กฟผ.เกณฑ์ร่วมเวทีค.3 เมินชาวบ้านต้านโรงไฟฟ้า

12 ต.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1616 ครั้ง

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ที่หน้าที่ว่าการอำเภอเหนือคลอง จ.กระบี่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ค.3 โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยมีประชาชนมาร่วมในเวทีหลายร้อยคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่กฟผ.ได้เชิญมาแทบทั้งสิ้น นอกจากนี้บริเวณนอกหอประชุม มีกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือขนส่งถ่านหินมาชุมนุมเกือบ 1,000 คน แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในภายในท่ามกลางเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจชุดปราบจลาจล หลายร้อยนาย โดยหน้าหอประชุมมีการตั้งเครื่องตรวจอาวุธ พร้อมทั้งตรวจบัตรประชาชนผู้ที่จะเข้าไปร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นด้วย อย่างไรก็ตามสื่อมวลชนที่เข้าไปร่วมได้ จะมีเฉพาะที่กฟผ.อนุญาตหรือมีชื่อเชิญมาเท่านั้น

ขอบคุณภาพจาก เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน

ต่อมาตัวแทนเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน ซึ่งคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือขนส่งถ่านหิน อ่านแถลงการณ์ระบุว่า

1

กองทุน The Rockefeller Brothers Fund ได้ออกประกาศหนึ่งวัน ก่อนที่ผู้นำโลกจะมาประชุมเรื่องสภาวะโลกร้อนที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยเรื่องการจะถอนตัวออกจากการลงทุนในพลังงานฟอสซิลโดยจะลดให้เหลือไม่ถึง 1% ภายในปี 2557 นี้ ซึ่งเป็นการยืนยันว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสกปรกกำลังเดินไปสู่ “ก้นหอยแห่งความตาย”

2

การประกาศปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินกว่า 150 โรง ในประเทศสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในทวีปยุโรป รวมทั้งประเทศพม่าซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของเรา แสดงให้เห็นการตกผลึกเชิงนโยบายว่าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่อาจเกิดขึ้นในประเทศของพวกเขาได้อีกต่อไป ประเทศส่วนใหญ่ในโลกจึงมีแนวโน้มที่ตรงกันในการประกาศหยุดใช้โรงไฟฟ้าถ่านหิน และสนับสนุนการผลิตใช้พลังงานหมุนเวียน

ขอบคุณภาพจาก เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน

3

คำถามจึงมีอยู่ว่าเหตุใดประเทศไทยจึงประกาศสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงใหม่จำนวนหลายโรง ทั้งที่ประเทศเรามีทรัพยากรมากมาย รวมทั้งเป็นประเทศเขตร้อนที่สามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้เป็นอย่างดี การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินครั้งนี้แฝงนัยยะของการรับใช้ทุนพลังงานใช่หรือไม่ จึงเร่งรัดผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ ข้อสังเกตคือมีกลุ่มทุนพลังงานได้ทำการสัมปทานเหมืองถ่านหินไว้แล้ว โดยเฉพาะจากประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลีย ทำให้เรา – ประชาชน ต้องตกเป็นทาสของการผูกขาดของกลุ่มทุนพลังงาน และต้องเป็นผู้รับกรรมจากผลกระทบที่ไม่อาจเยียวยาได้

4

การวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดกระบี่ ทำให้ประชาชนเป็นเพียงเหยื่อของกลุ่มทุนพลังงาน

ทำให้พวกเราไม่อาจนิ่งดูดายต่อผลกระทบที่จะเกิดกับชีวิตของประชาชนรวมถึงหายนะทางสิ่งแวดล้อมได้ เพราะธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นมรดกที่ล้ำค่าที่สุดสำหรับลูกหลานเราในอนาคต สิ่งที่เกิดขึ้นตามกระบวนการEIAเป็นเพียงการเล่นละครเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มทุนพลังงานเท่านั้น เราจึงไม่สามารถยอมรับต่อกระบวนการดังกล่าวได้ เพราะยุทธศาสตร์ของเราชัดเจนแล้วว่า เราไม่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จึงไม่จำเป็นต้องพูดถึงกระบวนการเพื่อที่จะทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นได้อีกต่อไป

ขอบคุณภาพจาก เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน

5

กระบวนการ ค.3 ในวันนี้เป็นไปเพื่อการสร้างความชอบธรรมให้กระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งไม่ตรงกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดกระบี่ที่ต้องการพลังงานสะอาด แม้ว่ากระบวนการ ค.3 จะผ่านไปได้ แต่เรายังคงยืนยันในเจตจำนงของประชาชนชาวกระบี่ ที่ไม่อาจยอมรับการให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ของจังหวัดกระบี่ได้ เราเชื่อว่าพลังอันยิ่งใหญ่และความบริสุทธิ์ใจของประชาชน มีมากกว่าการกระทำอันฉ้อฉลที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ประชาชนชาวกระบี่ขอยืนยันว่า จะร่วมกันปกป้องเมืองนี้ให้พ้นภัยจากหายนะโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ถึงที่สุด

ขอบคุณภาพจาก เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: