ปัจจุบันมีผู้ประกอบการธุรกิจค้าของเก่ามีจำนวนมากทั้งประเภทรายใหญ่ที่มีทุนทรัพย์มาก มีสถานที่ตั้งที่แน่นอน และประเภทรายย่อยที่ผู้ประกอบการมีทุนทรัพย์น้อย ไม่มีสถานที่ตั้งที่แน่นอน
ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 10 เมษายน 2550 พบว่า มีผู้ได้รับอนุญาตให้ค้าของเก่าทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลทั่วประเทศจำนวนรวม 5,912 ราย แยกออกเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ค้าของเก่าประเภทรถยนต์จำนวน 477 ราย ประเภทโบราณวัตถุและศิลปวัตถุจำนวน 123 ราย ประเภทเพชรทองจำนวน 1,443 รายและประเภทอื่นๆ จำนวน 3,869 ราย
ประเภทของธุรกิจ
ในธุรกิจค้าของเก่าส่วนใหญ่จะดำเนินการโดยบุคคล 5 กลุ่ม ซึ่งเป็นเอกชนทั้งหมด
(1) ร้านรับซื้อของเสียจากรายย่อย จะตั้งอยู่ใกล้สถานที่ทิ้งมูลฝอย ทำการรับซื้อวัสดุที่คัดแยกได้จากกองมูลฝอย โดยรับซื้อจากเจ้าหน้าที่เก็บขนขยะและผู้ขุดคุ้ย
(2) สามล้อรับซื้อวัสดุเหลือใช้ตามบ้าน จะรับซื้อวัสดุเหลือใช้ตามบ้านเรือนแล้วนำมาขายต่อยังร้านรับซื้อของเก่าต่อไป
(3) ร้านรับซื้อของเก่า ซึ่งจดทะเบียนการค้าถูกต้องตามกฎหมาย จะรับซื้อวัสดุเหลือใช้ต่อจากสามล้อรับซื้อวัสดุเหลือใช้และผู้ขุดคุ้ยมูลฝอยตามถังรองรับมูลฝอยข้างถนน ทำการปรับปรุงคุณภาพวัสดุเหลือใช้เล็กน้อย เช่น ล้างขวด แยกกระดาษเป็นหมวดหมู่ ทำความสะอาดพลาสติกแล้วแยกเป็นหมวดหมู่ รวมทั้งจัดการเศษโลหะให้เป็นระเบียบ รอการขายต่อไป
(4) พ่อค้ารับซื้อของเก่ารายใหญ่ จะทำสัญญากับโรงงานอุตสาหกรรม ในการจัดหาขวด แก้ว กระดาษ พลาสติก โลหะและอื่นๆ ตามปริมาณ ชนิดและคุณภาพตามที่โรงงานอุตสาหกรรมต้องการจะกว้านซื้อวัสดุดังกล่าวจากร้านรับซื้อของเสียรายย่อยและร้านรับซื้อของเก่า พร้อมทั้งการปรับปรุงคุณภาพวัสดุนั้นๆ จนได้ปริมาณ ชนิดและคุณภาพตามต้องการแล้วจัดส่งไปให้โรงงานอุตสาหกรรม
(5) โรงงานอุตสาหกรรม จะทำการรับซื้อวัสดุเหลือใช้มาเป็นวัตถุดิบ ในการผลิตสินค้าและเมื่อเกิดของเสียจากขบวนการผลิต รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานตามต้องการ โรงงานก็จะนำของเสียมาใช้ประโยชน์ใหม่ในโรงงานหรือขายต่อไปยังโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่สามารถใช้ประโยชน์ในของเสียดังกล่าวได้
สินค้าที่เป็น “ของเก่า” ในธุรกิจค้าของเก่า
ธุรกิจค้าของเก่าเป็นธุรกิจที่ดำเนินกิจการด้วยการเสนอขาย แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายโดยประการอื่นซึ่งทรัพย์ที่ใช้แล้ว ทั้งนี้ประเภทของของเก่าที่กฎหมาย (ประกาศกรมการปกครองเรื่อง ให้ผู้ประกอบอาชีพขายทอดตลาดและค้าของเก่าตามพระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พุทธศักราช 2474 ดำเนินการขอรับใบอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย) กำหนดให้ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต มีดังนี้
(1) ของเก่าประเภทโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
(2) ของเก่าประเภทเพชรพลอย ทอง นาก เงิน หรืออัญมณี
(3) ของเก่าประเภทรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
(4) ของเก่าประเภทอื่นๆ เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ กระดาษ เศษเหล็ก ขวด สแตนเลส กระสอบ คอมพิวเตอร์ กล้องถ่ายรูป เครื่องดนตรี เครื่องเสียง เครื่องใช้ไฟฟ้า ไม้เรือนเก่า เครื่องหนัง เครื่องใช้สำนักงาน นาฬิกา รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ กระทะล้อรถยนต์ แสตมป์ เหรียญ ธนบัตร เฟอร์นิเจอร์ ถัง ของหลุดจำนำ จักรเย็บผ้า เครื่องจักรเก่า พระเครื่อง พลาสติก เป็นต้น
ขั้นตอนการขออนุญาตประกอบกิจการ
- ผู้ประกอบอาชีพค้าของเก่าตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่าประเภทต่างๆ ต่อไปนี้ จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต
(1) ของเก่าประเภทโบราณวัตถุศิลปวัตถุตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
(2) ของเก่าประเภทเพชรพลอย ทอง นาก เงิน หรืออัญมณี
(3) ของเก่าประเภทรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
(4) ของเก่าประเภทอื่นๆ เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ กระดาษ เศษเหล็ก ขวด สแตนเลส กระสอบ คอมพิวเตอร์ กล้องถ่ายรูป เครื่องดนตรี เครื่องเสียง เครื่องใช้ไฟฟ้า ไม้เรือนเก่า เครื่องหนัง เครื่องใช้สำนักงาน นาฬิกา รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ กระทะล้อรถยนต์ แสตมป์ เหรียญ ธนบัตร เฟอร์นิเจอร์ ถัง ของหลุดจำนำ จักรเย็บผ้า เครื่องจักรเก่า พระเครื่อง พลาสติก เป็นต้น[77]
- เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า ซึ่งได้แก่ พระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พุทธศักราช 2474 หมายถึง [78]
(1) อธิบดีกรมการปกครอง สำหรับกรุงเทพมหานคร
(2) ผู้ว่าราชการจังหวัด สำหรับจังหวัดอื่น นอกจากกรุงเทพมหานคร
- ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ เพราะเป็นพาณิชยกิจตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499
- กรณีการขออนุญาตประกอบอาชีพขายทอดตลาดหรือค้าของเก่าประเภทโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ผู้ขออนุญาตจะต้องนำใบอนุญาตจากกรมศิลปากรและสำเนามายื่นประกอบการขออนุญาตด้วย
- ผู้ประกอบอาชีพค้าของเก่าตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่าที่มีหน้าที่รายงานธุรกรรมตามกฎหมายฟอกเงินคือ ผู้ประกอบอาชีพที่เป็นนิติบุคคล เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยที่มีพยานหลักฐานอันสมควรว่ามีการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องหรืออาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินกับผู้ประกอบอาชีพค้าของเก่าตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่าที่มิได้เป็นนิติบุคคล ให้สำนักงานมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ประกอบอาชีพดังกล่าวรายงานการทำธุรกรรมต่อสำนักงาน
กฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง
- พระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499
- ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้องจดทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2551
- พระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พุทธศักราช 2474
- ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2533ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2542 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2548
- กฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2548) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พุทธศักราช 2474
- ประกาศกรมการปกครองเรื่อง ให้ผู้ประกอบอาชีพขายทอดตลาดและค้าของเก่าตามพระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พุทธศักราช 2474 ดำเนินการขอรับใบอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย (ลงวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2549)
หน่วยงานที่กำกับดูแล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พุทธศักราช 2474 ให้มีอำนาจออกใบอนุญาต การแต่งตั้งเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตและนายตรวจ การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตและว่าด้วยกิจการอื่นๆ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ
- กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นสำนักงานกลางทะเบียนพาณิชย์มีหน้าที่กำกับดูแลการรับจดทะเบียนพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 และให้กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นสำนักงานทะเบียนพาณิชย์ เพื่อรับจดทะเบียนพาณิชย์ในท้องที่ของตน
พันธกรณีด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุน ทางการเงินแก่การก่อการร้าย
ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2552 มาตรา 16 (5) กำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพค้าของเก่าตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่าที่เป็นนิติบุคคล มีหน้าที่ต้องรายงานการทำธุรกรรมต่อสำนักงาน ปปง. เมื่อปรากฏว่าธุรกรรมดังกล่าว
(1) เป็นธุรกรรมที่ใช้เงินสดมีจำนวนตั้งแต่สองล้านบาทหรือกว่านั้นขึ้นไป[79]
(2) เป็นธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย
เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยที่มีพยานหลักฐานอันสมควรว่ามีการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องหรืออาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินกับผู้ประกอบอาชีพค้าของเก่าตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่าที่มิได้เป็นนิติบุคคล ให้สำนักงานมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ประกอบอาชีพดังกล่าวรายงานการทำธุรกรรมต่อสำนักงาน
อ้างอิง
[77] ประกาศกรมการปกครองเรื่อง ให้ผู้ประกอบอาชีพขายทอดตลาดและค้าของเก่าตามพระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พุทธศักราช 2474 ดำเนินการขอรับใบอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย (ลงวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2549)
[78] กฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2548) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พุทธศักราช 2474
[79] ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. ...) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
ที่มา
สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.rd1677.com
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ