‘ปลัดพาณิชย์’เมินรัฐบาล-อุ้มภาคธุรกิจ เร่งเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูเม.ย.นี้

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 14 มี.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1509 ครั้ง

จากกรณีกระทรวงพาณิชย์จะเดินทางไปเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป รอบที่ 4 ณ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม ระหว่างวันที่ 7-11 เมษายนนี้ น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) เปิดเผยว่า นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ มุ่งมั่นที่จะเดินหน้ากระบวนการเจรจาอย่างเร่งด่วน โดยคำนึงถึงเพียงความต้องการเร่งด่วนของภาคธุรกิจ โดยละเลยความเสี่ยงต่อผลกระทบอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนวงกว้าง ที่อาจรุนแรงกว่าการได้สิทธิ GSP ทั้งที่ฝ่ายการเมืองในฐานะรัฐบาลรักษาการเอง ก็ยังไม่ได้เข้ามาผลักดันให้เกิดการเจรจาเดินหน้า เพราะมีความสุ่มเสี่ยงในความถูกต้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และมารยาทของการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

            “การเดินหน้าเจรจาอย่างเร่งด่วนนี้ เป็นประเด็นเครือข่ายภาคประชาสังคมตั้งข้อสังเกต และกังขาต่อท่าทีของกระทรวงพาณิชย์เป็นอย่างยิ่งว่าเบื้องหลัง สาเหตุของการเร่งรีบเดินหน้าเจรจาคืออะไร ซึ่งการไปเจรจาในภาวะที่ประเทศมีเพียงรัฐบาลรักษาการมีความสุ่มเสี่ยงที่จะผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 และผิดมารยาทของการเจรจาการค้าระหว่างประเทศอย่างยิ่ง ในขณะที่หัวหน้าคณะเจรจาและรัฐบาลไม่แสดงท่าทีจะเดินหน้าการเจรจาในภาวะการเมืองสุญญากาศเช่นนี้ กระทรวงพาณิชย์ในฐานะกองเลขานุการ การเจรจามีอำนาจในการไปเจรจาหรือไม่” น.ส.กรรณิการ์กล่าว

นอกจากนี้ภาคประชาสังคมยังห่วงกังวลว่า ปลัดกระทรวงพาณิชย์จะยึดแนวทางการ ตามที่หัวหน้าคณะเจรจา (ดร.โอฬาร ไชยประวัติ) เคยรับปากไว้ว่า จะยึดข้อห่วงใยของประชาชนเป็นท่าทีในการเจรจาหรือไม่ ได้แก่ (1) ไม่รับข้อตกลงที่เกินไปกว่าความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPs) ขององค์การการค้าโลกที่เกี่ยวกับยาเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและสุขภาพของคนในสังคม (2) ไม่รับข้อตกลงที่เกินไปกว่าความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPs) ขององค์การการค้าโลกที่เกี่ยวกับทรัพยากรชีวภาพ เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกร และความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย

(3) ประเด็นสินค้าที่มีอันตรายต่อสุขภาพนั้น ทางหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย ยืนยันว่าการทำความตกลงค้าเสรีครั้งนี้ จะไม่นำไปสู่การบริโภคสุราที่เพิ่มขึ้น และจะไม่เพิ่มปัจจัยที่จะกระตุ้นนักดื่มหน้าใหม่ให้มีอายุน้อยลง (4) เรื่องการคุ้มครองการลงทุน ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนฟ้องร้องผ่านอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศนั้น หัวหน้าคณะผู้เจรจาฯกับภาคประชาชนเห็นตรงกันว่า มาตรการที่จำเป็น และเหมาะสมเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะ เช่น สิ่งแวดล้อม สุขภาพสาธารณะ มาตรการเพื่อปกป้องดุลการชำระเงิน นโยบายเศรษฐกิจมหภาค ต้องถูกละไว้ ไม่ให้เป็นประเด็นที่นำไปสู่การฟ้องร้อง, ไม่คุ้มครองการลงทุนที่ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจจริง (real economic activities) และจะคุ้มครองการลงทุนที่มีการลงทุนแล้ว (post-establishment) เท่านั้น เป็นไปตามกรอบเจรจาการค้าการลงทุนที่ผ่านรัฐสภา เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2553

ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาทางหน่วยงานรับผิดชอบไม่ได้แสดงท่าทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนประชาสังคม ไม่มีการจัดหารือ และรับฟังความเห็นประชาชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แม้แต่คณะทำงานร่วม 3 ฝ่ายระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่ตั้งมาก่อนหน้านี้ โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ก็ไม่เคยมีการเรียกประชุมเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว ทั้งที่ระหว่างเวลาพักการเจรจาเช่นนี้ เป็นเวลาที่เหมาะสมยิ่งในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้เพิ่มขึ้น รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อให้คณะเจรจามีความพร้อมและมีความเข้มแข็งในการเจรจา

            “ด้วยท่าทีของกระทรวงพาณิชย์ ที่แสดงการตอบสนองภาคธุรกิจอย่างร้อนรน ไม่ให้ความสำคัญกับการรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย ทั้งหน่วยราชการต่าง ๆ ด้วยกันเอง และเครือข่ายประชาสังคม ทำให้กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน และเครือข่ายประชาสังคม ไม่อาจไว้วางใจและขอเรียกร้องให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ต้องมาชี้แจงต่อสาธารณชนอย่างเร่งด่วน ถึงกระบวนการและเนื้อหาที่ทางคณะเจรจา ฯ จะไปดำเนินการในการเจรจารอบที่ 4 โดยไม่มีอำนาจ เช่นนี้” ผู้ประสานงานเอฟทีเอว็อทช์ กล่าว

ขอบคุณภาพปลัดกระทรวงพาณิชย์ จากhttp://news.mthai.com

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: