เปิดแผนกฟผ.ลงทุน4แหล่งผลิตไฟฟ้า ‘เขื่อน-โรงไฟฟ้า’ในประเทศเพื่อนบ้าน

13 มิ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 5720 ครั้ง

ก่อนการรัฐประหาร 2557 แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงแผนงานดำเนินงานการลงทุนด้านพลังงานในต่างประเทศ ซึ่งลงทุนผ่าน บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGAT International หรือ EGATi) โดยเฉพาะในละแวกประเทศเพื่อนบ้าน ที่คาดหมายว่าจะเป็นแหล่งป้อนพลังงานไฟฟ้าให้กับประเทศไทย ขณะที่การสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศไทยต้องหยุดชะงักไปเนื่องจากการคัดค้านของประชาชน ที่เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

กฟผ.ระบุว่า ภายในปีพ.ศ.2562 กฟผ.จะต้องจัดหาไฟฟ้าเพิ่มเติมให้กับประเทศไทยเกือบ 6,000 เมกะวัตต์ ซึ่งการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศคงแทบเป็นไปไม่ได้ ในเรื่องของการยอมรับ รวมทั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ล่าช้าในประเทศไทย ทำให้กฟผ.ต้องซื้อและร่วมลงทุนในโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าต่าง ๆ จากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งจากพลังน้ำและเชื้อเพลิงอื่น ๆ ซึ่งต้องมีการกำหนดปริมาณและสัดส่วนการซื้อที่เหมาะสม

ข้อมูลในปี 2556 พบว่า ไทยนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศรวม 144.51 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง (คิดเป็นสัดส่วน 0.08 เปอร์เซนต์) โดยเฉพาะเพื่อนบ้านที่สำคัญอย่างประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำและส่งไฟฟ้ากลับมาไทยแล้ว 5 โครงการ รวม 2,100 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการเทิน-หินบุน กำลังผลิต 220 เมกะวัตต์ โครงการห้วยเฮาะ กำลังผลิต 126 เมกะวัตต์ โครงการน้ำเทิน 2 กำลังผลิต 948 เมกะวัตต์ โครงการน้ำงึม 2 กำลังผลิต 547 เมกะวัตต์ และโครงการเทิน-หินบุน ส่วนขยาย 220 เมกะวัตต์ มูลค่าการซื้อขายรวมประมาณ 17,000 ล้านบาทต่อปี

สำหรับโครงการที่น่าจับตา 4 โครงการในประเทศเพื่อนบ้านที่ EGATi ออกเงินร่วมลงทุนด้วยถึง 66,644 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการก่อสร้าง ประกอบด้วยเขื่อนขนาดใหญ่และโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานความร้อน มีดังต่อไปนี้ (ข้อมูลอัพเดท เดือนมีนาคม 2557)

โครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเงี้ยบ 1 (Nam Ngiep1 Hydropower Project) ประเทศสปป.ลาว

ที่ตั้ง: แม่น้ำเงี้ยบ แขวงบอลิคำไซ ตอนกลางของประเทศสปป.ลาว
ประเภทของโรงไฟฟ้า: เขื่อนแบบ Storage Dam
เชื้อเพลิง: พลังน้ำ
กำลังการผลิต: 289 เมกะวัตต์
กำลังการผลิตส่วนของ EGATi: 86.7 เมกะวัตต์
มูลค่าของโครงการ: 27,000 ล้านบาท
มูลค่าเงินลงทุนส่วนของบริษัท EGATi: 2,430 ล้านบาท
กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD): ปี 2562
โครงสร้างผู้ถือหุ้น: EGATi 30 เปอร์เซนต์ กลุ่ม Kansai (ญี่ปุ่น) 45 เปอร์เซนต์ Lao Holding State Enterprise (ลาว) 25 เปอร์เซนต์

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา EGATi ลงนามสัญญาผู้ถือหุ้นบริษัท Nam Ngiep1 Power ที่กรุงเทพ ฯ โดย EGATi ระบุว่า การเข้าร่วมถือหุ้นลงทุนจัดตั้งบริษัท Nam Ngiep1 Power ในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสการลงทุนของ EGATi ในสปป.ลาว ในอนาคต รวมถึงช่วยเพิ่มความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศไทย และเพิ่มศักยภาพให้กับระบบไฟฟ้าของกฟผ. ทำให้ประเทศไทยมีแหล่งพลังงานสะอาด และมีราคารับซื้อในอัตราคงที่เป็นระยะเวลานาน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต

โครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเงี้ยบ 1 ตั้งอยู่บนแม่น้ำเงี้ยบ พื้นที่อ่างเก็บน้ำครอบคลุมพื้นที่ทางตอนกลางของ สปป.ลาว ทั้งในแขวงเชียงขวาง แขวงเวียงจันทน์ และแขวงบอลิคำไซ ตัวเขื่อนหลัก (Main Dam) เป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัดสูง 148 เมตร ความยาวสันเขื่อน 530 เมตร ระดับเก็บกักน้ำสูงสุด 320 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) ความจุอ่างเก็บน้ำใช้งาน 1,192 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ติดตั้งเครื่องกังหันน้ำชนิด Vertical Francis และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จำนวน 2 เครื่อง ขนาดเครื่องละ 134.5 Glossary Link เมกะวัตต์ รวมกำลังผลิต 269 เมกะวัตต์ ผลิตพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 1,490 ล้านหน่วย ส่งกระแสไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งไฟฟ้า 230 เควี ความยาวประมาณ 130 กม. จากโรงไฟฟ้าหลักเขื่อนน้ำเงี้ยบ 1 ถึงสถานีไฟฟ้าแรงสูงนาบง และส่งต่อเข้าประเทศไทยผ่านทางระบบส่งไฟฟ้า 500 เควี เข้าสู่สถานีไฟฟ้าแรงสูงอุดรธานี 3

สำหรับตัวเขื่อนควบคุมท้ายน้ำ (Regulating Dam) เป็นเขื่อนคอนกรีต สูง 22.6 เมตร ความยาวสันเขื่อน 203 เมตร ระดับกักเก็บน้ำสูงสุด 181 เมตร (รทก.) ความจุอ่างเก็บน้ำใช้งาน 5.3 ล้าน ลบ.ม. ติดตั้งเครื่องกังหันน้ำชนิด Bulb และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จำนวน 1 เครื่อง รวมกำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 122 ล้านหน่วย เชื่อมต่อเข้ากับระบบสายส่งไฟฟ้า 115 เควี ของการไฟฟ้าลาว (EDL) สำหรับขายไฟฟ้าให้ สปป.ลาว

โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนกวางจิ (Quang Tri) ประเทศเวียดนาม

ที่ตั้ง: เขตเศรษฐกิจ จังหวัดกวางจิ ประเทศเวียดนาม
ประเภทโรงไฟฟ้า: พลังงานความร้อน (Thermal Power Plant)
เชื้อเพลิง: ถ่านหินนำเข้า
กำลังการผลิต: 1,200 เมกะวัตต์ (2x600 เมกะวัตต์)
กำลังการผลิตส่วนของ EGATi: 480 เมกะวัตต์
รูปแบบโครงการ: BOT 25 ปี
มูลค่าของโครงการ: 70,947 ล้านบาท
มูลค่าเงินลงทุนส่วนของบริษัท EGATi: 8,514 ล้านบาท
กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD): Unit-1 ปี 2564 Unit-2 ปี 2565
โครงสร้างผู้ถือหุ้น: EGATi 40 เปอร์เซนต์

EGATi เปิดเผยข้อมูลเมื่อปี 2556 ระบุว่า รัฐบาลเวียดนามได้อนุมัติให้ EGATi เป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกวางจิ (Quang Tri) ในระยะแรกกำลังผลิตติดตั้ง 1,200 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุน 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีพิธีมอบใบอนุญาตจากผู้บริหารจังหวัดกวางจิ เมื่อเดือนสิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา

จากนั้น EGATi ได้เริ่มศึกษารูปแบบของโครงการ และทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นก่อสร้างได้ภายในปี 2558 ปัจจุบัน EGATi ถือหุ้นเพียงรายเดียวในโครงการดังกล่าว (40 เปอร์เซนต์) และเพื่อไม่ให้การลงทุนมีความเสี่ยงมากเกินไป จึงต้องหาหุ้นส่วนมาร่วมลงทุนด้วย รวมถึงอยู่ในระหว่างศึกษาการลงทุนในเหมืองถ่านหินประเภทบิทูมินัสในอินโดนีเซียหลายแห่ง เพื่อนำเข้ามาป้อนการผลิตโรงไฟฟ้ากวางจิด้วย

โครงการนี้ใช้เวลาเจรจารวม 2 ปี กว่าที่ EGATi จะได้ลงทุน ในเฟสแรกนี้จะมีเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้ารวม 2 หน่วย ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายในประเทศเวียดนาม โดยรัฐบาลเวียดนามพยายามผลักดันให้โครงการนี้เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) เร็วที่สุด เนื่องจากปัจจุบันกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศเวียดนามเองก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

EGATi ระบุว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกวางจิ ค่อนข้างมีศักยภาพ สามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่มได้สูงสุดถึง 3,600 เมกะวัตต์ โดยในอนาคตมองว่าเป็นโอกาสที่จะส่งกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ในเฟสต่อไปกลับมายังประเทศไทย ด้วยการซื้อขายผ่านโครงการอาเซียนกริด (ASEAN Power Grid) แต่ยังต้องลงทุนสร้างสายส่งรวมระยะทาง 200 กิโลเมตร ส่งผ่านสายส่งในประเทศกัมพูชาและเข้าประเทศไทยทางจ.มุกดาหารเพิ่ม

โครงการไฟฟ้าพลังน้ำฮัจยี (Hutgyi) ประเทศเมียนมาร์

ที่ตั้ง: จังหวัดผาอัน รัฐคะหยิ่น ประเทศเมียนมาร์
ประเภทโรงไฟฟ้า: เขื่อนแบบ Run-of-River
เชื้อเพลิง: พลังน้ำ
กำลังการผลิต: 1,360 เมกะวัตต์
กำลังการผลิตส่วนของ EGATi: 469.4 เมกะวัตต์
มูลค่าของโครงการ: 99,700 ล้านบาท
มูลค่าเงินลงทุนส่วนของบริษัท EGATi: 10,900 ล้านบาท
กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD): ปี 2567
โครงสร้างผู้ถือหุ้น: EGATi 36.5 เปอร์เซนต์ Sinohydro (จีน) 50.5 เปอร์เซนต์ DHPP (รัฐบาลเมียนมาร์) 10 เปอร์เซนต์ IGOEC (เมียนมาร์) 3 เปอร์เซนต์

โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำฮัจยี (Hutgyi) ตั้งอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง ห่างจาก อ. สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 47 ก.ม. โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำฮัจยี ถูกเครือข่ายประชาสังคมกดดันอย่างหนัก มีการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะเกิดจากโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำฮัจยี โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 กระทรวงพลังงานออกมายืนยันภายหลังจากมีกระแสข่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้ชะลอโครงการฯ ว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้ทำงานร่วมกับคณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่มีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) เป็นประธาน

การคัดค้านการสร้างเขื่อนในประเทศพม่าเกิดขึ้นหลายแห่งเนื่องจากส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต

จากนั้นในเดือนมกราคม 2553 คณะกรรมการฯ ได้เสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำฮัจยีเพิ่มเติมจากที่ได้ทำไปแล้ว ให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบข้อมูลและข้อเท็จจริง และให้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ร่วมกับภาคประชาชน  ทั้งนี้กระทรวงพลังงานยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการต่อไป แม้ว่าจะมีความล่าช้าจากกระบวนการดังกล่าว

โครงการไฟฟ้าพลังน้ำมายตง ประเทศเมียนมาร์

ที่ตั้ง: เมืองมายตง รัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์
ประเภทโรงไฟฟ้า: เขื่อนแบบ Storage Dam
เชื้อเพลิง: พลังน้ำ
กำลังการผลิต: 7,000 เมกะวัตต์
กำลังการผลิตส่วนของ EGATi: 2,100 เมกะวัตต์
มูลค่าของโครงการ: 448,000 ล้านบาท
มูลค่าเงินลงทุนส่วนของบริษัท EGATi: 44,800 ล้านบาท
กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD): ปี 2569-2571
โครงสร้างผู้ถือหุ้น: EGATi 30 เปอร์เซนต์ CSC (จีน) 56 เปอร์เซนต์ IGOEC (เมียนมาร์) 4 เปอร์เซนต์ DHPP (รัฐบาลเมียนมาร์) 10 เปอร์เซนต์

เมื่อเดือนตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานเปิดเผยความคืบหน้าโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าในเมียนมาร์ว่า ขณะนี้รอความชัดเจนของรัฐบาลเมียนมาร์ ว่าจะเลือกพัฒนาโครงการใด ระหว่างโครงการพลังน้ำสาละวินตอนบน (มายตง) และโครงการท่าซาง ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า รัฐบาลเมียนมาร์จะเลือกพัฒนาโครงการมายตง เพราะโครงการท่าซางยังติดปัญหาข้อตกลงกับผู้รับเหมาสัมปทานเดิม คือ บริษัทกลุ่มเอ็มดีเอ็กซ์ (MDX Group Co Ltd)

โดยกระทรวงพลังงานระบุว่า หากโครงการดังกล่าวมีความชัดเจน กระทรวงพลังงานจะเร่งรัดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำข้อตกลงกับจีนและเมียนมาร์ ในฐานะผู้ร่วมทุนเพื่อทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จากนั้นจะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา เพื่อขออนุมัติรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าวต่อไป โดยโครงการนี้ทางไทยจะถือหุ้น 30 เปอร์เซนต์ ส่วนผู้ร่วมทุนใหญ่มาจากจีน คือ CSC คาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินโครงการประมาณ 12 ปี ใช้เงินลงทุนประมาณ 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ข้อมูลจากแหล่งข่าวในการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคระบุว่า ปัญหาจากโครงการท่าซางที่ใช้ลำน้ำเส้นเดียวกับโครงการมายตงนั้น ทางรัฐบาลพม่าได้ขอให้รัฐบาลไทยเจรจากับคือบริษัทกลุ่มเอ็มดีเอ็กซ์ ที่มี ดร.สุบิน ปิ่นขยัน ประธานบริษัท ในการยกเลิกโครงการท่าซางด้วย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมจาก จับตา: ความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน

http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4373

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: