จี้รัฐเร่งแก้สารปรอทรอบนิคม304 ตรวจพบในปลา-เส้นผม-ชาวบ้าน คาดต้นเหตุโรงไฟฟ้า-รง.กระดาษ

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 15 ม.ค. 2557 | อ่านแล้ว 4031 ครั้ง

 

พบสารปรอทปนเปื้อนในชุมชนติดนิคมฯ 304 ปราจีนบุรี ทั้งปนเปื้อนในปลา-เส้นผมคนเกินค่ามาตรฐานหลายเท่าตัว หวั่นทำลายพัฒนาการสมอง คาดปรอทมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน-รง.กระดาษ หลังใช้ขี้เถ้าถ่านหินถมสวนยูคาฯ ก่อนชะล้างลงแหล่งน้ำสาธารณะ

บ่อยครั้งที่การศึกษาผลกระทบจากอุตสาหกรรมตามท้องถิ่นต่าง ๆ ถูกตั้งคำถามในแง่อคติของตัวผู้ศึกษาและความเที่ยงตรงทางวิชาการ การตั้งคำถามเช่นนี้ลดความน่าเชื่อถือของงานศึกษาลงไปไม่น้อย จนนำไปสู่การละเลยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ในประเทศไทยมีพื้นที่อุตสาหกรรมหลายแห่ง ที่ชุมชนต้องเผชิญมลพิษจากอุตสาหกรรม โดยไม่ได้รับการแก้ไข คงเช่นเดียวกันกับชาวบ้าน ต.ท่ามะตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ที่การปนเปื้อนของปรอทในร่างกายและสิ่งแวดล้อมเกินมาตรฐานหลายเท่าตัว

ภายใต้ความร่วมมือของโครงการรณรงค์เพื่ออนาคตอันปลอดสารปรอท และเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายทางยุทธศาสตร์เพื่อความปลอดภัยด้านสารเคมีแห่งสหประชาชาติ 29 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย โดยการทำงานของมูลนิธิบูรณะนิเวศ จึงร่วมกันประเมินสถานการณ์การปนเปื้อนสารปรอทในสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ โดยผลการศึกษานี้จะถูกนำไปใช้ผลักดันอนุสัญญาว่าด้วยสารปรอท ที่ดำเนินการโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programe) ซึ่งจะมีการเจรจาเพื่อปรับปรุงแก้ไขร่างอนุสัญญาครั้งสุดท้าย ระหว่างวันที่ 13-18 มกราคม 2556 นี้ ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

คนท่ามะตูมพบปรอทบนเส้นผมสูงกว่าเกณฑ์ 12 เท่า

ต.ท่ามะตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ตั้งอยู่ติดกับสวนอุตสาหกรรม 304 (304 Industrial Park) ดำเนินการโดยบริษัท 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด พื้นที่ 7,500 ไร่ เมื่อดูจากแผนที่พบว่า ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพื้นที่ถูกสร้างเป็นบ่อพักน้ำทิ้งขนาดใหญ่ ติดกับกลุ่มโรงงานเยื่อกระดาษและโรงไฟฟ้า บ่อพักน้ำทิ้งดังกล่าวยังตั้งอยู่ติดกับอ่างเก็บน้ำดิบและคลองชลองแวงไหลผ่าน

พื้นที่ข้างต้นตรงตามหลักเกณฑ์การศึกษาที่กำหนดมาอย่างรัดกุม ของสถาบันเพื่อการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Research Institute-BRI) น.ส.จุฑามาศ ทรัพย์ประดิษฐ์ นักวิจัยมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า จากการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างปลาช่อนและเส้นผมของชาวบ้านท่าตูมที่อาศัยใกล้โรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงผลิตเยื่อกระดาษ พบสารปรอท (Mercury) ปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารและร่างกายมนุษย์ โดยปลาช่อนตัวอย่างที่จับได้จากคลองชลองแวง 20 ตัว ทุกตัวมีปริมาณสารปรอทปนเปื้อนสูงเกินค่ามาตรฐานอาหารของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกำหนดการปนเปื้อนสารปรอทไว้ไม่เกิน 0.02 ppm (ส่วนในล้านส่วน) แต่ปลาที่จับได้มีสารปรอทปนเปื้อนตั้งแต่ 0.067-0.22 ppm ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 3-11 เท่า

ขณะที่ผลการตรวจตัวอย่างเส้นผมของอาสาสมัครชาวบ้าน 20 คนที่บริโภคปลา และอาศัยอยู่ในรัศมี 2 กิโลเมตร รอบพื้นที่อุตสาหกรรม พบว่า เส้นผมของทุกคนมีสารปรอทสะสมตั้งแต่ 1.628–12.758 ppm เป็นตัวเลขที่เกินค่าปริมาณอ้างอิง 1.00 ppm ไปค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นปริมาณที่อาจก่ออันตรายต่อพัฒนาทางสมอง ผลประการหนึ่งที่น่าสนใจคือ ปริมาณสารปรอทสูงสุดไม่ได้พบในอาสาสมัครชาวบ้านที่มีอายุสูงสุด แต่พบในผู้ที่รับประทานปลาช่อนบ่อยที่สุด โดย 90 เปอร์เซ็นต์ของปรอทที่สะสมในร่างกายมนุษย์ เป็นปรอทอินทรีย์ชนิดเมทิลเมอร์คิวรี่ ซึ่งมีความเป็นพิษสูง สามารถสะสมในร่างกายและสิ่งแวดล้อมได้ยาวนาน และถ่ายทอดได้จากแม่สู่ลูกได้

เผยขี้เถ้าถ่านหินใช้ถมพื้นที่สวนยูคาฯ อ้างปรับปรุงดิน

 

คำถามคือสารปรอทปริมาณสูงเหล่านี้มาจากไหน?

สวนอุตสาหกรรม 304 มีโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 400 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินในกระบวนการผลิตไฟฟ้า 900,000 ตันต่อปี ซึ่งสารปรอทเป็นสารที่พบได้ในถ่านหิน รวมถึงยังมีโรงงานผลิตกระดาษและเยื่อกระดาษที่มีกำลังการผลิต 500,000 ตันต่อปี ในกระบวนการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษจะมีการเติมสาร Phynyl Mercury Acetate เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา

ขี้เถ้าจากการผลิตไฟฟ้า วิธีการเดิมจะกำจัดโดยการฝังกลบในพื้นที่ฝังกลบ บริเวณสวนยูคาลิปตัสของบริษัท สวนกิติ จำกัด ซึ่งเป็นวิธีการกำจัดที่ระบุไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ (Environmental impact assessment: EIA) ที่ผ่านความเห็นชอบตามหนังสือแจ้งที่ วว 0804/1255 ลงวันที่ 27 มกราคม 2540 กำหนดมาตรการในตารางที่ 5.2-2 ข้อ 6.การกำจัดกากของเสีย

แต่จากรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ ในรายการการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (74 เมกกะวัตต์) หน้า 99 ของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 จำกัด เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 มีการเปลี่ยนวิธีการกำจัดขี้เถ้าถ่านหินใหม่ เป็นการนำขี้เถ้าไปใช้ปรับปรุงคุณภาพดินของแปลงยูคาลิปตัสและ/หรือส่งไปกำจัดยังหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ภาพจากมูลนิธิบูรณะนิเวศเห็นได้ว่า ขี้เถ้าถ่านหินถูกนำไปถมบนพื้นที่สวนยูคาลิปตัสโดยไม่มีสิ่งใดปกคลุม

ส่วนน้ำเสียจากกระบวนการผลิตเยื่อและจากพนักงานปริมาณรวม 18,726.1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากอีไอเอโครงการเพิ่มกำลังการผลิตโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ ของบริษัท แอ็ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) (โรงเยื่อ 2) เดือนพฤศจิกายน 2551ระบุว่า น้ำเสียจะถูกส่งเข้าระบบบำบัดน้ำเสียของบริษัทฯ ซึ่งเป็นแบบตะกอนเร่งที่สามารถรองรับน้ำเสียได้ 23,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยปัจจุบันมีน้ำเสียจากโรงงานผลิตกระดาษ บริษัท แอ็ดวานซ์ เปเปอร์ จำกัด (PM2) ส่งเข้าระบบบำบัดน้ำเสียด้วย

ระบบบำบัดน้ำเสียดังกล่าวเป็นแบบตะกอนเร่ง (Activated Sludge Process) เป็นวิธีบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการทางชีววิทยา โดยใช้แบคทีเรียพวกที่ใช้ออกซิเจน (Aerobic Bacteria) เป็นตัวหลักในการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสีย ปัญหาก็คือระบบนี้ไม่สามารถกำจัดสารโลหะหนักได้ ส่วนน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วจะนำมาพักไว้ในบ่อพักน้ำทิ้ง เพื่อนำไปรดต้นยูคาลิปตัสในสวนป่าของโครงการต่อไป

ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าช่องทางหนึ่งที่สารปรอทจะเข้าสู่ปลาและชาวบ้านท่าตูมคือ เถ้าลอยจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ฝุ่นถ่านหินจากลานเก็บถ่านหินแบบเปิด ขี้เถ้าจากโรงไฟฟ้าที่นำมาปรับสภาพดินในแปลงยูคาลิปตัส และน้ำเสียปนเปื้อนสารปรอทจากโรงผลิตเยื่อกระดาษ ที่อาจรั่วซึมลงคลองสาธารณะ

ชาวบ้านร้องปลาตาย ไม่มีใครรับผิดชอบ

 

นายสมบุญ พัชรไพบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า เคยพูดถึงปัญหาในพื้นที่หลายครั้ง แต่ไม่เคยเกิดการแก้ไขอะไรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“ผลที่ออกมาทำให้เราวิตกกังวล เพราะในพื้นที่เราทำอะไรเขาไม่ได้ เอาน้ำไปตรวจก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ผมเป็นคณะกรรมการเจ็ดแปดปีมาแล้ว ผลวิเคราะห์น้ำผ่านตลอด ไม่เคยเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดเลย ผมก็สงสัยว่าเขารู้กันกับบริษัทวิเคราะห์น้ำหรือเปล่า ผมไม่รู้ แต่บริษัทใหญ่แบบนี้น่าจะมีเครือข่าย”

นายสมบุญยังเปิดเผยอีกว่า การขนส่งถ่านหินเมื่อใกล้จะถึงโรงงานก็มีการเอาผ้าใบออก บริเวณทางเข้าโรงงานก็มีลูกระนาดห้าลูกสิบลูก ถ่านหินก็ร่วงบนถนนไหลลงแหล่งน้ำสาธารณะ เมื่อเกิดการสะสมมากเข้า ปลาในคลองและปลาที่เลี้ยงในกระชังตายก็ไม่มีบริษัทใดออกมารับผิดชอบ

“ต้นปี 2555 ปลาที่ผมเลี้ยงไว้ใต้คลองแวงมาหน่อยหนึ่งตาย ทุกวันนี้ยังไม่ได้เงินเลย ผู้ว่าฯ บอกจะช่วยอย่างนั้นอย่างนี้ ไปๆ มาๆ ยังไม่ได้เลย ไม่รู้โรงงานไปอุดตรงไหนไว้ คือเราทำอะไรเขาไม่ได้ สะกิดไม่ได้เลย เหนียวมาก”

กระตุ้นภาครัฐเร่งแก้ไขก่อนสายเกิน

ด้าน น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวย้ำว่า งานศึกษาชิ้นนี้เป็นเพียงการศึกษาเบื้องต้น ซึ่งมีกระบวนการศึกษาตามขั้นตอนที่กำหนดจากสถาบันวิชาการของต่างประเทศ ซึ่งนอกจากเป็นเงื่อนไขจากสถาบันดังกล่าวแล้ว ก็เพื่อตัดข้อโต้แย้งที่มักเกิดขึ้นว่า ‘ไม่เป็นวิชาการ’ และผู้ศึกษาลำเอียงเข้าข้างชาวบ้าน

“ผลการปนเปื้อนสารปรอทสูงเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยที่ยอมให้มี ได้ชี้ชัดว่าพื้นที่นี้เริ่มมีปัญหา แม้ว่าจะยังไม่รุนแรงมาก เราจึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำผลการศึกษานี้ไปใช้แก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่ท่าตูม และพื้นที่อื่น ๆ อย่าลืมว่าสัญญาณเตือนจากธรรมชาติ เมื่อเรารับฟัง เรื่องใหญ่จะกลายเป็นเรื่องเล็ก หากแก้ปัญหานี้ได้ ชุมชนก็จะไม่คัดค้านอุตสาหกรรม ไม่ควรปล่อยให้ปัญหามันเรื้อรังเกินกว่าที่จะแก้ไข” น.ส.เพ็ญโฉมกล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: