คดีสาธารณะ เรื่องการปกป้องบ้านเกิด ภูเขา แม่น้ำ ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของผู้คน 6 หมู่บ้านจากการทำเหมืองทองที่สร้างผลกระทบยาวนานนับ 10 ปี ด้วยการก่อสร้างกำแพงใจ 3 ครั้ง เป็นเหตุให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ฟ้องชาวบ้าน 6 คดี ได้แก่ คดีแพ่ง เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท เลขที่คดีดำ 859/2556, คดีแพ่ง เรียกค่าเสียหาย 70 ล้าน เลขที่คดีดำ 974/2556, คดีแพ่ง เรียกค่าเสียหาย 150 ล้าน เลขที่คดีดำ 132/2557 และ คดีอาญา เลขที่คดีดำ 4217/2556, คดีอาญา เลขที่คดีดำ 4542/2556, คดีอาญา เลขที่คดีดำ อ 615/2557 รวมทั้ง คดีอาญาที่ตำรวจวังสะพุงฟ้องชาวบ้านอีก 22 ราย อีกหนึ่งคดี รวมเป็นคดีทั้งหมด 7 คดี จำนวนชาวบ้านที่ถูกฟ้องทั้งหมด 34 ราย (ฟ้องแพ่งคนตาย 1 ราย ถอนฟ้องคดีแพ่ง/อาญา 1 ราย)
การตั้งข้อหาชาวบ้าน 32 ราย อย่างน้อย 42 ข้อหา ชาวบ้านจะต้องใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัวอย่างน้อยที่สุด 7,560,000 บาท
29 ก.ค. 2557 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดเลยประทับรับฟ้องคดีอาญา 2 คดี เลขที่คดีดำ 4217/2556 และ คดีอาญา เลขที่คดีดำ 4542/2556 คดีที่ถูกฟ้องจากการก่อสร้างกำแพงใจ ครั้งที่ 1 และการก่อสร้างกำแพงใจ ครั้งที่ 3 ส่งผลให้ นายสุรพันธุ์ รุจิไชยวัฒน์ (ถูกฟ้องสองคดี) นายสมัย ภักดิ์มี นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ นายเตียม ปีนา นายกองลัย ภักมี นายลำดวน ตองหว้าน นายเภ่า พรหมหาราช นางประนอม นามวงษ์ น.ส.ภัทราภรณ์ แก่งจำปา นางสุ่ม ศรีทอง นางพรทิพย์ หงชัย และนายธานิล ภักมี ชาวบ้านทั้ง 12 คน ต้องคดีตกเป็นผู้ต้องหา โดยมีเงินประกันตัวจากกองทุนยุติธรรมที่โอนมาให้ชาวบ้านสำหรับคดีแรกเพียง 5 ราย
ด้วยการดำเนินงานที่ล่าช้าของกองทุนยุติธรรม ทำให้ชาวบ้านที่เหลือต้องใช้ตำแหน่งราชการ แลโฉนดที่ดินค้ำประกันในการประกันตัว
เหตุการณ์ในวันนั้นทำให้ชาวบ้านใน 6 หมู่บ้าน เริ่มปรึกษาหารือกันในเรื่องนี้อีกครั้ง และตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. 2557 เป็นต้นมา ชาวบ้านได้ระดมกันนำโฉนดที่ดินและ น.ส.3 ของตนเองไปประเมินราคาที่กรมที่ดิน เพื่อเตรียมไว้ใช้เป็นกองทุนประกันตัวให้ชาวบ้านทั้งหมดที่โดนฟ้อง จากยอดค่าประกันตัวในคดีอาญาที่เหลือทั้งหมดซึ่งหากใช้เงินสดประกันตัว จะต้องใช้เงินคนละ 90,000 บาท ต่อความผิด 1 ข้อหา แต่หากใช้หลักทรัพย์จะต้องมีมูลค่า 180,000 บาท ต่อ 1 ความผิดข้อหา ต่อ 1 คน
ผ่านไปเพียงสองวัน ยอดรวมราคาประเมินที่ดินจากวันที่ 6 เป็นต้นมา มีชาวบ้านเอาโฉนดไปประเมินราคากว่า 70 ราย แม้ในแต่ละหมู่บ้านจะมีที่ดินที่มีโฉนดอยู่ไม่มาก เป็นที่ดินอยู่อาศัยในหุบเขา เป็นที่ดินเกษตรกรรมราคาแสนถูก แต่รวมๆ แล้ว โฉนดที่ดินที่ทุกคนนำมารวมกันก็มีมูลค่ารวมมากกว่า 10 ล้านบาทแล้ว ความสามัคคีรวมใจของชาวบ้านในครั้งนี้ ทำให้พวกเขาคลายกังวลในเรื่องคดีไปได้มาก เนื่องจากในวันที่ 22 ส.ค.2557 ที่จะถึงนี้ คดีอาญาข้อหาข่มขืนใจที่ตำรวจฟ้องชาวบ้าน 22 ราย อัยการจังหวัดเลยได้นัดหมายชาวบ้านเพื่อแจ้งผลว่า อัยการจะส่งสำนวนฟ้องต่อศาลหรือไม่
ความเข้มข้นทวีความรุนแรงขึ้นหลังจากการจัดประชาคม 6 หมู่บ้าน เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2557 ที่ชาวบ้านมีมติเป็นเอกฉันท์ “ไม่ยอมรับ” คณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเหมืองทองทั้ง 4 ชุดที่ทหารได้ตั้งขึ้นเพียง 9 วันหลังจากยกกำลังพลนับร้อยเข้ามาปักหลักในหมู่บ้าน โดยทำเสมือนเป็นความลับสูงสุดที่ไม่สามารถบอกกล่าวกับชาวบ้านในพื้นที่ได้
“ไม่ยอมรับและไม่เข้าร่วม” ในการดำเนินงานใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นจากคณะกรรมการฯ ที่เป็นคู่กรณีกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง ทำให้การดำเนินงานใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นจากคณะ
ช่วงเวลาที่ผ่านมา แกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาตำบล รวมถึงนักศึกษาที่เข้ามาในหมู่บ้าน จึงถูกเรียกบ่อยครั้งด้วยคำสั่งให้ไปรายงานตัวแบบเรียงตัว ไม่เว้นแม้หญิงท้องแก่ที่มีกำหนดคลอดอีกไม่กี่วัน มีการนัดหมายให้ไปประชุม ชี้แจง แจ้งผลจากคณะกรรมการฯ ที่ชาวบ้านไม่ได้ยอมรับต่อการดำเนินการมาตั้งแต่ต้น ต้องตั้งรับกับอำนาจและจิตวิทยาที่ถูกนำมาใช้คุกคามกดขี่ทุกทิศทาง และต้องขบคิดกับลายพรางปริศนาคำขู่ เช่น เลือกทางให้ถูกถ้าอยากอยู่กับลูกกับผัวต่อไป ถ้าไม่ยอมรับจะเจอใบแดง ไม่หยุดต่อต้าน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ไม่รับประกันความปลอดภัย หัวแข็งทำผิดจะจับติดคุก ฯลฯ
อีกทั้ง ชาวบ้านยังคาดว่า เขาเหล่านั้นคงจะใช้ความรุนแรงกดขี่คุกคามชาวบ้านเพื่อให้ยอมจำนนต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าเป้าหมายจะบรรลุ คือ ได้ขนแร่ของเหมืองทองที่เหลือออกไป ได้ฟอกตัวเปิดเหมืองใหม่อีกครั้งด้วยการรับประกันความถูกต้องจากหน่วยงานรัฐ ซึ่งไม่นานนักก็คงจะมีการเดินหน้าขั้นตอนในการขยายพื้นที่ทำเหมืองออกไปในแปลงประทานบัตรบนภูเหล็ก และตำบลนาโป่ง
ความรู้สึกของชาวบ้าน ณ เวลานี้ มันตอกย้ำว่า ในพื้นที่การต่อสู้ของชาวบ้าน 6 หมู่บ้านที่ปกป้องรักษาแผ่นดินเกิด ไม่เคยมีความยุติธรรม เพราะอำนาจไม่ว่าจะเป็นสีเหลือง แดง กากี ลายพราง ล้วนถูกนำมาหลอมรวมร่วมกันด้วยความโลภกระหาย
ไม่ว่าจะแลกมาด้วยน้ำตา ความเจ็บปวด ความตายของชาวบ้านซักกี่คน ภูเขา ที่ดิน แม่น้ำ ธรรมชาติ ในสายตาของทุนทุกหน้า ทุกยุค ล้วนมองเห็นแค่ผลประโยชน์และกำไรจากการทำเหมืองแร่
ตลอดมารัฐบาลทุกรัฐบาลจึงใช้ข้ออ้าง การทำเหมืองแร่เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นคำขาด นายทุนเหมืองทองก็อ้างว่า เหมืองทองเมืองเลยดำเนินการมาโดยรัฐบาลเชิญชวนให้มาลงทุน และรัฐบาลก็เป็นหุ้นส่วนในบริษัทฯมาตั้งแต่เริ่มแรก ส่วนหน่วยงานรัฐ เช่น กรมอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ ส.ป.ก. ป่าไม้ อุตสาหกรรมจังหวัด จังหวัด อบต. ก็เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า ทุกฝ่ายล้วนได้ผลประโยชน์ทั้งทางตรง ทางอ้อม ทางลับ จากการทำเหมืองมาอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดสำหรับสถานการณ์ล่อลวงพรางอีกครั้งในวันนี้ คณะกรรมการ 4 ชุด ได้เปิดประชุมเพื่อให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นตัวแทนชาวบ้านจาก 6 หมู่บ้าน กับ นายวิจิตร เจียมวิจิตรกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของทุ่งคำ ได้เจรจาตกลงกัน
ผลย่อมเป็นที่ทุกฝ่ายคาดหมายไว้ก่อนหน้าแล้ว เพราะไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภา อบต. หรือชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ไม่ว่าใครก็ตามที่ไปเข้าร่วมประชุม ทุกคนจะยืนยันร่วมกันในทุกครั้งให้เหมืองทองถอนประทานบัตร ปิดกิจการ และย้ายโรงงาน-เครื่องจักรทุกอย่างออกไปจากพื้นที่ โดยมีประโยคสะท้อนใจที่กล่าวไว้ว่า “คืนความสุขของพวกเรามา”
ส่วนข้ออ้างจากฝ่ายเหมืองทองที่นายวิจิตร เจียมวิจิตรกุล ได้กล่าวว่า เหมืองทองได้ลงทุนไปมากแล้ว เหมืองทองได้ทำเหมืองมาโดยถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ รวมไปว่าจะฟ้องคดีแกนนำชาวบ้านเพิ่ม และใช่คำว่า “ไม่” เป็นคำตอบเดียวต่อข้อเสนอ 6 ข้อของชาวบ้าน
ด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งที่ชัดเจน ฝังลึก และแผ่ขยายพื้นที่ออกไปอย่างกว้างขวางโดยใช้เวลาหมักหมมมายาวนานขนาดนี้ การแก้ปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำที่ใครคิดว่าจะใช้อำนาจ ใช้คำสั่งการ ใช้กระบวนการขั้นตอนลวกๆ หยาบๆ ง่ายๆ คงต้องคิดใหม่ให้มาก และอาจจะถึงเวลาต้องเตรียมใจไว้ที่จะยอมรับความคิดเห็นและความต้องการของชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ด้วยความจริงใจและความรับผิดชอบต่อผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ที่เกิดขึ้น
วันนี้ ถ้อยคำจากหัวใจของชาวบ้านที่กำลังแผ่ขยายกว้างออกไปอย่างเข้มแข็งใน 6 หมู่บ้าน
“เราจะบันทึกประวัติศาสตร์ไปเรื่อยๆ ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวบ้านที่รักษาแผ่นดินเกิด
“ชาวบ้านที่ยืนยันต่อสู้ด้วยลำแข้งของตัวเองจนถูกฟ้อง 7 คดี เรียกค่าเสียหาย 270 ล้านบาท
“ชาวบ้านที่ถูกขู่ฆ่าถูกมัดซ้อมทรมานโดยกองกำลังเถื่อนที่เหมืองทองจ้างมาขนแร่
“ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวบ้านฅนรักษ์บ้านเกิด ที่ร่วมกันเอาโฉนดแผ่นดินเกิดมาวางเป็นกองทุนเพื่อประกันตัวชาวบ้านที่ถูกเหมืองฟ้อง
“เพื่อรักษาแผ่นดินเกิด เราจะไม่หยุดต่อสู้ไม่ว่ากับใครหน้าไหนก็ตาม เราจะบันทึกประวัติศาสตร์ของเราไปเรื่อยๆ”
และถ้อยคำเหล่านี้ล้วนเป็น “ข้อเท็จจริง” ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ แต่จะมีใครมาสั่งการ หลอกลวง บังคับ กำหนด ควบคุมอีกหรือไม่
เช่นเดียวกับคำพูดของชาวบ้าน ประวัติศาสตร์กำลังถูกบันทึกไปเรื่อยๆ และกาลเวลาเท่านั้นที่จะพิสูจน์ว่าเรื่องราวนี้จะจบเช่นไร
ความเป็นมา ลำดับเหตุการณ์ เหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย
8 ส.ค. 2557 |
คณะกรรมการ 4 ชุด ได้เปิดประชุมเพื่อให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นตัวแทนชาวบ้านจาก 6 หมู่บ้าน กับ นายวิจิตร เจียมวิจิตรกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของทุ่งคำ ได้เจรจาตกลงกัน |
7 ส.ค. 2557 |
ทหารโทรนัดแกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด โดยไม่มีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการ จะขอปรึกษาหารือเรื่อง วิธีการแก้ไขปัญหาและป้องกันกรณีเขื่อนเก็บกากแร่ของบ.ทุ่งคำ แตก/ แกนนำกลุ่มฯ ปฏิเสธรับนัด ด้วยเหตุผล เขื่อนไซยาไนด์ตั้งอยู่บนภูเขาเหนือหมู่บ้าน ซึ่งเป็นบริเวณต้นน้ำ เป็นแหล่งน้ำซับซึม มีการไหลเวียนของน้ำบนดินและน้ำใต้ดินไหลเวียนตามธรรมชาติ การสร้างเขื่อนในบริเวณนี้คือการเริ่มที่ทำผิดมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่การไต่สวนประทานบัตรเป็นเท็จ การศึกษาในอีไอเอเป็นเท็จ ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงไม่มีทางแก้ไขได้ |
6 ส.ค. 2557 |
ชาวบ้านเริ่มเอาที่ดินที่มีโฉนดของตนเองไปประเมินราคาที่กรมที่ดิน เพื่อเตรียมไว้ใช้เป็นหลักทรัพย์ประกันตัวชาวบ้านที่โดนฟ้อง |
นายอำเภอวังสะพุง ได้นัดประชุมชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน โดยไม่มีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการ เพื่อชี้แจงรายละเอียดตามข้อเสนอ 6 ข้อของชาวบ้าน โดยทางอำเภอ คณะกรรมการฯ และอนุกรรมการฯ 4 ชุด จะลงพื้นที่ในวันที่ 6 สิงหาคม 2557 เพื่อประชุมชี้แจงในขั้นตอนและรายละเอียดว่า ข้อเสนอของชาวบ้าน 6 ข้อ แต่ละข้อจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน หรือจะสามารถดำเนินการอะไรที่ทำได้หรือไม่ได้บ้าง (ช่วงเช้า) ส่วนช่วงบ่ายทางอำเภอและคณะกรรมการฯจะประชุมกับ บ.ทุ่งคำ/ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด และชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เข้าร่วมประชุม ชาวบ้านที่เข้าร่วมในการประชุมยืนยันตามข้อเสนอ 6 ข้อ (มีเพิ่มเติมคือ 1.ให้บริษัทฯ ถอนคดีทั้งหมดที่ฟ้องชาวบ้าน 2.ให้หาตัวผู้กระทำผิดคืนขนแร่วันที่ 15 พ.ค. ทั้งหมดมาลงโทษ) ส่วนข้อเสนอ บ.ทุ่งคำ คือ 1. ขอขนแร่ทั้งหมดออกจากเหมือง 2. ปิดเหมือง ฟื้นฟู 3. ต้องการพูดคุยกับชาวบ้านด้วยความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น หลังจากนั้นทางอำเภอบอกว่าจะมีการเจรจาสองฝ่ายระหว่างเหมืองกับชาวบ้านในวันที่ 8 (โดยไม่มีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการกับกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด และไม่ได้ระบุเดือน) |
|
5 ส.ค. 2557 |
กรรมการสิทธิฯ เรียก ชาวบ้าน ทหาร ข้าราชการเมืองเลย ไต่สวนกรณี 1.การตั้งคณะกรรมการ 4 ชุด โดยทหาร 2. เรื่องทหารให้แกนนำและดาวดินเขียนใบรายงานตัว ข่มขู่ห้ามต่อต้านคณะกรรมการ 4 ชุด ต้องปฏิบัติตามคำสั่งทหาร และต้องอยู่ร่วมกับเหมืองให้ได้/ ทหารไม่มา |
29 ก.ค. 2557 |
ศาลจังหวัดเลยรับฟ้องคดีอาญา (บ.ทุ่งคำฟ้องชาวบ้าน) เลขที่คดีดำ 4217/2556 (กำแพงใจ 1) สมัย ภักดิ์มี/ สุรพันธุ์ รุจิไชยวัฒน์/ วิรอน รุจิไชยวัฒน์/ เตียม ปีนา/ กองลัย ภักมี/ ลำดวน ตองหว้าน และ คดีอาญา เลขที่คดีดำ 4542/2556 (กำแพงใจ 3) สุรพันธุ์ รุจิไชยวัฒน์/ เภ่า พรหมหาราช/ ประนอม นามวงษ์/ ภัทราภรณ์ แก่งจำปา/ สุ่ม ศรีทอง พรทิพย์ หงชัย/ ธานิล ภักมี *ชาวบ้านประกันตัวด้วยกองทุนยุติธรรม คดีอาญา 50 ล้าน และใช้ตำแหน่ง อบต. และโฉนดที่ดินค้ำประกันประกันตัว 1 คดี |
24-27 ก.ค. 2557 |
ทหารเรียกแกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด-นักศึกษากลุ่มดาวดิน รายงานตัว และชี้แจงเพื่อปรับทัศนคติ เรื่องหนังสือคัดค้านคณะกรรมการ 4 ชุดที่ทหารแต่งตั้ง เข้าข่ายเป็นการบิดเบือนข้อมูลและอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด เกิดผลเสียต่อภาพลักษณ์ของทหาร ส่วนการทำเวทีประชาคม 6 หมู่บ้านเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 57 ถือเป็นการไม่ให้เกียรติข้าราชการ ฝ่าฝืนคำสั่งของ คสช. ชาวบ้าน 494 คนที่มาลงชื่อร่วมเวทีนี้ ถือว่าแกนนำกลุ่มฯ ได้สร้างปัญหาและพาชาวบ้านกระทำความผิด เพราะหนังสือคัดค้านคณะกรรมการ 4 ชุดที่ทหารแต่งตั้งก็ถือเป็นการต่อต้าน คสช. ทั้งนี้ ทหารกล่าวว่า ปัญหาต้องยุติ จะมีเวทีเจรจาไกล่เกลี่ยปัญหา และดำเนินการตามความต้องการของแต่ละฝ่าย หากปัญหาใดไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้อย่างลงตัว ก็มีความจำเป็นต้องนำกฎอัยการศึกเข้ามาบังคับใช้ และจะห้ามเด็ดขาดไม่ให้คนนอกเข้าพื้นที่จนกว่าปัญหาจะยุติ |
|
สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเลย ซึ่งได้รับมอบหมายให้มีบทบาท และ ภารกิจในการดูแลสุขภาพอนามัยของพนักงาน บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้จัดให้มีการตรวจสุขภาพพนักงานประจำปี 2557 และตรวจสุขภาพพนักงานกลุ่มเสี่ยง ตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ประกาศผลการตรวจสุขภาพของพนักงานบริษัททั้งหมด จำนวน 290 คน ปรากฏว่า ไม่พบความผิดปกติ |
23-24 ก.ค. 2557 |
ทหารเรียกแกนนำ ส.อบต. ผู้ใหญ่บ้าน ปรามเป็นครั้งสุดท้าย เรื่องไม่ให้คัดค้าน คณะกรรมการ 4 ชุดที่ทหารตั้งขึ้นนการ็นกา
|
21 ก.ค. 2557 |
รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และอุตสาหกรรมจังหวัดเลย ลงพื้นที่แจ้ง ประกาศผลการตรวจสอบวิเคราะห์คุณภาพน้ำ รวมถึงเปิดแผนฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ให้ชาวบ้านรับรู้ แต่ชาวบ้าน และกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดไม่เข้าร่วมประชุม และได้ส่งตัวแทนยื่นหนังสือต่อ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ที่วัดศรีสะอาด บ้านห้วยผุก เรื่อง (1) ไม่ยอมรับคณะกรรมการ 4 ชุด ที่ทางทหารตั้งขึ้น พร้อมหนังสือไม่ยอมรับคณะกรรมการดังกล่าวที่ส่งให้กับหน่วยงานต่างๆ ไปก่อนหน้านี้ (2) รายงานการประชุมจากมติประชาคมไม่ยอมรับคณะกรรมการ 4 ชุด จากชาวบ้าน ชาวบ้าน 494 คน ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 |
18 ก.ค. 2557 |
มีการจัดประชาคมกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน (จัดโดยคณะกรรมการที่คัดเลือกโดยชาวบ้าน) เพื่อลงมติในสองประเด็นหลัก 1. การไม่เห็นด้วยและคัดค้านคณะกรรมการ 4 ชุดที่ทหารและข้าราชการจังหวัดเลยจัดตั้งขึ้น 2.การยืนยัน ข้อเสนอ 6 ข้อ ของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน มีชาวบ้าน 494 คน มาลงทะเบียนในบริเวณจัดงาน อีกทั้งยังมีข้าราชการจากจังหวัดที่เกี่ยวข้อง และนายทหารที่มาเข้าร่วมสังเกตการณ์ ประชามติเป็นเอกฉันท์ (1) ยืนยันความต้องการซึ่งเป็นจุดยืนของชาวบ้าน ด้วยข้อเสนอ 6 ข้อ ที่เคยเสนอกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและทหารมาแล้วหลายครั้ง และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ คสช. นำไปปฏิบัติอย่างเร่งด่วน โดยไม่ยอมรับข้อเสนอของทหาร และเหมืองทองคำ (2) ไม่ยอมรับคณะกรรมการทั้ง 4 ชุด ที่ทหารและข้าราชการจังหวัดเลยได้แต่งตั้งขึ้น |
10 ก.ค. 2557 |
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 2 ผู้บังคับบัญชาทหารบกจังหวัดเลย กอรมน.เลย ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่องไม่ยอมรับการแต่งตั้งและผลการดำเนินงานของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเหมืองทองคำจังหวัดเลยทั้ง 4 ชุดที่แต่งตั้งโดยผู้แทนทหาร คสช. และขอให้เริ่มต้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื้อรังจากการทำเหมืองแร่ทองคำตามแนวทางข้อเสนอของประชาชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด โดยเรียงลำดับการดำเนินงานเป็นข้อๆ ดังนี้ (1) เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯ ทั้ง 6 แปลง บนภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอน (2) เพิกถอนใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประกอบโลหะกรรมทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการแต่งแร่ แยกแร่ ลอยแร่ ถลุงแร่ ฯลฯ จนการผลิตในขั้นตอนสุดท้าย (3) เคลื่อนย้ายเครื่องจักร อุปกรณ์ สำนักงาน และอื่นๆ ทั้งหมด ออกไปจากเขตเหมืองแร่หรือเขตประทานบัตร (4) ขนสินแร่ทั้งที่ยังไม่ได้แต่ง และแต่งแล้วออกจากเขตเหมืองแร่หรือเขตประทานบัตรทั้งหมด (5) ทำการปิดเหมืองเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ สุขภาวะ อนามัยและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน (6)ให้ทำการเยียวยาประชาชน 6 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำทุกด้าน |
9 ก.ค. 2557 |
ประกาศ จังหวัดเลย เรื่องผลการตรวจสอบ วิเคราะห์คุณภาพน้ำบริเวณโดยรอบ บ.ทุ่งคำ จำกัด ที่ได้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำ เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2557 จากจุดเก็บตัวอย่าง 7 จุด คือ น้ำประปาบาดาล หมู่ที่ 7 บ้านกกสะทอน, บ่อน้ำตื้น หมู่ 3 บ้านนาหนองบง, น้ำประปาบาดาล หมู่ที่ 3 บ้านนาหนองบง , น้ำประปาบาดาล หมู่ที่ 12 บ้านโนนผาพุง, น้ำประปาบาดาล หมู่ที่ 1 วัดศรีสะอาด, น้ำประปาบาดาล หมู่ที่ 13 บ้านภูทับฟ้า และ บ่อน้ำประปาบาดาล หมู่ที่ 2 วัดศรีสว่างจอมแจ้ง โดยหน่วยงานที่ตรวจสอบวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ประกอบด้วย กรมควบคุมมลพิษ, กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำ ปรากฏว่า พบสารหนู และแมงกานีส ไม่เกินค่ามาตรฐาน ไม่มีสารโลหะหนักเพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บตัวอย่างน้ำที่ผ่านมา |
7 ก.ค. 2557 |
ทหารและข้าราชการเรียกประชุมประชาคมหมู่บ้าน โดยคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งประสานงานแต่งตั้งโดยทหาร และมีนายภานุ แย้มศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลยเป็นประธาน ชาวบ้าน 300 คน จาก 6 หมู่บ้าน ได้เดินทางไปยังบริเวณจัดงาน อ่านแถลงการณ์ ไม่ร่วมประชาคม ไม่ยอมรับคณะกรรมการ 4 ชุดที่ทหารแต่งตั้ง |
27 มิ.ย. 2557 |
พันเอกสวราชย์ แสงผล รองผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 8 รายงานสถานการณ์ความคืบหน้าการดำเนินงานของทหาร 1. หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากส่วนกลางได้เก็บข้อมูลผลกระทบรอบบริเวณเหมืองแร่ทองคำแล้ว เช่น กรมควบคุมมลพิษ ได้ลงพื้นที่มาเก็บตัวอย่างน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน ตะกอนดิน 2. ทหารได้ประสานงานให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 4 ชุด เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนและผลกระทบเหมืองแร่ |
20 มิ.ย. 2557 |
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ยื่นข้อเสนอความจากต้องการของกลุ่มฯ 5 ข้อ ต่อทหาร (1) เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯ ทั้ง 6 แปลง บนภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอน (2) เพิกถอนใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประกอบโลหะกรรมทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการแต่งแร่ แยกแร่ ลอยแร่ ถลุงแร่ ฯลฯ จนการผลิตในขั้นตอนสุดท้าย (3) เคลื่อนย้ายเครื่องจักร อุปกรณ์ สำนักงาน และอื่นๆ ทั้งหมด ออกไปจากเขตเหมืองแร่หรือเขตประทานบัตร (4) ขนสินแร่ทั้งที่ยังไม่ได้แต่ง และแต่งแล้วออกจากเขตเหมืองแร่หรือเขตประทานบัตรทั้งหมด (5) ทำการปิดเหมืองเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ สุขภาวะ อนามัยและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยข้อเสนอทั้ง 5 ข้อ ต้องเป็นตามขั้นตอน 1 2 3 4 5 จะข้ามขั้นตอนไม่ได้ |
18 มิ.ย. 2557 |
มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกในหมู่บ้าน ห้ามไม่ให้ชาวบ้านประชุม |
เพียง 9 วันหลังจากทหารยกกองกำลัง 120 นาย เข้ามาประจำในหมู่บ้าน มีคำสั่งกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเลย/จังหวัดทหารบกเลย โดย พล.ต.วรทัต สุพัฒนานนท์ ผบ.กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเลย/จังหวัดทหารบกเลย แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง อันเนื่องมาจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ และคณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำภูทับฟ้า ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย มีกรรมการและอนุกรรมการเป็นทหาร ผู้ว่าฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานราชการในจังหวัดที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมใดๆ ไม่มีนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา หรือผู้เชี่ยวชาญที่น่าเชื่อถือ โดยให้คณะกรรมการและอนุกรรมการมีหน้าที่ในการรวบรวมข้อเท็จจริง ข้อพิจารณาทั้งในเชิงสาเหตุ ผลกระทบ ความต้องการของประชาชนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ความต้องการและขีดความสามารถในการแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ การกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหา การเจรจา และดำเนินการอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาระหว่างผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างยั่งยืน |
|
12 มิ.ย. 2557 |
คณะกรรมการสิทธิส่งหนังสือถึง คสช. ชี้แจงข้อมูลกรณีผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ เหตุการณ์ความรุนแรงจากการขนแร่ในคืนวันที่ 15 และการข่มขู่คุกคามชาวบ้าน |
กพร.ทำหนังสือชี้แจง หลังจากคณะกรรมการสิทธิฯ มีหนังสือชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการร้องเรียนการทำเหมืองแร่ทองคำ ของบ.ทุ่งคำ ถึง คสช. โดย กพร. ยกผลการสำรวจการกระจายตัวและแหล่งที่มาการปนเปื้อนโลหะหนัก ในเขตพื้นที่แหล่งแร่ทองคำภูทับฟ้า ของ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ ที่ กพร.ว่าจ้างให้ทำเมื่อ สิงหาคม 2555-2556 สรุปสาระสำคัญ คือ (1) การทำเหมืองของบ.ทุ่งคำ ไม่มีการเปลี่ยนเส้นทางน้ำ (2) ไม่มีการปล่อยน้ำออกสู่ภายนอกพื้นที่โครงการ (3) สารหนู แมงกานิส โลหะหนัก แพร่กระจายอยู่ทั่วไปในประมาณสูงตามธรรมชาติอยู่แล้ว (4) ผลการตรวจรักษาผู้ป่วย แพทย์ไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด (5) หลังมติครม.วันที่ 8 ก.พ. 2554 กพร.ได้ชะลอการขยายพื้นที่ใหม่และไม่ได้มีการอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำเพิ่มเติม (6) ปัจจุบันผลการะวิเคราะห์ไม่พบว่ามีไซยาไนด์ปนเปื้อนออกจากพื้นที่ประทานบัตร (7) โลหะหนักที่ตรวจพบมีการแพร่กระจายอยู่แล้วตามธรรมชาติ (8) การวิเคราะห์ความเหมาะสมทางธุรกิจของโครงการเป็นการศึกษาเชิงเศรษฐกิจที่สามารถประเมินมูลค่าต่างๆ ได้อย่างชัดเจน แต่การเปรียบเทียบกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นทฤษฎีทางสังคมที่ยังไม่เคยมีการศึกษามูลค่าต่างๆ ในเชิงเศรษฐกิจมาก่อน (9) การขนแร่ (คืน 15 พฤษภาทมิฬ) ได้รับอนุญาตขนแร่จากอุตสาหกรรมจังหวัดเลยอย่างถูกต้อง การปะทะกันของชาวบ้านกับกลุ่มชายฉกรรจ์เกิดจากชาวบ้านไม่ยอมให้มีการขนแร่ออกจากเหมืองแร่ (10) กพร.ได้แจ้งให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเสนอชื่อนักวิชาการเข้าร่วมศึกษาข้อมูลร่วมกับ กพร. แต่ไม่มีการตอบรับหรือเสนอชื่อจากกลุ่มฯ *สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ รายงานผล การสำรวจการกระจายตัวและแหล่งที่มาการปนเปื้อนโลหะหนัก ในเขตพื้นที่แหล่งแร่ทองคำภูทับฟ้า ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เพื่อศึกษาและวิเคราะห์การแพร่กระจาย สาเหตุของการปนเปื้อนโลหะหนัก และประเมินการปนเปื้อนของโลหะหนักในเขตพื้นที่แหล่งแร่ทองคำ ซึ่งเก็บตัวอย่างในปี 2555 (พงศ์ศักดิ์ วัฒนสินธุ์) เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2556 ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างโดยสรุป (1) พบสารหนู และแมงกานีสที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำและน้ำบาดาลเกินค่ามาตรฐานทั้ง 3 ลุ่มน้ำในพื้นที่ ได้แก่ ลุ่มน้ำฮวย ลุ่มน้ำห้วยผุก ลุ่มน้ำห้วยเหล็ก (2) น้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน พบค่าความเข้มข้นเกินมาตรฐานของ สารหนู ไซยาไนด์ และตะกั่ว ส่วนแมงกานีส เกินมาตรฐานในบางสถานี (3) สารหนู และไซยาไนด์ ในน้ำผิวดิน ส่วนใหญ่เกินมาตรฐานในพื้นที่เหมือง และบางสถานีนอกพื้นที่ประกอบกิจกรรมเหมือง อีกทั้งในช่วงฤดูฝนจะพบไซยาไนด์ เกินมาตรฐานน้าผิวดินหลายจุดนอกพื้นที่เหมือง (4) บ่อบาดาลอื่นๆ ในเหมือง และบ่อกักเก็บตะกอนกากแร่ มีค่าไซยาไนด์ สารหนู แมงกานีส และทองสูงเกินมาตรฐานเช่นกัน แต่การศึกษาสำรวจในครั้งนี้ไม่มีบทสรุปจากนักวิชาการว่าการปนเปื้อนของโลหะหนักและไซยาไนด์ที่เกินค่ามาตรฐานมีสาเหตุมาจากการทำเหมืองแร่ โดยการศึกษาสรุปว่าการปนเปื้อนเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของพื้นที่ |
|
ทหารขอชาวบ้านเพื่อเคลียร์พื้นที่ทำความสะอาดบริเวณสี่แยกกำแพงใจ ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุจุดหนึ่งในเหตุการณ์ คืน 15 พฤษภาทมิฬ และเกี่ยวข้องกับคดีความอาญาและแพ่งทั้งหมด 7 คดีที่ บ.ทุ่งคำได้ฟ้องร้องชาวบ้าน 33 คน โดยเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 270 ล้านบาท ซึ่งชาวบ้านได้ปฏิเสธไม่ให้ทหารทำการกระทำดังกล่าว และได้ถามบทบาทของทหารอีกหลายครั้ง รวมทั้งขอดูหนังสือคำสั่งเพื่อความชัดเจนว่า ทหารมาปฏิบัติภารกิจอย่างไรบ้างในพื้นที่ แต่ทหารไม่ได้ตอบและไม่ให้ดูหนังสือคำสั่งแต่อย่างใด |
|
9 มิ.ย. 2557 |
ทหาร 120 นาย ยกพลเข้าหมู่บ้าน ประกาศผ่านสื่อ “เพื่อความปลอดภัยของทั้งชาวบ้านและฝั่งเหมืองทอง” และ “เพื่อสร้างความปรองดอง” ดังนั้น ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง นักเคลื่อนไหว เอ็นจีโอ หยุดการทำงานและให้ออกไปให้หมดจากพื้นที่ในทันที เพื่อให้พื้นที่เหลือเฉพาะชาวบ้านกับฝ่ายเหมืองทองเท่านั้น |
6 มิ.ย. 2557 |
ทหารนัดคุยแกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ทหารแจ้งข้อเสนอ 5 ข้อ ของบ.ทุ่งคำที่เสนอผ่านนายทหาร (1) บริษัท บ.ทุ่งคำ จำกัด ขอขนแร่ทั้งหมดในสต๊อก (2) บ.ทุ่งคำ ขอขนอุปกรณ์เครื่องจักรทั้งหมดออก (3) บ.ทุ่งคำ จะปิดกิจการชั่วคราว (4) บ.ทุ่งคำ จะทำการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด จากผลกระทบการทำเหมืองแร่ (5) บ.ทุ่งคำ จะฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อม ภายหลังหยุดกิจการ ทั้งนี้ บ.ทุ่งคำถอนคดีทั้งหมด 7 คดี บ.ทุ่งคำทำเหมืองถูกต้อง ต้องให้เขาขนแร่ทั้งหมดออกไปรวมทั้งให้ขนย้ายเครื่องจักรออกไป จากนั้นจะปิดเหมือง แต่เรื่องการเพิกถอนประทานบัตร ทางทหารจะไม่ยกเลิก แต่จะปล่อยทิ้งไว้ 25 ปี จนหมดอายุประทานบัตร โดยจะมีการทำ MOU และมีหน่วยงานเข้ามาดูแลจนหมดอายุประทานบัตร ชาวบ้านแจ้งความต้องการที่ต่อสู้คัดค้านเหมืองมา 7 ปี คือ ให้เพิกถอนประทานบัตรของบ.ทุ่งคำ ปิดเหมือง ฟื้นฟู |
3 มิ.ย. 2557 |
คดีอาญา กำแพงใจ 2 ศาลไม่ไต่สวนมูลฟ้อง แต่ให้ทำการเจรจาไกล่เกลี่ยกับคู่ความทั้งสองฝ่าย โดยให้คู่ความทั้งสองฝ่ายเจรจากัน มีคนกลางคือ นายวิชัย เตชะศิริสวัสดิ์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดเลย และ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน นายวิจิตร เจียมวิจิตรกุล เสนอจะถอนคดีชาวบ้านทั้งหมด 6 คดี แลกกับการขนแร่ทั้งหมดออกจากเหมืองทองคำและขนย้านเครื่องจักรบางส่วนออกจากเหมือง (แร่คงคลังของ บ.ทุ่งคำ แร่สำรอง 241,600 ตัน แร่ยังไม่แต่ง 31,369 ตัน แร่แต่งแล้ว 1,942.54 ตัน ที่ทุ่งคำขออนุญาตขนเองใน คืน 15 พฤษภาทมิฬ ขนไปได้ 300 ตัน ขนไม่ทัน 176 ตัน) กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ไม่รับ แต่เสนอให้ทุ่งคำถอนประทานบัตรทั้งหมด ปิดเหมือง ฟื้นฟู การเจรจาล่ม |
คณะกรรมการสิทธิฯ จัดประชุมไต่สวน กรณีการขนแร่ในคืน 15 พฤษภาทมิฬ ที่ศาลากลางจังหวัดเลย กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด แถลงข่าวเรียกร้องให้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ตำรวจ ทหาร และหน่วยงานที่มีอำนาจทั้งหมด (1) ออกคำสั่งหรือดำเนินการใดๆ อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ กพร. และอุตสาหกรรมจังหวัดเลย ระงับหรือเพิกถอนใบอนุญาตขนแร่ และใบอนุญาตซื้อ-ขายแร่ ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในทันที เนื่องจากการขนแร่ และการซื้อ-ขายแร่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ทำให้ชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน ตกอยู่ในอันตราย และถูกทำร้าย อยู่ในอาการวิตก หวาดกลัว ไม่สามารถดำเนินชีวิตตามปกติสุขได้อีกต่อไป (2) ให้ความคุ้มครองชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน แกนนำ พยาน และผู้เสียหาย ที่ถูกทำร้ายร่างกายจากการขนแร่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในคืนที่ 15 พฤษภาคม 2557 อย่างเร่งด่วน (3) ให้เร่งดำเนินการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการทางกฎหมายภายใน 15 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำผิดซ้ำ |
|
ทุ่งคำประกาศหยุดกิจการชั่วคราว เป็นระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2557 อ้างชาวบ้านปิดทางเข้าเหมือง |
|
1 มิ.ย. 2557 |
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้อำนายการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเลย ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย พล.ต.ต.ศักดิ์ดา วงศ์ศิริยานนท์ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จังหวัดเลย พ.ต.อ.สมชาย ศรีคำแดง ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอวังสะพุง ขอความคุ้มครองชาวบ้าน พยานและผู้เสียหาย กรณีคดี คืน 15 พฤษภาทมิฬ เนื่องจาก มีมือปืนเข้ามายิงขู่ชาวบ้านรอบๆ หมู่บ้าน และแกนนำ 8 คน ถูกตั้งค่าหัว จ้างวานสังหาร หัวละ 3 แสนบาท |
27 พ.ค. 2557 |
หลังการประกาศกฎอัยการศึกและมีการรัฐประหาร กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (1) ขอให้เร่งดำเนินการตรวจสอบนายทหารนอกรีต ทั้งที่ปลดประจำการแล้ว และอยู่ระหว่างรับราชการ ที่เป็นตัวการและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการขนแร่ของ บริษัท บ.ทุ่งคำ จำกัด อย่างเร่งด่วน โดยให้มีการลงโทษอย่างสูงสุดทั้งทางวินัยและดำเนินคดีอาญาหากพบความผิด (2) ขอให้ใช้อำนาจโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนใน 6 หมู่บ้านที่ถูกทำร้ายอย่างทารุณจากการขนแร่ของ บริษัท บ.ทุ่งคำ จำกัด ในเหตุการณ์ “คืน 15 พฤษภาทมิฬ” และเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องจากการข่มขู่คุกคามประชาชนในหมู่บ้านเพื่อขอขนแร่ โดย พล.ท.ปรเมษฐ์ ป้อมนาค พ.ท.ปรมินทร์ ป้อมนาค และพวก โดยออกคำสั่งระงับการออกใบอนุญาตขนแร่ และระงับการขนแร่ทั้งหมดของ บริษัท บ.ทุ่งคำ จำกัด เอาไว้ก่อน จนกว่าจะมีการไต่สวนข้อเท็จจริง และมีการเอาผิดทางกฎหมายต่อผู้กระทำผิดและผู้รับผิดชอบให้เป็นที่เปิดเผยอย่างกระจ่าง (3) ขอให้มีคำสั่งไม่ให้มีการใช้อำนาจหรือข้ออ้างภายใต้สถานการณ์การประกาศกฎอัยการศึก โดยห้ามไม่ให้ทหารเกี่ยวข้องพัวพันกับการขนแร่ของ บริษัท บ.ทุ่งคำ จำกัด และใช้ความรุนแรงหรือปราบปรามประชาชนที่ต้องปกป้องความปลอดภัยของตนเอง และปกป้องสิทธิชุมชนในการคัดค้านเหมืองแร่ทองคำ ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนใน 6 หมู่บ้านเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด |
23 พ.ค. 2557 |
สภ.วังสะพุงแจ้งว่ามีการออกหมายจับ พันโทปรมินทร์ ป้อมนาค และนายดลชัย อาจแก้ว พนักงานเหมืองทอง ส่วน พล.ท.ปรเมษฐ์ ป้อมนาค ตำรวจได้ขอให้ศาลออกหมายจับ แต่เหตุผลด้วยความเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ มีที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่ง ศาลจึงออกหมายเรียกให้มารายงานตัว ถ้าไม่มาจึงจะออกหมายจับ แต่ไม่กล่าวถึงการกระทำความผิดของบริษัททุ่งคำในฐานะผู้ได้รับใบอนุญาตในการขนแร่และเป็นผู้ขนแร่ในคืน 15 พฤษภาทมิฬ |
22 พ.ค. 2557 |
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ส่งจดหมายเปิดผนึก ถึง ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ อุตสาหกรรมจังหวัดเลย ผู้กำกับ สถานีตำรวจภูธรอำเภอวังสะพุง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (1) ขอให้ ผู้บัญชาการทหารบก เร่งดำเนินการตรวจสอบนายทหารนอกรีต ทั้งที่ปลดประจำการแล้ว และอยู่ระหว่างรับราชการ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขนแร่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้อำนาจหรือข้ออ้างภายใต้สถานการณ์การประกาศกฎอัยการศึกในการขนแร่ และปราบปรามประชาชนที่ปกป้องสิทธิชุมชนในการคัดค้านเหมืองแร่ทองคำ และให้มีการลงโทษทางวินัยและกฎหมายต่อผู้กระทำความผิดให้ถึงที่สุด (2) ขอให้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เร่งดำเนินการสอบสวนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ ให้อายัดแร่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่ถูกขนออกไปโดยกองกำลังเถื่อนติดอาวุธทำร้ายประชาชน และให้มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อกรณีดังกล่าวในข้างต้นให้ถึงที่สุดอย่างเร่งด่วน (3) ขอให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เร่งดำเนินการสอบสวนการซื้อ-ขาย-ขนแร่ ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ให้อายัดแร่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่ถูกขนออกไปโดยกองกำลังเถื่อนติดอาวุธทำร้ายประชาชน ให้มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อกรณีดังกล่าวในข้างต้นอย่างเร่งด่วน และดำเนินการด้านความปลอดภัยของแกนนำและชาวบ้านเป็นคดีพิเศษ (4) อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และอุตสาหกรรมจังหวัดเลย ต้องระงับใบอนุญาตการซื้อ-ขายแร่ ใบอนุญาตขนแร่ และระงับการออกใบอนุญาตขนแร่ให้แก่ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ทั้งหมดเอาไว้ก่อน เพื่อความปลอดภัยของประชาชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด และให้สำเนาใบอนุญาตการซื้อ-ขายแร่ และใบอนุญาตขนแร่ ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน แก่ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด (5) ขอให้ ผู้กำกับ สถานีตำรวจภูธรอำเภอวังสะพุง อายัดแร่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่ถูกขนออกไปโดยกองกำลังเถื่อนติดอาวุธทำร้ายประชาชน และเร่งดำเนินการสอบสวนสืบสวนคดีของผู้ถูกทำร้ายร่างกายและผู้เสียหายจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ต่อทุกกรณีที่ผ่านมา โดยจับกุมและดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดให้ถึงที่สุดอย่างเร่งด่วน (6) ขอให้ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง ในฐานะผู้อำนวยการทางหลวงท้องถิ่น เร่งดำเนินการตามกฎหมาย บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในฐานะผู้ได้รับใบอนุญาตขนแร่โดยการขนแร่ได้ใช้รถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากำหนดในกฎหมายวิ่งบนทางหลวงท้องถิ่น และให้หามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดจากการขนแร่ที่เหลืออยู่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยเคร่งครัด (7) ขอให้ คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร มีคำสั่งด่วนที่สุดให้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่และอุตสาหกรรมจังหวัดเลย ให้สำเนาเอกสารดังกล่าวในข้างต้นที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้ร้องขอ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดอย่างสูงสุด |
17 พ.ค. - มิ.ย. 2557 |
มีเสียงปืนดังรอบหมู่บ้านทุกวัน ข่มขู่ให้หวาดกลัว แกนนำ 8 คน ถูกตั้งค่าหัว จ้างวานสังหาร หัวละ 3 แสนบาท |
19 พ.ค. 2557 |
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ส่งหนังสือเปิดผนึกถึง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเลย ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอวังสะพุง ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ขอให้ระงับใบอนุญาตการซื้อ-ขายแร่ และใบอนุญาตขนแร่ ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ทั้งหมด เพื่อความปลอดภัยของประชาชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด และ ขอตรวจสอบและขอสำเนาใบอนุญาตการซื้อ-ขายแร่ และใบอนุญาตขนแร่ ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นมา |
16 พ.ค. 2557 |
ชาวบ้านที่ได้รับบาดเจ็บพากันไปแจ้งความ สภ.วังสะพุง หลังชาวบ้านได้แจ้งความแล้ว ได้ขอพบ พ.ต.อ.สมชาย ศรีคำแดง ผกก.สภ.วังสะพุง เพื่อเรียกร้องให้ทางการหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้อย่างเร่งด่วน แต่ พ.ต.อ.สมชาย ไม่ออกมาพบ ชาวบ้านจึงนำเต้นท์มากางกลางสี่แยกหน้า สภ.วังสะพุง จนนายบรรพต ยาฟอง นายอำเภอวังสะพุง และ พ.ต.อ.สมชาย ศรีคำแดง ผกก.สภ.วังสะพุง ยอมออกมารับปากกับชาวบ้านว่า จะเร่งติดตามตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย (22 พ.ค. 2557 ชาวบ้านที่ได้รับบาดเจ็บ 28 คน ไปแจ้งความและลงบันทึกประจำวันที่ สภ.วังสะพุง) |
15 พ.ค. 2557 |
คืน 15 พฤษภาทมิฬ กำลังติดอาวุธทำร้ายชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านโทรขอความช่วยเหลือจากทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบในจังหวัด แต่กลับไม่มีหน่วยงานราชการใดในพื้นที่แม้แต่หน่วยงานเดียวเข้ามาช่วยเหลือ |
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
http://www.facebook.com/tcijthai
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ