ทำไมตลกส่วนใหญ่ถึงเผชิญโรคซึมเศร้า?

www.voicetv.co.th 14 ส.ค. 2557


การเสียชีวิตอย่าง กะทันหันของโรบิน วิลเลียมส์ ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าทำไมนักแสดง โดยเฉพาะตลก ซึ่งสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชม มักจะเผชิญกับโรคซึมเศร้า ซึ่งดูจะเป็นขั้วตรงข้ามของสิ่งที่พวกเขาแสดงออก culture corner สัปดาห์นี้จะไปหาคำตอบเรื่องนี้กัน

โรคซึมเศร้า หรือไบโพลาร์ รวมถึงปัญหาทางจิตอื่นๆ ไปจนถึงการติดเหล้า ติดยา ดูจะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับดารานักแสดงและบุคคลมีชื่อเสียงระดับโลก และบ่อยครั้ง ปัญหาทางจิตเหล่านี้ก็พรากชีวิตของพวกเขาไปก่อนเวลาอันควร ไม่ว่าจะเป็นไมเคิล แจ็กสัน วิทนีย์ ฮูสตัน หรือฮีท เล็ทเจอร์ โศกนาฏกรรมในชีวิตของคนดังเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามที่ไม่มีใครตอบได้ ว่าทำไมชีวิตที่ดูร่ำรวยหรูหราสมบูรณ์พูนสุขของซูเปอร์สตาร์ จึงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนที่ใคร ๆ คิด

ขอบคุณภาพประกอบจาก

http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000009471701.JPEG

แต่สิ่งที่น่าสงสัยยิ่งกว่า ก็คือปรากฏการณ์ที่นักแสดงตลกหลายๆคน ต้องประสบปัญหาซึมเศร้า ไบโพลาร์ จนบางครั้งถึงขั้นฆ่าตัวตาย อย่างเช่นโทนี แฮนค็อก นักแสดงตลกชาวอเมริกันผู้ฆ่าตัวตายเพื่อหนีโรคซึมเศร้า หรือสตีเฟน ฟราย นักแสดงตลกเสียดสีชาวอังกฤษที่ยอมรับว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้าและไบโพลาร์ จนถึงขั้นเคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว และล่าสุด กรณีของโรบิน วิลเลียมส์ นักแสดงตลกระดับตำนานของฮอลลีวูด ผู้เผชิญภาวะซึมเศร้า ติดเหล้า และติดยานานหลายปี จนสุดท้ายก็เลือกที่จะจบชีวิตตัวเอง

โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับดาราตลกเหล่านี้ ก่อให้เกิดคำถามว่าอาชีพตลกมีมุมมืดอะไร ที่ทำให้คนที่สร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้อื่นอยู่เสมอ และดูรื่นเริงตลอดเวลา กลับกลายเป็นคนที่มีความเครียด กดดันมากที่สุด

มีทฤษฎีง่าย ๆ ที่ว่าไม่น่าแปลกใจที่ตลกจะมีปัญหาทางจิต เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่คนๆหนึ่งจะลุกขึ้นมาทำให้ตัวเองดูตลกเพื่อสร้างเสียงหัวเราะให้คนอื่น การทำเช่นนี้บ่อยๆ จะกลายเป็นบาดแผลในจิตใจ ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า และกลายเป็นคนที่มีปัญหาทางจิตในที่สุด

หรืออีกทฤษฎีก็คือคนที่มีบุคลิกตลกโปกฮาโดยธรรมชาตินั้น จริงๆมีนิสัยใจคอที่ตรงข้าม และมีด้านมืดที่อยากปกปิด จึงแสดงออกในอีกขั้วเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากมุมมืดของตัวเอง หรือไม่ก็พยายามทำเป็นสดชื่นรื่นเริงเพื่อให้ตัวเองลืมด้านมืดนั้น ซึ่งการทำเช่นนี้นานๆ ย่อมส่งผลเสียต่อจิตใจ ถึงขั้นที่อาจกลายเป็นคนบุคลิกแตกแยกได้

ทฤษฎีนี้ได้รับการรับรองโดยผลวิจัยจากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มีการทำวิจัยโดยออกแบบสอบถามนักแสดงตลก 523 คนจากอังกฤษ สหรัฐฯ และออสเตรเลีย พบว่าภูมิหลังของตลกส่วนใหญ่มักเป็นคนมีปัญหา ไม่กล้าแสดงออก และมีภาวะซึมเศร้าอยู่แล้ว ทำให้นักวิจัยสรุปได้ว่าการเลือกแสดงออกแบบตลกโปกฮา เป็นเพราะพวกเขาเลือกใช้เสียงหัวเราะเป็นเครื่องเยียวยาตัวเอง และหันเหความสนใจของทั้งตัวเองและคนอื่นออกไปจากเรื่องหดหู่ในชีวิต

นอกจากตลก อาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ ทั้งดารา นักแสดง และศิลปินแขนงอื่นๆ ก็ล้วนเสี่ยงต่อการเป็นไบโพลาร์และโรคซึมเศร้า เนื่องจากคนเหล่านี้มักจะมีบุคลิกโดดเด่น และอารมณ์สุดโต่ง มองโลกแบบขาวหรือดำกว่าคนทั่วไป เพราะในขณะที่คนธรรมดาจะใช้ชีวิตไปวันๆโดยไม่สนใจเรื่องรอบตัว บุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้มักจะมองเห็นปัญหาในทุกสิ่ง และพยายามจะเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ชีวิตของพวกเขาจึงอยู่ยากกว่าคนธรรมดา เรียกได้ว่าอัจฉริยะผู้จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นได้ ก็คือคนที่มองเห็นว่าโลกที่เป็นอยู่นั้นเลวร้าย และผลที่อัจฉริยะเหล่านี้ต้องรับก็คือความเลวร้ายเหล่านั้น ในขณะที่โลกได้รับสิ่งดี ๆ ที่พวกเขารังสรรค์ขึ้นแทนที่

ขอบคุณที่มา: http://shows.voicetv.co.th/voice-world-wide/114122.html

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: