คนเพชรค้านมอเตอร์เวย์ ทางหลวงลักไก่-พิจารณ์

13 ก.ย. 2557 | อ่านแล้ว 2156 ครั้ง

เว็บไซต์คนชายข่าว คนชายขอบ http://transbordernews.in.th รายงานว่า วันที่ 12 กันยายน ที่โรงแรมรอยัลไดมอนด์ จ.เพชรบุรี บริษัทเทสโก้ จำกัด ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากกรมทางหลวงให้สำรวจและออกแบบรายละเอียด โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือถนนมอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-อำเภอชะอำ ตอน 2 ได้จัดการประชุมปัจฉิมนิเทศครั้งที่ 3 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ นักการเมือง ผู้นำท้องถิ่น ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ และเครือข่ายภาคประชาชนเข้าร่วม

สำหรับการประชุมในครั้งนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย เป็นนำเสนอภาพรวมการดำเนินการศึกษาโครงการด้านวิศวกรรมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ก่อนที่จะดำเนินการในขั้นตอนการเวนคืนและก่อสร้างต่อไป

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม-อ.ชะอำ ตอน 2 นี้ มีจุดเริ่มต้นต่อจากตอนที่ 1 (นครปฐม-สมุทรสงคราม-ราชบุรี) ที่ถนนธนบุรีปากท่อ กม.73 สิ้นสุดที่ กม.119 ที่บ้านท่าต้นโพธิ์ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ระยะทางรวม 46 กิโลเมตร

ทั้งนี้ในเวทีได้มีชาวบ้านจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ ร่วมกันยื่นหนังสือคัดค้านต่อตัวแทนกรมทางหลวง และตัวแทนบริษัท เทสโก้ จำกัด และมีการถือป้ายคัดค้านด้วย

นายปริญญา ศรีสุคนธ์ ตัวแทนชาวบ้านจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า ชาวบ้านที่มาในวันนี้กว่าร้อยละ 80 เป็นผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการทางหลวงสายพิเศษ และออกมาแสดงตัวเพื่อคัดค้านไม่ต้องการให้มีการดำเนินการก่อสร้าง แม้โครงการจะอ้างว่าได้มีการทำประชาพิจารณ์กลุ่มย่อยไปเรียบร้อยแล้วจนกระทั่งมาถึงเวทีสุดท้าย แต่ขอยืนยันว่ากระบวนการทำเวทีย่อยตั้งแต่ปี 2556 นั้น ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงส่วนใหญ่ไม่เคยรู้รายละเอียดและไม่เคยเข้าร่วม และไม่เคยได้รับการแจ้งหรือให้ข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลย ซึ่งชาวบ้านเพิ่งจะรู้ว่ามีโครงการนี้เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทั้งที่เป็นโครงการขนาดใหญ่และส่งผลกระทบรุนแรง

        “เดิมทีเป็นโครงการเดิมตั้งแต่ปี 2540 สมัยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธเป็นนายก ชาวบ้านเคยคัดค้านถนนลัดอ่าวไทยและมีการยกเลิกไป แต่ต่อมาได้กลายเป็นมอเตอร์เวย์และเพิ่งจะรู้เมื่อไม่นานนี้ เขาจึงได้ลงไปคุยกับชาวบ้านซึ่งส่วนน้อยเท่านั้นที่พอจะรู้ว่ามีโครงการตัดถนนผ่าน แต่ก็ไม่เคยมีใครให้รายละเอียดอะไรเลยกับชาวบ้าน กระบวนการต่าง ๆ ก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเริ่มดำเนินการเมื่อไหร่ จนในเวทีนี้มาบอกว่าได้ศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงให้ชาวบ้านรับทราบ แม้จะขอเสนอเปลี่ยนเส้นทางอื่นก็ไม่ได้ หลายคนที่มาในเวทีแล้วเพิ่งจะทราบว่าที่ดินตนเองจะถูกเวนคืนถึงกับร้องไห้ เพราะเขาอยู่ทำนาทำไร่มาทั้งชีวิต จะให้เงินเวนคืนไปเริ่มต้นหาที่ดินทำกินใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย” นายปริญญากล่าว

นายปริญญากล่าวว่า สำหรับผลกระทบที่ชาวบ้านกังวลและได้สะท้อนในเวทีวันนี้คือ 1.การเวนคืนที่ดินทำกิน 2.ผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากจะแนวถนนจะเป็นคันกั้นน้ำขนาดใหญ่ขวางน้ำที่ไหลจากแนวเทือกเขาตะนาวศรีลงสู่อ่าวไทย 3.สูญเสียพื้นที่การเกษตรอันอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกมะนาวแหล่งใหญ่ที่สุด 4.เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจากการขนส่งสารเคมี เพราะถ้ารถบรรทุกสารเคมีเกิดอุบัติเหตุจะกระจายผ่านที่ลุ่มลงสู่แหล่งน้ำ ป่าชายเลน และอ่าวไทยได้อย่างรวดเร็วและควบคุมได้ยาก

นายปริญญากล่าวว่า ในส่วนทางออกที่ชาวบ้านเสนอในเวทีคือ การพัฒนาถนนสายปากท่อ-หนองหญ้าปล้อง ซึ่งแถบนั้นเป็นที่ราบดินลูกรังส่วนใหญ่เป็นไร่สับปะรด หากมีการเวนคืนจะส่งผลกระทบน้อยเพราะไม่ใช่พื้นที่ชุมชน รวมทั้งแนวทางการทำถนนยกระดับคร่อมแนวถนนเพชรเกษมที่จะแทบจะไม่ต้องมีการเวนคืน

ด้านนายสุรจิต ชิรเวทย์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งได้เข้าร่วมเวทีในครั้งนี้ด้วย กล่าวว่า ด้วยภูมิศาสตร์ของพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีเป็นแนวลาดจากฝั่งตะวันตกลงไปฝั่งตะวันออก ถ้ามีฝนตกหนักมวลน้ำจะไหลลงสู่ทะเลที่อ่าวบางตะบูน ที่มีแนวเส้นทางรถไฟสายใต้เป็นคันกั้นน้ำอยู่แล้วซึ่งในอดีตยังไม่มีกฎหมายที่ให้บังคับทำประชาพิจารณ์หรือศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก่อนสร้างทางรถไฟ ทำให้มีปัญหาต่อการระบายน้ำอยู่แล้ว เนื่องจากต้องอาศัยการระบายผ่านช่องใต้สะพานรถไฟแต่ทำได้ไม่สะดวกนักเพราะมีตอม่อขนาดใหญ่บีบขวางทางน้ำไว้

นายสุรจิตกล่าวว่า เมื่อข้ามฝั่งแนวรถไฟจะเป็นพื้นที่นิเวศป่าชายเลนที่ได้ปรับสมดุลธรรมชาติมากว่า 100 ปีแล้ว ถ้าในอนาคตมีการสร้างเส้นทางรถไฟรางคู่ก็จะเป็นการเพิ่มขนาดแนวคันกั้นน้ำไปอีกเท่าตัวจากเส้นทางเดิมที่มีแนวกว้าง 70 เมตร และถ้าเพิ่มเส้นทางมอเตอร์เวย์ซึ่งจะเป็นถนนที่ขนานไปกับเส้นทางรถไฟจะยิ่งเป็นการเพิ่มความหนาแน่นของแนวคันกั้นน้ำซึ่งจะเป็นอุปสรรคและปัญหาแก้ไขได้ยากรวมทั้งจะกระทบต่อระบบนิเวศ

นายสุรจิตกล่าวว่า นอกจากนี้แนวมอเตอร์เวย์จากนครชัยศรีมาถึงท่ายางมีความยาว 119 กิโลเมตร ซึ่งไม่ได้เป็นการย่นระยะทางคมนาคมทางบกที่มีประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญอะไร ภาคประชาชนจึงได้เสนอให้ปรับรูปแบบเป็นการสร้างถนนยกระดับคร่อมแนวถนนเพชรเกษมซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับถนนยกระดับพระราม 2 ที่มีโครงการอยู่แล้วได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดินตลอดแนวมอเตอร์เวย์เดิม ที่จะกระทบต่อพื้นที่ภาคการเกษตรขนาดใหญ่ตั้งแต่นครปฐม สมุทรสงคราม ราชบุรี และเพชรบุรี รวมทั้งไม่เป็นปัญหาขวางเส้นทางน้ำ

นายสุรจิตกล่าวว่า หรืออาจจะปรับปรุงถนนเพชรเกษมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การสร้างสะพานข้ามแยกจราจรที่มีผลกระทบวงแคบเฉพาะจุดสร้างสะพานเท่านั้น สิ่งที่กังวลอีกอย่างคือพื้นที่แนวมอเตอร์เวย์ในพื้นที่จ.เพชรบุรี (ตั้งแต่ยี่สาร) ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตรที่ชาวบ้านเช่าจากเอกชน หากมีโครงการเกิดขึ้น ชาวบ้านก็จะไม่ได้การชดเชย และยังต้องเสียพื้นที่การเกษตรไปเป็นจำนวนมาก

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: