จี้ชะลอสร้างเขื่อนสาละวิน ดับไฟสงครามที่กำลังปะทุ

14 ต.ค. 2557 | อ่านแล้ว 3056 ครั้ง

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม เครือข่ายปกป้องแม่น้ำสาละวิน Salween Watch ออกแถลงการณ์ “ชะลอแผนการสร้างเขื่อนสาละวิน ร่วมกันดับไฟสงครามที่กำลังปะทุ” ระบุว่า สถานการณ์การสู้รบ ในรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า ระหว่างกองกำลังกะเหรี่ยงและกองทัพพม่าที่เกิดขึ้นบริเวณฝั่งตรงข้ามกับ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ในเวลานี้ยังส่อเค้ารุนแรงขึ้นตามลำดับ มูลเหตุหนึ่งของการสู้รบครั้งนี้ มาจากการที่กองกำลังทหารพม่า พยายามเคลียร์พื้นที่บริเวณดังกล่าวเพื่ออำนวยความสะดวกในการ สร้างเขื่อนฮัตจี ซึ่งกั้นแม่น้ำสาละวิน โดยได้รับการยืนยันข้อเท็จจริงมูลเหตุประการนี้จากนายทหารระดับสูงของกอง กำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งสหภาพกะเหรี่ยง หรือ KNU (Karen National Union) และกองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตย หรือ DKBA (Democratic Karen Benevolent Army)

ทั้งนี้พลเอกบอจ่อแฮ รองผู้บัญชาการสูงสุด KNU ได้แจ้งไปยังนายทหารระดับสูง ของ KNU ว่า ขณะนี้ทางกองทัพพม่าได้สื่อสารไปยังกองกำลัง DKBA ที่ยังคงมีฐานที่มั่นอยู่ในพื้นที่รอบๆ หัวงานเขื่อนฮัตจี ว่าจะกวาดล้างออกจากพื้นที่ และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (8 ตุลาคม) มีรายงานว่ารถบรรทุกของกองทัพพม่าจำนวน 9 คันได้เข้าไปยังหัวงานเขื่อนฮัตจี

เช่นเดียวกับที่ผู้บังคับการกองพันโกล่ทูลา ของกองกำลัง DKBA ซึ่งมีฐานอยู่บริเวณแม่น้ำสาละวิน ระบุว่าถูกกดดันอย่างหนักจากกองทัพพม่า เนื่องจาก DKBA ประกาศตัวว่าคัดค้านเขื่อน ฮัตจีมาโดยตลอด

การที่กองทัพพม่า นำกำลังจำนวนมาก เข้าบุกยึดโจมตีพื้นที่ ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะประชาชนเชื้อสายกะเหรี่ยง ทำให้ชาวบ้านจำนวนหลายร้อยรายต้องหนีภัยความตายมายังประเทศไทย บริเวณอำเภอท่าสองยาง ช่วงวันที่ 10-11 ตุลาคมที่ผ่านมา แม้จะมีการผลักดันกลับสู่พม่าในวันต่อมา แต่สถานการณ์ที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะคลี่คลายก็ทำให้ชาวบ้านไม่ สามารถกลับบ้านและใช้ชีวิตตามปกติได้ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ลึกเข้าไปทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน ก็กำลังเตรียมพร้อมอพยพทุกเมื่อหากมีการปะทะในพื้นที่

ค่ายกะเหรี่ยงอพยพหนีภัยการสู้รบ ที่อ.ท่าสองยาง จ.ตาก (ขอบคุณภาพจาก http://dc401.4shared.com/)

เหตุการณ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า พื้นที่ซึ่งเป็นจุดสร้างเขื่อนสาละวินยังคงอยู่ในภาวะสงคราม และไม่เหมาะสมที่จะผลักดันโครงการในยามนี้ เพราะเป็นการยิ่งเร่งให้เกิดการใช้กำลังทางการทหารและการละเมิด สิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น

เขื่อนฮัตจี เป็น 1 ใน 5 โครงการเขื่อน ที่วางแผนจะสร้างบนแม่น้ำสาละวินในพม่า ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการจนกว่าจะ เกิดสันติภาพและประชาธิปไตย เนื่องจากทั้ง 5 เขื่อนจะตั้งอยู่ในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งมีการสู้รบมายาวนาน

สาละวินวอชต์ ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานติดตามกรณีเขื่อนสา ละวินมาโดยตลอด จึงขอเรียกร้องกองทัพพม่ายุติการใช้ความรุนแรง และใช้วิธีเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ความขัดแย้ง ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ผู้ซึ่งต้องรับความเดือดร้อนโดยตรงหากมีความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น

ขณะเดียวกันในส่วนของรัฐบาลไทย ควรส่งสัญญาณไปยังรัฐบาลพม่าเพื่อให้ยุติการใช้ความรุนแรง ที่สำคัญคือหน่วยงานของรัฐไทยคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นองค์กรสำคัญที่เข้าไปมีผลประโยชน์จากการนี้ การใช้วิธีการดังกล่าวไม่ใช่แค่เรื่องกิจการภายในพม่าเท่านั้น แต่พัวพันถึงเกียรติภูมิของประเทศไทย ซึ่งอาจถูกติฉินนินทาจากสังคมโลกว่าเห็นแก่ผลประโยชน์ตัวเองโดย ไม่คำนึงถึงวิธีการ ดังนั้นรัฐบาลจึงควรสั่งการให้กฟผ.ชะลอโครงการดังกล่าวออกไปก่อน กระบวนการที่ก่อให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงเท่านั้นที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

หมายเหตุ: ลำดับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สร้างเขื่อนฮัตจี

พฤษภาคม 2549 นายชนะ (ไม่ทราบนามสกุล) หนึ่งในคณะของพนักงานกฟผ. แผนกช่างสำรวจ เหยียบกับระเบิดในฝั่งพม่าได้รับบาดเจ็บสาหัส ระหว่างเข้าไปสำรวจพื้นที่ป่าด้านเหนือของ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เขตติดต่อประเทศพม่า ในโครงการเขื่อนสาละวิน (ฮัตจี) ต่อมาเสียชีวิต

กันยายน 2550 ชุดสำรวจของกฟผ. ที่เข้าไปสำรวจพื้นที่เพื่อสร้างเขื่อนฮัจจี ถูกคนร้ายใช้ระเบิด2 ลูก ปาเข้าใส่แคมป์ของพนักงานกฟผ. ห่างจากหมู่บ้านกาม่ามอง จ.พะอัน หรือผาอ่าง รัฐกะเหรี่ยง ประมาณ 18 ไมล์ เป็นเหตุให้นายสมาน จันทเมือง เสียชีวิตทันที และยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ในกรณีนี้พะโด่ มาน ฉ่า เลขาธิการ KNU ใน ขณะนั้นออกมาปฏิเสธต่อเหตุการ โดยอธิบายว่าพื้นที่เกิดเหตุไม่ได้อยู่ภายใต้ความควมคุม และการเคลื่อนไหวทางทหารของฝ่าย KNU

กุมภาพันธ์ 2551พะโด่ มาน ฉ่า เลขาธิการ KNU ถูกคนร้ายบุกยิงที่บ้านพักในเขตอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งหลายฝ่ายมองว่ามาจากหลายสาเหตุ และการออกมาประกาศไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อนฮัตจีอย่างเปิด เผยในตอน นั้น กลุ่มเครือข่ายกะเหรี่ยงปกป้องแม่น้ำเห็นว่า อาจเป็นสาเหตุหนึ่งเพราะทำให้กองกำลังฝ่ายตรงข้ามบางกลุ่มเสียผลประโยชน์

มิถุนายน 2552 เกิดการสู้รบในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงตรงข้ามอ.ท่าสองยาง ระหว่าง BGF กับ KNU โดย BGF ต้องการที่จะควบคุม พื้นที่ทั้งหมดในแถบน้ำเมย บริเวณ อ.ท่าสองยาง จ.ตากไปจนถึงฝั่งตรงข้ามบ้านสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมพื้นที่เขื่อน เพราะขณะนั้นสัญญาในการสร้างเขื่อนฮัตจี ต้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2551 แล้ว

พฤศจิกายน 2553 – กุมภาพันธ์ 2554 การสู้รบขยายวงกว้างมาถึงฝั่งตรงข้าม บ้านสบเมย และลูกปืนใหญ่หลายลูกตกมายังบ้านสบเมยในฝั่งไทย

ในการลงพื้นที่ของคณะอนุกรรมการ สำนักนายกรัฐมนตรี ที่บ้านสบเมยร่วมกับกฟผ. ได้เกิดการปะทะจนทำให้ชาวบ้านหมู่บ้านใกล้เคียงอื่นๆ ไม่กล้าเดินทางมาเข้าร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมการ นับแต่นั้นมา กฟผ.ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้อีก

ขอบคุณที่มา: เว็บไซต์คนชายข่าว คนชายขอบ http://transbordernews.in.th

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: