เปิดผลงาน'ศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายพิทักษ์สถาบัน' กมธ.วิสามัญ วุฒิสภา หลังขอต่ออายุ180วัน

14 พ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2301 ครั้ง

ในการประชุมสมัยวิสามัญช่วงเดือนพฤษภาคม 2557 ของวุฒิสภา มีวาระที่ประธานแจ้งต่อที่ประชุมเรื่องการขอขยายเวลาการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา มีอำนาจหน้าที่ พิจารณาศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 135 โดยการขอขยายเวลาครั้งนี้ นับว่าเป็นการขอขยายเวลามาอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งรายนามของอดีตคณะกรรมาธิการชุดนี้ส่วนใหญ่นั้นอยู่ในกลุ่ม 40 ส.ว. รวมทั้ง ส.ว. สายทหาร เช่น นายสมชาย แสวงการ, นายคำนูณ สิทธิสมาน, นายประสาร มฤคพิทักษ์, พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ และพล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ ซึ่งเป็นประธานคณะ กมธ.วิสามัญฯ ชุดนี้คนล่าสุด รวมทั้งเคยมีการตั้งคณะกรรมาธิการคนนอก ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเพื่อไทยอย่างนายนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม (กรรมาธิการวิสามัญฯ 26 กันยายน 2554 ถึง 18 สิงหาคม 2556) และนายสันติสุข โสภณสิริ (กรรมาธิการวิสามัญฯ 26  กันยายน 2554 ถึง 18 สิงหาคม 2556) มาแล้ว (ดูเพิ่มเติม: รายนามอดีตคณะกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา)

ผลงานและการพิจารณากรณี ‘จาบจ้วงสถาบัน’

สำหรับผลงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา ที่ตั้งมาเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2556 (มีกำหนดระยะเวลา 180 วัน) ก็ถือว่ามีบทบาทที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง ในสถานการณ์การเมืองที่มีข้อกล่าวหา “การจาบจ้วงสถาบัน” คุกรุ่นอยู่ในสังคมไทย และการออกมาเคลื่อนไหวของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯชุดนี้ จึงดูน่าจับตาอยู่ไม่น้อย เช่น หลังตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ได้ไม่กี่วัน พล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธาน กมธ. ได้ร่วมกันแถลงกรณีที่รัฐสภาได้ผ่านวาระ 3 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. และได้ส่งเรื่องให้นายกรัฐมนตรี เพื่อทูลเกล้าฯ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่า นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในวันที่ 1 ต.ค.นั้น ทาง กมธ.เห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ การนำขึ้นทูลเกล้าฯ น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม และในเวลาต่อมาการแก้รัฐธรรมนูญ 2550 ก็ได้ชะงักไปอย่างไม่มีกำหนด

ในช่วงเดือนตุลาคม 2556 นั้น ยังได้เรียกสอบผู้เกี่ยวข้องและหน่วยงานของรัฐที่ให้งบประมาณ กับ ‘งาน 40 ปี 14 ตุลา’ ที่จัดโดยกลุ่มคนเสื้อแดง หลังจากมีการร้องเรียนว่า มีการเสียดสีจาบจ้วงสถาบันภายในงาน

และในช่วงเดือนมกราคม 2557 จัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ ในสถาบันประมุขของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย” โดยมีผู้แทนจากส่วนหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ, นักเขียน คอลัมนิสต์, นักจัดรายการวิทยุ, ศิลปิน ดารา นักร้อง นักแสดง, พระสงฆ์ นักบวช ผู้นำทางศาสนา อาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษาในสถาบันต่าง ๆ รวม 200 คน เข้าร่วมการอบรม รวมถึงในช่วงเดือนเมษายน 2557 ที่ผ่านมา

คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันได้จัดสัมมนาหัวข้อ “การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการพิทักษ์สถาบันกษัตริย์” กลุ่มผู้ใช้เครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ในการติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน, กลุ่มผู้ใช้เครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ในการเคลื่อนไหวปัญหาการเมือง และกลุ่มเครือข่ายสังคมออนไลน์ “รักในหลวง” ประมาณ 50 คน เข้าร่วมการเสวนา

นอกจากนี้ในเอกสารประกอบการขอขยายเวลาการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา ยังระบุถึงการศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยติดตามการปฏิบัติงานของคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานของรัฐที่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐบาลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย เช่น หน่วยงานด้านความมั่นคง กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักอัยการสูงสุด เป็นต้น โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญและคณะอนุกรรมาธิการศึกษาติดตามบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ได้มีการพิจารณาเรื่องสำคัญๆ ไปแล้วดังนี้

- กรณีมีผู้จัดงาน 40 ปี 14 ตุลา เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2556 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีการจัดกิจกรรมการแสดงพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางที่ไม่เหมาะสม และการจัดพิมพ์หนังสือที่มีเนื้อหาจาบจ้วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์

- กรณีการดำเนินคดีอาญา นายเอกภพ เหลือรา หรือ "ตั้ง อาชีวะ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

- กรณีที่มีข่าวว่ามีบุคคลจัดให้มีการสวนสนาม และมีการแสดงป้ายแบ่งแยกดินแดนอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงและมีผลกระทบในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

- กรณีที่นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ โกตี๋ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว Vice News สื่อต่างประเทศ เมื่อวันที่ 7เมษายน 2557 กล่าวพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์

- การพิจารณาเกี่ยวกับกรณีที่มีเว็บไซต์ที่หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์โดยเชิญกองบังคับปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาร่วมประชุม

รวมทั้งกิจกรรมด้านการส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์มีการทำกิจกรรมหลายอย่าง เช่น การจัดเสวนา, การพิจารณาเสนอให้วุฒิสภาจัดให้มีการประกวดบทความสั้นประกอบภาพเรื่อง "สถาบันพระมหากษัตริย์กับวิถีชีวิตวัฒนธรรมไทย" รวมถึงการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครที่มีจิตสำนึกในการปกป้องและพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ของลูกเสือบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Cyber Scout) กับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นต้น

แผนดำเนินงาน-งบประมาณ

ที่มา: เอกสารประกอบการขอขยายเวลาการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา

“TEAM 9” หน่วยปฏิบัติการพิทักษ์สถาบันในโลกไซเบอร์

ในจัดสัมมนาหัวข้อ “การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการพิทักษ์สถาบันกษัตริย์” เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2557 ที่ผ่านมา  โดยมีสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งกลุ่มผู้ใช้เครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ในการติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน, กลุ่มผู้ใช้เครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ในการเคลื่อนไหวปัญหาการเมือง และกลุ่มเครือข่ายสังคมออนไลน์ “รักในหลวง” ประมาณ 50 คน เข้าร่วมการสัมมนา “ปิดลับ” ในครั้งนี้

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา กล่าวเปิดการสัมมนาตอนหนึ่งว่าเมื่อมีผู้ใดไปละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ พระองค์ท่านไม่อยู่ในฐานะที่ตอบโต้ได้ โดยรัฐธรรมนูญเขียนไว้ให้ประชาชนมีหน้าที่พิทักษ์รักษาความมั่นคงของรัฐและสถาบันกษัตริย์และเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะพิทักษ์สถาบันกษัตริย์เช่นกันคำถามคือท่านได้ทำหน้าที่นี้ดีเพียงใด

            “ปัจจุบันพบว่ามีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม บางครั้งส่งผลกระทบต่อสถาบันฯ ถึงแม้การกระทำต่าง ๆ จะมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่สิ่งสำคัญคือต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย” สุรชัยกล่าวไว้ในวันเปิดงานสัมมนา

ขอบคุณภาพจาก http://www.phitsanulokhotnews.com/wp-content/media/2012/01/DSC_0305.jpg

ถึงแม้จะเป็นการสัมมนาปิดลับไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปทำข่าว แต่เนื้อหาของเอกสารประกอบการสัมมนาบางส่วนได้เล็ดลอดออกมา ซึ่งมีเนื้อหารวบรวมความคิดในการจัดตั้งเครือข่ายพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ไว้อย่างน่าสนใจโดยเฉพาะการจัดตั้ง “TEAM 9”

โดยปัจจุบันเครือข่ายที่จัดตั้งขึ้นมี “TEAM 9” ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการ โดยทำหน้าที่ร่วมกิจกรรมกับคณะอนุกรรมาธิการประชาสัมพันธ์ และอนุกรรมาธิการบังคับใช้กฎหมาย ในคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์

ซึ่ง “TEAM 9” นี้จะคอยอัพเดทสถานการณ์ให้เครือข่ายทราบ นำข้อมูลที่ได้มาโพสต์ลงในกลุ่มเครือข่ายทางสังคมเพื่อแลกเปลี่ยนทำการโพสต์ข้อมูลอย่างพร้อมเพรียงเพื่อสร้างกระแสขยายเครือข่าย ทำการคาดคะเนสถานการณ์การโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ตามห้วงเวลาต่าง ๆ รวมถึงสะกดรอยติดตามดูกลุ่มต่อต้าน ทำรายชื่อเป้าหมายและแจ้งให้ผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายดำเนินการ

นอกจากนี้เนื้อหาในเอกสารประกอบการสัมมนานี้ยังมีการระบุว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีนักการเมืองกลุ่มหนึ่งได้ทำการทุจริตอย่างเปิดเผย และได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของ 3 องค์กรหลัก ประกอบด้วย ทหาร ศาล และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นองค์กรที่นักการเมืองกลุ่มนั้นไม่สามารถใช้เงินซื้อหรือควบคุมได้ เพราะมีความผูกพันยึดโยงกับสถาบันฯ อย่างเหนียวแน่น

นักการเมืองกลุ่มนี้จึงคิดทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อจะได้ลดความเชื่อถือของประชาชนและบุคลากรของทั้ง 3 องค์กร ซึ่งหากทำสำเร็จก็จะสามารถครอบครองบงการศาลและตำรวจได้อย่างสะดวก โดยพบว่านักการเมืองกลุ่มนี้หลายสิบคน มีความใกล้ชิดกับผู้ต้องหาหรือนักโทษที่มีการบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผยและมีมวลชนของนักการเมืองคอยให้การสนับสนุน

สำหรับวิธีการบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์นักการเมืองกลุ่มนี้เลือกใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นหลักซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพ โดยได้ว่าจ้างกลุ่มคนมาทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ทำหน้าที่ปล่อยข้อมูลตอบโต้และชุดความคิดใหม่ ๆ ในการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์โดยใช้ 4 ประเด็นในการโจมตี ได้แก่ ข้อดีของการไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ การลิดรอนเสรีภาพในการวิจารณ์ เรื่องที่สถาบันฯส่งผลต่อสังคมและเรื่องส่วนตัวของสถาบันพระมหากษัตริย์

ในส่วนของความเชื่อมโยงและยุทธศาสตร์ของกลุ่มบุคคลดังกล่าว เริ่มจากกลุ่มทุนสนับสนุนให้กลุ่มนักวิชาการนักเขียน เพื่อจัดทำชุดความคิดก่อนจะนำไปแลกเปลี่ยนกับกลุ่มการเมือง ในขณะเดียวกันชุดความคิดนี้ก็จะถูกส่งต่อไปยัง มวลชนโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนทุนจากกลุ่มทุนเดียวกัน

ขอบคุณภาพจาก http://www.chaoprayanews.com/wp-content/uploads/2011/12/gtyu.jpg

โดยในเอกสารประกอบการสัมมนาได้วิเคราะห์ถึงแนวทางการทำงานของเครือข่ายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ จะใช้ทั้งการพูดปากต่อปาก การเผยแพร่ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์สังคมออนไลน์ และการแอบแฝง ในงานสัมมนาวิชาการ โดยมี 4 เป้าหมายหลัก

1.ทำให้คนกล้าวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ เห็นได้จากการสร้างกระแสโดยให้นักคิด นักเขียนรุ่นใหม่วิพากษ์วิจารณ์

2.รวบรวมให้เป็นกลุ่มเพื่อแสดงออกในที่สาธารณะเช่นการรวมกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านกฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

3.สร้างภาพให้เห็นโทษของสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างเช่น กรณีการเสียชีวิตของอากง หรือความร่ำรวยของสถาบันพระมหากษัตริย์

4.นำความขัดแย้งทางการเมืองมาเป็นประเด็น เพื่อทำให้มวลชนเข้าใจผิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะอ้างว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ หนุนหลังกลุ่มต่อต้านรัฐบาล หรือ กลุ่ม กปปส.

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: