แฉกลยุทธ์ฟอกเงินผ่านระบบบัญชีวัด ซื้อรถแพงขายถูก-ก่อสร้างงบเกินจริง

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 15 ส.ค. 2557 | อ่านแล้ว 5541 ครั้ง

ทั้งนี้ TCIJ ได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวว่า วิธีการหนึ่งในการฟอกเงิน คือการบริจาคเงินให้แก่วัด โดยเจ้าของเงินบริจาคจะตกลงให้ทางวัดทำสัญญาจ้างผู้บริจาค ให้เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างภายในวัด ในงบประมาณที่ค่อนข้างสูง แต่จ่ายจริงในอัตราที่ต่ำกว่ามาก

ทว่า ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  ผู้ทำวิจัยเรื่อง ‘การบริหารการเงินของวัดในประเทศไทย’ กล่าวแก่ TCIJ ว่า จากการลงไปทำงานวิจัยไม่พบกรณีการฟอกเงิน โดยใช้วัดเป็นทางผ่านในรูปแบบที่ TCIJ กล่าวมาแต่อย่างใด

เผยกระบวนการฟอกเงินผ่านวัดเณรคำ

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวรายหนึ่งอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวว่า ปกติการโอนเงินที่มีจำนวนมากกว่า 2 ล้านบาท จะต้องมีการแจ้งมาทาง ปปง. เพื่อเข้าไปดูที่มาที่ไปของเงิน แต่กรณีของวิรพล สุขผล หรืออดีตพระเณรคำ ซึ่งถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินบริจาคนับร้อยล้านบาท กลับไม่พบการเข้ามาของเงินและหาที่มาของเงินบริจาคไม่ได้ ซึ่งมีการสันนิษฐานว่า อาจเป็นไปได้ว่าใช้การหลบเลี่ยงการตรวจสอบโดยการโอนเงิน 1,999,999 บาท หลายรายการ เป็นต้น

            “ปปง. พบว่า เณรคำซื้อรถยนต์ สมมติว่า 35 คัน อาจมีมูลค่า 90 ล้านบาท พอซื้อเสร็จแล้วก็เอาไปขายคืน โดยยอมที่จะได้เงินมา 60 ล้าน นึกออกไหม ยอมเสีย 30 ล้าน เพื่อเอารถมาใช้ แล้วเปลี่ยนรถใหม่ จึงน่าตั้งข้อสงสัยว่า เกิดการทำให้เงินมันเข้าไปหมุนเวียนในระบบหรือเปล่า”

ขอบคุณภาพเณรคำจาก http://f.ptcdn.info

            “ร้านตกแต่งรถยนต์ ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย เป็นช่องทางในการฟอกเงินได้หมด หมายความว่าตั้งขึ้นมาโดยมีรายได้จากไหนไม่รู้ แล้วก็ลงบัญชี หาวิธีที่จะเสียภาษีให้น้อยที่สุด แล้วหมุนเงินพวกนี้กลับเข้ามาในระบบ ทั้งที่อาจไม่มีลูกค้าพอขนาดทำให้มีรายได้มากขนาดนั้น แต่มีเงินหมุนเวียนกลับเข้ามาในระบบ ทำให้เงินมีที่มา ที่ผ่านมาปปง.ไม่เคยให้ความสำคัญกับบัญชีวัดเลย แต่ตอนนี้เริ่มให้ความสนใจว่าเงินในบัญชีวัดเดินยังไง เพราะถ้ามีเงินบริจาค 2 ล้านบาท ไม่ต้องบอกว่าใครบริจาค อาจจะมีเงินใส่ลังมาให้วัด 2 ล้านบาท วัดไม่ต้องมีระบบตรวจสอบบัญชี ลงบัญชีว่าเป็นรายรับของวัด แล้ววัดนำไปใช้เพื่อกิจของวัด เช่น วัดจ้างผู้รับเหมาสักคนมาทำอะไรสักอย่างให้ วัดจ่ายเงินออกไป เนื้องานเสร็จไหม มันไม่มีใครดู เมื่อเงินเข้ามาในรูปของการบริจาค แล้วถูกจ่ายให้ใครก็ไม่รู้ ซึ่งอาจจะเป็นเจ้าของเงินเองก็ได้ แต่ยอมให้มีค่าต้นทุนการถ่ายโอน (Transaction Cost) นิดหนึ่ง ยอมให้มาหมุนภายในวัดแล้วก็ออกไป”

ขอบคุณภาพเณรคำจาก

http://www.siamhealthandbeauty.com/wp-content/uploads/2013/06/Clip_102-1024x679.jpg

เมื่อสำรวจจากงานศึกษาของ ดร.ณดา จันทร์สม ในประเด็นกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าอาวาส การยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของวัดไปเป็นความมั่งคั่งส่วนบุคคลของพระรูปใดรูปหนึ่ง มีความเป็นไปได้ 3 รูปแบบคือ

1.เจ้าอาวาสไม่มีส่วนรู้เห็น แต่ไวยาวัจกรหรือคณะกรรมการวัดสมรู้ร่วมคิดกับพระรูปนั้นๆ

2.เจ้าอาวาสหละหลวม ปล่อยให้พระหรือไวยาวัจกรหรือคณะกรรมการดำเนินยักย้ายถ่ายเท โดยไม่ตรวจสอบ กล่าวคือเซ็นชื่อรับทราบเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ตรวจสอบใด ๆ

3.เจ้าอาวาสเป็นผู้ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของวัดเสียเอง

จะเห็นได้ว่า กระบวนการดังกล่าวเจ้าอาวาสวัดถือเป็นตัวละครสำคัญ เนื่องจากกฎหมายให้อำนาจเจ้าอาวาสเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด และดูแลทรัพย์สินทั้งหมดภายในวัด แม้จะเป็นในสองรูปแบบแรก เจ้าอาวาสก็ไม่สามารถหลบเลี่ยงความรับผิดชอบได้ มิฉะนั้นจะถือว่าเจ้าอาวาสปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ และนี่ถือเป็นจุดอ่อนสำคัญประการหนึ่งของระบบการจัดทำบัญชีทรัพย์สินของวัด

ปปง. ไม่มีอำนาจตรวจสอบเงินวัด

ด้าน พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง. กล่าวกับ TCIJ ว่า ปปง.ไม่มีข้อมูลกรณีที่ใช้วัดเป็นแหล่งฟอกเงิน อีกทั้งปปง. ไม่มีอำนาจตรวจสอบเงินวัด เนื่องจากวัดไม่ใช่หน่วยรายงานธุรกรรม ปปง.จะเข้าไปตรวจสอบได้ก็ต่อเมื่อมีคดีที่เกี่ยวกับวัดเท่านั้น

            “อย่างคดีเสี่ยอู๊ดหรือหลายคดีที่ผ่านมาในอดีต ซึ่งเป็นเรื่องของพระที่อ้างวัดหรืออ้างตัวเอง แล้วก็ได้เงินมาจากวัด จากศรัทธาของประชาชน เมื่อได้เงินมาแล้วก็ไม่ได้ไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของผู้ที่มีเจตนาบริจาค อาจจะใช้เงินเพื่อประโยชน์ของตัวเองหรือผู้อื่น ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของวัด แต่ต้องเข้าใจว่าอาจเป็นวัดหรือไม่ใช่วัดก็ได้ อย่างเณรแอก็ไมได้เป็นวัด แต่อาศัยอวดอ้างอุตริหรืออาศัยความเชื่อ ความศรัทธา แล้วก็เอาเงินไปสร้างความร่ำรวยให้กับตนเอง”

            “ต้องสร้างความเข้าใจว่า เจ้าอาวาสเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย การบริหารเงินต่าง ๆ เจ้าอาวาสหรือ ไวยาวัจกรต้องมีระบบบริหารเงินที่ดี ผมต้องทำความเข้าใจว่า ปปง. มีอำนาจไหม ถ้าเกิดวัดเขาถูกต้องสุจริตก็เหมือนประชาชนทั่วไป คนเขาถูกต้องสุจริต เราไม่มีอำนาจไปตรวจ ยกเว้นเขาไปเกี่ยวข้องกับการ กระทำความผิดหรือการฟอกเงิน เราถึงไปดูได้”

เมื่อถามว่า กรณีของอดีตพระเณรคำที่เกิดขึ้นนี้ อนาคต ทาง ปปง. ควรเพิ่มอำนาจหน้าที่เพื่อลงไปตรวจ  สอบธุรกรรมการเงินของวัดหรือไม่

พ.ต.อ.สีหนาทกล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องเพิ่มอำนาจหน้าที่แก่ ปปง.ในขณะนี้ เพราะว่าเมื่อเกิดการกระทำผิด ปปง. สามารถเข้าไปตรวจได้อยู่แล้ว และโดยหลักการแล้ว หากวัดมีระบบบริหารการเงินที่ดีก็ไม่มีเหตุให้ ปปง. เข้าไปตรวจสอบ  แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือประเทศไทยไม่มีการกำกับดูแลในเรื่องนี้ ทำให้มีการใช้เงินบริจาคไปในทางที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งการเรียกเงินบริจาคในทางไม่ถูกต้องเช่นกัน

ขอบคุณภาพเณรแอจาก http://www.komchadluek.net

            “หน้าที่ของปปง. คือเข้าไปตรวจสอบเลยว่า ใช้เงินถูกหรือหรือไม่ ถ้ามีการยักยอกทำผิดจริง เราก็จะยึดเงินที่ได้มาโดยไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ยึดเงินวัด แต่ยึดเงินที่ได้มาโดยไม่ถูกต้อง เพราะเงินวัดมีผู้บริจาคมาถูกต้องด้วยความศรัทธา แต่เงินที่เอาออกมาจากวัด แล้วไปใช้ในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราจะยึดตรงนั้น เหมือนของเณรคำ เงินที่คนเขาบริจาค กองทุนต่าง ๆ ที่เข้ามาถูกต้อง แต่เงินที่ออกไปไม่ถูกต้อง เอาไปซื้อรถยนต์ซื้ออะไร เราก็ยึดรถไปแล้ว 20 คัน เพราะการซื้อรถไม่ใช่กิจของสงฆ์ ไม่ใช่กิจของศาสนา รถยนต์ถ้าจะมีคันเดียวก็พอสมควร ท่านไม่ใช่นักแข่งรถเล่นรถ ไม่มีเหตุผลกลใดที่พระต้องมีรถ 20-30 คัน”

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจจากกรณีอดีตพระเณรคำคือ ความแตกต่างเชิงสถานะของวัดกับสำนักสงฆ์ ซึ่งพบความหละหลวมในการตรวจสอบสถานะตั้งแต่ต้น เพราะแม้ว่าระบบการตรวจสอบทรัพย์สินของวัดจะมีช่องโหว่ แต่ก็ยังพอมีกระบวนการหรือกลไกการควบคุมในระดับหนึ่ง เนื่องจากวัดมีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ในขณะที่สำนักสงฆ์ไม่ใช่นิติบุคคลและไม่มีกฎหมายที่ระบุกระบวนการตรวจสอบใด ๆ ทั้งสิ้น

ซึ่ง ดร.ณดาอธิบายว่า “กรณีเณรคำ ถูกเรียกว่าเป็นวัด ทั้งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัด ทำให้คนเกิดความเข้าใจผิด เมื่อมีการบริจาค ใบเสร็จก็ยังระบุว่าเป็นวัด ซึ่งโดยปกติแล้วเราจะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้  กระบวนการนี้เมื่อไม่ได้รับการตรวจเช็ค  จึงเป็นช่องโหว่ในการหาประโยชน์”

คำชี้แจงจากสำนักงานคณะกรรมการมหาเถรสมาคม

TCIJ ได้ติดต่อไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเพื่อขอสอบถามเกี่ยวกับประเด็นนี้ จากการรอคอยกว่า 4 เดือน แต่ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ไม่สามารถสละเวลาเพื่อตอบคำถามได้ ทาง TCIJ จึงส่งคำถามไปอีกครั้ง เพื่อให้ตอบกลับมาเป็นหนังสือ คำถามถูกส่งต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการมหาเถรสมาคมและได้รับการตอบกลับมา ดังนี้

1.มูลค่าทรัพย์สินของวัดและสำนักสงฆ์

ตอบ ไม่แน่ชัด

2.มีงานวิจัยระบุว่า วัดส่วนใหญ่ไม่มีโครงสร้างการบริหารการเงินอย่างเป็นระบบและการทำบัญชีก็ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานบัญชี ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร

ตอบ เป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505

3.การให้อำนาจเจ้าอาวาสวัดเป็นผู้ดูแลและจัดการทรัพย์สินวัดหรือการให้อำนาจแต่งตั้งไวยาวัจกรคิดว่าทำให้ขาดธรรมาภิบาลหรือไม่อย่างไร

ตอบ เป็นไปตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ,กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ.2505

4.คิดว่ากฎหมายที่มีอยู่เพียงพอต่อการสร้างความโปร่งใสและธรรมาภิบาล ในการดูแลตรวจสอบทรัพย์สินของวัดหรือไม่ หากยังไม่เพียงพอ ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติคิดว่าควรมีการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายหรือไม่ อย่างไร

ตอบ ปัจจุบันสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในฐานะเป็นหน่วยงานสนับสนุนการบริหารกิจการคณะสงฆ์อยู่ระหว่างยกร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ..... เพื่อเป็นการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับกิจการคณะสงฆ์

5.ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรต่อกรณีอดีตพระเณรคำที่มีทรัพย์สินจำนวนมาก คิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาจากกฎเกณฑ์การตรวจสอบทรัพย์สินของวัดหรือไม่

ตอบ เกี่ยวกับการขาดความรู้ความเข้าใจในคำสอนทางพระพุทธศาสนา (ปัญญา) เนื่องจากยึดมั่นทำบุญโดยยึดติดตัวบุคคลและมุ่งเพียงทำบุญโดยการถวายวัตถุสิ่งของ แท้จริงแก่นของพระพุทธศาสนามุ่งสอนเพียงการให้บุคคลให้ทาน (ทานมัย) เพื่อขจัดกิเลสเครื่องเศร้าหมอง การรักษาศีล (ศีลมัย) เพื่อเป็นแนวทางในการบรรลุธรรม การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน (ภาวนามัย) เพื่อกำหนดจิตรู้เท่าทันอารมณ์ กิเลสตัณหาทั้งปวง มิได้เกิดจากปัญหากฎเกณฑ์การตรวจสอบทรัพย์ของวัดแต่อย่างใด

หากจะสรุปจากคำชี้แจงของมหาเถรสมาคม กรณีอดีตพระเณรคำผู้ร่ำรวย หาใช่ความผิดของระบบหรือกลไกการตรวจสอบใด ๆ ไม่  หากเป็นเพราะพุทธศาสนิกชนเองขาดความเข้าใจที่แม่นตรงในหลักคำสอนของพุทธศาสนา ดังนั้น การแก้ไขเรื่องอื้อฉาวในวงการสงฆ์ โดยเฉพาะการถ่ายเททรัพย์สินบริจาคไปเป็นของส่วนตัวของพระสงฆ์ ก็คงเป็นภาระของฝ่ายพุทธศาสนิกชนเสียกระมัง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: