คปก.ฝ่าขัดแย้ง-เหลื่อมล้ำ ขับเคลื่อนปฏิรูปกม.9ด้าน

14 พ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1363 ครั้ง

วันที่ 14 พฤษภาคม สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) แถลงข่าวในโอกาสครบรอบ 3 ปี คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดยจะนำเสนอแผนการขับเคลื่อนปฏิรูปกฎหมาย เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศทุกมิติ ในหัวข้อ “3 ปี คปก. การขับเคลื่อนปฏิรูปกฎหมายเพื่อการปฏิรูปประเทศ” ศาสตราจารย์ ดร.คณิต  ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดเผยว่า มีความจำเป็นต้องปฏิรูปกฎหมายทั้งระบบ เนื่องจากสังคมไทยเผชิญความขัดแย้งทางการเมือง เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม และประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนโยบายการพัฒนาประเทศ ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจทางการเมือง รวมศูนย์อำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ประชาชนเข้าไม่ถึงความยุติธรรม กฎหมายล้าสมัยไม่รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ชุมชน และไม่เคารพสิทธิความเสมอภาคระหว่างเพศ ตลอดจนยังไม่มีการปฏิรูปกฎหมายให้เท่าทันสถานการณ์ รวมถึงการปฏิรูปกฎหมายเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ดร.คณิต กล่าวว่า คปก.พร้อมจะขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมายใน 9 ด้านที่สำคัญ คือ การปฏิรูปการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยการผลักดันร่างพระราชบัญญัติการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ. .... ที่มุ่งให้เกิดการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นชุมชน ให้สามารถกำหนดทิศทางและแผนการพัฒนาท้องถิ่นและการบริหารกิจการของจังหวัด และการมีส่วนร่วมของชุมชนในการตัดสินใจแก้ปัญหาในพื้นที่ ขณะเดียวกันมีแนวทางปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรที่ดิน ทรัพยากรแร่และพลังงาน เพื่อให้เข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเป็นธรรม ซึ่งปรากฏชัดในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ  ร่าง พ.ร.บ.ภาษีอัตราก้าวหน้า, ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร

            “ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมคปก.เห็นว่า ประชาชนจะสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึง จำเป็นต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และกลไกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ อัยการ และศาล รวมทั้งการดำเนินคดีอย่างเป็นธรรม โดยจะนำเสนอแนวทางในการปฏิรูปกระบวนการชันสูตรพลิกศพ กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด การสอบสวนและการฟ้องคดีและระบบการให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายเพื่อเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมโดยมีทนายความที่มีความสามารถและรับผิดชอบที่รัฐจัดให้”

ดร.คณิตกล่าวว่า ในส่วนขององค์กรอิสระถือเป็นกลไกสำคัญในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ คปก.จึงได้เสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงและพัฒนากฎหมายอันเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและสถานการณ์ปัจจุบัน ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. .... ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. .... ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. .... และ ร่าง พ.ร.บ.สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นอกจากนี้ คปก.จะได้เสนอให้มีการปรับปรุงรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทั้งหมดด้วย

            “หากพิจารณาการปฏิรูปกฎหมายเอกชนธุรกิจ เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ไม่ให้มีการผูกขาดตัดตอน และการคุ้มครองผู้บริโภค คปก.จะดำเนินการแก้ไขปรับปรุง ร่าง พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า .... กฎหมายเกี่ยวกับการขนส่ง กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกฎหมายเกี่ยวกับการลงทุนและการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ขณะเดียวกันได้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ....เพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งยังสามารถนำหลักประกันไปใช้ในการประกอบกิจการได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการซึ่งส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม”

ดร.คณิตกล่าวด้วยว่า คปก.ยังมีการขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคระหว่างเพศ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและมาตรฐานสากล อาทิ ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ. .... ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. .... อีกทั้งยังมีแนวทางปรับปรุงกฎหมายสวัสดิการสังคม กฎหมายประกันสังคม กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุขเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างผู้ให้บริการสาธารณสุขและผู้รับบริการสาธารณสุข รวมถึงกฎหมายสำหรับผู้สูงอายุ ที่มีหลักการสำคัญในการขยายสิทธิผู้สูงอายุ อีกทั้งยังผลักดันให้มีการจัดทำมาตรฐานแรงงานในประชาคมอาเซียนให้มีมาตรฐานแรงงาน บนหลักการพื้นฐานของความเสมอภาคและเท่าเทียม

            “การดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาคปก. ยังได้ให้ความสำคัญต่อการยกร่างกฎหมายโดยภาคประชาชน รวมทั้งการให้ความรู้แก่ประชาชนทำให้ภาคประชาชนมีความตื่นตัวอย่างกว้างขวางต่อการปฏิรูปกฎหมาย การร่วมยกร่างและผลักดันร่างกฎหมายพร้อมที่จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ดังนั้นคปก. เห็นว่า การปฏิรูปกฎหมายในทุกมิติดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการปฏิรูปประเทศ ที่ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรม  ในสังคมไทยอย่างแท้จริง” ประธานคปก.กล่าว

ขอบคุณภาพจาก http://www.ccaa112.org

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: