนในการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น การจัดทำแผนงานโครงการพัฒนาภาคใต้ ตั้งแต่ระดับชาติ ระดับภาค จนถึงระดับท้องถิ่น เป็นการคิดแบบรวมศูนย์ และกำหนดมาจากหน่วยงานส่วนกลาง ไม่ได้เป็นการจัดทำแผนที่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อน และหน่วยงานที่รับผิดชอบก็เพียงแต่ปฏิบัติตามกระบวนการ และขั้นตอนทางกฎหมายของหน่วยงานตนเอง ที่ยังมิได้มีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เช่น พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรม พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เป็นต้น

นอกจากนี้การรับฟังความคิดเห็นของโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ก็ยังเน้นกระบวนการทางเทคนิคที่ให้แต่ข้อมูลประโยชน์และด้านดีของโครงการ ซึ่งยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการรับฟังความคิดเห็นภายใต้รัฐธรรมนูญ

            “การเข้าร่วมรับฟัง มีกระบวนการหลายอย่างที่ชาวบ้านเข้าไม่ถึง เช่น จะต้องลงทะเบียนผ่านอินเตอร์เนต ซึ่งชาวบ้านทำไม่ได้อยู่แล้ว เช่นกรณีการสร้างเขื่อนต่างๆ มีกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแต่ไม่สามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ เพราะผู้ที่จะเข้าร่วมได้จะต้องลงทะเบียนผ่านอินเตอร์เนตมาล่วงหน้า ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข เพราะประชาชนไม่ได้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ทุกคน” ดร.อาภากล่าว

แนะกรรมการสิทธิ์ฯให้รัฐทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้

จากการวิจัยดังกล่าวยังได้สรุปข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และข้อเสนอแนะต่อการทำงานเชิงรุกของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งข้อเสนอแนะเชิงนโยบายระบุว่า ควรผลักดันให้มีการทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ ผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบบในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) รีบเร่งผลักดันพระราชบัญญัติสิทธิชุมชนฯ, ผลักดันให้มีการปรับปรุงกฎหมายและกฎกระทรวง และระเบียบของหน่วยงานต่าง ๆ ให้สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ (สิทธิชุมชน)

ส่วนการทำงานเชิงรุกของกสม.ได้แก่ 1.ผลักดันให้เกิดการปรับปรุงระบบ กระบวนการ และกลไก การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยจัดเวทีให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสิทธิชุมชนและระบบการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ประสานเครือข่ายนักวิชาการเพื่อปฏิรูประบบการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทำให้เรื่องสิทธิชุมชนมีการสื่อสารต่อสาธารณะในวงกว้าง และใช้กระบวนการยุติธรรมในการฟ้องร้อง

2.การขยายรูปแบบการประสานการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานรัฐในการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาจังหวัดโดยประชาชนมีส่วนร่วม กรณีจ.ประจวบคีรีขันธ์

3.ผลักดันให้เกิดการประกาศพื้นที่คุ้มครองแหล่งผลิตอาหารในภาคใต้ โดยใช้กลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการประกาศข้อบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ

กระทบอาชีพประมงมูลค่ามหาศาล

นอกจากนี้ นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า การดำเนินโครงการของภาครัฐในหลายโครงการไม่คำนึงถึงวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะภาคใต้คนส่วนใหญ่ดำรงชีวิตด้วยการทำประมง ซึ่งได้รับผลกระทบทั้งวิถีชีวิตและเศรษฐกิจอย่างแน่นอน บางโครงการละเมิดความเชื่อทางศาสนา เช่น การเวนคืนที่ดินวากัฟของศาสนาอิสลาม เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การเผชิญหน้า จนกลายเป็นปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งรัฐจะต้องให้ความสำคัญและรับฟังเสียงของชุมชนให้มากขึ้น เนื่องจากแผนพัฒนาภาคใต้ไม่ได้คำนึงถึงสิ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่ต้องการ เช่น กรณีกลุ่มชาวประมงที่ถือเป็นอาชีพสำคัญ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล เพียงจ.นครศรีธรรมราชพื้นที่เดียว ก็มีกลุ่มที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างแน่นอน

ทั้งนี้จากข้อมูลเรื่อง “บทบาทและความสําคัญของการประมงพื้นบ้านจังหวัดนครศรีธรรมราชที่มีต่อเศรษฐกิจไทย” โดย ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน ระบุว่า การประมงในอ่าวท่าศาลา สร้างรายได้ถึงวันละ 2,000-3,000 บาทต่อเรือหนึ่งลํา มีเรือประมงออกหาปลากว่า 1,000 ลําต่อวัน และมีการจ้างงานกว่า 5,000 คน เกิดการจ้างงานในพื้นที่เพื่อเป็นลูกเรือ ขณะที่สตรีหรือเด็กที่ไม่สามารถออกเรือไปกับหัวหน้าครอบครัว ก็ยังมีงานแปรรูปสินค้าในโรงงาน ขณะเดียวกันก็เกิดอุตสาหกรรม ในรูปแบบที่กลมกลืนไปกับวิถีชีวิตประมง มีเรือประมงจากพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาทำประมงอีกด้วย เช่น จากสุราษฎร์ธานี ปัตตานี ชุมพร เพชรบุรี และสงขลา เป็นต้น

         “การประมงพื้นบ้านในจ.นครศรีธรรมราช มีผลิตภัณฑ์มวลรวมเฉลี่ยคิดเป็นมูลค่า 500,480,161 บาท (พ.ศ. 2546-2551) หากเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทําให้ไม่สามารถทําการประมงพื้นบ้านได้อีกต่อไป จะทําให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประมงของประเทศลดลงไป 500.48 ล้านบาทด้วย” ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงเพียง 1 พื้นที่ ที่หลายฝ่ายเชื่อว่าจะเกิดขึ้นแน่นอนหากรัฐยังคงมุ่งพัฒนาโดยขาดการมีส่วนร่วม

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: