รัฐตัดงบกยศ.6.7พันล้าน วอนรุ่นพี่คืนให้น้องยืมต่อ

15 ก.พ. 2557 | อ่านแล้ว 1692 ครั้ง

จากกรณีกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ถูกตัดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557จากที่ตั้งของบฯไปจำนวน 23,500 ล้านบาท แต่ถูกปรับลดลง 6,700 ล้านบาท ทำให้เหลืองบฯเพียง 16,800 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ในปีการศึกษา 2557 กองทุนไม่สามารถคงเป้าหมายผู้กู้ยืม กยศ.ทั้งรายเก่าและรายใหม่ได้ จากที่ตั้งเป้าที่จะให้กู้ยืมได้ 865,200 ราย โดยเป็นผู้กู้รายเก่า 635,200 คน และผู้กู้รายใหม่ 230,000 คน แต่เมื่อถูกปรับลดวงเงินงบฯลง ส่งผลให้ผู้กู้รายเก่าไม่สามารถกู้เงินได้ถึง 141,671 ราย ขณะที่จะไม่มีผู้กู้รายใหม่เลย

ดร.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการ กยศ. กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นความจริง ซึ่งเท่าที่ทราบทุกหน่วยงานก็ถูกปรับลดงบประมาณเช่นกัน แต่ไม่ทราบเหตุผลว่าทำไม กยศ.จึงถูกตัดงบฯ มากขนาดนั้น ทำให้งบฯ ไม่เพียงพอ จึงต้องทำเรื่องเสนอของบฯกลาง จำนวน 2,118 ล้านบาท เพื่อให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ทั้งรายเก่าและรายใหม่ได้กู้ในปีการศึกษา 2557 ถึงแม้จำนวนผู้ได้กู้จะไม่ได้ครบตามเป้าหมายก็ได้แต่ก็จะมีคนที่ผิดหวังน้อยลง

ผู้จัดการ กยศ.กล่าวว่า สำหรับวงเงินที่จะของบฯกลางจำนวน 2,118 ล้านบาท นั้น จะแบ่งเป็นเงินสำหรับผู้กู้รายเก่า 710 ล้านบาท และ ผู้กู้รายใหม่ 1,408 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้มีจำนวนผู้กู้เพิ่มขึ้นในแต่ละระดับ ดังนี้ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ผู้กู้รายเก่า 62,780 ราย ผู้กู้รายใหม่ 50,000 ราย วงเงิน 1,533 ล้านบาท ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ผู้กู้รายเก่า 55,632 ราย ผู้กู้รายใหม่ 50,000 ราย วงเงิน 3,211 ล้านบาท ประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ผู้กู้รายเก่า 63,332 ราย ผู้กู้รายใหม่ 2,500 ราย วงเงิน 2,527 ล้านบาท อนุปริญญา/ ปริญญาตรี ผู้กู้รายเก่า 433,152 ราย ผู้กู้รายใหม่ 10,000 ราย วงเงิน 23,043 ล้านบาท

            “กยศ.ไม่ได้นิ่งดูดาย และได้ทำเรื่องเสนอของบฯกลางไปนานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ ก็ได้แต่หวังว่าจะได้งบฯ ดังกล่าวมา เพราะเกิดประโยชน์กับเด็กจริง ๆ ขณะเดียวกันกยศ.ก็ได้ทำโครงการรณรงค์ชำระหนี้กองทุนกยศ. มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 ซึ่งจะดำเนินการไปถึงวันที่ 31 มีนาคม 2557 เพื่อให้รุ่นพี่มาชำระเงินคืนให้มากที่สุด เพื่อให้รุ่นน้องทั้งผู้กู้รายเก่าและรายใหม่ จะได้มีเงินกู้ยืมเรียนต่อ หรืออย่างน้อยผู้กู้รายเก่า จะต้องได้กู้ยืมทุกคน นอกจากนี้ได้ส่งหนังสือไปยังสถาบันการศึกษาทั่วประเทศแล้วว่า กองทุนกยศ.อาจจะไม่มีเงินให้ผู้กู้รายใหม่เลย แต่นักเรียนนักศึกษาที่จะเป็นผู้กู้รายใหม่ ชั้นปีที่ 1 ระดับอนุปริญญาและปริญญาตรี สามารถกู้ได้จากกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) โดยผู้กู้กรอ.จะได้เงินทุกคน แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีคนสนใจขอกู้” ดร.ฑิตติมากล่าว

ดร.ฑิตติมากล่าวด้วยว่า ข้อมูลล่าสุดเมื่อปลายปี 2556 พบว่า กยศ.ปล่อยเงินกู้ยืมทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบันไปแล้วกว่า 4.1 ล้านราย ใช้งบฯ 4.2 แสนล้านบาท มีจำนวนผู้ครบกำหนดชำระหนี้ 2,800,081 ราย ในจำนวนนี้มี 1,485,994 ราย หรือ 53 เปอร์เซนต์ ที่ค้างการชำระหนี้ และ 70 เปอร์เซนต์ ของผู้ค้างชำระเป็นผู้ที่มีรายได้แล้ว แต่ไม่ยอมมาชำระเงินคืน นอกจากนี้ยังมีค่านิยมที่ว่าใครใช้เงินคืนกยศ.โง่ ทำให้หลายคนทำเฉย แต่อยากให้รุ่นพี่เห็นแก่รุ่นน้อง และรีบนำเงินมาชำระหนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาส่วนหนึ่งของการคืนเงินของลูกหนี้กยศ.คือ หากผู้ที่จบการศึกษาไปแล้ว เข้าทำงานในหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ กยศ.ก็จะประสานกับหน่วยงานนั้นๆ เพื่อขอตัดการผ่อนชำระจากเงินเดือน แต่เนื่องจากผู้ที่จบการศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้เข้ารับราชการหรือทำงานรัฐวิสาหกิจ แต่ไปทำงานเอกชน ทำให้การประสานเพื่อตัดเงินเดือนไม่สามารถทำได้ ทำให้หนี้สินคงค้างจึงมีจำนวนมาก และกลายเป็นภาระสร้างปัญหาให้นักศึกษารุ่นน้องไม่มีเงินยืมเรียนอีก

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: