เศรษฐกิจชายฝั่งสิชล-ท่าศาลา

12 ก.ย. 2557 | อ่านแล้ว 2256 ครั้ง


การเอื้อประโยชน์ของห่วงโซ่เศรษฐกิจตั้งแต่ระดับชุมชนจนกระทั่งถึงการส่งออกต่างประเทศก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก รวมทั้งมูลค่าเพิ่มของสัตว์น้ำ ที่เพิ่มสูงขึ้นตามลำดับของขั้นการแปรรูปก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจของคนหลายชนชั้น เพียงแค่เส้นทางเดินอาหารของชุมชนเดียวก็สามารถเอื้อประโยชน์ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนกระทั่งถึงต่างประเทศ เป็นการพัฒนาบนเส้นทางที่ทุกคนร่วมเดิน

เศรษฐกิจชุมชนชายฝั่งทุกหมู่บ้านคือ เศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์กันและกันในชุมชน ทุกคนสามารถรับประโยชน์ได้หมดจากระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ เป็นเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนฐานทางวัฒนธรรม และความสัมพันธ์ทางสังคม สามารถมีพ่อค้าได้หลายระดับในลักษณะของการเอื้อประโยชน์กัน ไม่มีความขัดแย้งบนเส้นทางที่ซ้อนทับกัน ทุกคนสามารถแบ่งปันให้แต่ละคนยืนอยู่ได้บนห่วงโซ่เศรษฐกิจสายนี้ จนกลายเป็นความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจที่ไม่อาจหาได้จากเศรษฐกิจแบบอื่น

                “ทำปรือก็ได้ ให้เราอยู่กันได้ ทุกคนรับประโยชน์หมด บนเส้นทางสายนี้” บังเผด คนหนุ่มแกนนำ ชุมชนตะเคียนดำ

                “เท่าที่ผมรับซื้อปลาจึงรู้กันว่าตอนนี้ปลาที่ออกมากที่สุดคือปลาสุราษฎร์กับปลานคร ถ้าถามว่าปลานครมาจากไหนก็มาจากแถวนี้แหละ” เจ้าของแพบ้านตะเคียนดำ

ทุกชุมชน คือบริษัทชุมชนขนาดใหญ่ที่มีทรัพยากรของตนเอง สามารถออกแบบระบบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งได้ด้วยตนเอง โดยการจัดระบบความสัมพันธ์กับภายนอกแบบยุติธรรม ที่ชุมชนนี้จึงมีทั้งการกระจายสินค้าด้วยแม่ค้ารายย่อย ผู้ประกอบการแพปลา และสร้างอุตสาหกรรมขนาดย่อมในชุมชนเพื่อรองรับการแปรรูปสัตว์น้ำและการจ้างงาน ส่งต่อวัตถุดิบไปยังแพข้างนอกเพื่อกระจายสินค้าไปทั้งประเทศและส่งออกไปทั่วโลก

ที่นี่มีการแบ่งทรัพยากรอย่างมีสมดุล กล่าวคือ สัตว์น้ำจะถูกแบ่งบริโภคในครัวเรือน และนำไปขายในตลาดท้องถิ่นซึ่งมีผู้บริโภคนับหมื่นคนเฉพาะที่ชาวชุมชนชายฝั่งนำปลาไปขาย หลังจากนั้นสินค้าบางชนิดหรือที่มีปริมาณมากกว่าการนำ ไปขายในตลาดท้องถิ่นจะถูกนำไปขายให้กับแพปลาในชุมชน ซึ่งจะทำหน้าที่กระจายสินค้าต่อไปทั่วประเทศและทั่วโลก ชุมชนจะรู้ว่าความสมดุลระหว่างเอาปลาไปขายแพปลากับเอาไปขายในตลาดท้องถิ่นนั้นความสมดุลอยู่ตรงไหน

ตัวอย่างเช่น บ้านตะเคียนดำ มีการกระจายสินค้า 17 ตลาดท้องถิ่น 15 แพชุมชน ต่างประเทศ 6 ประเทศ เป็นเศรษฐกิจที่โตมากเมื่อเทียบกับนิคมอุตสาหกรรม ชุมชนตะเคียนดำจึงเปรียบเสมือนนิคมเศรษฐกิจยั่งยืน ที่สามารถจ้างงานเกือบพันคน มีเงินหมุนเวียนปีละ 100 กว่าล้านบาท และที่สำคัญเป็นนิคมเศรษฐกิจที่ทุกคนร่วมรับประโยชน์ ไม่มีใครรวยสุดโต่ง ความมั่งมีของแต่ละคนล้วนส่งผลซึ่งกันและกัน นั่นหมายความว่าการเติบโตของแต่ละคนจะก้าวตามกันไปแม้ว่าในทางตัวเลขจะไม่เท่ากันก็ตาม แต่ความสามารถในการแข่งขัน โอกาส เท่าเทียมกัน กติกากลางของที่นี่คือ ความรักเเละวัฒนธรรมท้องถิ่น

สำหรับชุมชนชายฝั่งเมื่อพิจารณาตัวเลขทางเศรษฐกิจจะพบว่า 1 ชุมชน เท่ากับ 1 นิคม เพียงแต่ไม่ใช่นิคมอุตสาหกรรม เพราะนิคมอุตสาหกรรม 1 แห่งไม่สามารถจ้างงานได้มากขนาดนี้ เราเรียกที่นี่ว่า 'นิคมเศรษฐกิจยั่งยืน' เพราะเป็นการจ้างงานที่ยั่งยืน แบ่งปันมูลค่าทางเศรษฐกิจแบบเป็นธรรมและมีวัฒนธรรมทางสังคมกำกับเป็นธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง เพราะที่นี่ใช้คำสอนทางศาสนาเป็นตัวกำกับพฤติกรรมของการอยู่ร่วมกัน เศรษฐกิจที่ดำเนินไปจึงเป็นเศรษฐกิจที่ธรรม

การจ้างงานที่ชุมชนตะเคียนดำ รวมแล้วเกือบ 700 คน ชุมชนบ้านในถุ้ง 1,157 คนซึ่งเป็นตัวเลขการจ้างงานที่สูงมาก และเป็นลักษณะที่พิเศษเมื่อเทียบกับการจ้างงานของบริษัทหรือการใช้แรงงานแบบอื่น คือ การจ้างงานที่นี่เฉลี่ยวันละ 300 บาท ใช้เวลาทำงานประมาณ 5 ชั่วโมง ต้นทุนสำหรับแรงงานเป็นศูนย์ เพราะเป็นการทำงานในท้องถิ่น ไม่มีค่าใช้จ่ายการเดินทาง ไม่มีค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ไม่มีค่าใช้จ่ายด้านเสื้อผ้าเครื่องแบบ สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับบางชุมชนที่นี่คือ ตำแหน่งงานเกินจำนวนแรงงานที่มีอยู่ คนในชุมชนสามารถเลือกงานได้ว่าจะทำ งานอะไร และแรงงานหนึ่งคนภายใน 1 วันสามารถเลือกทำ งานได้มากกว่า 1 อย่าง เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับตัวเอง เพราะฉะนั้นในความเป็นจริงรายได้ต่อวันของคนที่นี่จึงเกิน 300 บาท

เงินหมุนเวียนแต่ละชุมชนปีละ 100 กว่าล้านบาท ซึ่งนับเฉพาะที่เกิดขึ้นในชุมชน หากนับรวมตัวเลขที่เกิดต่อเนื่องจากแพนอกชุมชนซึ่งรับสินค้าจากชุมชนจะพบตัวเลขที่มีมูลค่าสูงกว่านี้มาก เป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งของทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่ หากพิจารณาลักษณะพิเศษจะพบว่าเงินหมุนเวียนไม่ได้กระจุกอยู่เฉพาะคนหรือกลุ่มคน ดังที่ปรากฎในบริษัทเอกชนหรือการประกอบการอุตสาหกรรม แต่มูลค่าจะถูกกระจายไปสู่ทุกคนในชุมชน ตั้งแต่เจ้าของเรือ เจ้าของแพ เจ้าของโรงงานขนาดเล็ก และแรงงานอิสระที่มีสิทธิในการเลือกใช้แรงงานที่ให้มูลค่าและคุณค่ากับตนเองมากที่สุด หากพิจารณามิติการกระจายทรัพยากร มิติการจ้างงาน มติการกระจายมูลค่าทางเศรษฐกิจ พบว่าที่นี่เป็นเศรษฐกิจเสรีที่แท้จริง ไม่ใช่เศรษฐกิจนายทุนที่ออกแบบเพื่อให้ตัวเองได้มูลค่าสูงสุด ที่นี่จึงมีมูลค่าและคุณค่าสูงกว่านิคมอุตสาหกรรม เพราะที่นี่คือนิคมเศรษฐกิจยั่งยืน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง วิจัยแฉ 5 ผลกระทบโครงการพัฒนาใต้ แนะรัฐบาลทบทวน-ฟังความเห็นชุมชน

ที่มา หนังสือ ก่อน "กลาย" เป็นอื่น โดยเครือข่ายประมงพื้นบ้าน สิชล ท่าศาลา นครศรีธรรมราช

ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.khaosod.co.th

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: