มติ ครม.ให้ไทยเข้าร่วมภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ

14 พ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 2277 ครั้ง

ไทยเตรียมรับสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธตาม 115 ประเทศ ห้ามชาติสมาชิกส่งออกอาวุธที่นำไปใช้ละเมิดสิทธิมนุษยชน การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ตั้งแต่อาวุธเบายันขีปนาวุธ ป้องกันและลดจำนวนการค้าขายอาวุธเถื่อน

เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2557 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ คือ 1. เห็นชอบการลงนามเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ (The Arms Trade Treaty: ATT)  2. อนุมัติให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ และ 3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาแต่งตั้งผู้แทนผู้มีอำนาจเต็ม (Full Power) ในการลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ

โดย สมช. ระบุต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่าสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ (The Arms Trade Treaty: ATT) เกิดจากแนวคิดระหว่างประเทศในการกำหนดมาตรฐานที่มีผลผูกพันทางกฎหมายในการควบคุมการนำเข้า ส่งออก และการส่งผ่าน/ถ่ายลำอาวุธ โดยเริ่มต้นกระบวนการจัดทำสนธิสัญญาฯ ในกรอบสมัชชาแห่งสหประชาชาติ ตั้งแต่ปี 2549 มีการประชุมคณะกรรมการเตรียมการเพื่อจัดทำสนธิสัญญาฯ (Preparatory Committee: PrepCom) ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 4 ครั้ง เพื่อนำไปสู่การประชุมสหประชาชาติเพื่อจัดทำสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ (2012 UN Conference on Arms Trade Treaty) แต่ที่ประชุมยังไม่สามารถหาข้อยุติได้เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุมยังมีความเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับองค์ประกอบของร่างสนธิสัญญาฯ คณะกรรมการเตรียมการเพื่อจัดทำสนธิสัญญาฯ จึงได้จัดให้มีการประชุมสหประชาชาติเกี่ยวกับสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธครั้งสุดท้าย (Final UN Conference on the Arms Trade Treaty) ระหว่างวันที่ 18 – 28 มีนาคม 2556 ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการให้ฉันทามติ โดยซีเรีย เกาหลีเหนือ และอิหร่าน ไม่ให้ความเห็นชอบ ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้นำผลการประชุมเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ 67 ต่อไป

นอกจากนี้ สาระสำคัญหลักของสนธิสัญญาฯ มีวัตถุประสงค์เป็นการสร้างมาตรการและปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับการค้าอาวุธระหว่างประเทศ ป้องกันและลดจำนวนการค้าขายอาวุธที่ผิดกฎหมาย โดยมุ่งหวังให้เกิดสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพระหว่างประเทศและภูมิภาค ลดสาเหตุการทุกข์ทรมานของมนุษย์ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้อาวุธ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและสร้างความโปร่งใสและความรับผิดชอบระหว่างประเทศภาคีสมาชิกในการค้าขายอาวุธระหว่างประเทศ ด้วยการสร้างความมั่นใจระหว่างรัฐภาคี

อนึ่งเนื้อหาในสนธิสัญญากำหนดให้ชาติภาคีควบคุมการค้าอาวุธตามแบบที่ครอบคลุมถึงรถถัง ยานยนต์หุ้มเกราะ ปืนใหญ่ เครื่องบินรบ เฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธ เรือรบ ขีปนาวุธและเครื่องยิงขีปนาวุธ รวมถึงอาวุธน้ำหนักเบาทั้งหลาย โดยกำหนดห้ามสมาชิกส่งออกอาวุธเหล่านี้ที่จะถูกนำไปใช้กระทำสิ่งที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ การก่ออาชญากรรมสงคราม หรือการก่อการร้าย อีกทั้งเรียกร้องให้ชาติสมาชิกป้องกันอาวุธไม่ให้ตกไปอยู่ในตลาดมืดด้วย

โดยสถานะล่าสุด ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2556 มีประเทศที่ลงนามในสนธิสัญญาฯ ทั้งหมด 115 ประเทศ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา และถ้าหากไทยลงนามรับสนธิสัญญาจะมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วัน หลังจากวันที่มีการฝากหนังสือให้สัตยาบัน รับ รับรอง หรือภาคยานุวัติ จำนวน 50 ฉบับ ต่อเลขาธิการสหประชาชาติ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: