ความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน

13 มิ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 3010 ครั้ง


1.การรับซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาว

รัฐบาลไทยและ สปป. ลาว ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจที่จะส่งเสริมและให้ความร่วมมือพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว หลายครั้ง ได้แก่

            - วันที่ 4 มิถุนายน 2536    กำหนดจะรับซื้อไฟฟ้าจำนวน 1,500 เมกะวัตต์

            - วันที่19 มิถุนายน 2539   ขยายการรับซื้อไฟฟ้าเป็น 3,000 เมกะวัตต์

            - วันที่ 18 ธันวาคม 2549             ขยายการรับซื้อไฟฟ้าเป็น 5,000 เมกะวัตต์

            - วันที่ 22 ธันวาคม 2550              ขยายการรับซื้อไฟฟ้าเป็น 7,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2558

ปัจจุบัน ภายใต้บันทึกความเข้าใจดังกล่าว การรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป. ลาว มีความคืบหน้าดังนี้

- โครงการที่จ่ายไฟฟ้าพาณิชย์เข้าระบบของ กฟผ. แล้ว มี 2 โครงการ ได้แก่ โครงการเทิน-หินบุน (187 เมกะวัตต์) และโครงการห้วยเฮาะ (126 เมกะวัตต์)

- โครงการที่ได้ลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้าแล้ว   (Power Purchase Agreement – PPA) และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง มี 3 โครงการ ได้แก่ โครงการน้ำเทิน 2 (920 เมกะวัตต์)  โครงการน้ำงึม 2 (615 เมกะวัตต์) และโครงการเทิน-หินบุนส่วนขยาย (220 เมกะวัตต์) โดยมีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในเดือนธันวาคม 2552 มีนาคม 2554 และมีนาคม 2555 ตามลำดับ  รวมกำลังผลิต 1,765 เมกะวัตต์

- โครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจารับซื้อไฟฟ้า (ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า – Tariff MOU แล้ว) กับผู้ลงทุน สปป. ลาว รวม 5 โครงการ ได้แก่

- โครงการน้ำเทิน 1 (523 เมกะวัตต์)

- โครงการน้ำงึม 3 (440 เมกะวัตต์)

- โครงการน้ำเงี้ยบ 1 (261 เมกะวัตต์)

- โครงการน้ำอู (1,043 เมกะวัตต์) และ

- โครงการหงสาลิกไนต์ (1,473 เมกะวัตต์)

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ Tariff MOU โครงการน้ำเทิน 1 และโครงการน้ำงึม 3  หมดอายุแล้ว ส่วนอีก 3 โครงการ Tariff MOU ยังไม่หมดอายุ แต่ผู้ลงทุน สปป.ลาว ได้มีหนังสือขอยกเลิก Tariff MOU และขอเจรจาอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ เนื่องจากค่าก่อสร้างได้เพิ่มขึ้นสูงมากจนโครงการไม่สามารถดำเนินการต่อได้

ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2552 คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้มีมติเห็นชอบร่าง PPA โครงการหงสาลิกไนต์ และได้เสนอให้ กพช. พิจารณา โดยเมื่อวันที่  26 พฤศจิกายน 2552 กพช. ได้มีมติเห็นชอบร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการหงสาลิกไนต์ ระยะเวลา 25 ปี และให้ กฟผ. ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการหงสาลิกไนต์กับผู้ลงทุนต่อไป  ทั้งนี้  ผู้ลงทุนโครงการหงสาลิกไนต์ ประกอบด้วย (1) Hongsa Power Company Limited (โรงไฟฟ้า) (บริษัท บ้านปูเพาเวอร์ จำกัด (40%) บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (40%) และรัฐบาล สปป. ลาว (20%)) และ (2) Phu Fai Mining Company Limited (เหมือง) (บริษัท บ้านปูเพาเวอร์ จำกัด (37.5%) บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (37.5%) และรัฐบาล สปป. ลาว (25%)) โครงการดังกล่าวมีกำลังผลิตติดตั้ง 1,653 เมกะวัตต์ ขายให้ สปป. ลาว ไม่เกิน 175 เมกะวัตต์ และจำหน่ายให้ไทยที่ชายแดน 1,473 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าระบบได้ในเดือนมีนาคม 2558 เดือนสิงหาคม 2558 และเดือนธันวาคม 2558 ตามลำดับ

- โครงการที่เริ่มเสนอรายละเอียดของโครงการ มี 5 โครงการได้แก่

            - โครงการน้ำบาก (100 เมกะวัตต์)

            - โครงการเซเปียน –เซน้ำน้อย (390 เมกะวัตต์)

            - โครงการดอนสะหง (240-360 เมกะวัตต์)

            - โครงการเซกอง 4 (600 เมกะวัตต์)

            - โครงการน้ำกง 1 (150 เมกะวัตต์)

2.การรับซื้อไฟฟ้าจากสหภาพพม่า

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2540 รัฐบาลไทยและสหภาพพม่าได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากสหภาพพม่าในปริมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2553 ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2548 รัฐบาลทั้งสองประเทศได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ

ในลุ่มแม่น้ำสาละวิน และลุ่มแม่น้ำตะนาวศรี ประกอบด้วย

- โครงการโรงไฟฟ้าชายแดนสาละวินตอนบน (4,000 เมกะวัตต์)

- โครงการโรงไฟฟ้าชายแดนสาละวินตอนล่าง (500 เมกะวัตต์)

- โครงการไฟฟ้าพลังน้ำตะนาวศรี (600 เมกะวัตต์)

ในเบื้องต้นสหภาพพม่าเสนอโครงการผลิตไฟฟ้าบนลุ่มแม่น้ำสาละวิน 2 โครงการ คือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำฮัจยี (Hutgyi) (1,200 เมกะวัตต์) ตั้งอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง ห่างจาก อ. สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 47 ก.ม. และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำท่าซาง (Tasang) (7,000 เมกะวัตต์) ตั้งอยู่ในเขตรัฐฉาน โดยรัฐบาลพม่าได้ให้สัมปทานการก่อสร้างแก่ บ. เอ็มดีเอ็กซ์  ของไทย ทั้งนี้ พม่ากำหนดจะให้มีการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำฮัจยีเป็นโครงการแรก โดยปัจจุบันบริษัทผู้ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำฮัจยี (กฟผ. และรัฐวิสาหกิจของจีน) อยู่ระหว่างเจรจาสัญญาสัมปทานกับรัฐบาลพม่า และเมื่อแล้วเสร็จบริษัท ผู้ลงทุนฯ จะเจรจาอัตราค่าไฟฟ้าอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี เครือข่ายประชาสังคมได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะเกิดจากโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำฮัจยี และท่าซาง โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 กระทรวงพลังงานออกมายืนยันภายหลังจากมีกระแสข่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้ชะลอโครงการฯ ว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้ทำงานร่วมกับคณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่มีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) เป็นประธาน อย่างใกล้ชิด โดยเมื่อเดือนมกราคม 2553 คณะกรรมการฯ ได้เสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการศึกษา EIA ของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำฮัจยีเพิ่มเติมจากที่ได้ทำไปแล้ว  ให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบข้อมูลและข้อเท็จจริง และให้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกับภาคประชาชน  ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการต่อไป แม้ว่าจะมีความล่าช้าจากกระบวนการดังกล่าว

นอกเหนือจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำดังกล่าวข้างต้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2552 กพช. ได้มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการมาย-กก และมอบหมายให้กฟผ.นำร่างบันทึกความเข้าใจฯ ที่ได้รับความเห็นชอบไปลงนามกับผู้พัฒนาโครงการฯ (Sponsors) ซึ่งได้แก่ บริษัท อิตาเลียนไทย เพาเวอร์ จำกัด (IPC) และผู้ร่วมทุนรายอื่น ทั้งนี้ โครงการมาย-กก ตั้งอยู่ที่รัฐฉาน ห่างจากชายแดนไทย อ. แม่สาย จ. เชียงราย ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 80 กม. เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนในบริเวณปากเหมือง ใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง เสนอขายไฟฟ้ารวม 369 เมกะวัตต์ โดยจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบให้กับ กฟผ. ได้ในเดือนมกราคม 2559 เมษายน 2559 และเดือนกรกฎาคม 2559 ตามลำดับ  และมีอายุสัญญาซื้อไฟฟ้า 25 ปี  โดย Sponsors จะขออนุมัติและดำเนินการต่างๆ ด้าน EIA และ SIA ตามมาตรฐานสากลต่อไป

3.การรับซื้อไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2541 รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากจีน 3,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2560 โดยจะพิจารณาจากโครงการที่มีศักยภาพ และจีนจะเป็นผู้คัดเลือกโครงการที่เหมาะสมเสนอแก่ไทย ปัจจุบัน มีความร่วมมือในการวางแผนและก่อสร้างระบบสายส่งเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ รวมทั้งเจรจากับ สปป. ลาว เรื่องค่าชดเชยอัตราค่ากรรมสิทธิ์ที่ดินแนวสายส่งที่จะต้องก่อสร้างผ่าน สปป. ลาว

4.ความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้ากับกัมพูชา

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2543 รัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาได้ลงนามในบันทึกความตกลงโครงการความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าที่จะสนับสนุนให้มีการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างสองประเทศ ต่อมาเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2545  กฟผ. และการไฟฟ้ากัมพูชาได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ที่จะขายไฟฟ้าให้กับกัมพูชาในจังหวัดเสียมราฐ และพระตะบอง จำนวน 20-30 เมกะวัตต์ สัญญามีอายุ 12 ปี นับจากวันที่ กฟผ. เริ่มขายไฟฟ้าให้กัมพูชา  โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าเป็นแบบคิดตามช่วงเวลาของการใช้ (TOU) โดยกำหนดเป็นอัตราคงที่ (Flat Rate)  นอกจากนี้  ยังได้มีการศึกษาความเหมาะสมของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตึงนัม (120 เมกะวัตต์) และโครงการโรงไฟฟ้าเกาะกงในกัมพูชา (3,660 เมกะวัตต์) ซึ่งใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงอีกด้วย

5.การรับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซีย

กฟผ. และการไฟฟ้ามาเลเซีย (Tenaga Nasional Berhad : TNB) ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเมื่อปี 2523 เพื่อขายไฟฟ้าให้ไทยปริมาณพลังไฟฟ้า 80 เมกะวัตต์ โดยเชื่อมผ่านระบบส่ง 115 เควี ต่อมา ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า HVDC System Interconection Agreement (SIA 2002) ฉบับวันที่ 14 พฤษภาคม 2545 อายุสัญญา 25 ปี โดยตกลงทำข้อเสนอราคาขายล่วงหน้าเดือนต่อเดือน ต่อมา กฟผ. จัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มเติม (Supplemental Agreement to HVDC SIA 2002) ฉบับวันที่ 6 พฤษภาคม 2547 เพื่อซื้อไฟฟ้าจาก TNB ในลักษณะ Bulk Energy ปริมาณพลังไฟฟ้า 330 เมกะวัตต์ อายุสัญญา 3 ปี (มิถุนายน 2547 - พฤษภาคม 2550) อัตรารับซื้อไฟฟ้าในปริมาณ Tier ละ 25 ล้านหน่วย

ในราคาลดหลั่นลงตามลำดับ โดยมีเงื่อนไขที่ผู้ขายสามารถเสนอปรับราคาเพิ่มขึ้นได้หากต้นทุนเชื้อเพลิงสูงขึ้น และได้มีการขยายอายุสัญญาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2551 กพช. ได้มีมติเห็นชอบร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มเติมฉบับใหม่ (Supplemental Agreement to HVDC SIA 2002)

โดยให้ปรับอัตรารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากสัญญาเดิม 3.32 RM Sen/kWh และมอบหมายให้ กฟผ. ดำเนินการเพื่อลงนามในสัญญาต่อไป ปัจจุบัน กฟผ. อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มเติมฉบับใหม่กับมาเลเซียเพื่อทดแทนสัญญาเดิม

ที่มา:

กองสนเทศเศรษฐกิจ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2552 (ครั้งที่ 128) วันที่ 26 พ.ย. 2552

มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2540 (ครั้งที่ 64) วันที่ 30 ก.ค. 2552

สหัส ประทักษ์นุกูล (2551)  การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (2552) แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2551-2564 (PDP 2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2)

มติชนออนไลน์ (2553) ปลัดพลังงานเดินหน้าสร้างเขื่อน “ฮัตจี” ต่อขอศึกษา “อีไอเอ” เพิ่มเติมก่อนลงมือสร้าง (15 ก.พ. 2553)

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: เปิดแผนกฟผ.ลงทุน4แหล่งผลิตไฟฟ้า ‘เขื่อน-โรงไฟฟ้า’ในประเทศเพื่อนบ้าน

http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4372

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: