เอ็นจีโอไทยเดินทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ผมคิดเกี่ยวกับคำถามนี้มาหลายปี แต่ก็ไม่สามารถลงไปศึกษาค้นคว้าได้ เพียงแต่นึกคำตอบเอาเองซึ่งไม่น่าพอใจแก่ตนเองนักตลอดมา
แต่บัดนี้มีนักวิชาการไทยคือ คุณสมชัย ภัทรธนานันท์ (หากถอดชื่อและชื่อสกุลจากอักษรโรมันผิดก็ขออภัยด้วย) ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้และตีพิมพ์ผลงานของตนเป็นหนังสือเล่มมาแล้ว อีกทั้งได้สรุปเป็นบทความสั้นๆ ในวารสาร Cultural Anthropology ฉบับที่ว่าด้วย "กงล้อแห่งวิกฤตของไทย" ร่วมกับนักวิชาการไทยคดีศึกษาอีกหลายท่าน ในบทความชื่อ "Civil Society against Democracy"
ผมอ่านบทความนี้ด้วยความกระตือรือร้น ได้รับความรู้ความเข้าใจหลายอย่าง แต่คำอธิบายของคุณสมชัยเป็นคำอธิบายเชิงปรากฏการณ์ กล่าวคือ ไล่ประวัติของเอ็นจีโอย้อนหลังไปตั้งแต่เมื่อทักษิณ ชินวัตร นำพรรคไทยรักไทยเข้าสู่อำนาจ ความขัดแย้งระหว่างเอ็นจีโอและค่ายคุณทักษิณค่อยๆ พัฒนามาเป็นลำดับอย่างไร และในที่สุดเอ็นจีโอก็เลื่อนไหลไปสู่จุดยืนที่ต่อต้านประชาธิปไตยร่วมกับกลุ่มเสื้อเหลือง สนับสนุนการรัฐประหารใน พ.ศ.2549 และโดยนัยยะก็คือสนับสนุนการรัฐประหารของกองทัพในครั้งนี้
แนวทางตอบคำถามแบบนี้ (แม้มีข้อดีที่สามารถอ้างอิงหลักฐานเชิงประจักษ์ได้มากมาย เช่น คำให้สัมภาษณ์ของเอ็นจีโอเอง) ไม่ใช่แนวทางที่ผมพยายามหาคำตอบ ซึ่งพยายามจะมองหาจุดอ่อนในเชิงโครงสร้างของขบวนการเอ็นจีโอไทย ที่ทำให้ต้องเลื่อนไหลไปสู่การเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
ทำไมจึงมุ่งไปสู่แนวคำตอบแบบนี้ ไม่มีเหตุผลอะไรมากไปกว่าอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว เพราะเมื่อสิบกว่าปีก่อน และก่อนหน้าชัยชนะของพรรค ทรท. ผมสนิทสนมกับเอ็นจีโออยู่มาก ในช่วงนั้นผมก็รู้สึกอยู่แล้วว่ามีอะไรทะแม่งๆ ทั้งในวิธีคิดและกระบวนการทำงานของเอ็นจีโอ แต่มันคืออะไรผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน ซ้ำฉันทาคติที่มีต่อเอ็นจีโอในช่วงนั้น ยังทำให้ไม่คิดวิเคราะห์ความทะแม่งนั้นอย่างจริงจังเสียอีก
จากบทความของคุณสมชัย (ผมไม่เคยอ่านตัวงานวิจัยที่ออกมาเป็นหนังสือเล่ม) ทำให้ผมคิดว่าผมควรเสนอคำตอบแบบหลวมโพรกของผมเสียที อย่างน้อยอาจกระตุ้นให้บางคนวิพากษ์วิจารณ์ อันจะเป็นหนทางทำให้ผมได้ความรู้มากขึ้น
สิ่งแรกที่ผมออกจะสงสัยอย่างมากก็คือ ขบวนการเอ็นจีโอไทยนั้นได้รับอิทธิพลจาก พคท.ค่อนข้างมาก ไม่แต่เพียงผู้นำเอ็นจีโอระยะแรกๆ คือคนที่ออกจากป่าเท่านั้น แม้การไม่เข้าป่าเลยก็หลีกหนีวิธีคิดและกระบวนการทำงานของ พคท.ได้ยาก โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มคนสาว เคยมีคนบอกว่า ขบวนการเอ็นจีโอในระยะแรกนั้นเป็นทางออกของหนุ่มสาวจากมหาวิทยาลัย เพราะบรรยากาศทางการเมืองไม่อำนวยให้ยืนอยู่ข้างประชาชนได้อย่างก่อน 6 ตุลาฯ
อิทธิพลของความเคลื่อนไหว พคท.เป็นทั้งพลังและความอ่อนแอ เฉพาะในส่วนหลังนี้ผมอยากพูดถึง "ประชาธิปไตยรวมศูนย์" ผมหมายถึงการเปิดให้อภิปรายกันได้ในปัญหาเล็กปัญหาน้อยต่างๆ แต่ไม่มีการอภิปรายกันในประเด็นหลักๆ ที่เป็นแนวทางดำเนินงาน (เช่น สังคมไทยยังเป็นกึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินาจริงหรือไม่ การต่อสู้ด้วยอาวุธเป็นหนทางเดียวหรือไม่ ฯลฯ) ของขบวนการ
ขบวนการเอ็นจีโอไทยไม่มีอำนาจบังคับบัญชาเท่าองค์กรกลางของ พคท. แต่ความสัมพันธ์ภายในของเอ็นจีโอดูเหมือนจะเป็นความสัมพันธ์ของ "สหาย" รุ่นพี่กับ "สหาย" รุ่นน้องอย่างเหนียวแน่น ไม่แต่เพียงความอาวุโสหรือความ "น่ารัก" อื่นๆ ของ "สหาย" รุ่นพี่เท่านั้น พวกเขายังมีทั้งประสบการณ์และเครือข่ายเชื่อมโยงไปถึงแหล่งทุน (เมื่อ 20 ปีที่แล้วคือต่างประเทศ ปัจจุบันคือองค์กรที่เกิดจากภาษีของคนไทย แต่บริหารอย่างเป็นอิสระโดยคนกลุ่มหนึ่งที่ได้ฐานสนับสนุนจากเอ็นจีโอด้วย) คำแนะนำของรุ่นพี่จึงมีประโยชน์อย่างยิ่งแก่โครงการและการดำเนินโครงการของ "สหาย" รุ่นน้อง
ผมขอยกตัวอย่างเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เมื่อแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน - "คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน" - ยังเป็นกระแสหลักของแนวทางการพัฒนา ผมได้ยินนักวิชาการจำนวนหนึ่ง (ไม่ใช่ผม เพราะผมไม่ฉลาดถึงแค่นั้น) พยายามเตือนเอ็นจีโอว่า หมู่บ้านในโลกปัจจุบัน (หรือแม้แต่ในอดีต) ที่ตัดขาดจากรัฐไปโดยสิ้นเชิงแล้วผลิตเพื่อเลี้ยงตนเองเป็นหลักนั้น ไม่มีอยู่จริง และเกิดขึ้นในความเป็นจริงไม่ได้ เอ็นจีโอพยักหน้าเชิงเห็นด้วย แต่ก็กลับไปทำทุกอย่างเหมือนเก่าอีกนั่นเอง
ในแนวทางการทำงานของเอ็นจีโอช่วงนั้นเอง ดูเหมือนจุดอ่อนของแนวคิดเช่นนี้ก็ปรากฏให้เห็นในการทำงานด้วย โครงการต่างๆ ที่เอ็นจีโอเข้าไปทำในชุมชนหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรอินทรีย์, สหกรณ์ออมทรัพย์, การศึกษาทางเลือก, ฯลฯ (ซึ่งล้วนเป็นการปลีกออกจากกระแสหลักที่นำโดยรัฐทั้งสิ้น) ล้วนมีสมาชิกในหมู่บ้านเป็นคนข้างน้อยเสมอ แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากองค์กรพัฒนาที่ชาวบ้านสร้างขึ้นเอง
โดยเฉพาะเมื่อได้ผู้นำทางการที่มีหัวก้าวหน้า (บางครั้งเพราะได้รับอิทธิพลจากเอ็นจีโอ) กลับสามารถรวบรวมสมาชิกในหมู่บ้านเป็นคนส่วนใหญ่ได้ และที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ องค์กรชาวบ้านมักวางจุดมุ่งหมายที่ไม่ขัดกับประโยชน์ของคนหลากหลายประเภทในหมู่บ้าน เมื่อเกษตรกรได้ประโยชน์ พ่อค้าแม่ค้า, ช่างทำผม, คนงานของผู้รับเหมา, ข้าราชการ, ช่างซ่อมเครื่องไฟฟ้า, นายทุนเงินกู้ ฯลฯ ก็ไม่เสียประโยชน์ และอาจได้ประโยชน์ในระยะยาวด้วย
โครงการพัฒนาขององค์กรชาวบ้านยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในหมู่บ้านไทยมานานแล้วนั่นคือหมู่บ้านไม่ได้ประกอบด้วยเกษตรกรรายย่อยล้วนๆแต่มีความหลากหลายมากและมากขึ้นทุกทีจนหลายแห่งด้วยกันแทบไม่ต่างจากสังคมเมืองไปแล้ว
ผมคิดว่าเอ็นจีโอไทยแตกกับคุณทักษิณ ชินวัตร ไม่แต่เพียงเพราะคุณทักษิณผิดคำพูดกับสมัชชาคนจน และดึงเอาชาวบ้านเข้ามาเป็นผู้ใต้อุปถัมภ์โดยตรงของรัฐไทยเท่านั้น แต่คุณทักษิณพยายามผลักดันเศรษฐกิจสมัยใหม่อันมีการประกอบการของเอกชนเป็นหลักเข้าไปในหมู่บ้านเท่ากับทำลายปรัชญาพื้นฐานของแนวทางพัฒนาแบบเอ็นจีโอเลยทีเดียวคำบริภาษของคุณทักษิณต่อเอ็นจีโอว่าเป็น"นายหน้าค้าความจน" นั้น ไม่ใช่คำเหยียดหยามธรรมดา แต่มีนัยยะที่ท้าทายปรัชญาการพัฒนาของเอ็นจีโอไปพร้อมกัน เพราะคุณทักษิณกำลังหมายความว่า การแก้ปัญหาความยากจนแบบเอ็นจีโอ คือเปลี่ยนคนจนให้จนอย่างทระนงเท่านั้น
ผมไม่ได้หมายความว่าคุณทักษิณถูกและเอ็นจีโอผิด แต่พื้นฐานทางปรัชญาของเอ็นจีโอกำลังถูกท้าทาย ซึ่งต้องการการทบทวน วิพากษ์ตนเอง และทำงานทางความคิดกับตนเองอย่างหนัก เพื่อตอบโต้การท้าทายนี้ในทางใดทางหนึ่ง แต่ผมสงสัยว่าการจัดองค์กรของขบวนการ (ประชาธิปไตยรวมศูนย์) ทำให้ทำอย่างนั้นไม่ได้ จึงเหลือทางออกอยู่อย่างเดียวคือโค่นทักษิณ และจองล้างจองผลาญกับตระกูลชินวัตรตลอดไป กลายเป็นเข้าทางของชนชั้นนำไทย ที่ต้องการขจัดนายกฯ ที่ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากประชาชนพอดี
จะว่าขบวนการเอ็นจีโอไทยไม่ทบทวนตนเองเสียเลยก็อาจไม่ตรงนักก่อนหน้าพรรคทรท.จะเข้ามาบริหารประเทศมีความคิดที่แพร่หลายมากขึ้นจากปัญญาชนชั้นนำที่สนับสนุนเอ็นจีโอ คุณสมชัยเรียกว่าความคิด "ประชาคม" ผมขอเรียกว่าความคิด "สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา" นั่นคือการประสานร่วมมือกันระหว่างรัฐ, ประชาชน (โดยนัยยะคือมีเอ็นจีโอเป็นผู้นำ), และภาคธุรกิจ เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่มีรากฐานอยู่ที่ประชาชนระดับรากหญ้า ผมคิดว่าแนวคิด "สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา" ให้คำตอบแก่แนววิพากษ์ของนักวิชาการต่อเอ็นจีโอ ทำให้ขบวนการเอ็นจีโอที่ทำงานกับชาวบ้านเชื่อมโยงกับรัฐและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศ
ทฤษฎี "สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา" ทำให้เอ็นจีโอไทย หรือภาคประชาสังคมไทย ไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจอะไรในการร่วมมือกับภาคเอกชนและบางส่วนของภาครัฐ ต่อต้านขัดขวางพัฒนาการของประชาธิปไตย
ปัจจัยภายนอกอีกอย่างหนึ่งซึ่งคุณสมชัยก็พูดถึงคือ แหล่งทุน ซึ่งต้องเปลี่ยนจากแหล่งทุนต่างประเทศมาเป็นแหล่งทุนภายในประเทศ ผ่านองค์กรอิสระที่ได้ส่วนแบ่งภาษีเป็นอัตราตายตัว (จึงเป็นอิสระจากรัฐ)
ไม่ว่าจะเป็นแหล่งทุนจากที่ใด ย่อมมีเป้าหมายทาง "การเมือง" อยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น แต่การเมืองของแหล่งทุนต่างประเทศคือหลักการบางประการ เช่น สิทธิมนุษยชน, ประชาธิปไตย, สิทธิเข้าถึงทรัพยากรพื้นฐาน เช่น น้ำสะอาด, การรักษาพยาบาล, อาหาร, การศึกษา, อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรืออะไรอื่นที่แหล่งทุนต่างประเทศคิดว่าประชาชนในโลกปัจจุบันควรเข้าถึง ในสมัยที่เอ็นจีโอยังต้องอาศัยแหล่งทุนจากต่างประเทศ "การเมือง" ของเอ็นจีโอจึงเป็นการเมืองของหลักการบางประการ ไม่ใช่การเมืองประเภทเลือกข้าง แต่เลือกจะยืนอยู่กับหลักการบางอย่าง
แต่ในทางปฏิบัติ โครงการของเอ็นจีโอต้องลงไปปฏิบัติการในพื้นที่ กว่าจะแทรกตัวลงไปในชุมชนได้ต้องใช้ความอดทน และทำงานด้านความคิดกับชาวบ้านเป็นเวลานาน กว่าจะเริ่มขับเคลื่อนหลักการที่ตนสมาทานตามแหล่งทุนได้ จึงไม่แปลกที่เอ็นจีโอไทยต่างยึดเอาชุมชนหมู่บ้านที่ลงไปทำงานเหมือนเป็น "ฐาน" ส่วนตัวของตนเอง เป็นสมบัติส่วนตัวที่ไม่อยากให้ใคร (ไม่ว่ารัฐหรือโครงการอื่นของเอ็นจีโอด้วยกัน) เข้าไปชิงเอาฐานนั้นไป
ผลก็คือ เอ็นจีโอขยายฐานการทำงานได้ยาก เกษตรอินทรีย์อาจมีผู้ทำอยู่จำนวนหนึ่งในหมู่บ้านของเอ็นจีโอ แต่ก็ไม่เคยขยายไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ส่วนใหญ่ของโครงการไม่ได้ถูกถ่ายไปให้เป็นโครงการของชาวบ้านเอง (ซึ่งต้องได้ทุนสนับสนุนจากต่างประเทศเหมือนกัน) แล้วเอ็นจีโอเคลื่อนย้ายออกไปสู่หมู่บ้านอื่น ทำเลอื่น หรือแม้แต่ประเด็นอื่น
เอาเข้าจริง ผมสงสัยอย่างยิ่งว่าอิทธิพลของเอ็นจีโอต่อการเมืองของชาวบ้านมีจำกัดมาก เพราะคงกระจายอยู่ตามหมู่บ้านไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของหมู่บ้านไทย ชัยชนะของพรรค ทรท.ในครั้งแรกนั้น น่าจะมาจากนโยบายของพรรคเองมากกว่าจากการสนับสนุนของเอ็นจีโอ
อิทธิพลอันจำกัดทางการเมืองของเอ็นจีโอทำให้เมื่อเอ็นจีโอตัดสินใจเข้ามาเป็นผู้เล่นเองในการเมืองเรื่องแย่งอำนาจเอ็นจีโอย่อมอยู่ภายใต้แนวโน้มของการเมืองชนชั้นนำโดยอัตโนมัตินั่นคือชิงและรักษาอำนาจทางการเมืองของคนส่วนน้อยที่ฉลาดและดีไว้เหนือการมีส่วนร่วมของประชาชน
เมื่อทุนต่างประเทศแห้งเหือดไปเพราะประเทศไทยได้พัฒนาไปไกลพอที่จะใช้ทรัพยากรภายในเพื่อสนับสนุนเอ็นจีโอได้เองแล้วเอ็นจีโอไม่ประสบความสำเร็จในการดึงการอุดหนุนจากภาคธุรกิจเอกชนได้มาตั้งแต่ต้น(ยกเว้นโครงการ CSR ซึ่งกลายเป็น PR ของธุรกิจไทย) แหล่งทุนภายในที่เกิดขึ้นคือองค์กรอิสระดังที่กล่าวแล้ว (อพช.และองค์กรตระกูล ส. ทั้งหลาย)
องค์กรเหล่านี้ถูกคุมโดยชนชั้นนำกลุ่มหนึ่ง ทำตัวประหนึ่งเป็นภาครัฐในทฤษฎี "สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา" องค์กรเหล่านี้ก็มี "การเมือง" ของตนเอง ด้านหนึ่ง การเมืองของพวกเขาคือหลักการบางอย่างไม่ต่างจากแหล่งทุนต่างประเทศ แต่มีอีกส่วนหนึ่งของการเมืองอยู่ด้วย คือการเลือกข้างทางการเมือง ต่างใช้เงินจำนวนมหาศาลที่ได้จาก พ.ร.บ.จัดตั้งองค์กรเหล่านี้ เพื่อสร้างเครือข่ายทางการเมืองแบบเลือกข้างของตนขึ้น เอ็นจีโอก็เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย
ไม่ว่าขบวนการเอ็นจีโอจะมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร การผลักดันตนเองเข้าไปอยู่ในเครือข่ายการเมืองขององค์กรอิสระเหล่านี้ ทำให้เอ็นจีโอต้องต่อต้านการเมืองแบบประชาธิปไตยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ร้ายยิ่งไปกว่านั้น ดังที่ผมได้ชี้ให้เห็นข้างบนแล้วว่าโดยเงื่อนไขที่แวดล้อมเอ็นจีโออยู่ก็ตาม โดยวิธีคิดของเอ็นจีโอก็ตาม เอ็นจีโอไทยเป็นพันธมิตรโดยธรรมชาติกับชนชั้นนำอยู่แล้ว
ที่จริงผมยังมีเรื่องที่จะวิเคราะห์ต่อแนวโน้มทางการเมืองของเอ็นจีโออีกหลายเรื่องอันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับโครงสร้างของขบวนการแต่เนื้อที่จำกัดผมจึงขอหยุดเพียงเท่านี้ อันพอให้เห็นแนวการวิเคราะห์ที่ผมสนใจ และพอจะได้รับคำสั่งสอนจากท่านผู้รู้
ที่มา: www.matichon.co.th
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ