รศ.สุดสงวน สุธีสร: มองคดีน้องแก้มและโทษประหารผ่านอาชญวิทยา

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 15 ก.ค. 2557


อย่างไรก็ตาม โศกนาฏกรรมทำนองนี้ไม่ควรเกิดขึ้น ไม่ว่าขณะนี้หรืออนาคต แต่การจะป้องกันอาชญากรรมไม่ใช่แค่เรื่องของตำรวจหรือระบบรักษาความปลอดภัยเท่านั้น หากหมายรวมถึงความรู้ ความเข้าใจในตัวอาชญากร TCIJ กำลังพูดถึงศาสตร์ที่ว่าด้วยอาชญากร ศาสตร์ที่กำลังก่อตัวเป็นรูปร่างชัดเจนในสังคมไทย เพียงแต่ยังไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้อย่างจริงจังนัก

รศ.สุดสงวน สุธีสร อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอเป็นอาจารย์ด้านอาชญวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม เป็นนักอาชญวิทยารุ่นแรกๆ ของเมืองไทย และยังเป็นนักอาชญวิทยาที่พยายามผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐก่อตั้งศูนย์หรือสถาบันอาชญวิทยา เพื่อรวบรวมข้อมูลอาชญากรรมอย่างเป็นระบบระเบียบ สำหรับการพัฒนาองค์ความรู้ด้านอาชญวิทยาและป้องกันปัญหาอาชญากรรมในสังคมไทย

แม้ทุกวันนี้ความพยายามดังกล่าวจะยังไม่เป็นผลสำเร็จ แต่มุมมองของเธอต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับว่ามีประเด็นที่หลายฝ่ายควรรับฟัง

TCIJ: อาชญวิทยาคืออะไร

สุดสงวน: อาชญวิทยาเป็นการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของอาชญากร อาชญากรรมคืออะไร ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ใช่อยู่ๆ เกิดขึ้นมาเอง มันต้องมีสาเหตุ ทำไมคนเหล่าจึงอยากที่จะกระทำผิด เมื่อเราศึกษาได้แล้วว่าทำไมทำผิด เราก็จะมีการศึกษาต่อถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งก็คือตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ว่า หน่วยงานหลักของกระบวนการยุติธรรมจะไปวางนโยบายจัดการอย่างไรกับคนคนนี้ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นิสัย แล้วยังมีเรื่องว่าจะป้องกันอย่างไรในอนาคตไม่ให้เขากระทำผิดซ้ำ ไม่ให้สังคมเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

TCIJ: คุณพูดถึงการศึกษาตัวบุคคล หมายความว่าต้องศึกษาสภาพแวดล้อมของตัวบุคคลนั้นๆ ด้วย

สุดสงวน: ความคิดทฤษฎีด้านอาชญวิทยาแบ่งเป็นยุค แต่ละยุคไม่เหมือนกัน เราอยู่ในยุคไหน เราก็จะคิดแบบเดียวกับคนในยุคนั้น การศึกษาอาชญวิทยาในแต่ละยุคก็จะคิดว่า สิ่งนี้แหละคือต้นเหตุ เช่น ในยุคแรกๆ มองว่าเพราะยีนไม่ดีมีการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ พ่อเป็นโจร ลูกก็ต้องเป็นโจร แต่ภายหลังสังคมเปลี่ยนไปก็มีแนวคิดอื่นเพิ่มขึ้นมา ทำให้เราต้องศึกษาแนวคิดอื่นเพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่เชิงกายภาพ จิตวิทยา เศรษฐกิจ การเมือง จนในที่สุดขณะนี้เหมือนเราย้อนกลับไปศึกษาเรื่องเจตจำนงอิสระว่าก่ออาชญากรรมเพราะอะไร

นโยบายในส่วนของราชทัณฑ์ เราได้พยายามหานโยบายที่จะดูแลเขา ปรับเปลี่ยนพฤตินิสัยเขา แต่ปรากฏว่าเมื่อเขาออกมาอยู่นอกเรือนจำก็กลับไปเหมือนเดิม มันเกิดขึ้นเพราะอะไร พวกเราก็เริ่มมองแล้วว่า มันจริงหรือเปล่าที่สภาพแวดล้อมกดดันทำให้ทำผิด หรือจริงๆ แล้วคนต้องการทำผิดเพราะรู้ว่าจะสามารถหลุดรอดได้ใช่หรือไม่ ถึงกล้าที่จะทำ

คือทฤษฎีต่างๆ ทางอาชญวิทยามีอายุประมาณร้อยกว่าปี นักอาชญวิทยาก็เริ่มหยิบทฤษฎีเก่าๆ กลับมาประยุกต์ แล้วคิดอะไรเพิ่มเติมกลายเป็นทฤษฎีใหม่ของตนขึ้น แต่จะมีแนวคิดในยุคศตวรรษที่ 18 ปลายๆ ที่เราเริ่มเชื่อแล้วว่า จริงๆ แล้วคนอยากทำผิดเอง

TCIJ: แล้วคุณเชื่อแบบนี้หรือเปล่า

สุดสงวน: ขณะนี้โดยส่วนตัว คิดว่าบางกรณี ใช่ เพราะมันมีบางกรณีที่เห็นชัดในสังคมไทยว่า คนที่ทำผิดหลุดรอด แล้วคนที่ทำผิดกลุ่มนี้รู้ว่าไม่มีใครจับ ก็ยิ่งกล้าทำผิดหนักขึ้นๆ ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ทำไมยังมีอาชญากรรมเกิดขึ้นในสังคม เพราะว่าคนสองกลุ่มที่กระทำบนฐานความผิดเดียวกัน กลุ่มหนึ่งทำน้อยแต่โดนหนัก อีกกลุ่มทำหนักแต่ไม่โดนอะไรเลย แล้วจะมีใครคิดว่าฉันทำตามกฎหมายดีกว่า มันจึงทำให้กฎหมายอ่อนแอ ทั้งที่จริงๆ แล้วตัวกฎหมายไม่ได้อ่อนแอ แต่อยู่ที่ผู้บังคับใช้กฎหมายนั่นแหละที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะการเลือกปฏิบัติกับคนบางกลุ่ม

อย่างกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้น ที่มีคนกลุ่มหนึ่งไปที่หน้าสถานทูตอเมริกาแล้วบอกว่าอย่ามายุ่งกับประเทศไทย นี่เป็นประเทศของฉัน มีนายตำรวจใหญ่ท่านหนึ่งบอกว่า ไม่เป็นไรหรอก นี่เป็นการแสดงความคิดเห็น ประชาชนสามารถทำได้ ขณะเดียวกัน ในวันชาติอเมริกา มีคนอีกกลุ่มหนึ่งไปแสดงความยินดีกับสถานทูตอเมริกาและขอบคุณที่ออกมาต่อต้านรัฐประหาร ปรากฎว่ามีการจับผู้ที่ไปแสดงความคิดเห็นเข้าห้องขัง ตอนนี้ประชาชนจึงสับสนว่า อะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ อะไรคือกฎที่ถูกต้อง

อยากจะบอกว่าอาชญวิทยาสอนเพื่อให้เข้าใจคน เข้าใจว่าทำไมคนเลือกทำผิด อาจารย์คิดว่าคนเลือกทำผิดเพราะคิดว่าจะไม่ถูกลงโทษ แนวคิดหลักของอาชญวิทยาก็คือต้องการป้องกันไม่ให้คนทำผิด ต้องการให้สังคมมีความปลอดภัยจากการกระทำผิดของคน และต้องการให้หน่วยงานยุติธรรมทั้งสี่หน่วยสามารถทำงานได้โดยปราศจากอคติ ยึดความเป็นธรรมเป็นตัวตั้งและยึดหลักกฎหมาย ซึ่งก็มาจากคนในสังคมที่สร้างขึ้นมา อาจารย์จึงเห็นด้วยกับการปฏิรูปและสิ่งแรกที่ควรทำคือการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

TCIJ: เข้าใจว่ามีทฤษฎีที่มองอาชญากรเป็นผู้ป่วยด้วย

สุดสงวน: ใช่ แต่มันเป็นการมองผ่านยุค เป็นแนวคิดตามยุคตามสมัย ในยุคแรกสุด มองว่าคนเป็นอาชญากรคือคนที่ตั้งใจทำ เพราะตนเองมีเจตจำนงอิสระในการเลือก ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนบ้า ทุกคนเลือกได้หมด ในเมื่อคุณรู้กฎหมาย แต่เน้นนะค่ะว่าสังคมบอกว่าทุกคนรู้กฎหมาย ในเมื่อคุณรู้ว่ามีบทลงโทษในกฎหมายเช่นนี้ แล้วคุณยังเลือก คุณชั่งน้ำหนักนะ เมื่อคุณทำของคุณเอง โทษของคุณจะหนักเท่ากับสิ่งที่คุณทำลงไป ไม่มีการลดหย่อนผ่อนโทษใดๆ ทั้งสิ้น

เมื่อสังคมพัฒนาขึ้น เราเริ่มเชื่อแล้วว่าคนไม่ได้เลือกทำผิด แต่ทำลงไปเพราะมันมีแรงกดดันต่างๆ ที่มาจากสภาพแวดล้อม จิตวิทยา ปัญหาทางเศรษฐกิจ เยอะแยะไปหมด กลายเป็นคนดีจำเป็นต้องทำผิด เช่น คนที่ทำลายเอทีเอ็มเอาตังค์ไปรักษาลูก สิ่งเหล่านี้เพราะเขาถูกกดดัน ในอีกส่วนหนึ่งก็มองในมุมจิตวิทยาเช่นกรณีคดีเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ เพราะฉะนั้นแต่ละแนวคิดมันมาจากแต่ละยุค

อย่างถ้าเป็นผู้ป่วยเราจะไม่นำเขาเข้าสู่เรือนจำ เพราะไม่ใช่วิธีแก้ไขที่ถูกต้อง เราจะเอาเขาไปรักษา แต่น่าเสียดายว่าในสังคมไทย แพทย์ด้านจิตเวชยังไม่เป็นที่นิยม คนไทยอาจกลัวถูกหาว่าเป็นบ้า ในสมัยก่อน เราเชื่อว่าคนกระทำผิดคือผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยตรงนี้ต้องนิยามให้ดีว่า เราหมายถึงอาการป่วยทางจิตเวช ทางสมอง เหมือนที่ยุคนายกฯ ทักษิณ มองว่าผู้เสพยาคือผู้ป่วย การนำผู้ป่วยไปไว้ในเรือนจำ มันถูกหรือเปล่า ถ้าจะเป็นเรือนจำก็ต้องเป็นเรือนจำพิเศษสำหรับคนติดยาเสพติดที่ต้องเยียวยาอีกแบบ

TCIJ: อาชญวิทยา เหยื่อวิทยา ทัณฑวิทยา และนิติศาสตร์ มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร

สุดสงวน: คนเรียนกฎหมายจะรู้ว่า ถ้าผิดกฎหมายจะลงโทษอะไร ผู้พิพากษาจะรู้ว่าถ้าทำแบบนี้จะเข้ามาตราอะไร แต่เขาจะไม่เข้าใจพฤติกรรม อาจารย์จึงอยากให้ผู้พิพากษาทั้งหลายได้รับการอบรมอาชญวิทยา

ทีนี้กลับมาที่คำว่าอาชญวิทยา ซึ่งเราศึกษารวมหน่วยงานทั้งสี่หน่วยงาน ยกตัวอย่างทัณฑ์วิทยา เราต้องศึกษาปรัชญา แนวความคิดว่าจะมีการลงโทษอย่างไรที่จะทำให้การลงโทษนั้นสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ที่กระทำความผิดได้

ส่วนเหยื่อวิทยา มันเป็นติ่งเดียวของอาชญวิทยา ในสมัยก่อนเราจะเรียนควบคู่กับอาชญวิทยา แต่ ณ วันนี้ปัญหาเรื่องเหยื่ออาชญกรรมมีมาก อาชญวิทยาศึกษาผู้ก่ออาชญากรรม ขณะที่เหยื่อวิทยา เราจะมองว่าทำไมคุณถึงตกเป็นเหยื่อ มีอะไรจากตัวเหยื่อที่ทำให้คนคนนั้นตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม เพราะไม่ใช่ว่าคนที่เป็นเหยื่อไม่มีส่วนนะ เหยื่อมีส่วนร่วมและมีความสำคัญมากๆ อย่างกรณีการชุมนุมทางการเมือง ถ้าเราไม่ไปร่วมชุมนุมเราจะโดนกระสุนมั้ย เขาถึงบอกว่าเหยื่อมีส่วนร่วม เราไปเพราะเราตั้งใจจะไป ดังนั้น เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น เราจึงมีส่วนทำให้เหตุนั้นเกิดขึ้นกับเรา

TCIJ: ถ้าแบบนี้ประชาชนก็ไม่มีสิทธิแสดงความคิดเห็นทางการเมือง?

สุดสงวน: คนที่จัดชุมนุมจึงต้องวางระบบรักษาความปลอดภัยให้ดีว่าจะไม่เกิดเหตุกับผู้ร่วมชุมนุม แต่ถ้ามีเหตุเกิดขึ้น เราจะต้องยอมรับก่อนเลยว่า เราไปที่ชุมนุม จะต้องรู้อยู่แล้วว่าอาจมีอะไรเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า ไม่มีหรอกที่จะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจารย์จึงบอกว่า ไม่ว่าจะฝ่ายไหน อาจารย์ไม่เห็นด้วยเลยกับการพาเด็กไปชุมนุม หรือผู้สูงอายุก็ไม่ควรไป เพราะถ้าเกิดเหตุที่จะต้องวิ่งเร็วๆ ผู้สูงอายุคงวิ่งเร็วไม่ได้

แต่ไม่ได้แปลว่าจะต้องเกิด เพราะเหยื่อวิทยาเราจะเรียนว่าทำไมจึงตกเป็นเหยื่อและหาวิธีป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อโดยการเรียนรู้จากผู้ที่ตกเป็นเหยื่อทั้งหลาย เราถามเขาในภาพที่เขามองว่าทำไมคุณจึงตกเป็นเหยื่อ แต่อย่าลืมว่าเหยื่อวิทยาเพิ่งเกิดมาประมาณสี่สิบปี ทฤษฎีมันน้อยมาก มีประมาณสิบทฤษฎี และส่วนใหญ่ผู้เสียหายจากเรื่องทางเพศมักจะไม่พูด เหมือนกรณีที่พบว่ามีคนเคยถูกข่มขืนบนรถไฟมาแล้ว แต่ไม่แจ้งความเพราะว่าอาย เราอยากให้คนที่ตกเป็นเหยื่อมีความสำนึก แม้ว่าคุณจะเจ็บปวด แต่ความเจ็บปวดของคุณอยากให้เป็นครั้งสุดท้ายได้มั้ย อย่ามีคนอื่นอีก มันเกิดขึ้นเพราะอะไร เราอยากรู้ มันเกิดจากตัวคุณเองหรืออะไรก็ตามที่คุณคิดว่ามันคือสาเหตุที่ทำให้อาชญากรเกิดฮึกเหิมและมีแรงจูงใจให้ทำผิดต่อคุณ ในมุมมองของคนที่ตกเป็นเหยื่อ

TCIJ: มีการโต้เถียงว่าอาชญวิทยาเป็นศาสตร์ของตะวันตก ไม่น่าจะใช้กับสังคมและวัฒนธรรมไทยได้

สุดสงวน: ต้องไม่ลืมว่ามันคือบทเรียนที่เกิดขึ้นจริง มันอาจจะไม่เกิดกับประเทศไทยก็ได้ ต้องไม่ลืมความเป็นมนุษย์ เพราะพฤติกรรมที่เกิดกับคนบนโลกมันเหมือนกัน โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรง ไม่ต้องสอน มันเป็นแบบเดียวกันหมดเลย วัฒนธรรมอะไรก็ตามชอบใช้ความรุนแรงสไตล์เดียวกัน อาจารย์เรียนเรื่องเด็กที่ถูกประทุษร้ายมา ลักษณะเด็กที่ถูกประทุษร้ายในตะวันตก ทำไมเหมือนกับที่ศูนย์พิทักษ์เด็กในไทย ตอนที่ไปเรียน ไม่เคยรู้ว่าคนไทยทำร้ายร่างกายเด็กกันขนาดนี้ พอกลับมาเมืองไทย มาดูที่ศูนย์พิทักษ์เด็กพบว่ามันมีรูปแบบเดียวกัน ถึงอยากจะบอกว่าจุดกำเนิดของความเป็นคน มันมาจากจุดเดียวกันใช่มั้ย พฤติกรรมของคนมันเหมือนกันทั้งโลกหรือเปล่า เป็นสากล มันถึงมีกฎหมายที่เรียกว่ากฎหมายธรรมชาติ

TCIJ: ในมุมมองอาชญวิทยา คุณมองคดีน้องแก้มอย่างไร

สุดสงวน: ก่อนอื่นต้องบอกว่า ทุกคนเศร้าสลดกับสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนและไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะครอบครัวและคนที่ทำงานที่นั่น แต่มันก็เป็นจุดดีที่เราจะได้กลับมาทบทวนระบบรักษาความปลอดภัยของ รฟท. (การรถไฟแห่งประเทศไทย) ว่ามันดีจริงมั้ย

ประการแรก เหตุการณ์แบบนี้มันเคยเกิดขึ้นแล้วและไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันอาจเป็นสิ่งที่รู้กันในหมู่ของพนักงานรถไฟหรือเปล่า เพราะเหยื่อทุกคนอาย แต่คนทำครั้งนี้อาจคิดไม่ถึง ครั้งนี้ถึงกับฆ่าเขา มันร้ายแรงอุกอาจ แล้วยาบ้าเจอกับเบียร์เข้าไปอีก ซึ่งก็ต้องมาดูมาตรการ ต้องยอมรับรถไฟถูกละเลยมานาน พอมีความพยายามจะเปลี่ยนแปลงก็ถูกสไตรค์จากลูกน้องที่เคยชินกับระบบเก่า คนคนนี้อาจจะรู้อยู่แล้วว่ามีอะไรเกิดขึ้นก็ไม่เห็นเป็นอะไร ไม่เห็นมีใครถูกลงโทษ ใจของเขาส่วนหนึ่งกล้าแล้ว

นอกจากนี้ มันมีทฤษฎีกิจวัตรประจำวัน (Routine Theory) รวมกับทฤษฎีตัวเลือก (Choice Theory) เขาก็สังเกตว่ามีคนดูแลเด็กคนนี้มั้ยหรือปลอดคนดูแล แล้วในช่วงตีสองเป็นช่วงที่ทุกคนหลับสนิท เลือกเป้าหมายที่เป็นเด็ก ตัวไม่ใหญ่ อ่อนแอกว่า สามารถควบคุมได้ทุกด้าน เพราะตัวผู้ก่อเหตุตัวใหญ่กว่า มีแรงมากกว่า จึงเกิดแรงบันดาลใจ แล้วตัวเองอาจจะเคยทำมาแล้วหรือเปล่า ทั้งหมดจึงลงตัว กล้าที่จะทำผิด และเลือกที่จะก่อเหตุ เพราะคิดว่าจะหลุดรอดได้

ส่วนในทางเหยื่อวิทยา ตัวเหยื่อไม่ได้มีส่วนร่วม เป็นเหยื่อบริสุทธิ์จริงๆ อย่างไรก็ตาม นี่เป็นบทเรียนว่าเวลาเด็กเดินทางคนเดียว เราจะไว้ใจใครไม่ได้เลย อาจารย์สอนถึงขนาดว่าอย่าไว้ใจแม้กระทั่งญาติพี่น้องตัวเองที่เป็นผู้ชาย ของฝรั่งนี่สอนหนักกว่านี้อีกนะ แม้แต่พ่อตัวเองก็ไว้ใจไม่ได้

TCIJ: กระแสสังคมที่เรียกร้องให้ประหารชีวิตผู้ต้องหาข่มขืนฆ่า ถือว่ามีเหตุผลพอแก่การรับฟังหรือเปล่า

สุดสงวน: การเรียกร้องให้ใช้โทษประหารชีวิตเพราะเป็นเรื่องที่อุกอาจและสะเทือนขวัญสังคมมากๆ จุดดีมีอยู่ค่ะ ในปรัชญาการลงโทษ เรียกว่าเป็นการลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทน ตายหนึ่งชีวิตก็ต้องตายตามหนึ่งชีวิต สมัยก่อนคิดแบบนี้

แต่ในสมัยนี้ อาจารย์คิดว่าการลงโทษร้ายแรง ข้อดีอาจจะสะใจคนบางกลุ่ม แต่เราไม่รู้ว่าครอบครัวของเหยื่อจะต้องการหรือไม่ เพราะการฆ่าอีกหนึ่งชีวิตจะทำให้ลูกเขาฟื้นคืนมามั้ย อย่างตัวอาจารย์เอง มีคนทำให้สามีอาจารย์ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียชีวิต เขาก็มาขอขมาอาจารย์ ถามว่าจะฟ้องเขามั้ย อาจารย์ไม่ทำ เพราะไม่ทำให้สามีอาจารย์ฟื้นขึ้นมา แต่อาจารย์ดีใจที่เขามาขอขมาและสำนึกว่า สิ่งที่เขาทำลงไปนั้นมันทำให้เกิดความเจ็บปวดอย่างไรต่อชีวิตครอบครัวของเรา ขณะเดียวกัน อาจารย์ว่าตัวเขาคงจะไม่ขับรถเร็วแบบนี้อีกแล้ว ก็จะไม่มีคนอื่นต้องเป็นหม้ายเหมือนอาจารย์

สำหรับกรณีนี้ ถ้าเราเชื่อหลักการแก้แค้นทดแทน ตาต่อตา ฟันต่อฟัน อาจารย์คิดว่ามันก็ใช้ได้ในช่วงหนึ่งเท่านั้น มันสามารถข่มขู่คุกคามคนที่คิดจะกระทำความผิดได้ แต่ในขณะเดียวกัน ต่อไปอาชญากรที่ลงมือก่อเหตุอาจตัดสินใจฆ่าปิดปากเหยื่อเพราะรู้ว่าโทษหนัก อันนี้อันตรายกว่ามั้ย อาจารย์ยังมองว่าการที่สังคมเรียกร้องโทษประหารชีวิต ส่วนหนึ่งอาจจะดี แต่ในด้านอาชญวิทยา เราพยายามจะเรียกร้องไม่ให้ใช้โทษประหาชีวิต

TCIJ: เพราะอะไร

สุดสงวน: เพราะโทษประหารชีวิตไม่ได้ทำให้สังคมดีขึ้น วัตถุประสงค์ของการลงโทษคือการเยียวยาแก้ไขให้ผู้ที่กระทำผิดกลับมาเป็นคนดีของสังคม การกระทำผิดทั้งหลายจะมองที่ตัวผู้ก่อเหตุคนเดียวไม่ได้ เราต้องย้อนกลับไปดูวิธีการเลี้ยงดู เราจึงต้องการนักอาชญวิทยาที่เป็นนักคิดจริงๆ มานั่งคิดจากเหตุการณ์เมืองไทยว่าเราจะแก้กันวิธีไหน เรื่องนี้ไม่มีสีนะคะ เพราะเราทุกคนเป็นคนของประเทศไทยเหมือนกัน

ประเด็นโทษประหารก็มีนักอาชญวิทยาบางส่วนเห็นว่าควรจะมี เพื่อให้หลาบจำตามทฤษฎีที่เรียกว่าการข่มขู่ยับยั้ง เพราะเวลาลงโทษใคร ผู้ที่กระทำและได้รับโทษโดยตรงจะกลัว ขณะเดียวกันสังคมรับรู้ว่าเมื่อมีการกระทำผิดและเกิดโทษเช่นนี้ สังคมก็จะกลัวด้วย แต่ถามจริงๆ ว่า มันเป็นอย่างนั้นจริงมั้ย โดยเฉพาะขณะนี้การใช้กฎหมายในสังคมไทยมันเปลี่ยนไปแล้ว มันเหมือนไม่มีความเป็นธรรม เพราะฉะนั้นอาจารย์ไม่อยากให้เอาประเด็นว่าลงโทษเยอะๆ แล้วคนจะกลัวมาเป็นหลัก ไม่ใช่ค่ะ

แม้แต่คนที่ทำ (วันชัย แสงขาว ผู้ต้องหาคดีน้องแก้ม) เขามีอายุแค่ 22 เด็กตายไป ใช่ ไม่ฟื้นคืนมา ถ้าจะให้ตายอีกหนึ่งคน สังคมจะมีอะไรดีขึ้นมาหรือไม่ ใครจะรับรองได้ว่าจะไม่มีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นอีก

ภาพแถลงข่าวการจับกุมนายวันชัย แสงขวา ผู้ต้องหาในคดีน้องแก้ม (ภาพจาก board.postjung.com)

TCIJ: ถ้าอย่างนั้นยกเลิกโทษประหารชีวิตเลยดีหรือไม่

สุดสงวน: ถ้าเป็นการทำซ้ำซากต้องไม่ยกเลิก ถ้าเป็นการทำครั้งแรกและเขาสำนึก เน้นนะคะว่าเขาต้องสำนึกจากใจเขาเอง แต่ต้องมีการลงโทษจำคุกและอบรมนิสัยเขา ที่สำคัญญาติพี่น้องของเหยื่อที่ตายไปต้องยอมให้เขาออกจากคุกด้วย ต้องเพิ่มกฎหมายเข้าไป ขณะนี้ไม่มี ตอนนี้ผู้ที่เป็นเหยื่อรู้ว่าศาลตัดสินอะไร จำคุกกี่ปี จบ แต่ไม่มีส่วนในการให้ความเห็นเลยว่า คนคนนี้ออกมานอกคุกแล้วฉันยังกลัวอยู่หรือเปล่า ให้เขาออกมาได้หรือยัง ของฝรั่งเขามีนะ ต้องเอาคนที่ตกเป็นเหยื่อโดยอ้อม หมายถึงครอบครัวของเหยื่อไปให้ความยินยอม โดยเฉพาะถ้าเป็นการกระทำที่เหยื่อได้รับบาดเจ็บสาหัสและตัวอาชญากรผู้นั้นโดนลงโทษหนัก ต้องให้ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเข้าไปยินยอมว่าจะยอมให้ออกมาอยู่นอกคุกหรือที่เรียกว่าพักการลงโทษ ซึ่งจะต้องลงโทษไปแล้วประมาณสองส่วนสามจึงจะพักการลงโทษได้และเป็นบางกรณีด้วย

กฎหมายไทยเราหยิบยกของฝรั่งมาใช้เยอะ แต่ไม่ได้หยิบมาทั้งหมด เขามีถึงแม้กระทั่งคนที่เป็นเหยื่อแล้วตาย ผู้ที่เป็นเหยื่อโดยอ้อม ไม่ว่าจะเป็นสามี ภรรยา ลูก เมีย ญาติพี่น้อง สามารถขอเข้ามาเจอคนที่ฆ่าคนในครอบครัวเขาเพื่อพูดคุย ถามในสิ่งที่เขาอยากรู้เกี่ยวกับการตายที่เกิดขึ้น แล้วฟังว่าคนที่ฆ่า ทำไมถึงทำ เขาอยากรู้ อาจารย์คิดว่าตอนนี้ครอบครัวของน้องแก้มคงอยากรู้ว่าทำไมต้องทำอย่างนี้กับลูกเขา แต่เขาไม่มีโอกาส กระบวนการยุติธรรมปิดโอกาสตรงนี้หมดเลย

เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าเราจะปรับปรุงนิสัย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะปรับปรุงได้มั้ยถ้าไม่มีโทษประหารชีวิต แต่เราต้องมีวิธีรู้ให้ได้ว่านักโทษคนนั้นโอเคแล้ว เรายังไม่เคยรู้เลย เขายังไม่เคยเจอเหยื่อ อาจารย์อยากให้เขารับรู้ความรู้สึกเจ็บปวด ให้รู้ว่าเหยื่อรู้สึกอย่างไร นักอาชญวิทยาเราเชื่อว่า เมื่อผู้ที่ถูกกระทำพูดออกมา คนที่ทำเขาจะเห็นภาพ แล้วจะสำนึกได้ แม้ว่าบางคนความรู้สึกผิดชอบชั่วดีจะอยู่ลึกหน่อย หรือบางคนอาจจะไม่มีเลย แต่เราจะดูออกไง เราเป็นนักอาชญวิทยา เราเข้าไปนั่ง เขาจะมีกรรมการคุมไม่ให้ทำร้ายกัน

คนที่เป็นผู้กระทำผิดเองก็จะต้องยินยอมให้ผู้ที่เป็นเหยื่อเข้ามานั่งพูดคุยด้วย อาจารย์เคยเห็นวิดีโอที่เขาจัดให้คุยกัน จะพบว่าผู้กระทำผิดบางคนร้องไห้ทันทีเลยนะ แล้วก็ขอโทษและบอกว่าถ้ากลับเวลาไปได้ เขาจะไม่ทำอย่างนี้เด็ดขาด ภาพสุดท้ายคือภาพที่เขาเช็คแฮนด์และกอดกัน ในคดีนี้ผู้ที่เป็นเหยื่อนี่บาดเจ็บสาหัสนะคะ มาให้ปากคำกับกรรมการว่ายินยอมให้คนผู้นี้ได้รับการพักการลงโทษ เมื่อออกจากคุกแล้ว เขาก็ไปหาเหยื่อที่บ้าน มาช่วยทำนั่น ทำนี่ที่บ้าน ดูแล กลายเป็นเพื่อนรักกันเลย

เราอยากให้สิ่งที่เราเรียนมาบรรลุวัตถุประสงค์ แต่ว่าพอดีการปรองดองของสังคมไทยไม่ได้เป็นแบบนี้ ปรองดองของสังคมไทยเป็นกดทับลงไปอีกว่าคนนี้ผิด

ถ้าเป็นไปได้ในกรณีภาคใต้อาจารย์อยากให้เกิดกระบวนการแบบนี้ อยากให้ได้นั่งพูดคุยกัน จะได้ถ่ายทอดให้คนอื่นที่กำลังจะฆ่า ได้เห็นภาพว่าการฆ่าคนไปหนึ่งคน คนคนนั้นเขามีเครือข่าย มีลูกหลาน ญาติพี่น้อง แล้วชีวิตเขาเจ็บปวดและเปลี่ยนไปอย่างไร ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่ถูกทำร้ายและฝ่ายผู้ที่ทำร้ายต่างก็มีเครือญาติหมด อาจารย์เคยเสนอแนะไป แต่ไม่มีใครเชื่อ เขาบอกว่าสังคมไทยยังไม่พร้อม

TCIJ: ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากมากที่จะนำประเด็นต่างๆ ที่คุณกล่าวถึงมาพูดในช่วงเวลาแบบนี้

สุดสงวน: เราต้องเอางานวิจัยมาพูดค่ะ กระแสสังคมตอนนี้ถ้าเราไปพูดอีกแบบ เขาก็จะพูดว่าไม่ได้เป็นพ่อแม่พี่น้องคุณนี่ ถึงพูดได้ อาจารย์คิดว่าเราต้องปล่อยให้กระแสผ่านไปสักพักหนึ่งก่อน แล้วค่อยให้ความเห็นทางวิชาการว่ามันเป็นอย่างนี้ แต่ตอนนี้ทางครอบครัวน้องแก้มต้องการให้ประหารชีวิตนะ เขาเจ็บปวดนะ แม่เป็นลม คร่ำครวญถึงลูก ถ้าเป็นอาจารย์ อาจารย์ตายเลยนะ เพราะชีวิตอาจารย์อยู่ได้เพราะลูก แล้วการกระทำแบบนี้มันก็เกินจะรับได้ ไม่มีใครรับได้

TCIJ: คำพูดที่ว่า ไม่ใช่พ่อแม่ ญาติพี่น้องของเหยื่อ จะพูดอะไรก็พูดได้ การกล่าวแบบนี้กับคนที่ต่อต้านโทษประหาร ถือว่าฟังขึ้นหรือเปล่า?

สุดสงวน: ขึ้นสิคะ เพราะว่าได้ใจคน เรามักแสดงภาพเสมือนว่าเป็นเหยื่อด้วย ซึ่งในความจริงต้องหยุดคิดนะว่ามันจะจบสิ้นมั้ย ถ้าเราลงโทษประหาร

TCIJ: คุณพูดถึงการเยียวยาแก้ไขนักโทษให้กลับคืนสู่สังคม แต่เรือนจำหรือสถานพินิจในปัจจุบันถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่คำตอบ ตรงกันข้ามกลับเป็นแหล่งเพิ่มพูนทักษะและเพาะบ่มอาชญากร

สุดสงวน: อาจารย์จึงอยากจะหยิบกฎหมายมาทบทวนใหม่ว่า โทษอะไรควรเข้าคุกและโทษอะไรไม่ควรต้องเข้าคุก ที่วันนี้คนทำผิดซ้ำซาก เพราะโทษที่ต้องเข้าคุกไม่ใช่โทษที่ควรต้องเข้าคุก ยกตัวอย่างตัวเองได้มั้ย อาจารย์ถูกพิพากษาจำคุก 2 เดือนเรื่องละเมิดอำนาจศาลเพราะร่วมกับประชาชนนำหรีดไปให้ที่ศาล โดยที่อาจารย์ไม่ใช่ตัวการ ถามว่าอาจารย์เป็นอาชญากรมั้ย การจำคุกอาจารย์จะได้ประโยชน์อะไรต่อสังคม

ขณะที่ลูกเศรษฐีขับรถชนตำรวจตัวขาด แล้วก็จอดรถทิ้งไว้ หนีกลับบ้านไป ในที่สุดรอลงอาญา เด็กที่คุยโทรศัพท์ขณะขับรถบนทางด่วน คนเสียชีวิตไปเท่าไหร่ ตอนนี้อยู่อเมริกาและรอลงอาญา เราจึงต้องมานั่งทบทวนว่าคนที่อยู่ในเรือนจำเป็นคนที่เป็นอาชญากรโดยสันดานหรือเปล่า

เราต้องกลับมาพิจารณาเรื่องโทษว่าฐานความผิดใดควรจะเข้าเรือนจำ การให้โอกาสคนจะทำให้คนกลับเป็นคนดี แต่ถ้าไม่ให้โอกาส โทษที่ไม่ควรเข้าคุก แต่เข้าคุก คนคนนั้นจะถูกประทับตราบาปจากสังคม ถูกตีตรา ออกจากคุกไม่สามารถรับราชการได้ ไปสมัครงานไม่มีคนอยากรับ คนไม่สนว่าติดเพราะโทษอะไร เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ว่าเรือนจำไม่ใช่คำตอบของการแก้ไขฟื้นฟู แต่เราต้องมาทำนอกเรือนจำ ต้องมีกระบวนการว่าโทษบางอย่างไม่ต้องไปถึงตำรวจ

อย่างกรณีอุบัติเหตุรถยนต์ที่อาจารย์ว่า เมื่อนั่งพิจารณากันจริงๆ คนก็ไม่เห็นด้วยหรอกกับการประหารชีวิต ไม่มีประโยชน์ แต่สำหรับคนที่มีหน้ามีตาในสังคมควรมีมาตรการอะไรที่พิเศษกว่าการรอการลงโทษ มันน่าจะทำอะไรบางอย่างที่ทำให้ผู้ก่อเหตุรู้สึกสำนึกว่าเขาต้องเห็นใจคนอื่น อย่ามองว่าเงินซื้อทุกอย่างได้

TCIJ: คุณเคยพยายามผลักดันให้มีการก่อตั้งศูนย์อาชญวิทยาด้วย สิ่งนี้มีความสำคัญอย่างไร

สุดสงวน: ศูนย์นี้เริ่มต้นมาจากคณะสังคมสงเคราะห์นี่แหละ เพื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมดจากหน่วยงานทั้งสี่หน่วยในกระบวนการยุติธรรมคือตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ เพื่อจะได้เป็นข้อมูลเดียวกัน ขณะนี้ถ้าไปถามแต่ละหน่วยก็จะได้ข้อมูลกันคนละแบบ เพราะฉะนั้นเราจะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับคนกระทำผิดที่เป็นข้อมูลเดียวกัน เมื่อไม่มีข้อมูลที่เป็นชุดเดียวกัน เราจึงไม่สามารถวิเคราะห์ปัญหาร้ายแรงในสังคมไทยได้เลย ตัวเลขที่มีก็เชื่อถือไม่ได้ แล้วบุคคลที่เคยได้รับโทษหายไปจากระบบช่วงไหนก็ไม่มีอีก เพราะสังคมไทยมีการเปลี่ยนชื่อ เราจึงต้องแก้ไขระบบเพื่อให้รู้ปัญหาอาชญากรรมในสังคมไทย

เมื่อเรามีข้อมูลที่ชัดเจนแล้ว เราจะสามารถนำทฤษฎี หลักปรัชญา ความคิดของแต่ละหน่วยมาปรับใช้ แต่ที่ตั้งไม่ได้เพราะไม่มีงบประมาณ กระทรวงยุติธรรมเคยคิดจะทำ ครั้งหนึ่งเกือบจะตั้งศูนย์อาชญวิทยาเป็นสถาบันได้แล้ว ตอนอาจารย์นัทธี จิตสว่าง (อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์) ก็เคยพยายามจะก่อตั้งสถาบันอาชญวิทยา แต่ก็ไม่สำเร็จเช่นกัน อาจารย์ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ส่วนขณะนี้อาจารย์ไม่รู้ว่าที่ไหนกำลังพยายามทำ แต่ถ้าทำได้จะเป็นประโยชน์ต่อปัญหาอาชญากรรมในสังคมไทยอย่างยิ่ง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: